สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 (ตุลาคม — ธันวาคม) 2554 (อุตสาหกรรมพลาสติก)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 1, 2012 14:13 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ทิศทางการขยายตัวของอุตสาหกรรมพลาสติกในประเทศในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2554 โดยรวมมีแนวโน้มติดลบ เป็นผลพวงมาจากเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้คาดการณ์ตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 ว่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมหาอุทกภัยในหลายจังหวัดของไทย นิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งได้รับผลกระทบ ทำให้อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมพลาสติก เช่น อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับความเสียหายและไม่สามารถผลิตสินค้าได้ ถนนหลายสายถูกตัดขาด ทำให้การขนส่งสินค้าต้องหยุดชะงัก รวมทั้งความต้องการของผู้บริโภคในบางส่วนลดลง เนื่องจากผู้บริโภคไม่สามารถเดินทางไปจับจ่ายใช้สอยได้ นอกจากนี้ยังมีผู้บริโภคที่เป็นแรงงานในโรงงานหรือภาคการผลิตอื่นๆที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมที่ขาดรายได้ทำให้อุปสงค์ในประเทศอ่อนตัวลง สถานการณ์ดังกล่าวล้วนเป็นปัจจัยที่มีปริมาณการนำเข้าและส่งออกสินค้าลดลง

ด้านราคาวัตถุดิบ ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยตลอดไตรมาสอยู่ที่ 90 เหรียญสหรัฐ/บาเรลล์ ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา ในขณะเดียวกันจากการปิดตัวของแครกเกอร์ในเอเชียตะวันออกทำให้ราคาแนฟธาโดยเฉลี่ยปรับลดลง ตลอดจนอุปสงค์ต่อผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่อ่อนตัวในยุโรป ทำให้มีการซื้อขายเอธีลีน และโพรพิลีนที่เบาบางและมีราคาที่ค่อนข้างทรงตัว

การผลิต

จากเหตุการณ์น้ำท่วมส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก โดยมีโรงงานพลาสติกกว่าร้อยละ 64 อยู่ในจังหวัดภาคกลางซึ่งเป็นพื้นที่เขตน้ำท่วม ซึ่งสามารถประมาณการณ์ได้ว่าจะมีโรงงานพลาสติกที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากน้ำท่วมและก่อให้เกิดความเสียหายจนต้องหยุดการผลิตประมาณร้อยละ 30 ของโรงงานพลาสติกจากทั่วประเทศ โดยเมื่อดูจากข้อมูลความต้องการใช้เม็ดพลาสติกหลักของไทย สะท้อนให้เห็นถึงปริมาณการผลิตเม็ดพลาสติกที่ลดลงเล็กน้อยในช่วงไตรมาส 4 โดยมีปริมาณการใช้ที่ประมาณ 700,000 ตัน โดยอัตราเติบโตของความต้องการเม็ด PE ค่อนข้างคงที่ ในขณะที่อัตราการเติบโตของความต้องการเม็ด PVC เพิ่มขึ้น และความต้องการเม็ด PP ลดลง

การนำเข้า

การนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติก (3916-3926) ไตรมาส 4 ปี 2554 มีมูลค่ารวม 24,442 ล้านบาท โดยมีอัตราการขยายตัวติดลบร้อยละ 14 หรือ มีการนำเข้าด้วยมูลค่าที่ลดลงกว่า 1 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา และลดลงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยนำเข้าจากญี่ปุ่น มาเลเซียและสิงคโปร์มากที่สุด สินค้าในกลุ่มอื่นๆ (3926) และกลุ่มของบรรจุภัณฑ์ยังคงมีการนำเข้าด้วยมูลค่าสูงที่สุด ผลิตภัณฑ์กลุ่มแผ่นฟิล์มและแถบชนิดยึดติดในตัว (3919) เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณและมูลค่าการนำเข้าลดลงมากที่สุด ในขณะที่ผลิตภัณฑ์กลุ่มหลอด หรือท่อและท่ออ่อน (3917) เป็นสินค้าเพียงกลุ่มเดียวที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับทั้งไตรมาสก่อนหน้าและไตรมาสเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว นอกจากนี้ยังพบว่าผลิตภัณฑ์พลาสติกในกลุ่มไฟฟ้าและอิเลกทรอนิกส์มีการนำเข้าลดลงเป็นอย่างมาก หรือลดลงประมาณ 3 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

ส่งออก

การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติก ไตรมาส 4 ปี 2554 มีมูลค่ารวม 24,552 ล้านบาท โดยมีอัตราการขยายตัวติดลบร้อยละ 9 หรือ มีมูลค่าส่งออกที่ลดลงกว่า 920 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามด้วยมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่หดตัวอย่างมากทำให้ดุลการค้าในสินค้าพลาสติกของไทยในไตรมาสนี้เกินดุลอยู่ 110 ล้านบาท จากเดิมที่ขาดดุลอยู่กว่า 1,200 ล้านบาท ในไตรมาสก่อน โดยประเทศไทยส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และจีนมากที่สุด ผลิตภัณฑ์กลุ่มบรรจุภัณฑ์เป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มที่มีปริมาณและมูลค่าการส่งออกสูงสุด โดยมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์พลาสติกในกลุ่มใยยาวเดี่ยวที่ทำด้วยพลาสติก (3916) มีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างมาก หรือมากกว่าเท่าตัวจากไตรมาสก่อน

แนวโน้ม

ไตรมาสแรกของปี 2555 คาดว่าเศรษฐกิจภายในประเทศจะฟื้นตัวส่งผลให้การบริโภคเพิ่มสูงขึ้น โดยคาดการณ์ว่า GDP ในไตรมาสแรกของปี 2555 จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 โดยหลังภาวะน้ำลดคาดว่ามีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เนื่องจากประชาชนต้องการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย มีการซ่อมสิ่งของ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ บ้านพักอาศัย รวมทั้งเตรียมตัวรับกับสถานการณ์น้ำในปลายปี น่าจะส่งผลให้การบริโภคและนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกในกลุ่มก่อสร้างขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จากสัญญานการฟื้นตัวในช่วงปลายไตรมาสที่ 4 ปี 2554 ทำให้คาดการณ์ได้ว่าผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่องของอุตสาหกรรมพลาสติก เริ่มสามารถหาชิ้นส่วนทดแทนและกลับมาเดินเครื่องผลิตได้ และน่าจะส่งผลดีต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนพลาสติกที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเหล่านั้น โดยคาดว่าจะทำให้มูลค่าการนำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกในไตรมาสหน้าดีขึ้น นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ทำให้วัตถุดิบอื่นๆที่เป็นสารตั้งต้นของอุตสาหกรรมพลาสติกมีราคาต่ำลง ด้านสภาพเศรษฐกิจของญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตามสภาพเศรษฐกิจในยุโรปยังคงน่ากังวล ส่งผลให้อุปสงค์ในตลาดของผู้บริโภคในภูมิภาคดังกล่าวยังคงชะลอตัว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ