สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ปี 2554 และแนวโน้มปี 2555(อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 19, 2012 15:33 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สถานการณ์ทั่วไป

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการส่งออกสูง โดยปี 2554 ในช่วง 10 เดือนแรก มีมูลค่าการส่งออก 10,720 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นอันดับที่ 3 ของสินค้าส่งออกสำคัญของไทยในหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ในปีนี้เป็นปีที่เศรษฐกิจโลกประสบปัญหาจากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปชะลอตัว อย่างไรก็ตามสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยยังได้จำหน่ายได้ดีในระดับหนึ่ง เนื่องจากผู้บริโภคบางส่วนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจดังกล่าวยังมีกำลังซื้อพอ ด้านมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเกิดจากปัจจัยราคาทองคำในตลาดโลกที่มีราคาสูงขึ้นซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาสินค้าเครื่องประดับแท้ทำด้วยทองมีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้การส่งออกทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูปมีมูลค่าโดยรวมใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า ทั้งนี้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับก่อให้เกิดการพัฒนาของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกัน ตั้งแต่การทำเหมือง การเจียระไน การออกแบบ การทำและประกอบตัวเรือน การผลิตเครื่องมือเครื่องจักรในการเจียระไนพลอย และการทำวัสดุหีบห่อ เป็นต้น ก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 1.3 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก มีโรงงานที่จดทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ประมาณ 700 โรงงาน อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับจึงเป็นอุตสาหกรรมหลักประเภทหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

การผลิต

จากตัวเลขประมาณการภาพรวมในปี 2554 ดัชนีผลผลิต เครื่องเพชร พลอย และรูปพรรณและของที่เกี่ยวข้องกัน (ดูตารางที่ 1 ประกอบ) อยู่ที่ 51.64 ลดลงจากปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 13.85 ซึ่งเป็นการลดลงในภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ดัชนีส่งสินค้า (ดัชนีการจำหน่าย) อยู่ที่ 53.38 ลดลงจากปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 14.19 ในขณะที่ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังอยู่ที่ 107.13 เพิ่มขึ้นจากปี 2553 คิดเป็นร้อยละ 48.43 อย่างไรก็ตาม ดัชนีการผลิต ดัชนีส่งสินค้าที่ลดลง โดยดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้น แต่มีการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกซึ่งสวนทางกลับตัวเลขดัชนีดังกล่าว เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้ราคาสินค้าเครื่องประดับแท้ที่ทำด้วยทองต่อหน่วยเพิ่มขึ้น และมีการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปในระดับสูงที่ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า

การตลาด

การส่งออก

จากตัวเลขประมาณการภาพรวมในปี 2554 อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับมีมูลค่าการส่งออก (ดูตารางที่ 2 ประกอบ) คิดเป็นมูลค่า 12,864.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 10.40 ซึ่งปี 2553 มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 11,651.92 ล้านเหรียญสหรัฐฯ การส่งออกสินค้าที่สำคัญ เช่น การส่งออกเครื่องประดับแท้ที่ทำด้วยทองมีมูลค่าส่งออก 2,029.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.24 เนื่องจากราคาทองคำเพิ่มสูงขึ้น อันดับถัดมา ได้แก่ เครื่องประดับแท้ที่ทำด้วยเงินมีมูลค่าส่งออก 1,572.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.55 เนื่องจากผู้บริโภคบางส่วนเปลี่ยนมาซื้อสินค้าประเภทเงินมากขึ้น ในภาวะที่สินค้าที่ประกอบด้วยทองคำมีราคาสูงขึ้น เพชรมีมูลค่าส่งออก 1,489.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.72 และพลอยมีมูลค่าส่งออก 635.89 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.43 เป็นต้น

ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกา คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.97, 17.57, และ 14.88 ตามลำดับ โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญในตลาดสวิตเซอร์แลนด์ ได้แก่ ทองคำยังไม่ขึ้น รูป สินค้าส่งออกที่สำคัญในตลาดฮ่องกง ได้แก่ ทองคำยังไม่ขึ้นรูป และพลอย และสินค้าส่งออกที่สำคัญในตลาดสหรัฐอเมริกา ได้แก่ เครื่องประดับแท้ทำด้วยเงิน เครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง และพลอย

การนำเข้า

จากตัวเลขประมาณการภาพรวมในปี 2554 ไทยมีการนำเข้าสินค้าเครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ (ดูตารางที่ 3 ประกอบ) คิดเป็นมูลค่า 19,180.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 94.18 สาเหตุที่มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็นผลจากราคาทองคำในตลาดโลกโดยเฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากจากปีก่อน โดยในปี 2554 อยู่ที่ระดับประมาณ 1,600 เหรียญสหรัฐฯ ต่อออนซ์ ซึ่งในปี 2553 ราคาทองคำโดยเฉลี่ยประมาณ 1,300 เหรียญสหรัฐฯ ต่อออนซ์ จึงคาดว่ามูลค่าการนำเข้าทองคำโดยรวมจะมีมูลค่า 15,571.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 98.39 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยการนำเข้าเพชรจะมีมูลค่า 1,956.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 152.91 เนื่องจากราคาเพชรที่เพิ่มสูงขึ้น โดยสินค้านำเข้าอื่นๆ ได้แก่ เงิน พลอย และโลหะมีค่า และโลหะอื่นๆ

แหล่งนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญของไทย ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

สรุปและแนวโน้ม

โดยสรุปภาพรวมการผลิตของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในปี 2554 เมื่อเทียบกับปี 2553 ลดลงร้อยละ 13.85

ภาพรวมด้านการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในปี 2554 จะมีการขยายตัวร้อยละ 10.40 โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ สวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการส่งออกเครื่องประดับแท้ที่ทำด้วยทอง เครื่องประดับแท้ที่ทำด้วยเงิน และเพชร

ด้านการนำเข้าในอุตสาหกรรมนี้ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 94.18 โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญ คือ สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ซึ่งสินค้านำเข้าส่วนใหญ่จะใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต

จากการประมาณการมูลค่าการส่งออกและการนำเข้าในปี 2554 พบว่าไทยมีสัดส่วนมูลค่าการนำเข้ามากกว่ามูลค่าการส่งออก ซึ่งเป็นผลจากการนำเข้าทองคำยังไม่ขึ้นรูปที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก

สำหรับแนวโน้มการผลิต ในปี 2555 คาดว่าการผลิตจะขยายตัวเพิ่มขึ้น หากมีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปเป็นไปด้วยดี

สำหรับแนวโน้มด้านการส่งออก ในปี 2555 ปัจจัยบวก คือ ความต้องการสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพิจารณาได้จากคำสั่งซื้อในงานบางกอกเจมส์แอนด์ จิวเวลรี่แฟร์ ครั้งที่ 48 ที่ผ่านมา ปัจจัยลบ คือ ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นซึ่งเป็นต้นทุนทำให้เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ทั้งนี้หากการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปมีความชัดเจนยิ่งขึ้นจะเป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับได้มากกว่านี้

แนวโน้มด้านการนำเข้า ในปี 2555 อุตสาหกรรมนี้การนำเข้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าวัตถุดิบ คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นซึ่งจะสอดคล้องกับการส่งออกที่เพิ่มขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ