สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 (ตุลาคม — ธันวาคม) 2554 (อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 1, 2012 14:47 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

ภาวะการผลิตเยื่อกระดาษใยสั้น ในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 มีค่าดัชนีผลผลิต 84.3 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปี 2553 ลดลงร้อยละ 15.7 และ 24.1 ตามลำดับ สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตเยื่อกระดาษที่ลดลง ในส่วนของภาวะการผลิตกระดาษโดยรวมในไตรมาสนี้เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปี 2553 มีค่าดัชนีผลผลิต ลดลงเช่นเดียวกันกับอัตราการใช้กำลังการผลิตกระดาษโดยรวม (ตารางที่ 1 และตารางที่ 2) เป็นผลมาจากปัจจัยหลายปัจจัย คือ ไตรมาสนี้เป็นช่วงปกติที่การผลิตจะชะลอตัวจากการส่งมอบสินค้าให้กับภาคอุตสาหกรรม เกษตร และบริการทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อรองรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ในปลายไตรมาสที่ 3/2554 แล้ว ซึ่งผู้จำหน่ายและผู้บริโภคจะมีการจับจ่ายใช้สอยสินค้าต่างๆ ในช่วงไตรมาสนี้เป็นหลัก นอกจากนี้ สถานการณ์ด้านราคาเยื่อกระดาษมีแนวโน้มปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ประกอบกับราคากระดาษโดยรวมทรงตัวจึงไม่จูงใจให้มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากนัก ตลอดจนสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศ ส่งผลกระทบต่อการขนส่งวัตถุดิบและสินค้า อีกทั้งผู้ผลิตทั้งเยื่อกระดาษและกระดาษ ประเมินว่า อุตสาหกรรมเชื่อมโยงต่างๆ จะมีปริมาณการใช้วัตถุดิบในไตรมาสนี้ลดลง ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคทุกภาคส่วนจะลดลงตามไปด้วย เนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการซ่อมแซมฟื้นฟูกิจการและบ้านหลังน้ำลด

หากพิจารณาภาพรวมปี 2554 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2553 ค่าดัชนีผลผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษซึ่งจะประกอบด้วย กระดาษสำหรับการพิมพ์และเขียน และกระดาษสำหรับผลิตกล่องบรรจุสินค้าและขนส่ง โดยค่าดัชนีผลผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษสำหรับการพิมพ์และเขียน ลดลงสอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตสินค้าทั้ง 2 รายการที่ลดลงด้วยเช่นกัน (ตารางที่ 1 และตารางที่ 2) เนื่องจากความต้องการภายในประเทศลดลง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการประหยัดค่าใช้จ่ายของภาคเอกชน ร้านค้า และประชาชนทั่วไป จากสถานการณ์อุทกภัยในช่วงไตรมาสที่ 3 ต่อเนื่องถึงไตรมาสที่ 4 ปี 2554 ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อสินค้า ที่ต้องใช้เยื่อกระดาษและกระดาษสำหรับการพิมพ์และเขียนเพื่อรองรับเทศกาลปลายปีลดลง อาทิ ปฏิทิน การ์ดอวยพร สมุดบันทึก ประกอบกับโรงพิมพ์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม และ ตั้งกระจายอยู่ทั่วไปประสบปัญหาอุทกภัย ทำให้เครื่องจักรอุปกรณ์เสียหาย จึงไม่สามารถรับคำสั่งซื้อและผลิตสินค้าได้

ในส่วนภาวะการผลิตกระดาษสำหรับผลิตกล่องบรรจุสินค้าและขนส่ง โดยเฉพาะกระดาษแข็งและกระดาษลูกฟูก เมื่อเปรียบเทียบภาพรวมทั้งปี 2554 กับ ปี 2553 พบว่า ค่าดัชนีผลผลิต เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตของกระดาษข้างต้น (ตารางที่ 1 และตารางที่ 2) ส่วนหนึ่งเป็นผล มาจากความต้องการใช้กระดาษดังกล่าวอย่างต่อเนื่องในการห่อหุ้มหรือบรรจุสินค้าในภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ ที่มีการขยายตัวทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม จากปัญหาอุทกภัยเกือบทุกจังหวัดของประเทศไทย ได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมในการขนส่งวัตถุดิบและสินค้าล่าช้า รวมทั้งการกระจายสินค้าไม่ทั่วถึงโดยเฉพาะการจัดส่งนิตยสาร และวารสารต่างๆ

2. การนำเข้าและการส่งออก

2.1 การนำเข้า

ภาวะการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 มีมูลค่า 156.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปี 2553 ลดลงร้อยละ 26.9 และ 18.7 ตามลำดับ (ตารางที่ 3) ซึ่งหากพิจารณาในส่วนปริมาณการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปี 2553 ลดลงในทิศทางเดียวกันกับมูลค่าการนำเข้า ร้อยละ 30.5 และ 26.3 ตามลำดับ (ตารางที่ 4) เนื่องจากไตรมาสก่อนมีปริมาณการนำเข้าเยื่อกระดาษและกระดาษ ขยายตัวเพื่อรองรับเทศกาลต่างๆ ได้แก่ คริสต์มาส ปีใหม่ และตรุษจีน ประกอบกับการเกิดอุทกภัย ในเกือบทุกจังหวัดของประเทศ ส่งผลให้ไตรมาสนี้มีการนำเข้าทั้งมูลค่าและปริมาณที่ชะลอตัวลง แม้ว่าทิศทางราคาเยื่อกระดาษจะปรับตัวลงอย่างเห็นได้ชัด จากราคาเยื่อใยยาวเฉลี่ยในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาของไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปี 2553 เท่ากับ 996.3 และ 964.3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ตามลำดับ ลดลงเหลือ 906.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน

          ภาวะการนำเข้ากระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 มีมูลค่า 380.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 22.3 และหากเปรียบเทียบกับ     ไตรมาสเดียวกันของปี 2553 กลับเพิ่มขึ้นสวนทางกับไตรมาสก่อนร้อยละ 2.1 (ตารางที่ 3) ซึ่งหากพิจารณา   ในส่วนปริมาณการนำเข้ากระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปี 2553 จะลดลง (ตารางที่ 4) โดยสาเหตุที่มีการนำเข้าลดลงทั้งด้านปริมาณและมูลค่าในไตรมาสนี้    เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน จะเป็นในลักษณะเดียวกันกับการนำเข้าเยื่อกระดาษที่ลดลง คือ ในไตรมาสก่อนการนำเข้ามีการขยายตัวเพื่อรองรับเทศกาลสำคัญปลายปีจนถึงต้นปี ประกอบกับมีการขยายตัวของการนำเข้ากระดาษพิมพ์เขียนเคลือบผิวจากประเทศจีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน เนื่องจากมีราคาจำหน่ายต่ำกว่าในประเทศ เพื่อนำมาใช้สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ ส่งผลให้ผู้ผลิตกระดาษประเภทดังกล่าวในประเทศได้ยื่นหนังสือต่อกระทรวงพาณิชย์ ให้มีการไต่สวนป้องกันการทุ่มตลาดราคากระดาษดังกล่าว  อีกทั้งผู้นำเข้า รอดูสถานการณ์ราคากระดาษซึ่งมีแนวโน้มลดลงจากราคาวัตถุดิบสำคัญ คือ เยื่อใยยาว ปรับราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะประเทศผู้ผลิตและผู้ใช้รายใหญ่ของโลกในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปประสบปัญหาวิกฤตทางการเงิน และประเทศสหรัฐอเมริกายังคงมีภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลให้กำลังซื้อลดลง  นอกจากนี้      อาจมาจากปัจจัยภายในประเทศ อาทิ การเกิดอุทกภัย จึงมีการชะลอการนำเข้า  ส่วนสาเหตุที่ปริมาณการนำเข้าลดลงสวนทางกับมูลค่าการนำเข้า เมื่อเปรียบเทียบไตรมาสนี้กับไตรมาสเดียวกันของปี 2553 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยด้านราคาของไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2553 โดยราคากระดาษ ในภาพรวมของไตรมาสนี้เฉลี่ยตันละ 950.4 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคากระดาษในภาพรวมของไตรมาสเดียวกันของปี 2553 เฉลี่ยตันละ 927.4 เหรียญสหรัฐฯ

ภาวะการนำเข้าสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 มีมูลค่า 48.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 16.2 และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2553 กลับเพิ่มขึ้นสวนทางกับไตรมาสก่อนร้อยละ 1.9 (ตารางที่ 3) เป็นเพราะการนำเข้าสิ่งพิมพ์ที่เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ลดลง อาทิ ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย และอื่นๆ จากเกาหลีใต้ตามกระแสความนิยมนักร้อง นักแสดง ภาพยนตร์ อาหารและวัฒนธรรม ซึ่งสิ่งพิมพ์ดังกล่าวจะมีมูลค่าสูงกว่าสิ่งพิมพ์ประเภทอื่นๆ และหากพิจารณาในส่วน

ปริมาณการนำเข้าสิ่งพิมพ์ของไตรมาสนี้เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปี 2553 จะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น (ตารางที่ 4) สำหรับสาเหตุที่ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นสวนทางกับมูลค่าการนำเข้า ในไตรมาสนี้เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เมื่อเปรียบเทียบปริมาณการนำเข้าและมูลค่าการนำเข้าในไตรมาสนี้กับไตรมาสเดียวกันของ ปี 2553 จะเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกัน เป็นผลมาจากน้ำหนักและมูลค่าของสิ่งพิมพ์แต่ละประเภทที่นำเข้าแตกต่างกัน จากที่มีการนำเข้าสิ่งพิมพ์ที่เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยซึ่งขยายตัวมาโดยตลอด และมีมูลค่าสูงสุดในบรรดาประเภทสิ่งพิมพ์ที่มีการนำเข้ามาทั้งหมด ได้ปรับเข้าสู่ภาวะการนำเข้าปกติ ในลักษณะสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือที่เป็นรูปเล่ม หรือแผ่น อาทิ ตำราแบบเรียน นิตยสาร วารสารต่างๆ

ภาพรวมการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ปี 2554 โดยภาวะการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์ มีมูลค่า 787.5 และ 1,670.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 และ 18.2 ตามลำดับ (ตารางที่ 3) ซึ่งหากพิจารณาในส่วนปริมาณการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ จะลดลงสวนทางกับมูลค่าการนำเข้าร้อยละ 7.6 และ 10.6 ตามลำดับ (ตารางที่ 4) ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยด้านราคาเยื่อใยยาวและกระดาษ ในปี 2554 ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อน โดยแหล่งนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศแคนาดา สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น สำหรับแหล่งนำเข้ากระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และจีน และ หากพิจารณาการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้ากระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ แบ่งตามประเภท พบว่า ประเภทกระดาษที่มีมูลค่าการขยายตัวมากที่สุด คือ กระดาษคราฟท์ ร้อยละ 24.0 ส่วนประเภทผลิตภัณฑ์กระดาษที่มีมูลค่าการขยายตัวมากที่สุด คือ บรรจุภัณฑ์กระดาษ ร้อยละ 70.2

          ภาพรวมการนำเข้าสิ่งพิมพ์ปี 2554  มีมูลค่า 197.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ 33.1 (ตารางที่ 3) ซึ่งหากพิจารณาในส่วนปริมาณการนำเข้าสิ่งพิมพ์ จะเพิ่มขึ้นสวนทางกับมูลค่าการนำเข้าร้อยละ 11.5 (ตารางที่ 4) เป็นเพราะการลดลงทั้งด้านปริมาณและมูลค่าของการนำเข้าสิ่งพิมพ์ประเภทภาพพิมพ์ ภาพถ่าย และอื่นๆ จากประเทศเกาหลีใต้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 ตามภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและต่างประเทศที่ชะลอตัวทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน ทำให้ผู้บริโภคในประเทศระมัดระวังการ  ใช้จ่ายมากขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อลดลง เนื่องจากสิ่งพิมพ์ดังกล่าวเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย และมีน้ำหนักเบา         เมื่อเปรียบเทียบกับหนังสือเป็นเล่ม ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่าและมีการนำเข้ามาในปริมาณที่ใกล้เคียงกันทุกปี     อีกทั้งราคาแตกต่างกัน จึงเป็นเหตุผลหนึ่งว่า ในบางไตรมาสมีมูลค่าและปริมาณเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือสวนทางกันได้ โดยแหล่งนำเข้าสิ่งพิมพ์ที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา   สหราชอาณาจักร   จีน และสิงคโปร์

2.2 การส่งออก

ภาวะการส่งออกเยื่อกระดาษ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 มีมูลค่า 21.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปี 2553 ลดลงร้อยละ 31.7 และ 23.9 ตามลำดับ (ตารางที่ 5) ซึ่งหากพิจารณาในส่วนปริมาณการส่งออกเยื่อกระดาษ มีทิศทางลดลงเช่นเดียวกันกับมูลค่าการส่งออก (ตารางที่ 6) เป็นผลมาจากในไตรมาสก่อนมีการส่งมอบเยื่อกระดาษเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตสินค้าต่างๆ เพื่อจำหน่ายในช่วงเทศกาลปลายปีไปแล้ว โดยประเทศคู่ค้ารายใหญ่ คือ จีน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจประเทศจีนเริ่มชะลอตัว นอกจากนี้ ราคาเยื่อใยสั้นได้ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนและ ไตรมาสเดียวกันของปี 2553 ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้ผลิตเยื่อในประเทศชะลอการส่งออกลง

ภาวะการส่งออกกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 มีมูลค่า 1,151.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปี 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 และ 221.1 ตามลำดับ (ตารางที่ 5)ซึ่งหากพิจารณาในส่วนปริมาณการส่งออก ในไตรมาสนี้เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า มีทิศทางเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันกับมูลค่าการส่งออก แต่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2553 กลับลดลงสวนทางกับมูลค่าการส่งออก (ตารางที่ 6)สำหรับสาเหตุที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้นทั้งมูลค่าและปริมาณในไตรมาสนี้เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นเพราะความสามารถของผู้ประกอบการ ในการขยายตลาดใหม่และยังคงรักษาฐานตลาดหลักในภูมิภาคเอเชียได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกกระดาษพิมพ์เขียนไปยังประเทศฮ่องกงเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ 1 ของมูลค่าการส่งออกกระดาษพิมพ์เขียนไปยังประเทศต่างๆ รวมทั้งมีการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกกระดาษแข็งไปยังประเทศจีนและฮ่องกงเพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่วนสาเหตุที่ปริมาณการส่งออกในไตรมาสนี้เปรียบเทียบไตรมาสเดียวกันของปี 2553 ลดลงสวนทางกับมูลค่าการส่งออก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยด้านการผลิตที่ลดลงจากสถานการณ์อุทกภัย ที่คาดว่าจะมีปริมาณการใช้กระดาษลดลง อีกทั้งปัจจัยด้านราคาในไตรมาสนี้ได้ปรับตัวสูงขึ้นกว่าไตรมาสเดียวกันของปี 2553

ภาวะการส่งออกหนังสือและสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 มีมูลค่า 375.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปี 2553 ลดลงร้อยละ 60.4 และ 55.4 ตามลำดับ (ตารางที่ 5) และหากพิจารณาในส่วนปริมาณการส่งออกหนังสือและสิ่งพิมพ์ของไตรมาสนี้กับ ไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปี 2553 ลดลงในทิศทางเดียวกันกับมูลค่าการส่งออก ร้อยละ 33.3 และ 8.7 ตามลำดับ (ตารางที่ 6) ซึ่งสาเหตุหลักที่การส่งออกลดลงทั้งมูลค่าและปริมาณ เป็นเพราะผู้นำเข้ารายใหญ่ คือ ประเทศฮ่องกง ชะลอการนำเข้า เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงทางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน

          ภาพรวมการส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ  หนังสือและสิ่งพิมพ์ ปี 2554  มีมูลค่า 112.8  2,917.3 และ 4,004.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับ ปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.8  118.6 และ 90.9 ตามลำดับ (ตารางที่ 5) ซึ่งหากพิจารณาในส่วนปริมาณการส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ หนังสือและสิ่งพิมพ์ เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน พบว่า ปริมาณการส่งออกเยื่อกระดาษ เพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกันกับมูลค่าการส่งออกเยื่อกระดาษ เนื่องจากประเทศจีนซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ยังคงมีความต้องการใช้เยื่อกระดาษเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับในปีนี้บางประเทศมีปริมาณคำสั่งซื้อเยื่อกระดาษจากไทยเพิ่มขึ้น อาทิ ประเทศปากีสถาน ซาอุดิอาราเบีย ฮ่องกง ฝรั่งเศส  ในส่วนปริมาณการส่งออกกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ในปี 2554 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ลดลงสวนทางกับมูลค่าการส่งออก เป็นเพราะราคากระดาษทุกประเภทในปี 2554 ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อน ส่งผลให้มีการขยายตัวด้านมูลค่าของกระดาษโดยรวม ตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ ประเทศฮ่องกง และจีน  สำหรับปริมาณการส่งออกหนังสือและสิ่งพิมพ์ เปรียบเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้น        ในทิศทางเดียวกันกับมูลค่าการส่งออก เป็นผลมาจากการส่งออกสิ่งพิมพ์ปลอดการปลอมแปลง พิกัดศุลกากร 4907 อาทิ ไปรษณียบัตร อากรแสตมป์ กระดาษที่มีตราแสตมป์ ธนบัตร สมุดเช็ค ใบสต๊อก ใบหุ้นหรือพันธบัตร มีการขยายตัวไปยังประเทศฮ่องกงตั้งแต่ปี 2551 ด้วยมูลค่าไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าการส่งออกสิ่งพิมพ์ทั้งหมด

3. นโยบายที่เกี่ยวข้อง

          3.1 การรณรงค์และการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชนสนใจและ      รักการอ่าน เพื่อรองรับให้กรุงเทพฯ เป็น World Book Capital ในปี 2013 ตามพันธกิจที่มีต่อยูเนสโก อาทิ การอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยหนังสือเล่มแรก การส่งเสริมพัฒนาการเด็กผ่านการอ่าน ตลอดจนการสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน โดยการเปิดห้องสมุดเฉพาะ ได้แก่ ห้องสมุดวรรณกรรมและ       การท่องเที่ยว ห้องสมุดการ์ตูน

3.2 มาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูหลังน้ำท่วมของรัฐบาล ประกอบด้วย 1) มาตรการด้านการเงิน ที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยช่วยเหลือค่าเสียหายด้านที่พักอาศัย และทรัพย์สินที่ประสบอุทกภัย รวมทั้งเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ รวมทั้งปลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินต่างๆ 2) มาตรการด้านสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยให้สินเชื่อรายย่อยสำหรับผู้ประสบอุทกภัย สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบการ และสินเชื่อเพื่อพัฒนาระบบป้องกันอุทกภัย ตลอดจนการค้ำประกันสินเชื่อของอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม และ 3) มาตรการสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์การลงทุน โดยขยายสิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุน และอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงานให้แก่ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศที่จะเข้ามาทำงานในประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูโรงงานที่ประสบความเสียหาย

4. สรุปและแนวโน้ม

ภาวะการผลิต การนำเข้า และการส่งออก อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์โดยรวม ในไตรมาสนี้เทียบกับไตรมาสก่อนลดลง เป็นผลมาจากปัจจัยลบที่สำคัญ คือ ไตรมาสนี้ เป็นช่วงปกติที่การผลิต การนำเข้า และการส่งออก จะชะลอตัวเนื่องจากได้ส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าในภาค อุตสาหกรรม เกษตร และบริการทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อรองรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ในปลายไตรมาสที่ 3/2554 แล้ว ประกอบกับสถานการณ์ภายในประเทศ อาทิ อุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศ ส่งผลกระทบต่อการใช้วัตถุดิบและสินค้าในอุตสาหกรรมเชื่อมโยงต่างๆ การขนส่งและกระจายวัตถุดิบและสินค้าไม่สามารถกระทำได้หรือเกิดความล่าช้า ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงตามไปด้วย เนื่องจากต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการซ่อมแซมฟื้นฟูกิจการและบ้านพักอาศัยหลังน้ำลด สำหรับสถานการณ์ต่างประเทศ ที่ส่งผลให้การผลิต การนำเข้า และการส่งออก ลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจในประเทศสหรัฐอเมริกา และกลุ่มสหภาพยุโรปที่ยังไม่แน่นอน

ภาวะการผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษสำหรับการพิมพ์และเขียน ในปี 2554 ปรับลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนเป็นเพราะความต้องการภายในประเทศลดลง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการประหยัดค่าใช้จ่ายของภาคเอกชน ร้านค้า และประชาชนทั่วไป จากการเกิดอุทกภัยในประเทศช่วงไตรมาสที่ 3 ต่อเนื่องถึงไตรมาสที่ 4 ปี 2554 ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อสินค้าเพื่อรองรับเทศกาลปลายปีลดลง อาทิ ปฏิทิน การ์ดอวยพร สมุดบันทึก แต่ในส่วนภาวะการผลิตกระดาษสำหรับผลิตกล่องบรรจุสินค้าและขนส่ง โดยเฉพาะกระดาษแข็งและกระดาษลูกฟูก ในปี 2554 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงมีความต้องการใช้กระดาษสำหรับการห่อหุ้ม บรรจุสินค้า หรือขนส่งสินค้าต่างๆ เพิ่มขึ้น สำหรับการนำเข้าและการส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์ ในปี 2554 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถรักษาฐานตลาดหลัก ในภูมิภาคเอเชียได้อย่างต่อเนื่อง และขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ ได้เพิ่มขึ้น

แนวโน้มของภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสแรกของ ปี 2555 คาดว่า จะทรงตัว เนื่องจากมีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบที่จะมีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ รวมทั้งอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ โดยมีปัจจัยลบทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากไตรมาสที่ 3 และ 4 ปี 2554 และคาดว่าจะต่อเนื่องถึงไตรมาสหน้า ได้แก่ สถานการณ์มหาอุทกภัยของประเทศไทย ได้ส่งผลให้หลายโรงงานหยุดการผลิต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหลักที่ต้องใช้กระดาษสำหรับผลิตกล่องกระดาษและบรรจุภัณฑ์รวมทั้งสิ่งพิมพ์ ได้แก่ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และผลิตภัณฑ์อาหาร ก่อให้เกิดการว่างงาน และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและการลงทุนของนักลงทุนไทยและต่างชาติ นอกจากนี้ นโยบายการปรับค่าแรงขั้นต่ำที่สูงขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและการขนส่งในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงปัญหาภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและกลุ่มสหภาพยุโรป อาจทำให้ทั้งการผลิต การบริโภค/การจำหน่ายในประเทศ การส่งออก และการนำเข้าเกิดการชะลอตัวจากความต้องการใช้เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม ภาคธุรกิจการค้าและบริการ และผู้บริโภคจะลดลง อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยบวกภายใน คือ การจัดทำรายงานประจำปีของภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจะมีส่วนในการช่วยกระตุ้นให้มีการใช้เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์เพิ่มขึ้น รวมทั้งการส่งเสริมการอ่านเพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ สำหรับปัจจัยบวกจากภายนอก ได้แก่ แนวโน้มตลาดคู่ค้าที่สำคัญของไทยในภูมิภาคเอเชีย อาทิ ฮ่องกง จีน ยังคงมีการขยายตัวในการส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไปยังประเทศเหล่านี้สูงกว่ากลุ่มประเทศอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ