สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ปี 2554 และแนวโน้มปี 2555(อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 19, 2012 14:54 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

1.1 ปริมาณการผลิต

ในปี 2554 มีการผลิตปูนเม็ดประมาณ 38.14 ล้านตัน ส่วนการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) มีปริมาณการผลิตประมาณ 36.42 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปีก่อน ปริมาณการผลิตปูนเม็ดและปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ลดลงเล็กน้อย คิดเป็นร้อยละ 1.68 และ 0.22 ตามลำดับ

1.2 การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ปี 2554 มีปริมาณการจำหน่ายรวมประมาณ 30.91 ล้านตัน แบ่งออกเป็นการจำหน่ายปูนเม็ด 0.99 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 29.92 ล้านตัน โดยเมื่อเทียบกับปีก่อน ปริมาณการจำหน่ายปูนเม็ดลดลงร้อยละ 18.85 สำหรับปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.20

ในปี 2554 โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เติบโตขึ้น เนื่องจากธุรกิจการก่อสร้างและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศขยายตัวตามเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการขยายตัวในที่อยู่อาศัยประเภทบ้านจัดสรร เนื่องจากมีการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนออกสู่ชานเมือง และปัจจัยสำคัญที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ คือ การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล ซึ่งมีส่วนช่วยผลักดันให้มีการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตาม จากปัญหาอุทกภัยทำให้เกิดน้ำท่วมขังเป็นเวลานานในหลายพื้นที่ ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะน้ำท่วม แต่ทำให้เกิดอุปสรรคในการขนส่ง รวมทั้งการก่อสร้างต่างๆ ต้องชะลอออกไป ส่งผลให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ลดลงตามไปด้วย ดังนั้น จึงทำให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไม่ขยายตัวอย่างที่คาดไว้ในช่วงต้นปี

2. การส่งออกและการนำเข้า

2.1 การส่งออก

ในปี 2554 การส่งออกปูนซีเมนต์ มีปริมาณรวมประมาณ 12.11 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 564.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกรวม ลดลงร้อยละ 17.62 และ 12.69 ตามลำดับ โดยแบ่งออกเป็นการส่งออกปูนเม็ดประมาณ 6.62 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 260.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเมื่อเทียบกับปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ด ลดลงร้อยละ 22.03 และ 10.71 ตามลำดับ สำหรับปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) มีปริมาณการส่งออกประมาณ 5.49 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 304 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ลดลงร้อยละ 11.59 และ 14.33 ตามลำดับ

การส่งออกที่ชะลอตัวลง เนื่องจากในช่วงต้นปีตลาดภายในประเทศขยายตัว จึงทำให้ผู้ประกอบการหันมาเน้นตลาดภายในประเทศมากขึ้น อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน และภาวะเงินเฟ้อที่เริ่มส่งผลกระทบชัดเจนขึ้นในภูมิภาคเอเชียซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย นอกจากนี้ จากภาวะน้ำท่วมในช่วงปลายปี ทำให้เกิดอุปสรรคในการขนส่ง จึงทำให้การส่งออกปูนซีเมนต์ลดลงตามไปด้วย สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย คือ เมียนมาร์ บังคลาเทศ กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ตามลำดับ

2.2 การนำเข้า

การนำเข้าปูนซีเมนต์ ปี 2554 คาดว่าจะมีปริมาณรวม 16,439.26 ตัน คิดเป็นมูลค่า 7.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แบ่งเป็นการนำเข้าปูนเม็ดประมาณ 620.35 ตัน คิดเป็นมูลค่า 0.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ประมาณ 15,818.91 ตัน คิดเป็นมูลค่า 6.86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเมื่อเทียบกับปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการนำเข้ารวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.38 และ 47.44 ตามลำดับ การนำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นอะลูมินัสซีเมนต์ ซึ่งไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ และบางส่วนเป็นการนำเข้าซีเมนต์ปอร์ตแลนด์คุณภาพสูงเพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ระบุคุณสมบัติของวัสดุที่นำมาก่อสร้างตลาดนำเข้าที่สำคัญ คือ ไต้หวัน เกาหลีใต้ โครเอเชีย และจีน

3. สรุป

ในปี 2554 อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เติบโตขึ้น โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในที่อยู่อาศัยประเภทบ้านจัดสรร เนื่องจาก มีการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนออกสู่ชานเมือง และปัจจัยสำคัญที่มีส่วนสนับสนุนต่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ คือ การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล ซึ่งมีส่วนช่วยผลักดันให้มีการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ก็ไม่ขยายตัวอย่างที่คาดไว้ในช่วงต้นปี เนื่องจากเกิดปัญหาอุทกภัยทำให้มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานานในหลายพื้นที่ ซึ่งถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะน้ำท่วม แต่ทำให้เกิดอุปสรรคในการขนส่ง รวมทั้งการก่อสร้างต่างๆ ต้องชะลอออกไป ส่งผลให้การใช้ปูนซีเมนต์ลดลงตามไปด้วย

แนวโน้มของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในปี 2555 คาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จะเพิ่มขึ้นหลังจากที่ภาวะน้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย เนื่องจากการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย พื้นที่ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงเส้นทางการขนส่งที่เสียหายจากน้ำท่วม ทั้งนี้ผู้ประกอบการได้เตรียมการผลิตเพื่อรองรับความต้องการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเห็นผลอย่างชัดเจนในช่วงไตรมาสที่ 1-ไตรมาสที่ 2 ปี 2555

การส่งออกปูนซีเมนต์ในปี 2554 ลดลง เนื่องจากในช่วงต้นปี ตลาดภายในประเทศขยายตัว จึงทำให้ผู้ประกอบการหันมาเน้นตลาดภายในประเทศมากขึ้น อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน และภาวะเงินเฟ้อที่เริ่มส่งผลกระทบชัดเจนขึ้นในภูมิภาคเอเชียซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย นอกจากนี้ จากภาวะน้ำท่วมในช่วงปลายปีทำให้เกิดข้อจำกัดในการขนส่ง จึงทำให้การส่งออกปูนซีเมนต์ลดลงตามไปด้วย สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย คือ เมียนมาร์ บังคลาเทศ กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ตามลำดับ

สำหรับการส่งออกปูนซีเมนต์ในปี 2555 คาดว่ายังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดส่งออกหลักในแถบอาเซียน ยังมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งปูนซีเมนต์ของไทยมีคุณภาพ สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ