สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 (ตุลาคม — ธันวาคม) 2554 (อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 23, 2012 15:53 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. สถานการณ์ปัจจุบัน

การผลิต

ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 มีประมาณ 1,360,940 เมตริกตัน ( ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) ลดลง ร้อยละ 24.96 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุดในช่วงนี้ คือ เหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 28.56 เนื่องจากสถานการณ์อุตสาหกรรมก่อสร้างที่ยังคงทรงตัวอยู่ ประกอบกับสถานการณ์น้ำท่วมซึ่งถึงแม้ว่าโรงงานที่ผลิตเหล็กทรงยาวจะไม่ได้รับผลกระทบทางตรงเพราะไม่ได้ตั้งอยู่ในเขตน้ำท่วมแต่ก็ได้รับผลกระทบทางอ้อมเนื่องจากการขนส่งลำบาก รองลงมาคือ เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 21.52 เนื่องจากโรงงานที่เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องซึ่งใช้เหล็กแผ่นรีดร้อนเป็นวัตถุดิบชะลอคำสั่งซื้อ โดยเป็นผลมาจากสถานการณ์น้ำท่วมและโรงงานที่เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ รายละเอียดตามตารางที่ 1

ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในปี 2554 มีประมาณ 6,936,105 เมตริกตัน ( ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) ลดลง ร้อยละ 7.31 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการนำเข้าเหล็กทั้งในกลุ่มของเหล็กเส้นและเหล็กแผ่นจากประเทศจีนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเหล็กดังกล่าวจะเป็นเหล็กที่ผู้นำเข้าใช้เทคนิคในการหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าโดยการเติมธาตุเคมีบางธาตุ เช่น ธาตุโบรอน เข้าไปในเนื้อเหล็กเพียงเล็กน้อย ซึ่งจะทำให้คุณสมบัติของเหล็กไม่ได้เปลี่ยนไปมากนักแต่พิกัดภาษีจะเปลี่ยนไปโดยผู้นำเข้าจะสำแดงพิกัดศุลกากรว่าเป็นเหล็กอัลลอยด์ซึ่งมีภาษีเป็น 0 จึงทำให้ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ซึ่งจากเหตุผลดังกล่าวส่งผลให้การผลิตเหล็กในประเทศปรับตัวลดลง พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุดในช่วงนี้ คือ เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 14.05 เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ลดลง ร้อยละ 8.93 รายละเอียดตามตารางที่ 2

การใช้ในประเทศ(1)

ปริมาณการใช้เหล็กและเหล็กกล้าในประเทศที่สำคัญในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 ประมาณ 2,686,678 เมตริกตัน ลดลง ร้อยละ 15.71 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลมาจากความต้องการใช้ในประเทศของเหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 31.14 และเหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 9.20

ปริมาณการใช้เหล็กและเหล็กกล้าในประเทศที่สำคัญใน ปี 2554 ประมาณ 12,290,125 เมตริกตัน ลดลง ร้อยละ 2.46 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลมาจากความต้องการใช้ในประเทศของเหล็กทรงยาวที่ลดลง ร้อยละ 2.57 เนื่องจากสถานการณ์อุตสาหกรรมก่อสร้างยังคงทรงตัวอยู่ และเหล็กทรงแบนที่ลงลง ร้อยละ 2.42 เนื่องจากผลกระทบจากน้ำท่วม ทำให้อุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า มีความต้องการใช้ที่ลดลง

การนำเข้า-การส่งออก

การนำเข้า

มูลค่าและปริมาณการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 มีจำนวนประมาณ 77,225 ล้านบาท และ 2,597,378 เมตริกตัน โดยมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.55 แต่ปริมาณการนำเข้าลดลง ร้อยละ 5.86 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูปชนิดอื่นๆ ลดลง ร้อยละ 31.70 เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 14.45 และเหล็กเส้น ลดลง ร้อยละ 12.09 สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ท่อเหล็กมีตะเข็บ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 67.00 เหล็กแผ่นบางรีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 24.59 และเหล็กแผ่นหนารีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 22.54

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มูลค่าการนำเข้ามากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เหล็กแท่งแบน (Slab) มีมูลค่า 13,431 ล้านบาท รองลงมาคือ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน มีมูลค่า 11,374 ล้านบาท และเหล็กแผ่นบางรีดร้อนชนิดผ่านการกัดล้างและชุบน้ำมัน มีมูลค่า 7,459 ล้านบาท รายละเอียดตามตารางที่ 3

หมายเหตุ

(1) ข้อมูลการใช้ในประเทศจะเป็นปริมาณการใช้ปรากฎ (Apparent Steel Use )ซึ่งรวมสต๊อกไว้ด้วย

การส่งออก

มูลค่าและปริมาณการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 มีจำนวนประมาณ 9,261 ล้านบาท และ 261,143 เมตริกตัน โดยมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.91 แต่ปริมาณการส่งออกกลับลดลง ร้อยละ 8.35 ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กแท่งแบน ลดลง ร้อยละ 100.00 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นบางรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 91.42 และเหล็กแผ่นหนารีดร้อน ลดลง ร้อยละ 64.46 สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีด้วยไฟฟ้า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 566.67 รองลงมาคือ เหล็กแท่งเล็ก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 471.05 และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 41.94

ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ท่อเหล็กมีตะเข็บ มีมูลค่า 2,288 ล้านบาท รองลงมา คือ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน มูลค่า 2,200 ล้านบาท และเหล็กแผ่นรีดเย็นไร้สนิม มูลค่า 1,328 ล้านบาท รายละเอียดตามตารางที่ 5

มูลค่าและปริมาณการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าในปี 2554 มีจำนวนประมาณ 40,594 ล้านบาทและ 1,257,575 เมตริกตัน โดยมูลค่าและปริมาณการส่งออกลดลง ร้อยละ 10.53 และ 19.13 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุดในช่วงนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กแท่งแบน ลดลง ร้อยละ 85.71 เหล็กแผ่นบางรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 79.96 และเหล็กแผ่นบางรีดร้อนชนิดผ่านการกัดล้างและชุบน้ำมัน ลดลง ร้อยละ 75.59 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กแท่งเล็ก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 108.32 เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 58.23 และเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 57.89

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุดในช่วงนี้ ได้แก่ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน มีมูลค่า 10,568 ล้านบาท ท่อเหล็กมีตะเข็บ มูลค่า 8,939 ล้านบาท และเหล็กแผ่นรีดเย็นไร้สนิม มูลค่า 5,188 ล้านบาท รายละเอียดตามตารางที่ 6

2. สรุป

สถานการณ์เหล็กโดยรวมในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตโดยรวมลดลง ร้อยละ 24.96 ความต้องการใช้ในประเทศ ลดลง ร้อยละ 15.71 สำหรับมูลค่าและปริมาณการนำเข้ามีจำนวนประมาณ 77,225 ล้านบาท และ 2,597,378 เมตริกตัน โดยมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.55 แต่ปริมาณการนำเข้ากลับลดลง ร้อยละ 5.86 ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ท่อเหล็กมีตะเข็บ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 67.00 เหล็กแผ่นบางรีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 24.59 และเหล็กแผ่นหนารีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 22.54 สำหรับมูลค่าและปริมาณการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 มีจำนวนประมาณ 9,261 ล้านบาท และ 261,143 เมตริกตัน โดยมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.91 แต่ปริมาณการส่งออกกลับลดลง ร้อยละ 8.35 ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีด้วยไฟฟ้า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 566.67 เหล็กแท่งเล็ก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 471.05 และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 41.94

สถานการณ์เหล็กโดยรวมใน ปี 2554 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตโดยรวมลดลง ร้อยละ 7.31 ความต้องการใช้ในประเทศ ลดลง ร้อยละ 2.46 สำหรับมูลค่าและปริมาณการนำเข้ามี

จำนวนประมาณ 299,772 ล้านบาท และ 10,172,059 เมตริกตัน และ โดยมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.04 แต่ปริมาณการนำเข้ากลับลดลง ร้อยละ 4.09 ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ท่อเหล็กมีตะเข็บ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 56.97 รองลงมา คือ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 42.76 และเหล็กแท่งเล็ก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 24.68 สำหรับมูลค่าและปริมาณการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในปี 2554 มีจำนวนประมาณ 40,594 ล้านบาทและ 1,257,575 เมตริกตัน โดยมูลค่าและปริมาณการส่งออก ลดลง ร้อยละ 10.53 และ 19.13 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุดในช่วงนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กแท่งแบน ลดลง ร้อยละ 85.71 เหล็กแผ่นบางรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 79.96 และเหล็กแผ่นบางรีดร้อนชนิดผ่านการกัดล้างและชุบน้ำมัน ลดลง ร้อยละ 75.59

3.แนวโน้ม

สถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กในปี 2555 คาดว่า ในส่วนของกลุ่มเหล็กทรงยาวซึ่งใช้ในภาคการก่อสร้างจะขยายตัวขึ้นส่วนหนึ่งเพื่อเร่งซ่อมแซมสาธารณูปโภคและบ้านเรือนที่เสียหายจากภาวะอุทกภัยในประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาระดับสต๊อกที่ลดลงในช่วงปลายปี 2554 สำหรับในส่วนของเหล็กทรงแบนคาดการณ์ว่าการผลิตและความต้องการใช้ในประเทศจะลดลงเนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมหลายนิคมซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กลดลงด้วย

สำหรับสถานการณ์การผลิตเหล็กโลกน่าจะชะลอตัวเนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลก ทั้งประเทศในแถบยุโรป และเอเชีย โดยเฉพาะประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตที่สำคัญของโลกซึ่งสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงนี้ยังคงชะลอตัวอยู่

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ