สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 (ตุลาคม — ธันวาคม) 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 22, 2012 14:27 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ในไตรมาส 4 ปี 2554 เศรษฐกิจแต่ละประเทศยังคงขยายตัว ปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรปและความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศในยุโรปยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอัตราการว่างงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูงในหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะ สหรัฐยุโรป และญี่ปุ่น รวมทั้งปัญหาเงินเฟ้อก็ยังเป็นปัจจัยกดดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเอเชีย

ราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 4 ปี 2554 อยู่ที่ 104.94 USD/Barrel เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี2553 อยู่ที่ 84.50 USD/Barrel สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกราคาน้ำมันยังคงผันผวน โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนมีนาคม (ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555) เพิ่มขึ้น 1.50 USD/Barrel โดยมีราคาอยู่ที่ 98.41 USD/Barrel ราคาน้ำมันดิบที่ผันผวนเกิดจากหลายปัจจัย เช่น กรณีอิหร่านอาจระงับการส่งออกน้ำมันกับประเทศที่คว่ำบาตรอิหร่าน และอิสราเอลอาจจะใช้กำลังทางทหารกับอิหร่าน เพื่อยับยั้งอิหร่านจากการพัฒนานิวเคลียร์ ความหนาวเย็นในทวีปยุโรปส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มสูงขึ้น และปัญหาหนี้สินของกรีซสร้างความกังวลต่อนักลงทุน

ส่วนของเศรษฐกิจไทยในปี 2554 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 3 ของปี2554 ขยายตัวร้อยละ 3.5 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.7 แต่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.6 โดยปัจจัยที่ทำให้อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 คือ อุปสงค์ต่างประเทศขยายตัวสูงขึ้นในขณะที่อุปสงค์ในประเทศรวมขยายตัวชะลอลง โดยการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนและการลงทุน ขยายตัวชะลอลง ในขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของรัฐบาลขยายตัวสูงขึ้นเล็กน้อย การส่งออกสินค้าขยายตัวสูงขึ้น

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าทั้งปี 2554 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 เทียบกับในปี 2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.8 สำหรับการประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5-5.5 ปรับตัวดีขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 ในปี 2554 โดยมีแรงกระตุ้นทั้งอุปสงค์ภายในประเทศและต่างประเทศ

ในภาคอุตสาหกรรม ไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 ตัวชี้วัดต่างๆ ส่วนใหญ่ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2553 อาทิ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม อัตราการใช้การผลิต ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและธุรกิจ และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น

สถานการณ์การค้าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 การส่งออกมีมูลค่าลดลงเนื่องจากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งรุนแรง โดยในไตรมาสที่ 4 การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 103,924.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 49,705.92 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 54,218.58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 นั้นมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 23.06 และมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 13.62 ส่งผลให้ไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 ดุลการค้าขาดดุล 4,512.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 4.78 สำหรับมูลค่าการนำเข้านั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.15

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนมีมูลค่ารวม 55,641.67 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนโดยตรงสุทธิในเดือนตุลาคม 26,574.50 ล้านบาท สำหรับเดือนพฤศจิกายนมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ29,067.17 ล้านบาท เมื่อพิจารณาการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมตลอดทั้ง 2 เดือน ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554นั้นพบว่ามูลค่าการลงทุนในเดือนตุลาคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 13,314.46 ล้านบาท และในเดือนพฤศจิกายนมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 10,207.53 ล้านบาท โดยการลงทุนในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนของสาขาอุตสาหกรรมมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.74 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) พบว่าในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 478 โครงการ ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการ 477โครงการ โดยในไตรมาสที่ 4 นี้การลงทุนในกิจการต่างๆ มีมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 175,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 51.78 โดยโครงการลงทุนนั้นประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 188 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 74,400 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 112 โครงการ เป็นเงินลงทุน 53,900 ล้านบาท และโครงการที่ลงทุนจากไทย 100%จำนวน 178 โครงการ เป็นเงินลงทุน 46,700 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 พบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 45,100 ล้านบาทรองลงมาคือ หมวดอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้ามีเงินลงทุน 39,600 ล้านบาท และหมวดผลิตภัณฑ์โลหะเครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่งมีเงินลงทุน 36,000 ล้านบาท

สำหรับแหล่งทุนในเดือนตุลาคมซึ่งเป็นเดือนแรกของไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 พบว่านักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นยังคงมีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 30 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 667 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศออสเตรเลียที่มีจำนวน 5 โครงการ มีเงินลงทุน 142 ล้านบาทประเทศฮ่องกงได้รับการอนุมัติลงทุนจำนวน 2 โครงการ เป็นเงินลงทุน 83 ล้านบาท และประเทศสหรัฐอเมริกา 1 โครงการ โดยคิดเป็นเงินลงทุน 82 ล้านบาท

ภาวะอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา

เหล็กและเหล็กกล้า ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 มีประมาณ 1,360,940 เมตริกตัน ( ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) ลดลง ร้อยละ 24.96 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุดในช่วงนี้ คือ เหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 28.56เนื่องจากสถานการณ์อุตสาหกรรมก่อสร้างที่ยังคงทรงตัวอยู่ ประกอบกับสถานการณ์น้ำท่วมซึ่งถึงแม้ว่าโรงงานที่ผลิตเหล็กทรงยาวจะไม่ได้รับผลกระทบทางตรงเพราะไม่ได้ตั้งอยู่ในเขตน้ำท่วมแต่ก็ได้รับผลกระทบทางอ้อมเนื่องจากการขนส่งลำบาก รองลงมาคือ เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 21.52 เนื่องจากโรงงานที่เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องซึ่งใช้เหล็กแผ่นรีดร้อนเป็นวัตถุดิบชะลอคำสั่งซื้อ โดยเป็นผลมาจากสถานการณ์น้ำท่วมและโรงงานที่เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

สถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กในปี 2555 คาดว่า ในส่วนของกลุ่มเหล็กทรงยาวซึ่งใช้ในภาคการก่อสร้างจะขยายตัวขึ้นส่วนหนึ่งเพื่อเร่งซ่อมแซมสาธารณูปโภคและบ้านเรือนที่เสียหายจากภาวะอุทกภัยในประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาระดับสต๊อกที่ลดลงในช่วงปลายปี 2554 สำหรับในส่วนของเหล็กทรงแบนคาดการณ์ว่าการผลิตและความต้องการใช้ในประเทศจะลดลงเนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมหลายนิคมซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กลดลงด้วย

ยานยนต์ ไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 มีการผลิตรถยนต์ จำนวน 172,560 คัน เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงร้อยละ 61.49 โดยมีการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ ลดลงร้อยละ 62.41, 61.47 และ 42.61 ตามลำดับ หากเปรียบเทียบไตรมาสที่สี่กับไตรมาสที่สามของปี 2554 ปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงร้อยละ 63.64 โดยมีการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์ปิกอัพ 1ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ ลดลงร้อยละ 65.37, 63.42 และ 20.42 ตามลำดับ

จากข้อมูลแผนการผลิตของผู้ประกอบการรถยนต์ ประมาณการว่า ในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 จะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 497,000 คัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 49 และการผลิตเพื่อการส่งออกร้อยละ 51 สำหรับในปี 2555 คาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 2.0 ล้านคัน โดยเป็นการผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศร้อยละ 50 และการผลิตเพื่อการส่งออกร้อยละ 50 เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนจากการเปิดตัวของรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล ประกอบกับ ในช่วงปลายปี 2554 ผู้ประกอบการไม่สามารถผลิตรถยนต์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ ดังนั้น เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย จึงต้องเร่งดำเนินการผลิตเพื่อให้เพียงพอต่อการส่งมอบรถยนต์ให้ลูกค้า

เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ดัชนีผลผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาส 4 ปี 2554 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 43.40 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลงร้อยละ 41.87 โดยลดลงในทุกผลิตภัณฑ์ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ส่งผลให้มีการหยุดการผลิต หรือเลื่อนการผลิตออกไป และเกิดการขาดแคลนชิ้นส่วนและวัตถุดิบ สำหรับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 4 ปรับตัวลดลงร้อยละ 58.02 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดย Semiconductor ปรับตัวลดลงร้อยละ 85.98 Monolithic IC ปรับลดลงร้อยละ 84.21ขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ55.78

จากแบบจำลองดัชนีชี้นำ ภาวะอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พบว่าแนวโน้มเครื่องใช้ไฟฟ้าช่วงไตรมาสที่ 1/2555 จะปรับตัวลดลงร้อยละ 15.91 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุจากการปรับตัวลดลงของเครื่องคอมเพรสเซอร์ ตู้เย็น และเครื่องปรับอากาศ ร้อยละ31.95 4.19 และ 11.58 ตามลำดับ ในขณะที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ในไตรมาสที่ 1/2555 คาดว่าปรับตัวลดลงร้อยละ 28.62 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย IC ปรับตัวลดลงร้อยละ 35.14 และ HDD ปรับตัวลดลงร้อยละ 23.87

เคมีภัณฑ์ ไตรมาสที่ 4 ภาวะอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์มีแนวโน้มชะลอตัวลง ทั้งนี้เนื่องจากการแข็งค่าของเงินบาทที่ส่งผลให้การส่งออกได้น้อยลง ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังคงเป็นปัจจัยที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบกับอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ใช้เคมีภัณฑ์เป็นวัตถุดิบในการผลิต ประกอบกับเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ที่มีวันหยุดยาว รวมถึงประเทศไทยประสบกับวิกฤตการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ ส่งผลให้มีความต้องการเคมีภัณฑ์ในการอุปโภคบริโภคลดลง

อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในปี 2555 คาดว่าจะมีการปรับตัวในทิศทางเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการสินค้าอุปโภค บริโภคที่ใช้ในการฟื้นฟูหลังจากผ่านพ้นวิกฤตปัญญาน้ำท่วมหนักที่ลุกลามไปหลายพื้นที่ของประเทศ แต่ทั้งนี้มีปัจจัยสำคัญที่ควรจับตามอง ได้แก่ การปรับเพิ่มค่าแรงงานขั้นต่ำของประเทศ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีความเปราะบาง ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจของยุโรป และภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปัญหาราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย

พลาสติก ไตรมาส 4 ปี 2554 การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติก มีมูลค่ารวม 24,552 ล้านบาท โดยมีอัตราการขยายตัวติดลบร้อยละ 9 หรือ มีมูลค่าส่งออกที่ลดลงกว่า 920 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามด้วยมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่หดตัวอย่างมากทำให้ดุลการค้าในสินค้าพลาสติกของไทยในไตรมาสนี้เกินดุลอยู่ 110 ล้านบาท จากเดิมที่ขาดดุลอยู่กว่า 1,200 ล้านบาท ในไตรมาสก่อน โดยประเทศไทยส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และจีนมากที่สุด ผลิตภัณฑ์กลุ่มบรรจุภัณฑ์เป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มที่มีปริมาณและมูลค่าการส่งออกสูงสุด โดยมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์พลาสติกในกลุ่มใยยาวเดี่ยวที่ทำด้วยพลาสติก (3916) มีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างมาก หรือมากกว่าเท่าตัวจากไตรมาสก่อน

ไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 คาดว่าเศรษฐกิจภายในประเทศจะฟื้นตัวส่งผลให้การบริโภคเพิ่มสูงขึ้น โดยคาดการณ์ว่า GDP ในไตรมาสแรกของปี 2555 จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 โดยหลังภาวะน้ำลดคาดว่ามีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เนื่องจากประชาชนต้องการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย มีการซ่อมสิ่งของ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์บ้านพักอาศัย รวมทั้งเตรียมตัวรับกับสถานการณ์น้ำในปลายปี น่าจะส่งผลให้การบริโภคและนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกในกลุ่มก่อสร้างขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จากสัญญานการฟื้นตัวในช่วงปลายไตรมาสที่ 4 ปี 2554 ทำให้คาดการณ์ได้ว่าผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่องของอุตสาหกรรมพลาสติก เริ่มสามารถหาชิ้นส่วนทดแทนและกลับมาเดินเครื่องผลิตได้ และน่าจะส่งผลดีต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนพลาสติกที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเหล่านั้น

ปิโตรเคมี ไตรมาส 4 ปี 2555 ประเทศไทยยังคงส่งออกไปยังประเทศจีนสูงที่สุด (ร้อยละ 31) โดยสินค้าที่ส่งออกในปริมาณและมูลค่ามากที่สุด คือ terephthalic acid การส่งออกปิโตรเคมีขั้นต้นมีมูลค่าส่งออก 13,287.22 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9.62 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ด้วยสถานการณ์น้ำท่วมที่รุนแรงกว่าปี2554 ทำให้มูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปิโตรเคมีขั้นกลางมีมูลค่าส่งออก 16,378.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.46 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ22.52 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปิโตรเคมีขั้นปลายมีมูลค่าส่งออก 58,961.82 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10.55 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.05 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับแนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยในไตรมาสแรกของปี 2555 คาดว่าอัตราการขยายตัวจะดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งในด้านของปริมาณ และมูลค่า การนำเข้าและส่งออก โดยคาดว่าราคาวัตถุดิบอาจสูงขึ้นจากการกักเก็บสำรองวัตถุดิบหลังช่วงวันหยุดยาว โดยมีปัจจัยหนุนจากภายในประเทศ คือ การที่อุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมพลาสติก เริ่มกลับมาทำการผลิตได้อีกครั้ง ทำให้ความต้องการวัตถุดิบเม็ดพลาสติกมีเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีดีขึ้น ดังนั้น ในระยะสั้น ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจึงควรวางแผนการผลิตให้กับอุตสาหกรรมในประเทศ และอาจชะลอแผนการผลิตเพื่อส่งออกเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกรวมถึงปัญหาหนี้สินในยุโรปยังไม่คลี่คลาย ส่งผลให้คำสั่งซื้อจากกลุ่มประเทศดังกล่าวชอละตัว

เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ภาวะการผลิต การนำเข้า และการส่งออก อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษกระดาษ และสิ่งพิมพ์โดยรวม ในไตรมาสนี้เทียบกับไตรมาสก่อนลดลง เป็นผลมาจากปัจจัยลบที่สำคัญ คือไตรมาสนี้ เป็นช่วงปกติที่การผลิต การนำเข้า และการส่งออก จะชะลอตัวเนื่องจากได้ส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าในภาค อุตสาหกรรม เกษตร และบริการทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อรองรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ในปลายไตรมาสที่ 3/2554 แล้ว ประกอบกับสถานการณ์ภายในประเทศ อาทิ อุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศ ส่งผลกระทบต่อการใช้วัตถุดิบและสินค้าในอุตสาหกรรมเชื่อมโยงต่างๆ การขนส่งและกระจายวัตถุดิบและสินค้าไม่สามารถกระทำได้หรือเกิดความล่าช้า ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงตามไปด้วย เนื่องจากต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการซ่อมแซมฟื้นฟูกิจการและบ้านพักอาศัยหลังน้ำลด สำหรับสถานการณ์ต่างประเทศ ที่ส่งผลให้การผลิต การนำเข้า และการส่งออก ลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจในประเทศสหรัฐอเมริกา และกลุ่มสหภาพยุโรปที่ยังไม่แน่นอน

แนวโน้มของภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสแรกของปี 2555 คาดว่า จะทรงตัว เนื่องจากมีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบที่จะมีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ รวมทั้งอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ โดยมีปัจจัยลบทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากไตรมาสที่ 3 และ 4 ปี 2554 และคาดว่าจะต่อเนื่องถึงไตรมาสหน้า ได้แก่สถานการณ์มหาอุทกภัยของประเทศไทย ได้ส่งผลให้หลายโรงงานหยุดการผลิต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหลักที่ต้องใช้กระดาษสำหรับผลิตกล่องกระดาษและบรรจุภัณฑ์รวมทั้งสิ่งพิมพ์ ได้แก่ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และผลิตภัณฑ์อาหาร ก่อให้เกิดการว่างงาน และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและการลงทุนของนักลงทุนไทยและต่างชาติ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยบวกภายใน คือ การจัดทำรายงานประจำปีของภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจะมีส่วนในการช่วยกระตุ้นให้มีการใช้เยื่อกระดาษกระดาษ และสิ่งพิมพ์เพิ่มขึ้น รวมทั้งการส่งเสริมการอ่านเพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ สำหรับปัจจัยบวกจากภายนอก ได้แก่ แนวโน้มตลาดคู่ค้าที่สำคัญของไทยในภูมิภาคเอเชีย อาทิ ฮ่องกง จีน ยังคงมีการขยายตัวในการส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไปยังประเทศเหล่านี้สูงกว่ากลุ่มประเทศอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง

เซรามิก การผลิตเซรามิก ไตรมาสที่ 4 ปี 2554 กระเบื้องปูพื้น บุผนัง และเครื่องสุขภัณฑ์ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มีปริมาณลดลงร้อยละ 13.27 และ 26.44 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนกระเบื้องปูพื้น บุผนัง เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยร้อยละ 1.74 ในขณะที่เครื่องสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 29.03 ซึ่งการผลิตเซรามิกได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมหนักเป็นระยะเวลานานในหลายพื้นที่ ทำให้โครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ๆ ถูกเลื่อนออกไป การผลิตเซรามิกเพื่อ รองรับความต้องการใช้จึงลดลง

สำหรับการผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาสที่ 1 ปี 2555 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของตลาดในช่วงฤดูกาลขาย และความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างในการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านหลังน้ำลด อย่างไรก็ตาม ความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วมอาจส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว และทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงได้

ปูนซีเมนต์ การผลิตปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 4 ปี 2554 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 8.92 ล้านตันการผลิตซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 8.79 ล้านตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อนการผลิตปูนเม็ดลดลงร้อยละ 8.32 และ 5.01 ตามลำดับ และการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.98 และ 2.77 ตามลำดับ การผลิตและการจำหน่ายของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 4 ปี 2554ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเนื่องจากเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ แม้ว่าอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะน้ำท่วมแต่ทำให้เกิดอุปสรรคในการขนส่ง รวมทั้งการก่อสร้างต่างๆ ต้องชะลอออกไป ซึ่งส่งผลให้การใช้ปูนซีเมนต์ลดลงตามไปด้วย

แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 1ปี 2555 คาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลก่อสร้าง รวมทั้งมีการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย พื้นที่ภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งระบบการส่ง ที่เสียหายจากน้ำท่วม ทั้งนี้ผู้ประกอบการได้เตรียมการผลิตเพื่อรองรับความต้องการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเห็นผลอย่างชัดเจน ในช่วงครึ่งปีแรกปี 2555

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ไตรมาสที่ 4 ปี 2554 การผลิต การจำหน่ายในประเทศชะลอตัวลง เนื่องจากได้รับผลกระทบ จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับปัญหาน้ำท่วมในประเทศที่กระทบต่อการผลิตส่งผลให้มีคำสั่งซื้อลดลง และกระทบต่อการส่งออกในไตรมาสนี้ ลดลงร้อยละ 16.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและลดลงร้อยละ 12.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่อย่างไรก็ตามการส่งออกรวมทั้งปี 2554เมื่อเทียบกับปีก่อนการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5

แนวโน้มการผลิตและการส่งออกในไตรมาส 1 ปี 2555 จะยังชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4 ปี 2554ซึ่งจากปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นโรงงานที่ได้รับผลกระทบยังไม่สามารถผลิตได้ทั้งหมด แต่คาดว่าในไตรมาสที่ 2จะสามารถกลับมาผลิตได้เต็มที่เหมือนเดิม แต่อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงของอุตสาหกรรมการส่งออกสิ่งทอยังมีผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในตลาดส่งออกหลักอย่างสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปที่ยังชะลอตัว สำหรับการจำหน่ายในประเทศคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนโดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูป ที่นอนและเครื่องนอน ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เนื่องจากความต้องการภาคประชาชนยังมีอยู่ ส่งผลให้การจำหน่ายสินค้าในภาพรวมเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการนอกจากจะต้องเร่งขยายการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ ที่ยังคงมีศักยภาพ เพื่อทดแทนตลาดหลักที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติดังกล่าวแล้ว ยังคงต้องรักษาส่วนแบ่งตลาดกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้เต็มกำลังด้วย

ไม้และเครื่องเรือน ปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2554 มีปริมาณการผลิต 2.18 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 4.39 และ 2.68ตามลำดับ ทั้งนี้ปริมาณการผลิตที่ลดลง เนื่องจากผลกระทบของวิกฤติอุทกภัยในวงกว้าง ซึ่งส่งผลกระทบตลอดห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน ทั้งภาคการผลิต การขนส่ง และการจัดจำหน่ายของผู้ประกอบการ

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากความต้องการสินค้าไม้และเครื่องเรือนที่เพิ่มขึ้นหลังสถานการณ์น้ำท่วม บวกกับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลกล่าวคือ โครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแห่งแรกจะส่งผลให้ความต้องการไม้และเครื่องเรือนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยง คือ ต้นทุนการผลิต เช่น วัตถุดิบ ค่าแรง ที่ปรับตัวสูงขึ้น และภาระที่ผู้บริโภคต้องแบกรับหลังน้ำท่วม

ยา ปริมาณการผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 ลดลงจาก ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ ทำให้มีโรงงานหลายแห่งต้องหยุดการผลิต สำหรับปริมาณการจำหน่ายยาปรับลดลงเช่นกัน เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมทำให้โรงงานบางส่วนไม่สามารถจัดส่งและกระจายสินค้าได้ รวมทั้งโรงพยาบาลและร้านขายยา หลายแห่งยังได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ตามปรกติ นอกจากนี้โรงงานยังต้องเตรียมสินค้าเพื่อรองรับการรับคืนยาที่เสียหายด้วย

แนวโน้มในไตรมาสแรก ของปี 2555 คาดว่า ปริมาณการผลิตยา และการจำหน่ายยา จะปรับตัวดีขึ้นกว่าไตรมาสก่อน จากสถานการณ์น้ำท่วมกลับเข้าสู่ภาวะปรกติ แต่จะเป็นการขยายตัวที่ไม่สูงมากนัก เนื่องจากโรงงานที่ประสบภัย ต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูโรงงานให้สามารถผลิตได้ตามมาตรฐานที่ภาครัฐกำหนดสำหรับมูลค่าการนำเข้าและส่งออก คาดว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากมีการส่งออก ตลอดจนการนำเข้า เป็นจำนวนมากในช่วงไตรมาสที่ 3 แล้ว ซึ่งผู้ซื้ออาจจะยังมีสินค้าเก่าคงเหลืออยู่ โดยสถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป ตามวัฏจักรธุรกิจ

ยางและผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 7.57 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.43 และเมื่อรวมทั้งปี 2554การผลิตยางแปรรูปขั้นต้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.42 ในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางชะลอตัวลง เนื่องจากปัญหาภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้น ทำให้โรงงานผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่หยุดการผลิตเป็นการชั่วคราว กระทบต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมยางรถยนต์ ส่งผลให้ความต้องการใช้ยางแปรรูปขั้นต้นลดลงตามไปด้วย ในส่วนของการผลิตถุงมือยางปรับตัวลดลง เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปชะลอตัว ซึ่งสหรัฐอเมริกา และเยอรมนีเป็นตลาดส่งออกถุงมือยางที่สำคัญของไทย

แนวโน้มอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง ในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 คาดว่าจะขยายตัว เนื่องจากโรงงานผลิตรถยนต์ที่ปิดตัวไปเริ่มกลับมาดำเนินการผลิต ทำให้อุตสาหกรรมยางรถยนต์ขยายตัว ส่งผลให้ความต้องการใช้ยางแปรรูปขั้นต้นเพิ่มขึ้นตามไปด้วย สำหรับในส่วนของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ และอุตสาหกรรมถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ คาดว่าจะยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะถุงมือยาง/ถุงมือตรวจยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่องในตลาดโลก ตามกระแสความวิตกกังวลการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค

รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ดัชนีผลผลิตของการฟอกและการตกแต่งหนังฟอก การผลิตกระเป๋าเดินทางกระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกันอานม้าและเครื่องเทียมลาก การผลิตรองเท้า ในไตรมาส 4 ปี 2554 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2554 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่ลดลง เป็นไปในทิศทางเดียวกับมูลค่าการส่งออกสินค้าหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด เครื่องใช้สำหรับเดินทาง รองเท้าและชิ้นส่วน ที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่ลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในช่วงไตรมาสที่ 4 ทำให้ต้องหยุดการผลิต ทำให้ต้องชะลอการส่งออก

แนวโน้มในปี 2555 สินค้าในกลุ่มแฟชั่นคาดว่าการส่งออก โดยเฉพาะในไตรมาสแรกของปี 2555 คาดว่าจะชะลอตัวลดลง เนื่องจากการผลิตที่หยุดชะงักจากการที่ไม่สามารถส่งวัตถุดิบเข้าโรงงาน การขาดแคลนวัตถุดิบ แรงงานไม่สามารถเข้าไปทำงาน การส่งสินค้าไม่ตรงเวลา และลูกค้ายกเลิกหรือชะลอการสั่งซื้อสินค้าขณะที่ปัจจัยลบที่จะกระทบต่ออุตสาหกรรมไทย จะมาจากอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ราคาน้ำมัน ต้นทุนและการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังผันผวนอยู่

อัญมณีและเครื่องประดับ ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 ด้านการผลิตลดลงร้อยละ 3.60 และการจำหน่ายลดลงร้อยละ 11.12 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ด้านการส่งออกลดลงร้อยละ 27.17 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลจากการส่งออกอัญมณี ทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป และเครื่องประดับแท้ ลดลงคิดเป็นร้อยละ 31.88 31.27 และ 20.21 ตามลำดับ สำหรับสาเหตุที่การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับแท้มีมูลค่าการส่งออกลดลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ประสบปัญหาจากวิกฤตเศรษฐกิจแถบยุโรป และสหรัฐอเมริกา ด้านทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูปมีการส่งออกลดลง เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกในไตรมาสนี้ลดต่ำลงจากไตรมาสก่อน

แนวโน้มภาพรวมการส่งออกในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 ปัจจัยด้านบวก ได้แก่ แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ และงานบางกอกเจมส์แอนด์จิวเวลลี่แฟร์ ครั้งที่ 49 ที่คาดว่าจะได้คำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น ปัจจัยด้านลบ ได้แก่ แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจยุโรป และสหรัฐอเมริกาที่แนวทางการแก้ไขปัญหายังไม่ชัดเจนพอ จากปัจจัยบวกและปัจจัยลบดังที่กล่าวมานั้น ปัจจัยบวกและปัจจัยลบจะส่งผลเท่าๆ กัน ดังนั้นจึงคาดว่ามูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่ 1ปี 2555 จะมีแนวโน้มทรงตัว

อาหาร ช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2554 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาลทราย) เพิ่มขึ้นร้อยละ3.0 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากการผลิตในกลุ่มผักผลไม้ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และธัญพืชและแป้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ52.0 2.2 และ 2.0 ตามลำดับ (ตารางที่ 1) เป็นผลจากปริมาณวัตถุดิบ เช่น มันสำปะหลัง สับปะรด ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ประกอบกับเกิดอุทกภัยในหลายจังหวัดเป็นเวลานาน ทำให้ความต้องการอาหารกึ่งสำเร็จรูปเพิ่มสูงขึ้น และหากพิจารณารวมการผลิตน้ำตาลทรายจะทำให้ภาพรวมของภาวะการผลิตอุตสาหกรรมอาหาร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 27.6 เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูหีบอ้อย

แนวโน้มการผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 คาดว่า ทิศทางการผลิต และการส่งออก จะปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก ค่าเงินบาทที่เริ่มทรงตัวและมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ระดับราคาสินค้าอาหารในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น และหากความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศของผู้บริโภคดีขึ้น จะส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้น เหล่านี้จะเป็นตัวกระตุ้นการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหาร อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยลบ คือ ความรุนแรงของการระบาดของโรคใหม่ๆภัยธรรมชาติที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ รวมถึงการเคลื่อนไหวของระดับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น จากวิกฤตการณ์อิหร่าน และความชัดเจนในการแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเงินของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปที่ยังไม่แน่นอน

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ