สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ปี 2554 และแนวโน้มปี 2555(อุตสาหกรรมอาหาร)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 19, 2012 15:38 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมอาหาร

1. การผลิต

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมปี 2554 ไม่รวมน้ำตาล คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 4.1 เนื่องจากการผลิตในหลายสินค้า ได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการที่ประเทศผู้ผลิตสำคัญหลายประเทศประสบปัญหาด้านวัตถุดิบจากภัยธรรมชาติ ส่งผลต่อระดับราคาสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดโลกมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้นในเกือบทุกสินค้า ส่งผลให้การผลิตอุตสาหกรรมอาหารของไทยได้รับผลดี อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่และจากการที่หลายประเทศในยูโรโซนยังประสบปัญหาวิกฤตทางการเงิน และการแข็งค่าของเงินบาท อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเนื่องของการผลิตอุตสาหกรรมอาหารของไทย สำหรับภาวะการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในแต่ละกลุ่ม มีดังนี้

  • กลุ่มปศุสัตว์ สินค้าสำคัญ คือ ไก่สดแช่แข็งและไก่แปรรูป โดยภาพรวมของกลุ่ม ปี 2554 คาดว่าจะมีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 7.9 เป็นผลจาก EU ได้เปิดนำเข้าไก่แปรรูปเต็มโควตา ประกอบกับตลาดญี่ปุ่น เกิดเหตุภัยพิบัติสึนามิและวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นใจในสินค้าอาหารในประเทศ และตลาดใหม่ในแถบตะวันออกกลางเริ่มนำเข้าไก่จากไทยเพิ่มขึ้น
  • กลุ่มประมง สินค้าสำคัญ คือ กุ้งและผลิตภัณฑ์จากกุ้ง โดยภาพรวมของกลุ่ม ปี 2554 คาดว่าจะปรับตัวลดลง เป็นผลจากการที่ประเทศผู้ผลิตซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญ ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย และประเทศในแถบอเมริกาใต้ สามารถกลับมาส่งออกได้หลังเกิดโรคระบาดในปีก่อน ประกอบกับผลิตภัณฑ์จากปลาทูน่า แม้ว่าจะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังไม่มากนัก ทำให้ปริมาณการผลิตในภาพรวมลดลงจากปีก่อนร้อยละ 3.7
  • กลุ่มผักผลไม้ ภาพรวมของการผลิต ปี 2554 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8 จากการผลิตเพิ่มขึ้นของสินค้าสำคัญในกลุ่ม คือ สับปะรดกระป๋อง เนื่องจากวัตถุดิบมีปริมาณเพิ่มขึ้น จากระดับราคาตลาดโลกที่จูงใจให้ผลิตเพิ่มขึ้น แต่จากการแข็งค่าของเงินบาท อาจส่งผลให้การทำตลาดเป็นไปได้ยากขึ้น
  • ผลิตภัณฑ์นม ธัญพืชและแป้ง การผลิตในปี 2554 คาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 8.8 และ 0.5 เนื่องจากราคาวัตถุดิบนำเข้าในสินค้าผลิตภัณฑ์นม ข้าวและแป้งสาลี ปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น
  • บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป การผลิตในปี 2554 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 ซึ่งเป็นการ ปรับเพิ่มอย่างต่อเนื่องจากปีก่อนประกอบกับเกิดเหตุภัยธรรมชาติเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการบริโภคขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นสินค้าราคาต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าชนิดอื่น
  • น้ำมันพืช การผลิตในปี 2554 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.5 เนื่องจากมีความ ต้องการใช้ทั้งจากครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมผลิตอาหาร เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพิ่มขึ้น ประกอบกับเกิดการขาดแคลนน้ำมันพืชในช่วงต้นปี ทำให้มีการอนุมัตินำเข้าน้ำมันปาล์มมาแปรรูป และเมื่อเหตุการณ์เริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้มีการผลิตเพิ่มขึ้น ส่วนการนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองมาผลิตน้ำมันพืชก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน จากการใช้บริโภคทดแทนน้ำมันปาล์มในช่วงต้นปี
  • น้ำตาล การผลิตในปี 2554 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.2 เนื่องจากผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้น จากการขยายพื้นที่เพาะปลูกตามราคาน้ำตาลของตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นจูงใจให้เกษตรกรปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น หลังเกิดการขาดแคลนในประเทศที่ทำให้มีการปรับโควตาส่งออกมาใช้ในประเทศช่วงปลายปีก่อน

2. การตลาด

2.1 ตลาดในประเทศ

ภาพรวมการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหาร ในปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 จากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เริ่มคลี่คลาย ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการบริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสที่ 3-4 เกิดปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องให้ระดับต้นทุนสินค้าและราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้น และอาจทำให้ตลอดทั้งปีการบริโภคในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น

2.2 ตลาดต่างประเทศ

ภาพรวมการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในปี 2554 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนในรูปเงินเหรียญสหรัฐร้อยละ 4.1 เนื่องจากได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าหลัก คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และกลุ่มอาเซียน แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท แต่ระดับราคาสินค้าอาหารได้ปรับตัวสูงขึ้น สำหรับการส่งออกในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์ มีดังนี้

-กลุ่มผลิตภัณฑ์ประมง ภาพรวมการส่งออกในปี 2554 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับปี 2553 โดยมีปลาทูน่ากระป๋อง เป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และ EU จากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคเริ่มมีแนวโน้มขยายตัว

-กลุ่มผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้ ภาพรวมการส่งออกในปี 2554 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.2 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของสินค้าแปรรูปมากกว่าในรูปของผักผลไม้สดและแห้ง และเป็นการส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดหลัก คือ สหรัฐอเมริกา และยุโรป

-กลุ่มผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ สินค้าหลัก คือ ไก่และสัตว์ปีก ในปี 2554 คาดว่าภาพรวมการส่งออกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นประสบปัญหาขาดความเชื่อมั่นสินค้าอาหารในประเทศจากการเกิดสึนามิที่ทำให้เกิดวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตั้งแต่ช่วงต้นปี

-กลุ่มผลิตภัณฑ์จากข้าว แป้ง และธัญพืช ภาพรวมการส่งออกของสินค้าในกลุ่มนี้ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในเชิงมูลค่าประมาณร้อยละ 5.6 เป็นผลจากการปรับราคาส่งออกเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และข้าว เนื่องจากความต้องการในตลาดโลกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักในการส่งออกมันเส้นและแป้งมันสำปะหลัง

-น้ำตาลทราย ภาพรวมการส่งออกคาดว่าจะมีการขยายตัวในเชิงมูลค่าเพิ่มขึ้นตามระดับราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น จากการที่ประเทศอินเดียประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้สต็อกน้ำตาลในตลาดโลกลดลง ส่งผลให้ในปี 2554 มูลค่าการส่งออกน้ำตาลคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1

3. สรุปและแนวโน้ม

          แนวโน้มการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมปี 2555  คาดว่า จะขยายตัวจากปี 2554 เล็กน้อยประมาณร้อยละ 0.1 ขณะที่คาดการณ์การส่งออกอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมปี 2555 ในรูปเงินเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7.8  โดยมีปัจจัยภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวของสหรัฐอเมริกา และประเทศ ผู้นำเข้าทั้งสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การผลิตและการส่งออกของไทยในสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น  และยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น การประกาศลดค่าเงินของประเทศคู่แข่งและการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาท ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศของผู้บริโภคที่ยังชะลอการจับจ่ายใช้สอย             ภัยธรรมชาติที่ไม่อาจคาดการณ์ได้  และมาตรการกีดกันทางการค้ารูปแบบต่างๆ ที่ประเทศผู้นำเข้าจะประกาศใช้ในอนาคต นอกจากนี้ยังต้องเฝ้าระวังการประกาศมาตรการกีดกันรูปแบบใหม่  โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การวิเคราะห์ร่องรอยคาร์บอนและการใช้น้ำ และความปลอดภัยของแรงงาน ซึ่งจะทะยอยประกาศใช้เพื่อส่งเสริมการผลิตในกลุ่มประเทศสมาชิก นอกจากนี้การที่สหรัฐฯ กำลังพิจารณายกเลิกการ    คว่ำบาตรการค้ากับพม่า อาจส่งผลต่อการแข่งขันกับสินค้าไทยได้ในอนาคต ในขณะที่รายกลุ่มผลิตภัณฑ์มีปัจจัยสนับสนุน เช่น  กลุ่มปศุสัตว์ จะได้รับผลดีจากการตรวจรับรองโรงงานผลิตไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากสหภาพยุโรป และประเทศอียิปต์ ซึ่งจะทำให้สามารถส่งออกไก่สดแช่แข็งได้อีกครั้งหลังจากประสบปัญหาไข้หวัดนกตั้งแต่ปี 2547  อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจาก กลุ่มประมง มีการตรวจสอบอาหารทะเลแช่แข็งที่เข้มงวดมากขึ้นของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากความกังวลในการปนเปื้อนและสารตกค้างจากเหตุอุทกภัย กลุ่มผักผลไม้ ธัญพืชและแป้ง และน้ำตาล ซึ่งพื้นที่เพาะปลูกได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ทำให้ผลผลิตเกิดความเสียหายในหลายพื้นที่

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ