สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ปี 2554 และแนวโน้มปี 2555(อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 19, 2012 15:22 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

1.1 การผลิต

การผลิตยางแปรรูปขั้นต้น ในปี 2554 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.97 เมื่อเทียบกับปีก่อน สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญ เช่น การผลิตยางนอกรถยนต์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน ยางใน ถุงมือยาง ถุงมือตรวจ เมื่อเทียบกับปีก่อน การผลิตยางนอกรถยนต์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.98 และ 11.12 ตามลำดับ สำหรับการผลิตยางใน ลดลงร้อยละ 8.40 ในส่วนของการผลิต ถุงมือยาง ถุงมือตรวจ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.00

การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นขยายตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งการผลิตผลิตภัณฑ์ยางขยายตัว เกือบทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะยางยานพาหนะ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มขยายตัว อุตสาหกรรมรถยนต์กลับมาขยายตัวอีกครั้ง ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะขยายตัวตามไปด้วย สำหรับในส่วนของการผลิตยางใน ในช่วงครึ่งปีแรกมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางในรถจักรยานยนต์จากจีนมากผิดปกติ โดยผลิตภัณฑ์ยางในรถจักรยานยนต์จากจีน ถึงแม้จะถูกเก็บภาษีนำเข้าร้อยละ 10 แล้ว ยังมีราคาขายต่ำกว่ายางในภายใน ประเทศมากกว่าร้อยละ 50 เนื่องจากสินค้าจากจีนมีต้นทุนที่ต่ำมาก ซึ่งส่งผลให้การผลิตโดยรวมของอุตสาหกรรมยางในภายในประเทศลดลง สำหรับในส่วนของการผลิตถุงมือยาง ถุงมือตรวจ ยังคงขยายตัวได้ดี เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์ และใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและบริการ อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปีเกิดภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ทำให้โรงงานผลิตยานยนต์ขนาดใหญ่หลายแห่งต้องหยุดการผลิตชั่วคราว ทำให้อุตสาหกรรมยางยานพาหนะชะลอตัวตามไปด้วย ซึ่งอาจส่งผลทำให้ การขยายตัวของอุตสาหกรรมยางยานพาหนะไม่ขยายตัวอย่างที่คาดเอาไว้ในช่วงต้นปี สำหรับอุตสาหกรรม ถุงมือยาง ถุงมือตรวจ ไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ภาคใต้

1.2 การจำหน่ายในประเทศ

ในปี 2554 การจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในประเทศ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 12.60 การจำหน่ายยางนอกรถยนต์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน มีการปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.08 และ 0.56 ตามลำดับ สำหรับการจำหน่ายยางใน ลดลงร้อยละ 14.91 และในส่วนของถุงมือยาง ถุงมือตรวจ มีปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.37

การจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศยังขยายตัวได้ดีตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้น ความต้องการใช้ยางเพื่อนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในประเทศยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยางนอกรถยนต์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน อย่างไรก็ตาม ปัญหาน้ำท่วมที่ส่งผลกระทบในทางอ้อมต่ออุตสาหกรรมยางยานพาหนะ อาจจะทำให้การเติบโตไม่เพิ่มขึ้นอย่างที่คาดไว้ในช่วงต้นปี ในส่วนของการจำหน่ายยางในภายในประเทศลดลง เนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรกมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางในรถจักรยานยนต์จากจีนมากผิดปกติ ซึ่งยางในที่นำเข้าจากประเทศจีนมีราคาต่ำกว่ายางในภายในประเทศมาก จึงส่งผลกระทบต่อการจำหน่ายภายในประเทศ ในส่วนของถุงมือยาง ถุงมือตรวจ ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์ และใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหาร และบริการ

2. การส่งออกและการนำเข้า

2.1 การส่งออก

ในปี 2554 การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นของไทย ประกอบด้วย ยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้น และยางพาราอื่นๆ คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออก 13,599.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน มูลค่าการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 72.23 โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ ประเทศจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งประกอบด้วย ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง ยางรัดของ หลอดและท่อ สายพานลำเลียงและส่งกำลัง ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในทางเภสัชกรรม ยางวัลคาไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ ซึ่งคาดว่ามีมูลค่าการส่งออก 8,341.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.64

มูลค่าการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นและผลิตภัณฑ์ยางที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นนี้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น จึงมีความต้องการใช้ยางพาราเพื่อนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ยางต่างๆ ที่สำคัญ ซึ่งนอกจากจีนและอินเดียเป็นประเทศผู้ใช้ยางที่สำคัญ มีการนำเข้ายางธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ปริมาณการผลิตยางภายในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศแล้ว บราซิลก็เป็นตลาดส่งออกที่ถือว่าขยายตัวได้ดี มีความต้องการใช้ยางเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออกที่เพิ่มมากขึ้นเกือบหนึ่งเท่าตัวนี้ ส่วนหนึ่งมาจากราคายางพาราในช่วงต้นปีอยู่ในระดับสูงมาก สำหรับผลิตภัณฑ์ยางมีการขยายตัวในทุกผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์ที่ขยายตัวมาก ตามอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เติบโตขึ้น ในส่วนของความต้องการถุงมือยาง ถุงมือตรวจ ในตลาดโลกยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากกระแสความวิตกกังวลการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกตื่นตัวมากขึ้นต่อการป้องกันโรคติดต่อ โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และสหราชอาณาจักร สำหรับประเทศคู่แข่งที่สำคัญ คือ มาเลเซีย จีนและอินโดนีเซีย นอกจากนี้ กรอบข้อตกลง FTA ก็มีส่วนช่วยผลักดันการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ให้ขยายตัวขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ามูลค่าการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางจะเพิ่มมากขึ้น แต่การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา ก็ส่งผลกระทบต่อรายได้และความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการเช่นกัน

2.2 การนำเข้า

ในปี 2554 การนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาง ยางและเศษยาง และวัสดุทำจากยาง คาดว่าจะมีมูลค่า 2,272.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.05 โดยเฉพาะวัสดุทำจากยาง ในผลิตภัณฑ์กระเบื้องปูพื้นปิดผนัง เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว การนำเข้าที่เพิ่มขึ้นนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจภายใน ประเทศปรับตัวดีขึ้น ทำให้ความต้องการใช้ยางของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น อีกทั้งกรอบข้อตกลง FTA ก็มีส่วนให้ การนำเข้ายางพาราและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นด้วย

3. ราคายาง

ราคายางในช่วงต้นปี 2554 เคลื่อนไหวอยู่ในระดับสูง ถึงแม้ว่าในบางช่วง ราคาได้ปรับตัวลดลงมาก ทั้งนี้ เนื่องจากราคายางที่อยู่ในระดับสูงมากทำให้จีนซึ่งมียางพาราสำรองอยู่มาก ได้ชะลอการสั่งซื้อยางพาราจากไทย รวมทั้งภัยธรรมชาติแผ่นดินไหวและสึนามิ รวมทั้งวิกฤตนิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่น ทำให้ญี่ปุ่นชะลอการสั่งซื้อยางออกไป อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่างๆ เกิดขึ้นในช่วงระยะสั้น เนื่องจากภาคการผลิตยานยนต์มีการฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และยางพาราที่สำรองไว้ของจีนเริ่มหมดลง ทำให้จีนกลับมาสั่งซื้อยางพารา ทำให้ราคายางพารากระเตื้องขึ้นและทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไป อย่างไรก็ตาม ราคายางได้เริ่มปรับตัวลงอีกครั้งในช่วงเดือนตุลาคม เนื่องจากเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปชะลอตัว ประกอบกับการเกิดปัญหาภายในของประเทศจีนซึ่งเป็นผู้สั่งซื้อรายใหญ่ มีการสำรองยางพาราไว้มากกว่า 2 แสนตัน ทำให้จีนชะลอการสั่งซื้อออกไปรวมทั้งปัญหาน้ำท่วมภายในประเทศ ส่งผลกระทบต่อระบบอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับยางพารา นอกจากนี้ในช่วงปลายปีมีผลผลิตยางพาราออกสู่ตลาดมาก ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลทำให้ราคายางพาราลดลงทั้งสิ้น

4. สรุปและแนวโน้ม

อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางขยายตัว ตั้งแต่ต้นปี 2553 ต่อเนื่องจนถึงปี 2554 ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์กลับมาขยายตัวอีกครั้ง ส่งผลต่อผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะขยายตัวตามไปด้วย ยกเว้นผลิตภัณฑ์ยางในรถจักรยานยนต์ ที่มีปริมาณการผลิตและการจำหน่ายในประเทศลดลง เนื่องจากมีการนำเข้าสินค้ายางในจักรยานยนต์จากประเทศจีนเข้ามามากผิดปกติ ทำให้ผู้ประกอบการต้องลดการผลิตลง อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสที่ 3 เกิดภาวะน้ำท่วมทำให้โรงงานผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่หยุดการผลิตเป็นการชั่วคราว ส่งผลต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมยางรถยนต์ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาสัดส่วนการผลิตยางรถยนต์เพื่อการส่งออกอยู่ที่ร้อยละ 50 และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 50 ทั้งนี้ โรงงานผลิตรถยนต์ที่ปิดตัวไปนั้นบางแห่งจะสามารถกลับมาดำเนินการผลิตได้ก่อนสิ้นปี ทำให้สถานการณ์อุตสาหกรรมยางรถยนต์ปรับตัวดีขึ้นในระดับหนึ่ง สำหรับในส่วนของการผลิตถุงมือยาง ถุงมือตรวจ ยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์และใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหาร และบริการ อีกทั้งโรงงานผลิตถุงมือยาง ถุงมือตรวจ ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม เนื่องจากส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ภาคใต้

แนวโน้มปี 2555 คาดว่าอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง จะขยายตัวได้ดีตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในตลาดโลก สำหรับในส่วนของอุตสาหกรรมยางยานพาหนะผู้ประกอบการวางแผนเพิ่มสัดส่วนการส่งออกเป็นร้อยละ 80 เพื่อทดแทนตลาดอุตสาหกรรมยางยานพาหนะภายในประเทศที่ชะลอตัวลงจากการที่อุตสาหกรรมรถยนต์ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม อย่างไรก็ตาม โรงงานผลิตรถยนต์ที่ปิดตัวไปนั้นบางแห่งสามารถดำเนินการผลิตได้อีกครั้งก่อนสิ้นปี 2554 บางแห่งจะสามารถกลับมาดำเนินการผลิตได้อย่างเต็มที่ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2555 ซึ่งคาดว่าจะทำให้อุตสาหกรรมยางยานพาหนะสามารถฟื้นตัวขึ้นได้อีกครั้ง สำหรับในส่วนของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ และอุตสาหกรรมถุงมือยาง ถุงมือตรวจ คาดว่าจะยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะถุงมือยาง ถุงมือตรวจ ยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่องในตลาดโลก ตามกระแสความวิตกกังวลการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค

การส่งออกขยายตัวได้ดีทั้งในส่วนของของยางแปรรูปขั้นต้นและผลิตภัณฑ์ยาง เนื่องจากความต้องการใช้ยางของตลาดโลกเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ยางต่างๆ ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออกที่เพิ่มมากขึ้นเกือบหนึ่งเท่าตัวนี้ ส่วนหนึ่งมาจากราคายางพาราในช่วงต้นปีอยู่ในระดับสูงมาก สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางมีการขยายตัวในทุกผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์ที่ขยายตัวมาก ตามอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เติบโตขึ้น ในส่วนของความต้องการถุงมือยาง ถุงมือตรวจ ในตลาดโลกยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากกระแสความวิตกกังวลการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค

แนวโน้มการส่งออกปี 2555 คาดว่าจะยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยางแปรรูปขั้นต้น ตามความต้องการของประเทศผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจีนและอินเดีย อีกทั้งบราซิลยังมีความต้องการใช้ยางเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ยาง เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้บราซิลเป็นประเทศใหญ่จึงเป็นโอกาสที่ดีต่ออุตสาหกรรมยางพาราของไทย นอกจากนี้กรอบข้อตกลง FTA ก็มีส่วนช่วยผลักดันการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องระวังคือ ผลของกรอบ FTA นอกจากจะช่วยผลักดันการส่งออกแล้ว ยังส่งผลให้การนำเข้ายางและผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวยังคงมีความไม่แน่นอนและผันผวน โดยเฉพาะวิกฤตหนี้สินในสหรัฐอเมริกาและยุโรปอาจจะยืดเยื้อและขยายตัวเป็นวงกว้าง รวมทั้งการแข็งค่าของเงินบาทส่งผลกระทบต่อศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกของสินค้าไทยและรายได้ของผู้ส่งออก

สำหรับด้านราคายางพาราในปี 2555 มีแนวโน้มที่จะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ยางพาราในตลาดโลกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งทิศทางราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ซึ่งน้ำมันเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตยางสังเคราะห์ เมื่อราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตยางสังเคราะห์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้ผู้ผลิตหันมาใช้ยางธรรมชาติมากขึ้น นอกจากนี้ในช่วงต้นปีเป็นฤดูยางผลัดใบต้องพักกรีดยาง ซึ่งจะทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ซึ่งจะทำให้ราคายางปรับตัวขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ