สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ปี 2554 และแนวโน้มปี 2555(อุตสาหกรรมยา)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 19, 2012 15:18 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1.การผลิต

การผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในปี 2554 คาดว่า มีปริมาณ 29,526.2 ตัน ลดลงจาก ปีก่อน ร้อยละ 3.4 เนื่องจากยาบางชนิดที่อยู่ในรูปแบบยาน้ำ ซึ่งเคยมีความต้องการสูง ถูกควบคุมการจำหน่าย ทำให้ความต้องการลดลง ประกอบกับผู้ผลิตเลิกผลิตยาบางชนิดที่ไม่ได้กำไรด้วย ส่งผลให้ปริมาณการผลิต ในภาพรวมลดลง นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ ทำให้มีโรงงานผลิตยาได้รับความเสียหายไม่สามารถดำเนินการผลิตได้ หรือแม้โรงงานที่ไม่ได้รับความเสียหาย แต่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ได้หยุดการผลิตชั่วคราวเช่นกัน เพราะต้องเตรียมการป้องกันสายการผลิต อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเยียวยาผู้ผลิต ลดผลกระทบที่จะเกิดกับผู้บริโภค และป้องกันไม่ให้เกิดการขาดแคลนยา รวมทั้งควบคุมคุณภาพและราคายา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ขอให้ผู้ผลิตยาที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย แจ้งมายัง อย. ว่าจะให้ผู้ผลิตรายใดผลิตยาให้เป็นการชั่วคราว โดยบริษัทที่ผลิตนั้นจะต้องได้มาตรฐาน GMP ในหมวดที่จะผลิตตามที่ อย. กำหนด สำหรับผู้ผลิตที่ยังไม่ได้รับผลกระทบ ขอให้เร่งการผลิตให้เต็มศักยภาพ ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณการผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมไม่ลดลงมาก

2. การตลาด

2.1 การจำหน่าย

การจำหน่ายยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในปี 2554 คาดว่า มีปริมาณ 29,406.7 ตัน ลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 2.6 เนื่องจากยาบางรายการที่อยู่ในรูปแบบยาน้ำ ซึ่งผู้ผลิตเคยจำหน่ายได้ปริมาณมากในปีก่อน ถูกเปลี่ยนประเภทจากยาอันตราย เป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ เพื่อจำกัดปริมาณการกระจายยา และลดช่องทางการจำหน่าย ไม่ให้มีการนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติด ส่งผลให้ผู้ผลิตไม่สามารถจำหน่ายยาชนิดนั้นได้ในวงกว้างเช่นที่ผ่านมา และแม้ว่าผู้ผลิตจะทำการผลิตยาสามัญชนิดใหม่ ซึ่งมีกำไรดีกว่า ขึ้นมาทดแทนยาที่ไม่ได้กำไรและเลิกผลิต แต่สามารถจำหน่ายได้ในปริมาณน้อย เนื่องจากเป็นยารักษาโรคเฉพาะทาง ส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายลดลง นอกจากนี้ การเกิดอุทกภัยได้ส่งผลต่อการจำหน่ายยา เนื่องจาก มีปัญหาด้านการกระจายสินค้า รวมทั้งยังไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันต่อความต้องการ จากการที่มีโรงงานต้องหยุดผลิตชั่วคราว ตลอดจนโรงพยาบาลและร้านขายยาไม่สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ และผู้ผลิตต้องเตรียมสินค้าเพื่อรองรับการรับคืนยาที่เสียหายด้วย อย่างไรก็ตาม ยายังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต ดังนั้น ปริมาณการจำหน่ายจึงไม่ได้ลดลงมากนัก

2.2 การนำเข้า

การนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรค ในปี 2554 คาดว่า จะมีมูลค่า 38,194.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 0.2 ตลาดนำเข้าที่สำคัญในปีนี้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และอินเดีย โดยการนำเข้าจากประเทศดังกล่าวจะมีมูลค่ารวมประมาณ 16,000 ล้านบาท หรือกว่าร้อยละ 40 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

การนำเข้าส่วนใหญ่เป็นยาสิทธิบัตร แต่จากข้อจำกัดในการเบิกจ่ายยาของโรงพยาบาลภาครัฐ ที่จะเน้นใช้ยาสามัญที่ผลิตภายในประเทศมากขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยลง ส่งผลให้ผู้นำเข้าต้องลดราคาสินค้าลงมาให้สอดคล้องกับรายได้ของประชาชน เพื่อที่จะรักษาปริมาณยอดขายไว้ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มูลค่าการนำเข้าเติบโตในอัตราที่ลดลง สำหรับสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น เป็นโอกาสให้มีการนำเข้ายามาจำหน่ายมากขึ้น กล่าวคือ อย. ให้ผู้ผลิตที่มีความประสงค์นำเข้ายา เพื่อทดแทนยาที่ไม่สามารถผลิตได้ในช่วงเกิดอุทกภัย ประสานกับองค์การเภสัชกรรม ให้องค์การฯ เป็นผู้นำเข้าแทน และส่งมอบยาให้แก่ผู้ผลิต เพื่อส่งต่อให้กับโรงพยาบาล เพื่อป้องกันการขาดแคลนยาที่อาจเกิดขึ้นในช่วงดังกล่าว

2.3 การส่งออก

การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรค ในปี 2554 คาดว่า มีมูลค่า 6,607.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 3.5 ตลาดส่งออกสำคัญในปีนี้ ได้แก่ เมียนมาร์ เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และญี่ปุ่น โดยการส่งออกไปประเทศดังกล่าวจะมีมูลค่ารวมประมาณ 4,400 ล้านบาท หรือกว่าร้อยละ 60 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าในปีนี้ประเทศญี่ปุ่นเปลี่ยนสถานะเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย นอกเหนือจากประเทศในอาเซียน ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการที่ญี่ปุ่นประสบภัยสึนามิ เมื่อช่วงต้นปี ทำให้บริษัทแม่ในประเทศญี่ปุ่นต้องนำเข้าสินค้า เช่น ยาปฏิชีวนะ จากบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาร่วมทุนกับประเทศไทยมากขึ้น

การขยายตัวของการส่งออกยา เนื่องมาจากผู้ผลิตได้พัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพเป็นที่เชื่อมั่นของประเทศคู่ค้า สามารถขึ้นทะเบียนยาได้เพิ่มขึ้นและเริ่มจำหน่ายได้แล้วในฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ตลอดจนสามารถขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ เช่น ตลาดตะวันออกกลาง และอเมริกาใต้ เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ผลิตในประเทศยังได้รับมอบหมายจากผู้ผลิตเวชภัณฑ์ชั้นนำของโลก ผลิตยาเพื่อป้อนตลาดในประเทศ และกลุ่มอาเซียน ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกยาเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การส่งออกไม่ได้มีการเติบโตมาก เนื่องจากความต้องการในประเทศมีสูง ในช่วงที่เกิดปัญหาอุทกภัย รวมทั้งผู้ผลิตต้องเตรียมยาไว้เพื่อรับเปลี่ยนกับสินค้าที่เสียหายจากโรงพยาบาล/ร้านขายยาที่ประสบอุทกภัยด้วย

3. นโยบายที่เกี่ยวข้อง

3.1 คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2554 เห็นชอบร่างนโยบายแห่งชาติด้านยา พ.ศ. .... และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ. .... ตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติเสนอ ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพที่ได้มาตรฐาน ตลอดจนสร้างระบบการใช้ยาอย่างสมเหตุผล รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงยาจำเป็น และพัฒนาอุตสาหกรรมยาภายในประเทศให้สามารถพึ่งพาตนเองได้

3.2 กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศ ณ วันที่ 14 เมษายน 2554 เรื่อง การกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิตยาแผนปัจจุบันตามกฎหมายว่าด้วยยา พ.ศ. 2554 (ซึ่งเป็น GMP ตามแนวทางของ PIC/S หรือ Pharmaceutical Inspection Co-operation Scheme) โดยให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิตยาแผนปัจจุบัน ตามกฎหมายว่าด้วยยา พ.ศ. 2546 (ซึ่งเป็น GMP ตามแนวทางของ WHO) และให้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (7 กรกฎาคม 2554) สำหรับผู้รับอนุญาตผลิตยาแผนปัจจุบัน ซึ่งได้รับอนุญาตก่อนประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ประกาศกระทรวงฉบับนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ เพื่อให้การผลิตยาแผนปัจจุบันในประเทศไทยมีคุณภาพมาตรฐานเท่าสากล ซึ่งจะสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนผู้ใช้ยา และสามารถส่งออกแข่งขันในตลาดยาต่างประเทศได้

3.3 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2554 เห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติสถาบันวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ โดยมอบให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันพิจารณาเกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

4. สรุปและแนวโน้ม

ปริมาณการผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในปี 2554 หดตัวลงจากปีก่อน เนื่องจากยา บางชนิดที่อยู่ในรูปแบบยาน้ำ ซึ่งเคยมีความต้องการสูง ถูกควบคุมการจำหน่าย ประกอบกับผู้ผลิตเลิกทำการผลิตยาบางชนิดที่ไม่ได้กำไร รวมทั้งปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ช่วงปลายปี ทำให้มีโรงงานได้รับความเสียหายไม่สามารถดำเนินการผลิตได้ หรือต้องหยุดผลิตชั่วคราว เพื่อป้องกันสายการผลิต สำหรับปริมาณการจำหน่ายหดตัวลงเช่นกัน เนื่องจากยาที่เคยจำหน่ายได้ปริมาณมาก ถูกเปลี่ยนเป็นยาควบคุมพิเศษ ทำให้ไม่สามารถจำหน่ายได้ในวงกว้าง และแม้ว่าผู้ผลิตจะทำการผลิตยาสามัญชนิดใหม่ ซึ่งมีกำไรดีกว่า แต่สามารถจำหน่ายได้ในปริมาณน้อย เพราะเป็นยารักษาโรคเฉพาะทาง นอกจากนี้ ปัญหาอุทกภัยได้ส่งผลต่อการกระจายสินค้า รวมทั้งยังไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันต่อความต้องการ ตลอดจนโรงพยาบาลและร้านขายยาไม่สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ และผู้ผลิตต้องเตรียมสินค้าเพื่อรองรับการรับคืนยาที่เสียหายด้วย

สำหรับมูลค่าการนำเข้าขยายตัวเพียงเล็กน้อย จากข้อจำกัดในการเบิกจ่ายยาของโรงพยาบาลภาครัฐ ผู้นำเข้าจึงต้องลดราคาสินค้า เพื่อที่จะรักษาปริมาณยอดขายไว้ ส่วนมูลค่าการส่งออก มีการขยายตัว เนื่องจากผู้ผลิตได้พัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพเป็นที่เชื่อมั่นของประเทศคู่ค้า สามารถขึ้นทะเบียนยาได้เพิ่มขึ้นและเริ่มจำหน่ายได้แล้วในตลาดหลัก ตลอดจนสามารถขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ นอกจากนี้ ผู้ผลิตยังรับจ้างผลิตยาให้กับผู้ผลิตเวชภัณฑ์ชั้นนำของโลก อย่างไรก็ตาม การส่งออกอาจเติบโตไม่สูงเช่นปีก่อน เนื่องจากความต้องการในประเทศมีสูงขึ้น

แนวโน้มในปี 2555 คาดว่า ปริมาณการผลิตจะขยายตัว ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการควบคุมการเบิกจ่ายค่ายาที่รัดกุมมากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการสั่งจ่ายยาเกินความจำเป็น ด้วยการดูแลการเบิกจ่ายให้มีความเหมาะสม และใช้ยาสามัญในประเทศทดแทน รวมทั้งงบประมาณอุดหนุนจากภาครัฐรายหัวตามโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในปีงบประมาณ 2555 มีอัตราเหมาจ่ายรายหัว 2,895.6 บาทต่อปี ปรับขึ้นจากปีก่อนที่มีอัตราหัวละ 2,546 บาทต่อปี ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมยาในประเทศ และส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายยาในประเทศเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ สภาพการแข่งขันด้านราคาของยาสามัญจะสูงขึ้นเช่นกัน เพราะนอกจากผู้ผลิตในประเทศจะแข่งขันกันเองแล้ว ยังต้องแข่งขันกับยาสามัญนำเข้าด้วยซึ่งผู้ผลิตเวชภัณฑ์ชั้นนำเริ่มให้ความสำคัญกับยาประเภทนี้มากขึ้น ตามความต้องการของตลาดโลก ด้านมูลค่าการนำเข้าคาดว่า ยังคงขยายตัว จากจำนวนผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของภาครัฐที่รัดกุม อาจทำให้อัตราการเติบโตของการนำเข้าไม่สูงนัก ส่วนมูลค่าการส่งออก คาดว่า จะขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตขยายตลาดใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสามารถพัฒนาการผลิตจนได้คุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทำให้ผู้ผลิตเวชภัณฑ์ชั้นนำของโลก ว่าจ้างบริษัทของไทยผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายทั้งตลาดในประเทศ กลุ่มอาเซียน และขยายไปสู่กลุ่มยุโรปในลำดับต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ