สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ปี 2554 และแนวโน้มปี 2555(อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 19, 2012 15:13 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1.การผลิต

การผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน ปี 2554 คาดว่าจะมีปริมาณการผลิตรวม 8.69 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 10.50 เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบไม้ยางพาราและราคาไม้ยางพาราที่แพงขึ้น รวมทั้งปัจจัยต้นทุนการผลิตอื่นๆที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่น ค่าแรง และน้ำมัน เป็นต้น ตลอดจนวิกฤตอุทกภัยในวงกว้าง ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต การขนส่ง และการจัดจำหน่ายของผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม ทำให้ภาพรวมการผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนตลอดปี 2554 มีปริมาณการผลิตที่ลดลง

2.การตลาด

2.1 การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในปี 2554 คาดว่าจะมีปริมาณการจำหน่ายในประเทศรวม 3.85 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.53 เนื่องจากถึงแม้ว่าตลาดของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนยังมีความต้องการสูง โดยเฉพาะตลาดกลางและตลาดบน แต่ผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย และค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค ทำให้ภาพรวมการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนตลอดปี 2554 มีปริมาณการผลิตที่ลดลง

2.2 การส่งออก

การส่งออกของสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในปี 2554 คาดว่าจะมีมูลค่าการ ส่งออกรวมทั้งสิ้น 3,080.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.56 เนื่องจากการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าหลักของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และจีน ขยายตัวได้ดี และการส่งออกไปตลาดรองของไทย เช่น ออสเตรเลีย อินเดีย ประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศแถบตะวันออกกลาง ก็ขยายตัวได้ดีเช่นกัน

สำหรับรายละเอียดการส่งออกในแต่ละประเภทผลิตภัณฑ์ของสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน แบ่งเป็น 3 กลุ่มประเภทสินค้า ดังนี้

1) กลุ่มเครื่องเรือนและชิ้นส่วนเครื่องเรือน ประกอบด้วยเครื่องเรือนไม้ เครื่องเรือน อื่น ๆ และชิ้นส่วนเครื่องเรือน คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออก 1,026.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเมื่อเทียบกับปีก่อน มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 1.15 สินค้ากลุ่มครื่องเรือนและชิ้นส่วนเครื่องเรือน มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 34 ของมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนในการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ สินค้าประเภทเครื่องเรือนไม้ รองลงมาคือ ชิ้นส่วนเครื่องเรือน โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มสินค้าประเภทเครื่องเรือนและชิ้นส่วนเครื่องเรือน คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย

2)กลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้ ประกอบด้วยเครื่องใช้ทำด้วยไม้ อุปกรณ์ก่อสร้างไม้ กรอบรูปไม้ และรูปแกะสลักไม้ คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออก 250.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเมื่อเทียบกับปีก่อน มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.02 สินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 8 ของมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนในการส่งออกมากที่สุด

ในกลุ่มนี้ คือ สินค้าประเภทเครื่องใช้ทำด้วยไม้ รองลงมาคือ รูปแกะสลักไม้ โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์ไม้ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสวิตเซอร์แลนด์

3)กลุ่มไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูป แผ่นไม้วีเนียร์ ไม้อัด ไฟเบอร์บอร์ด (Fiber Board) และผลิตภัณฑ์ไม้อื่น ๆ คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออก 1,803.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.94 สินค้ากลุ่มไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ไม้แผ่นมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 58 ของมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด ผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนในการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ ไม้แปรรูป รองลงมาคือ ไฟเบอร์บอร์ด สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ได้แก่ ประเทศจีน มาเลเซีย และเวียดนาม

2.3 การนำเข้า

การนำเข้าของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของปี 2554 คาดว่าจะมีมูลค่า 607.70 ล้าน เหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.32 โดยการนำเข้าสินค้าประเภทไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าวัตถุดิบไม้ท่อนประเภทไม้เนื้อแข็ง ได้แก่ ไม้ซุงและไม้แปรรูป ซึ่งนำเข้ามาผลิตสินค้าต่อเนื่อง เช่น เครื่องเรือนประเภทต่าง ๆ โดยไม้ซุงส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศเมียนมาร์ มาเลเซีย และนิวซีแลนด์ ไม้แปรรูปส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศมาเลเซีย ลาว นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา และไม้อัดและไม้วีเนียร์ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศจีน และมาเลเซีย

3.สรุปและแนวโน้ม

การผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในปี 2554 คาดว่าจะลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากปัจจัยต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่น วัตถุดิบไม้ยางพารา ค่าแรง และน้ำมัน เป็นต้น บวกกับผลกระทบของวิกฤตอุทกภัยในวงกว้าง ทำให้ปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนตลอดปี 2554 ลดลง

การจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในปี 2554 คาดว่าจะลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากถึงแม้ว่าตลาดของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนยังมีความต้องการสูง โดยเฉพาะตลาดกลางและตลาดบน แต่สถานการณ์อุทกภัย และค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค ทำให้ปริมาณการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนตลอดปี 2554 ลดลง

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน ในปี 2555 คาดว่าจะขยายตัว จากความต้องการไม้และเครื่องเรือนที่เพิ่มขึ้นหลังภาวะน้ำท่วม บวกกับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล กล่าวคือ โครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแห่งแรก จะส่งผลให้ความต้องการไม้และเครื่องเรือนเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยง คือ ต้นทุนการผลิต เช่น วัตถุดิบ น้ำมัน และค่าแรง รวมถึงเงินเฟ้อ ที่ปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจนกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการต้องแบกรับภาระหลังภาวะน้ำท่วม

การส่งออกของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในปี 2554 เมื่อเทียบกับปีก่อน คาดว่าจะ เพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และจีน ขยายตัวได้ดี และการส่งออกไปตลาดรอง เช่น ออสเตรเลีย อินเดีย ประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศแถบตะวันออกกลาง ขยายตัวได้ดีเช่นกัน

สำหรับแนวโน้มการส่งออกของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในปี 2555 คาดว่าจะทรงตัว จากปัจจัยเสี่ยงของการแข็งค่าของเงินบาท ความผันผวนของราคาน้ำมัน และภาวะเศรษฐกิจของตลาดหลักของไทย โดยเฉพาะเศรษฐกิจและภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา ที่ยังเปราะบาง อย่างไรก็ตาม ตลาดรองของไทย เช่น ประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศแถบตะวันออกกลาง มีศักยภาพสูง รวมถึงประเทศแถบเอเซียใต้ ที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้อุปสงค์ไม้และเครื่องเรือนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

หลังภาวะวิกฤตน้ำท่วม ผู้ประกอบการควรศึกษาพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคที่อาจเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์และความจำเป็น ทั้งในแง่ของการเลือกประเภทที่อยู่อาศัย เช่น คอนโดมิเนียม และประเภทของเครื่องเรือนในอนาคต เช่น เครื่องเรือนที่เคลื่อนย้ายสะดวก เป็นต้น อีกทั้งควรศึกษาและแสวงหาตลาดส่งออกใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงของการส่งออกไปยังตลาดหลักของไทยซึ่งภาวะเศรษฐกิจยังมีภาพที่ไม่ชัดเจน

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ