สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ปี 2554 และแนวโน้มปี 2555(อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 19, 2012 14:47 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

ภาวะการผลิตเยื่อกระดาษของไทยซึ่งเป็นการผลิตเยื่อใยสั้น ในปี 2554 คาดว่า จะมีค่าดัชนีผลผลิต 108.0 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.2 สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตเยื่อกระดาษที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน (ตารางที่ 1 และตารางที่ 2) เนื่องจากคาดการณ์ว่า ความต้องการของผู้ใช้ เยื่อกระดาษทั้งในประเทศและต่างประเทศจะขยายตัว ซึ่งเป็นผลมาจากอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ สิ่งพิมพ์และหนังสือที่เกี่ยวกับงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ วันที่ 5 ธันวาคม 2554 ประกอบกับภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ มีความต้องการใช้กระดาษสำหรับบรรจุภัณฑ์และขนส่งสินค้าต่างๆ นอกจากนี้ ความต้องการในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่นประเทศจีน มีคำสั่งซื้อเยื่อกระดาษใยสั้นจากไทยในปริมาณที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการในประเทศจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากปริมาณการผลิตภายในไม่เพียงพอกับความต้องการ

ภาวะการผลิตกระดาษ จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ กระดาษพิมพ์เขียน และกระดาษสำหรับผลิตกล่องบรรจุสินค้าและขนส่ง โดยภาวะการผลิตกระดาษพิมพ์เขียน ในปี 2554 จะมีค่าดัชนีผลผลิต 106.9 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ 8.2 สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตกระดาษพิมพ์เขียนที่ลดลงเช่นกัน ส่วนสำคัญที่ทำให้การผลิตกระดาษพิมพ์เขียนลดลง เป็นเพราะผู้ใช้กระดาษดังกล่าวโดยเฉพาะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาจำหน่ายต่ำกว่าในประเทศ ในส่วนกระดาษสำหรับผลิตกล่องบรรจุสินค้าและขนส่ง ได้แก่ กระดาษแข็ง กระดาษคราฟท์ และกระดาษลูกฟูก ปี 2554 คาดว่า จะมีค่าดัชนีผลผลิตและอัตราการใช้กำลังการผลิตกระดาษดังกล่าวเพิ่มขึ้น (ตารางที่ 1 และตารางที่ 2) ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากความต้องการใช้กระดาษดังกล่าวในการห่อหุ้มสินค้าหรือทำเป็นกล่องบรรจุสินค้าในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความน่าสนใจสะดุดตาผู้ซื้อ อาทิ ผลิตภัณฑ์อาหาร และผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งใช้เพื่อปกป้องสินค้ามิให้เสียหายจากการเคลื่อนย้ายซึ่งส่วนใหญ่จะใช้กับอุตสาหกรรมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมในปี 2554 จากสถานการณ์น้ำท่วมในทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ชั้นนอก และจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี รวมทั้งพระนครศรีอยุธยา ส่งผลให้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม คือ ผลกระทบทางตรงจะเกิดขึ้นกับการผลิตอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์น้ำท่วมค่อนข้างมากเพราะโรงงานตั้งกระจายอยู่ทั่วไป ทำให้อุปกรณ์เครื่องจักรเสียหายและคำสั่งซื้อลดลงจากผู้ใช้ในประเทศ เนื่องจากผู้ใช้สิ่งพิมพ์ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเช่นกัน ส่วนการผลิตอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ คาดว่า จะได้รับผลกระทบโดยตรงค่อนข้างน้อย เนื่องจากโรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว สำหรับผลกระทบทางอ้อมที่มีต่ออุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ได้แก่ ปัญหาการขนส่งวัตถุดิบและสินค้าล่าช้า รวมทั้งปัญหาการกระจายสินค้าไม่ทั่วถึง ที่สำคัญ คือ การจัดส่งสิ่งพิมพ์นิตยสาร วารสารต่างๆ

2. การนำเข้าและการส่งออก

2.1 การนำเข้า

ภาวะการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ในปี 2554 คาดว่า จะมีมูลค่า 775.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 (ตารางที่ 3) โดยการนำเข้าเยื่อกระดาษ จะเป็นเยื่อใยยาวซึ่งในประเทศไม่มีวัตถุดิบ เพราะเป็นเยื่อที่ได้จากไม้เมืองหนาว มีแหล่งนำเข้าสำคัญจากประเทศแคนาดา แอฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา และสวีเดน ส่วนการนำเข้าเศษกระดาษนั้น เป็นเพราะในประเทศมีการจัดเก็บกระดาษใช้แล้วไม่เป็นระบบประกอบกับมีปริมาณไม่เพียงพอ โดยการนำเข้าเศษกระดาษส่วนใหญ่ ทำจากเยื่อใยยาว มีแหล่งนำเข้าสำคัญจากประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ในส่วนเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ที่นำเข้ามาจะถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษต่อไป ซึ่งหากพิจารณาปริมาณการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนกลับลดลงสวนทางกับมูลค่าการนำเข้า ร้อยละ 4.2 (ตารางที่ 4) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยทางด้านราคาเยื่อกระดาษและเศษกระดาษในปี 2554 ที่สูงขึ้นเฉลี่ยประมาณร้อยละ 2.7-3.7 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการผลิตเยื่อกระดาษ คาดว่า ราคาเยื่อใยยาวในปี 2554 จะมีแนวโน้มสูงกว่าปีก่อน จึงได้มีการสำรองปริมาณเยื่อกระดาษและเศษกระดาษไว้จำนวนหนึ่ง

ภาวะการนำเข้ากระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ในปี 2554 คาดว่า จะมีมูลค่า 1,597.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.0 (ตารางที่ 3) โดยมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้ากระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษทุกประเภท ได้แก่ กระดาษหนังสือพิมพ์ กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษคราฟท์ กระดาษแข็ง กระดาษชำระ บรรจุภัณฑ์กระดาษ เนื่องจากผู้ใช้มีความต้องการหลากหลายทั้งกระดาษที่มีคุณภาพสูงและต่ำกว่าที่ในประเทศผลิตได้ ซึ่งผู้ผลิตในประเทศ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้ทุกกลุ่ม เพราะไม่คุ้มค่ากับการลงทุน สำหรับแหล่งนำเข้ากระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษโดยรวมที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศจีน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ซึ่งหากพิจารณาปริมาณการนำเข้ากระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน จะลดลงสวนทางกับมูลค่าการนำเข้า ร้อยละ 8.6 (ตารางที่ 4) ซึ่งเป็นผลจากราคากระดาษโดยรวมในปี 2554 สูงขึ้นกว่าปีก่อน เฉลี่ยร้อยละ 9.3

                    ภาวะการนำเข้าสิ่งพิมพ์ ในปี 2554 คาดว่า จะมีมูลค่า 183.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ    เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ 37.7 (ตารางที่ 3)ซึ่งหากพิจารณาในส่วนปริมาณการนำเข้าสิ่งพิมพ์  มีทิศทางเพิ่มขึ้นสวนทางกับมูลค่าการนำเข้า (ตารางที่ 4) เนื่องจากมีการนำเข้าสิ่งพิมพ์ประเภทภาพพิมพ์ ภาพถ่าย และอื่นๆ จากประเทศเกาหลีใต้ ลดลงทั้งมูลค่าและปริมาณอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 ส่วนหนึ่ง   เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและต่างประเทศชะลอตัวทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน ทำให้ผู้บริโภค     ในประเทศระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น เพราะสิ่งพิมพ์ดังกล่าวเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ส่งผลให้กำลังซื้อลดลง ประกอบกับสิ่งพิมพ์ดังกล่าวมีน้ำหนักเบา เมื่อเปรียบเทียบกับหนังสือเป็นเล่ม ตำราแบบเรียน ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่าและมีการนำเข้ามาในปริมาณใกล้เคียงกันทุกปี จึงเป็นสาเหตุให้ปริมาณนำเข้าสิ่งพิมพ์เพิ่มขึ้นสวนทางกับมูลค่าการนำเข้า

2.2 การส่งออก

ภาวะการส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ หนังสือและสิ่งพิมพ์ในปี 2554 คาดว่า จะมีมูลค่า 114.2 2,212.7 และ 4,413.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2 65.8 และ 110.3 ตามลำดับ (ตารางที่ 5) ในส่วนปริมาณการส่งออกทั้งเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ หนังสือและสิ่งพิมพ์ จะมีทิศทางเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

สำหรับสาเหตุที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้นทั้งมูลค่าและปริมาณ ในปี 2554 เป็นเพราะผู้ประกอบการผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ สามารถรักษาตลาดหลักในภูมิภาคเอเชียได้อย่างต่อเนื่อง และขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ โดยการส่งออกเยื่อกระดาษที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการขยายตัวของการส่งออกไปยังประเทศจีนและฟิลิปปินส์ นอกจากนี้อาจมาจากราคาเยื่อใยสั้นเฉลี่ยในปี 2554 ลดลงร้อยละ 6.3 ในส่วนการส่งออกกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษที่เพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาเป็นรายผลิตภัณฑ์ พบว่า กระดาษแข็งมีการขยายตัวในการส่งออกมากที่สุด ซึ่งตลาดหลักคือ ประเทศจีน ประมาณร้อยละ 80 ของมูลค่าการส่งออกกระดาษแข็งทั้งหมด สำหรับการส่งออกหนังสือและสิ่งพิมพ์ที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการส่งออกสิ่งพิมพ์ประเภทปลอดการปลอมแปลงไปยังประเทศฮ่องกง เกือบร้อยละ 100 ของมูลค่าการส่งออกสิ่งพิมพ์ทั้งหมด

3. นโยบายที่เกี่ยวข้อง

3.1 การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล สำหรับค่าใช้จ่ายในการซื้อหรือบริจาคเงินเพื่อซื้อหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ให้กับสถานศึกษาและห้องสมุดเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการอ่าน ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 128 ตอนที่ 15 ก วันที่ 11 มีนาคม 2554 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปีภาษี 2554 เป็นต้นไป

3.2 องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศให้กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหนังสือโลกประจำปี 2556 (World Book Capital 2013) ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมด้านการส่งเสริมการอ่าน และการเรียนรู้ด้วยหนังสือ รวมทั้งการพัฒนาเนื้อหาและรูปแบบหนังสือ

3.3 นโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยการผลักดันให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ และกำหนดทศวรรษแห่งการอ่าน ในช่วงปี 2552-2561

4. สรุปและแนวโน้ม

ภาวะการผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษ โดยรวมในปี 2554 คาดว่า จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากการขยายตัวของความต้องการตลาดในประเทศ อันเนื่องมาจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการจัดพิมพ์สิ่งพิมพ์และหนังสือเกี่ยวกับงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนม พรรษาครบ 7 รอบ ประกอบกับภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ มีการขยายตัวจึงมีความต้องการใช้กระดาษสำหรับบรรจุภัณฑ์และขนส่งสินค้าต่างๆ เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ มีการขยายตัวของความต้องการในตลาดต่างประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากประเทศคู่ค้าสำคัญโดยเฉพาะประเทศจีน มีความต้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการในประเทศจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ในส่วนภาวะการส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ สิ่งพิมพ์ ในปี 2554 คาดว่า จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันกับภาวะการผลิต โดยผู้ประกอบการสามารถรักษาตลาดหลักในภูมิภาคเอเชียได้อย่างต่อเนื่อง และขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ ได้เพิ่มขึ้น สำหรับภาวะการนำเข้าเยื่อกระดาษ และกระดาษ ในปี 2554 คาดว่า ในด้านปริมาณจะลดลงเนื่องจากทั้งราคาเยื่อกระดาษ และกระดาษปรับตัวสูงขึ้น ทำให้มีมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ส่วนภาวะการนำเข้าสิ่งพิมพ์ คาดว่า จะมีปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น สวนทางกับมูลค่าการนำเข้า เป็นผลมาจากการนำเข้าสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือเป็นเล่ม ตำราแบบเรียนต่างๆ ซึ่งมีน้ำหนักมาก แต่มูลค่าไม่สูงนัก เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนที่มีการนำเข้าสิ่งพิมพ์ประเภทภาพพิมพ์ ภาพถ่ายลดลง ซึ่งมีน้ำหนักเบากว่าแต่มูลค่าสูงกว่า

สำหรับแนวโน้มของภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในปี 2555 คาดว่าจะทรงตัว เนื่องจากมีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบที่จะมีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ รวมทั้งอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ โดยมีปัจจัยลบทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจาก ปี 2554 คาดว่าจะต่อเนื่องถึงต้นปี 2555 ได้แก่ สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ของประเทศไทย ส่งผลให้หลายโรงงานหยุดผลิตทั้งโรงพิมพ์โดยเฉพาะ SMEs และโรงงานผลิตอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ ก่อให้เกิดการว่างงาน ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและการลงทุนของนักลงทุนของไทยและต่างชาติ นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปยังคงมีปัญหา อาจทำให้ทั้งการผลิต การบริโภค/การจำหน่ายในประเทศ การส่งออก และการนำเข้าชะลอตัวจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม ภาคธุรกิจการค้าและบริการ และผู้บริโภคจะลดลง เนื่องจากได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหลักที่ต้องใช้กระดาษสำหรับผลิตกล่องกระดาษและบรรจุภัณฑ์รวมทั้งสิ่งพิมพ์ ได้แก่ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และผลิตภัณฑ์อาหาร อย่างไร ก็ตาม ยังคงมีปัจจัยบวกภายใน ได้แก่ นโยบายของภาครัฐในการส่งเสริมการอ่านเพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยการผลักดันให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ และกำหนดทศวรรษแห่งการอ่าน ในช่วงปี 2552-2561 ประกอบกับการจะทำให้กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหนังสือโลกประจำปี 2556 ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมด้านการส่งเสริมการอ่าน และการเรียนรู้ด้วยหนังสือ รวมทั้งการพัฒนาเนื้อหาและรูปแบบหนังสือ สำหรับปัจจัยบวกจากภายนอก ได้แก่ แนวโน้มตลาดคู่ค้าที่สำคัญของไทยในภูมิภาคเอเชีย อาทิ ฮ่องกง จีน มาเลเซีย และเวียดนาม ยังคงมีการขยายตัวในการส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไปยังประเทศเหล่านี้สูงกว่ากลุ่มประเทศอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ