1. การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ
1.1 ปริมาณการผลิต
การผลิตปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 4 ปี 2554 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 8.92 ล้านตัน การผลิตซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 8.79 ล้านตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตปูนเม็ดลดลงร้อยละ 8.32 และ 5.01 ตามลำดับ และการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.98 และ 2.77 ตามลำดับ
สำหรับในปี 2554 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 37.74 ล้านตัน ส่วนการผลิตซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) มีจำนวน 36.71 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปีก่อน การผลิตปูนเม็ดลดลงร้อยละ 2.88 ส่วนการผลิตซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.58
1.2 การจำหน่ายในประเทศ
การจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ไตรมาสที่ 4 ปี 2554 มีปริมาณการจำหน่ายรวม 7.12 ล้านตัน แบ่งออกเป็นการจำหน่ายปูนเม็ด 0.12 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 7.00 ล้านตัน โดยปริมาณการจำหน่ายรวมในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงร้อยละ 6.56 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.56 สำหรับในปี 2554 มีปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศรวม 30.67 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.41
การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากเกิดภาวะน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดอุปสรรคในการขนส่งและการก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและในภาพรวมทั้งปี 2554 อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังขยายตัวได้ ตามภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ทำให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นขยายการลงทุนเพิ่ม ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัว โดยเฉพาะ ในที่อยู่อาศัยประเภทบ้านจัดสรรจะขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากมีการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนออกสู่ชานเมือง รวมทั้งรัฐบาลใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นกำลังซื้อโดยการอัดฉีดงบภายใต้โครงการไทยเข้มแข็งลงระบบกระจายไปยังภูมิภาคมากขึ้น จึงส่งผลทำให้การใช้ปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
2. การส่งออกและการนำเข้า
2.1 การส่งออก
การส่งออกปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 4 ปี 2554 มีปริมาณรวม 2.43 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 113.42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นการส่งออกปูนเม็ด จำนวน 1.28 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 49.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ด ลดลงร้อยละ 28.49 และ 31.74 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ด ลดลงร้อยละ 31.18 และ 22.48 ตามลำดับ ในส่วนของปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) มีปริมาณการส่งออกจำนวน 1.15 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 63.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์
(ไม่รวมปูนเม็ด) ลดลงร้อยละ 16.06 และ 16.44 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ลดลงร้อยละ 30.72 และ 28.98 ตามลำดับ
สำหรับการส่งออกปูนซีเมนต์ในปี 2554 มีปริมาณการส่งออกรวม 12.01 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 557.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นการส่งออกปูนเม็ด 6.52 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 253.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ด ลดลงร้อยละ 23.20 และ 12.90 ตามลำดับ สำหรับปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) มีการส่งออก 5.49 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 304 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ 11.59 และ 14.33 ตามลำดับ
การส่งออกปูนซีเมนต์ที่ลดลงในปี 2554 นี้ เนื่องจากตลาดภายในประเทศขยายตัว โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้ผู้ประกอบการหันมาเน้นตลาดภายในประเทศมากขึ้น อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกมีความผันผวน และภาวะเงินเฟ้อที่เริ่มส่งผลกระทบชัดเจนขึ้นในภูมิภาคเอเชียซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยประกอบกับในช่วงไตรมาสนี้เกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่เป็นเวลานาน เกิดอุปสรรคในการขนส่ง ส่งผลให้การส่งออกชะลอตัว สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย คือ เมียนมาร์ กัมพูชา บังคลาเทศ โตโก และลาว ตามลำดับ
2.2 การนำเข้า
การนำเข้าปูนซีเมนต์ไตรมาสที่ 4 ปี 2554 มีปริมาณรวม 4,303.48 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการนำเข้ารวมลดลงร้อยละ 1.91 และ 13.43 ตามลำดับโดยเป็นการนำเข้าปูนเม็ด จำนวน 352.68 ตัน คิดเป็นมูลค่า 0.13 ล้านเหรียญสหรัฐ ปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) จำนวน 3,950.80 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.61 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
สำหรับการนำเข้าปูนซีเมนต์ในปี 2554 มีปริมาณการนำเข้ารวม 15,704.01 ตัน คิดเป็นมูลค่า 6.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อนปริมาณและมูลค่าการนำเข้ารวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.32 และ40.50 ตามลำดับ ทั้งนี้การนำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นอะลูมินัสซีเมนต์ ซึ่งไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ และบางส่วนเป็นการนำเข้าซีเมนต์ปอร์ตแลนด์คุณภาพสูงเพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ระบุคุณสมบัติของวัสดุ นำมาก่อสร้างตลาดนำเข้าที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทย คือ จีน รองลงมา คือ เนเธอร์แลนด์ อินเดีย และญี่ปุ่น ตามลำดับ
3. สรุป
การผลิตและการจำหน่ายของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ แม้ว่าอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะน้ำท่วม แต่ทำให้เกิดอุปสรรคในการขนส่ง รวมทั้งการก่อสร้างต่างๆ ต้องชะลอออกไป ซึ่งส่งผลให้การใช้ปูนซีเมนต์ลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในภาพรวมทั้งปี 2554 อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เติบโต โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในที่อยู่อาศัยประเภทบ้านจัดสรร เนื่องจากมีการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนออกสู่ชานเมือง และปัจจัยสำคัญที่มีส่วนสนับสนุนต่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์คือ การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล ซึ่งมีส่วนช่วยผลักดันให้มีการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมากขึ้น
แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 คาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลก่อสร้าง รวมทั้งมีการซ่อมแซม ที่อยู่อาศัย พื้นที่ภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งระบบการส่ง ที่เสียหายจากน้ำท่วม ทั้งนี้ผู้ประกอบการได้เตรียมการผลิตเพื่อรองรับความต้องการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเห็นผลอย่างชัดเจน ในช่วงครึ่งปีแรกปี 2555
การส่งออกปูนซีเมนต์ในปี 2554 ลดลง เนื่องจากตลาดภายในประเทศขยายตัว จึงทำให้ผู้ประกอบการหันมาเน้นตลาดภายในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกมีความผันผวน และภาวะเงินเฟ้อที่เริ่มส่งผลกระทบชัดเจนขึ้นในภูมิภาคเอเชียซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ประกอบกับในไตรมาสนี้เกิดภาวะน้ำท่วมในช่วงปลายปี ทำให้เกิดข้อจำกัดในการขนส่ง จึงทำให้การส่งออกปูนซีเมนต์ลดลง
สำหรับการส่งออกปูนซีเมนต์ในปี 2555 คาดว่ายังคงขยายตัวได้ เนื่องจากตลาดส่งออกหลักในแถบอาเซียน ยังมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์อย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--