สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 (ตุลาคม — ธันวาคม) 2554 (อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 1, 2012 14:11 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ในช่วงไตรมาสที่ 4 ภาวะอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์มีแนวโน้มชะลอตัวลง ทั้งนี้เนื่องจากการแข็งค่าของเงินบาทที่ส่งผลให้การส่งออกได้น้อยลง ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังคงเป็นปัจจัยที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบกับอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ใช้เคมีภัณฑ์เป็นวัตถุดิบในการผลิต ประกอบกับเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ที่มีวันหยุดยาว รวมถึงประเทศไทยประสบกับวิกฤตการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ ส่งผลให้มีความต้องการเคมีภัณฑ์ในการอุปโภคบริโภคลดลง

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้สำรวจข้อมูลการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โซดาไฟซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ขั้นพื้นฐานที่สำคัญ โดยมีรายละเอียดดังนี้

การผลิตโซดาไฟในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 มีปริมาณ 188,367.3 ตัน ลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 15.65 และการจำหน่ายโซดาไฟในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 มีปริมาณ 159,031.1 ตัน ลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 19.03 การผลิตและการจำหน่ายลดลง เนื่องจากเป็นวัฎจักรของการผลิตอุตสาหกรรมโซดาไฟ และมีวันหยุดค่อนข้างมาก รวมทั้งเทศกาลปีใหม่ และโรงงานจะไม่สต๊อกสินค้าไว้ด้วย

หมายเหตุ : โซดาไฟเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน และยังใช้ประโยชน์ได้อีกมากมาย เช่น ในการผลิตเยื่อและกระดาษ สบู่และผลิตภัณฑ์ซักฟอก เคมีภัณฑ์ การทำความสะอาด โรงกลั่นน้ำมัน การใช้งานทางอุตสาหกรรมโลหะ อุตสาหกรรมอาหาร เส้นใยเรยอน สิ่งทอ และอื่น ๆ

การตลาด

การนำเข้า

ไตรมาส 4 ปี 2554 การนำเข้าเคมีภัณฑ์อนินทรีย์มีมูลค่า 15,303 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.54 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 49.53 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เคมีภัณฑ์อินทรีย์มีมูลค่าการนำเข้า 26,208 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 14.16 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และลดลงร้อยละ 2.97 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีมีมูลค่านำเข้า 12,896 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 49.07 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และลดลงร้อยละ 9.87 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมสีมีการนำเข้า 9,471 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 20.66 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และลดลงร้อยละ 2.90 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมเครื่องสำอางมีมูลค่านำเข้า 7,130 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 8.15 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การส่งออก

ไตรมาส 4 ปี 2554 การส่งออกเคมีภัณฑ์อนินทรีย์มีมูลค่า 5,383 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.73 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.53 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์อินทรีย์มีมูลค่าส่งออก 17,026 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.39 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 49.73 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีมีมูลค่าการส่งออก 927 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 19.74 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.69 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมสีมีมูลค่าส่งออก 3,472 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.58 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.77 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนอุตสาหกรรมเครื่องสำอางหรือสิ่งปรุงแต่งสำหรับประทินร่างกายมีมูลค่าส่งออก 13,840 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11.18 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้ม

อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในปี 2555 คาดว่าจะมีการปรับตัวในทิศทางเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการสินค้าอุปโภค บริโภคที่ใช้ในการฟื้นฟูหลังจากผ่านพ้นวิกฤตปัญญาน้ำท่วมหนักที่ลุกลามไปหลายพื้นที่ของประเทศ แต่ทั้งนี้มีปัจจัยสำคัญที่ควรจับตามอง ได้แก่ การปรับเพิ่มค่าแรงงานขั้นต่ำของประเทศ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีความเปราะบาง ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจของยุโรป และภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปัญหาราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ