ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนธันวาคม 2554 ลดลงร้อยละ 25.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยการผลิตลดลงในหลายอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ Hard Disk Drive ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องแต่งกาย สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมมีมูลค่า 12,214.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงหรือหดตัวร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ในเดือนธันวาคม พื้นที่อุตสาหกรรมของไทยที่เคยประสบอุทกภัยได้คลี่คลายทั้งหมด และเข้าสู่ระยะฟื้นฟูและผู้ประกอบการบางส่วนสามารถฟื้นฟูซ่อมแซมเครื่องจักรจนสามารถเริ่มทำการผลิตได้แต่เนื่องจากเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการเร่งฟื้นฟูแก้ไขปัญหาเครื่องจักรในการผลิต จึงยังมีอัตราการใช้กำลังการผลิตในระดับต่ำ
การผลิตในภาคอุตสาหกรรมซึ่งวัดจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (1) เดือนธันวาคม 2554 ลดลงร้อยละ 25.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตลดลงในหลายอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ Hard Disk Drive ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เครื่องปรับอากาศเครื่องแต่งกาย
ในเดือนธันวาคม พื้นที่อุตสาหกรรมของไทยที่เคยประสบอุทกภัยได้คลี่คลายทั้งหมด และเข้าสู่ระยะฟื้นฟูและผู้ประกอบการบางส่วนสามารถฟื้นฟูซ่อมแซมเครื่องจักรจนสามารถเริ่มทำการผลิตได้ แต่เนื่องจากเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการเร่งฟื้นฟูแก้ไขปัญหาเครื่องจักรในการผลิต จึงยังมีอัตราการใช้กำลังการผลิตในระดับต่ำ
สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิต (2) เดือนธันวาคม 2554 อยู่ที่ร้อยละ 52.31 จากร้อยละ 40.50 ในเดือนพฤศจิกายน 2554 และร้อยละ 62.35 ในเดือนธันวาคม 2553
เมื่อพิจารณาในด้านของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2554 ลดลงหรือหดตัวร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่หากหักการส่งออกทองคำ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ไม่รวมทองคำหดตัวที่ร้อยละ 3.9
หมายเหตุ
(1) ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เป็นดัชนีที่แสดงทิศทางการผลิตภาคอุตสาหกรรม ทั้งในภาพรวม รายสาขาอุตสาหกรรม และรายผลิตภัณฑ์
(2)อัตราการใช้กำลังการผลิต หมายถึง ค่าร้อยละของการผลิตที่เกิดขึ้นจริงเมื่อเทียบกับความสามารถในการผลิตสูงสุดเต็มศักยภาพ หรือเต็มกำลังการผลิต (capacity)
อุตสาหกรรมรายสาขาสำคัญ(ธันวาคม2554)
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอลดลงในผลิตภัณฑ์ เส้นใยสิ่งทอผ้าผืน เสื้อผ้าที่ผลิตจากผ้าถักและเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าทอ ร้อยละ 49.7, 24.7, 24.8 และ8.8 ตามลำดับ สาเหตุหลักจากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น ซึ่งกระทบต่อการรับคำสั่งซื้อทั้งระบบห่วงโซ่การผลิต
ในด้านการส่งออก โดยภาพรวมลดลงร้อยละ 16.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนผลิตภัณฑ์ที่ลดลง ได้แก่ ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ เส้นใยประดิษฐ์ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 40.9, 17.4, 13.6 และ 10.8 ตามลำดับจากการหดตัวในตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ อาเซียนญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า การผลิตลดลง ร้อยละ 12.50 โดยเหล็กทรงยาวมีการผลิตที่ลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.91 ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุด คือ เหล็กเส้นกลม ลดลงร้อยละ 32.38 รองลงมาคือ เหล็กลวด ลดลงร้อยละ 11.69 ในขณะเดียวกันเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่ลดลงเช่นเดียวกัน ร้อยละ 23.62 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุด คือ เหล็กแผ่นเคลือบโครเมี่ยม ลดลง ร้อยละ 50.04 และเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ลดลง ร้อยละ 33.90ในส่วนของดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea)ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2554 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่า ดัชนีราคาเหล็กปรับลดลงเป็นส่วนใหญ่
อุตสาหกรรมรถยนต์ มีการผลิต จำนวน96,426 คัน ลดลงจากเดือนธันวาคม 2553 ซึ่งมีการผลิต 137,403 คัน ร้อยละ 29.82 โดยเป็นการปรับลดลงของรถยนต์ทุกประเภท (รถยนต์นั่งรถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ) แต่มีปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2554 ร้อยละ 319.61 สำหรับการส่งออกมีจำนวน 35,046 คัน ลดลงจากเดือนธันวาคม 2553 ซึ่งมีการส่งออก 71,025 คันร้อยละ 50.66
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์การผลิตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 52.57 เมื่อพิจารณาในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวลดลงร้อยละ22.97 สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 56.28
ในส่วนมูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 21.94 โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมคือ 3,542.68 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเครื่องใช้ไฟฟ้ามูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ0.97 แต่มูลค่าส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ยังคงปรับตัวลดลงที่ร้อยละ 35.77
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--