สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 (ตุลาคม — ธันวาคม) 2554 (อุตสาหกรรมปิโตรเคมี)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 1, 2012 14:26 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ไตรมาส 4 ปี 2554 ราคาแนฟธาของตลาดเอเชียลดต่ำลงจากไตรมาสก่อน ซึ่งสวนทางกับราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้าที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากการคลายความกังวลด้านปัญหาหนี้สินในยุโรปที่เริ่มมีการขยายกองทุนเพื่อการช่วยเหลือ ความผันผวนของราคาช่วงต้นไตรมาสเกิดจากการลดกำลังผลิตของแครกเกอร์ ในขณะที่การก้าวกระโดดของราคาในเดือนพฤศจิกายนเกิดจากการที่มีประเทศในเอเชียตะวันออกส่งคำสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าจำนวนมากจากอิหร่าน ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของอิหร่านโดนประกาศคว่ำบาตรโดยสหรัฐอเมริกา โดยภาพรวมแล้วอุปสงค์ของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีหลักขั้นปลายยังคงลดลง และมีอัตรากำไร (margin) อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับโรงงานปิโตรเคมีหลายแห่งยังมีอุปทานส่วนเกิน มีการซื้อขายในตลาดเบาบาง และส่งผลให้ราคาแนฟธาปรับลดลงอย่างต่อเนื่องไปจนสิ้นสุดไตรมาส

ราคาเอธิลีนในตลาดเอเชียในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 ค่อนข้างทรงตัว โดยราคาเฉลี่ยตลอดไตรมาสอยู่ที่ประมาณ 1,061 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งนับว่าค่อนข้างชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้ เนื่องจากตลาดผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องอนุพันธ์เอธิลีน และอุปสงค์จากประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดหลักอ่อนตัวลง นอกจากนี้ยังมีการลดกำลังผลิตของแครกเกอร์ในภูมิภาค ทั้งในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ ที่ทำให้ผลผลิตเอธิลีนหดตัวลงกว่าร้อยละ 6.7 ในเดือนตุลาคม

สำหรับตลาดการซื้อขายเม็ดพลาสติกทั้ง PE และ PP ในไตรมาสที่ 4 ค่อนข้างซบเซา ราคาเม็ดทั้งสองประเภทลดลงอย่างต่อเนื่อง ราคาเฉลี่ย LDPE และ PE ในตลาดเอเชียดิ่งลงอย่างมาก เนื่องจากผู้ประกอบการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์พลาสติกในจีนซึ่งส่วนใหญ่เป็น SMEs ยังประสบปัญหาเงินทุนหมุนเวียน ในขณะเดียวกันคำสั่งซื้อเพื่อการส่งออกไปยังยุโรปและสหรัฐอเมริกาก็ลดลงด้วย ประกอบกับผู้ประกอบการยังคงมีสินค้าคงคลังจึงชะลอการซื้อเพราะเชื่อว่าราคาจะปรับลดลง

การผลิต

ไตรมาส 4 ปี 2554 อุตสาหกรรมปิโตรเคมีภายในประเทศส่วนใหญ่รอดพ้นจากมหาอุทกภัย เนื่องจากตั้งอยู่ที่มาบตาพุด จ.ระยอง โดยภาคอุตสาหกรรมมีแผนการลงทุนในประเทศอินโดนีเซียเพื่อการเพิ่มกำลังการผลิตเอธิลีนอีกประมาณ 240,000-450,000 ตัน/ปี ซึ่งจะส่งผลให้กำลังการผลิตพอลิเมอร์เกรดทั่วไปเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยยังเริ่มสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ โดยได้เริ่มมีการซื้อหุ้นบริษัทต่างชาติที่มีแผนจะมาเปิดโรงงานผลิตพอลีแลคติกแอซิด (Polylactic acid: PLA) PLA ในเมืองไทย รวมทั้งมีการร่วมทุนเพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตกรดซักซินิกแล้วจำนวน 1 โครงการ โดยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2555 ที่นิคมมาบตาพุด จ.ระยอง

จีน ในไตรมาสนี้ มีการลงนามเพื่อร่วมกันขยายการผลิตของกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ครบวงจรและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงมากขึ้น มีการเปิดโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นห่วงโซ่มูลค่าจากเอธิลีน, สาร C3 และ C4 และเพิ่มกำลังการผลิตเอธิลีนอีก 140,000 ตัน/ปี รวมทั้งมีแผนการเปิดโรงงานผลิตโพรพิลีน 750,000 ตัน/ปี และไอโซบิวทีน 565,000 ตัน/ปี นอกจากนี้ยังมีการลงทุนจากบริษัทต่างชาติเพื่อขยายการผลิตเม็ดพลาสติกเพื่อผลิตขวด PET เพิ่มขึ้นอีก 300,000 ตัน/ปี ภายในเดือนมีนาคม 2555 และมีการลงทุนจากต่างชาติในการสร้างโรงงานผลิตพอลิยูรีเทนแบบเทอร์โมพลาสติก ที่มีขนาดกำลังการผลิต 21,000 ตัน/ปี ซึ่งจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2556

กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราชหรืออดีตสหภาพโซเวียต มีโครงการสร้างระบบท่อสำหรับส่งก๊าซ และโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการผลิต HDPE และ HDPP จากก๊าซธรรมชาติและคอนเดนเสทของแหล่งก๊าซ Surgill โดยโครงการดังกล่าวได้ผ่านการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเรียบร้อยแล้วในไตรมาสนี้

อิหร่าน ถูกสหรัฐอเมริกาคว่ำบาตรอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ส่งผลให้ต้องเลื่อนกำหนดการเปิดโรงงาน PE และ PP ใหม่อีก 16 แห่งออกไป มาตรการดังกล่าวส่งผลให้มีการปิดเส้นทางการค้าขายระหว่างอิหร่านกับประเทศในเอเชียตะวันออก, อินเดียและปากีสถาน ทำให้การส่งออกและนำเข้า PP, PE พลาสติกและเรซินของอิหร่านลดลงเป็นอย่างมาก เนื่องจากอิหร่านเป็นทั้งผู้บริโภคและส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีรายใหญ่ อย่างไรก็ตามแม้จะมีการสั่งห้ามแต่อิหร่านจะยังคงส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไปยังยุโรปซึ่งมีมูลค่ากว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อไป

ประเทศซาอุดิอาระเบีย วางแผนขยายกำลังการผลิต PP อีก 600,000 ตัน/ปี เพื่อรองรับการขยายตัวการผลิตแผ่นใยสังเคราะห์ (geotextile) ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและจะเปิดดำเนินการในไตรมาสที่ 4 ปี 2555

การตลาด

ราคาเม็ดพลาติก PE และ PP ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2555 ราคาจำหน่ายเม็ดพลาสติก (ราคาเฉลี่ย SE Asia CFR) ในเดือนธันวาคม 2554 ของ LDPE, HDPE, และ PP อยู่ที่ระดับ 42.63, 36.24 และ 40.29 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ ทั้งนี้ PE และ PP มีระดับราคาเฉลี่ยลดลง จากปลายไตรมาสที่ผ่านมา

การนำเข้า

ไตรมาส 4 ปี 2555 ประเทศไทยนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจากประเทศญี่ปุ่นเป็นปริมาณมากที่สุด (ร้อยละ 21) โดยผลิตภัณฑ์ที่นำเข้ามาในปริมาณมากที่สุด คือ เอธานอล และเอธิลีนไดคลอไรด์ ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่นำเข้ามาด้วยมูลค่าสูงที่สุด คือ P-Xylene และรองลงมา คือ SBR การนำเข้าปิโตรเคมีขั้นต้นมีมูลค่า 7910.75 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.93 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 119.24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปิโตรเคมีขั้นกลางมีมูลค่านำเข้า 6029.83 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 28.13 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และลดลงร้อยละ 18.52 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปิโตรเคมีขั้นปลายมีมูลค่านำเข้า 24986.17 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11.62 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.06 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การส่งออก ไตรมาส 4 ปี 2555 ประเทศไทยยังคงส่งออกไปยังประเทศจีนสูงที่สุด (ร้อยละ 31) โดยสินค้าที่ส่งออกในปริมาณและมูลค่ามากที่สุด คือ terephthalic acid การส่งออกปิโตรเคมีขั้นต้นมีมูลค่าส่งออก 13,287.22 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9.62 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ด้วยสถานการณ์น้ำท่วมที่รุนแรงกว่าปี 2554 ทำให้มูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปิโตรเคมีขั้นกลางมีมูลค่าส่งออก 16,378.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.46 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.52 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปิโตรเคมีขั้นปลายมีมูลค่าส่งออก 58,961.82 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10.55 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.05 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้ม

สำหรับแนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยในไตรมาสแรกของปี 2555 คาดว่าอัตราการขยายตัวจะดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งในด้านของปริมาณ และมูลค่า การนำเข้าและส่งออก โดยคาดว่าราคาวัตถุดิบอาจสูงขึ้นจากการกักเก็บสำรองวัตถุดิบหลังช่วงวันหยุดยาว โดยมีปัจจัยหนุนจากภายในประเทศ คือ การที่อุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมพลาสติก เริ่มกลับมาทำการผลิตได้อีกครั้ง ทำให้ความต้องการวัตถุดิบเม็ดพลาสติกมีเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีดีขึ้น ดังนั้น ในระยะสั้น ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจึงควรวางแผนการผลิตให้กับอุตสาหกรรมในประเทศ และอาจชะลอแผนการผลิตเพื่อส่งออกเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกรวมถึงปัญหาหนี้สินในยุโรปยังไม่คลี่คลาย ส่งผลให้คำสั่งซื้อจากกลุ่มประเทศดังกล่าวชอละตัว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ