สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ปี 2554 และแนวโน้มปี 2555(อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 19, 2012 15:07 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

การผลิต

ปี 2554 เป็นปีที่ไม่ค่อยสดใสนักสำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม การผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ การผลิตผ้าฯ และการผลิตเครื่องแต่งกายฯ (เสื้อผ้าสำเร็จรูป) ดัชนีปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนร้อยละ 12.6, 25.0 และ 15.7 ตามลำดับ เนื่องจากต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของตลาดส่งออกหลักอย่างสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ในขณะที่ตลาดส่งออกมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่แข่งที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า ประกอบกับความผันผวนของราคาฝ้ายซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต ปัจจัยเหล่านี้ล้วนกระทบต่อคำสั่งซื้อสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่มีแนวโน้มกระทบต่อการผลิตที่จะปรับลดลง และถ้าหากพิจารณาในช่วง 2 เดือนหลังของปี 2554 กลุ่มสิ่งทอได้รับผลกระทบอย่างมากจากอุทกภัยที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะเป็นจำนวนโรงงานไม่มากนัก แต่เนื่องจากเป็นโรงงานผลิตเส้นใยขนาดใหญ่ที่มีการร่วมทุนจากนักลงทุนต่างชาติ ในเขตนิคมอุตสาหกรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลพบุรี และปทุมธานี ทำให้โรงงานต้องหยุดการผลิตชั่วคราว และคาดว่าโรงงานเหล่านี้จะได้รับผลกระทบประมาณร้อยละ 40 ของกำลังการผลิตรวม และคาดว่าปริมาณการผลิตในอุตสาหกรรมเส้นใย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ทอผ้า ถักผ้า ฟอกย้อม พิมพ์ จะปรับลดลงอย่างมากในไตรมาสที่ 4 และต่อเนื่องถึงปี 2555

ในขณะที่กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม (เสื้อผ้าสำเร็จรูป) โรงงานที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดกลางและเล็ก ที่ตั้งอยู่บนถนนเพชรเกษม ถนนพุทธมณฑล และถนนเอกชัย-บางบอน ล้วนได้รับผลกระทบและหยุดกิจการไปแล้ว จากสถานการณ์น้ำท่วมนี้ คาดว่าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เช่น ผ้าผืน และสิ่งทออื่นๆ จะส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตเครื่องนุ่งห่มในไตรมาสที่ 4 และในปี 2555 โดยจะกระทบเป็นห่วงโซ่ทั้งสายการผลิต

การส่งออก

ภาพรวมการส่งออกปี 2554 อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีมูลค่าการส่งออกรวม 8,450.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.8 เมื่อเทียบกับปีก่อน มีมูลค่าการส่งออก 7,676.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนใหญ่แล้วเป็นคำสั่งซื้อที่มีก่อนล่วงหน้า แม้ว่าในไตรมาสที่ 4 จะได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในประเทศก็ตาม แต่ผู้ประกอบการบางส่วนสามารถที่จะส่งมอบสินค้าได้ ส่งผลให้ภาพรวมทั้งปียังมีการส่งออกที่ขยายตัว โดยผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มส่งออกที่สำคัญ ได้แก่

1. กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่าการส่งออก 5,141.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.5 เมื่อเทียบกับปีก่อน มีมูลค่าการส่งออก 4,470.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60.8 ของการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม สำหรับการส่งออกในผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ มีดังนี้

-ผ้าผืน มีมูลค่าการส่งออก 1,676.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4 เมื่อเทียบกับปีก่อนซึ่งมีมูลค่าส่งออก 1,452.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยผ้าผืนที่ผลิตจากเส้นใยประดิษฐ์มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดร้อยละ 53.1 ในขณะที่ผ้าผืนที่ผลิตจากเส้นใยฝ้ายมีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 35.4 ของมูลค่าการส่งออกผ้าผืนรวม ซึ่งส่วนใหญ่ส่งออกไปยังประเทศเวียดนาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ พม่า และ จีน

-ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ มีมูลค่าการส่งออก 1,165.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.6 เมื่อเทียบกับปีก่อนซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 1,044.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งการส่งออกยังขยายตัวได้ดีในตลาดจีน ตุรกี ญี่ปุ่น และ บราซิล

-เคหะสิ่งทอ มีมูลค่าการส่งออก 324.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 11.1 เมื่อเทียบกับปีก่อนซึ่งมีมูลค่าส่งออก 365.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งการส่งออกเคหะสิ่งทอแม้ว่าจะมีการส่งออกที่ลดลง แต่ลดลงเฉพาะในตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลัก แต่การส่งออกไป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และ อินเดีย ยังมีการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี

-เส้นใยประดิษฐ์ มีมูลค่าการส่งออก 966.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.0 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าส่งออก 749.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดส่งออกหลัก คือ อินโดนีเซีย เวียดนาม และ ตุรกี และขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้ง 3 ตลาด

-สิ่งทออื่นๆ มีมูลค่าการส่งออก 665.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.5 เมื่อเทียบกับปีก่อนซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 557.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดส่งออกคือ จีน ญี่ปุ่น และ อินเดีย

2. กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่าการส่งออก 3,308.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน มีมูลค่าการส่งออกรวม 3,205.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 39.2 ของการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม สำหรับการส่งออกมีผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ ดังนี้

-เสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าการส่งออก 2,882.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าส่งออก 2,780.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 87.1 ของการส่งออกเครื่องนุ่งห่มรวม การส่งออกขยายตัวได้ดีในตลาดส่งออกหลักอย่าง ญี่ปุ่น และ สหภาพยุโรป ส่วนตลาดสหรัฐอเมริกา การส่งออกปรับตัวลดลง เนื่องจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อลดลง

การนำเข้า

ปี 2554 มีการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มคิดเป็นมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด 4,875.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.8 เมื่อเทียบกับปีก่อน ผลิตภัณฑ์สิ่งทอฯ สำคัญที่นำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งทอต้นน้ำที่เป็นวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์นำเข้าที่สำคัญ ได้แก่

-เส้นใยที่ใช้ในการทอ มีมูลค่าการนำเข้า 1,384.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 50.1 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการนำเข้า 922.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดนำเข้าหลัก คือ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และ อินเดีย

-ด้ายทอผ้า มีมูลค่าการนำเข้า 740.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการนำเข้า 662.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม และ ไต้หวัน

-ผ้าผืน มีมูลค่าการนำเข้า 1,774.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการนำเข้า 1,612.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดนำเข้าหลัก คือ จีน ไต้หวัน และ ญี่ปุ่น

-เสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าการนำเข้า 456.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.9 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการนำเข้า 338.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดนำเข้าคือ จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น และ กัมพูชา

-เครื่องจักรสิ่งทอ มีมูลค่านำเข้า 332.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการนำเข้า 297.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดนำเข้าคือ ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน และเยอรมนี ซึ่งจากอุทกภัยในครั้งนี้ทำให้มีเครื่องจักรสิ่งทอได้รับความเสียหายบางส่วน และคาดว่าจะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นใน ปี 2555

สรุปและแนวโน้ม

การผลิตปี 2554 ส่วนใหญ่มีการผลิตลดลงและผลิตตามคำสั่งซื้อเท่านั้น สำหรับการส่งออก สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในปี 2554 ยังมีมูลค่าส่งออกที่ขยายตัว แม้ว่าประเทศไทยจะประสบอุทกภัยในหลาย ๆ พื้นที่ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต ส่วนการส่งออกที่ยังมีมูลค่าเป็นบวกเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นคำสั่งซื้อที่มีเข้ามาล่วงหน้า โดยเมื่อคิดเทียบเป็นมูลค่าส่งออกจะมีมูลค่าต่อหน่วยเพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าผืน เส้นใยประดิษฐ์ ด้ายฝ้าย และด้ายเส้นใยประดิษฐ์ เป็นต้น สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นหลังจากเหตุการณ์อุทกภัยเริ่มคลี่คลายและรองรับเทศกาลในช่วงปลายปีและต้นปี 2555

สำหรับแนวโน้มปี 2555 คาดว่าทั้งปริมาณการผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน เครื่องนุ่งห่มโดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูป จะมีการผลิตที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปัจจัยการผลิตกระทบต่อเนื่องจากอุทกภัย หากสถานการณ์คลี่คลายและโรงงานที่ได้รับความเสียหายสามารถฟื้นตัว และกลับมาผลิตได้ในระยะเวลาอันสั้น (ไม่เกิน 6 เดือน) จะช่วยลดผลกระทบในอุตสาหกรรมได้ ทั้งนี้ปริมาณการผลิตและมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะสามารถฟื้นตัวได้ภายในไตรมาสที่ 2 แต่หากโรงงานจะต้องใช้เวลาฟื้นฟูนาน (เกินกว่า 6 เดือน) ผู้ประกอบการอาจจะต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการผลิต ทั้งผ้าผืน เส้นใย เส้นด้าย และเสื้อผ้าสำเร็จรูป แต่อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยหนุนที่สำคัญจากกลุ่มสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออก ซึ่งมีการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีมูลค่าต่อหน่วยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกผ้าผืน เส้นใย และเส้นด้าย ซึ่งจากปีที่ผ่านมามีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นคิดเป็นมูลค่าการส่งออกประมาณ 5,141.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 15 และคาดว่าปี 2555 จะมีมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ