สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 (ตุลาคม — ธันวาคม) 2554 (อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 1, 2012 15:02 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

ในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ดัชนีฯ ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ทั้งการผลิตเส้นใยสิ่งทอรวมทั้งการทอสิ่งทอ (ISIC 1711) การผลิตผ้าที่ได้จากการถักนิตติ้งหรือโครเชท์ (ISIC 1730) และการผลิตเครื่องแต่งกายยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ผลิตจากขนสัตว์ (ISIC 1810) ลดลง ร้อยละ 25.2, 14.4 และ 14.7 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ การผลิตผ้าฯ และการผลิตเครื่องแต่งกายฯ ลดลงร้อยละ 39.3, 48.0 และ 27.3 ตามลำดับ สาเหตุหลักจากภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้น ซึ่งโรงงานที่ได้รับผลกระทบไม่สามารถผลิตสินค้าและรับคำสั่งซื้อได้ ประกอบกับคำสั่งซื้อจากตลาดส่งออกหลักอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปปรับตัวลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรป

2. การส่งออก

การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไตรมาสที่ 4 ปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 1,826.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 16.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าการส่งออก 2,183.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และลดลงร้อยละ 12.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 2,098.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยจำแนกผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ ๆ ดังนี้

2.1 เสื้อผ้าสำเร็จรูป

ไตรมาสที่ 4 ปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 631.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 18.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 775.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และลดลงร้อยละ 11.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 713.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากฝ้ายมีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดร้อยละ 36.1 ของการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งหมด

2.2 ผ้าผืน ไตรมาสที่ 4 ปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 397.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงขึ้นร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มีมูลค่าการส่งออก 417.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และลดลงร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 416.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

2.3 ด้ายและด้ายเส้นใยประดิษฐ์ ไตรมาสที่ 4 ปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 196.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 30.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 280. 6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และลดลงร้อยละ 36.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 309.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

2.4 เส้นใยประดิษฐ์ ไตรมาสที่ 4 ปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 198.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 18.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 244.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และลดลงร้อยละ 8.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าการส่งออก 216.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

3. ตลาดส่งออก

ตลาดส่งออกที่สำคัญของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย มีดังนี้

อาเซียน ไตรมาสที่ 4 ปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 379.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.8 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็น ผ้าผืน เส้นใยประดิษฐ์ สิ่งทออื่นๆ และด้ายเส้นใยประดิษฐ์ เป็นต้น

สหภาพยุโรป ไตรมาสที่ 4 ปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 291.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 23.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 22.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.0 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นเครื่องนุ่งห่ม (เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องยกทรง รัดทรงและส่วนประกอบ) ผ้าผืน และด้ายเส้นใยประดิษฐ์ เป็นต้น

สหรัฐอเมริกา ไตรมาสที่ 4 ปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 296.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 21.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 21.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าการส่งออก 376.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.2 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด สินค้าที่ส่งออกส่วนใหญ่เป็นเครื่องนุ่งห่ม เคหะสิ่งทอ และเส้นใยประดิษฐ์ ตามลำดับ

ญี่ปุ่น ไตรมาสที่ 4 ปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 164.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 19.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.9 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด โดยสินค้าส่งออกของไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มของเครื่องนุ่งห่ม ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ สิ่งทออื่นๆ และ ผ้าผืน เป็นต้น

4. การนำเข้า

การนำเข้าสิ่งทอในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 ผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่นำเข้าส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เช่น เส้นใยใช้ในการทอ ด้ายทอผ้า ผ้าผืน และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ ผลิตภัณฑ์สำคัญที่นำเข้า แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสิ่งทอ และ กลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยมีรายละเอียดดังนี้

4.1 กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอ (เส้นใยฯ เส้นด้ายฯ ผ้าผืน และ ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ) รวมทั้งสิ้น 1,526.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าถึงร้อยละ 92.8 ของมูลค่าการนำเข้า สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโดยรวม ผลิตภัณฑ์สำคัญที่นำเข้ามีดังนี้

4.1.1 เส้นใยที่ใช้ในการทอ มีมูลค่านำเข้า 251.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 15.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 296.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และลดลงร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอินเดีย สัดส่วนนำเข้าร้อยละ 35.4, 21.6 และ 5.5 ตามลำดับ

4.1.2 ด้ายทอผ้าฯ มีมูลค่านำเข้า 187.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 179.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และ เวียดนาม สัดส่วนนำเข้าร้อยละ 23.4, 17.5 และ 13.6 ตามลำดับ

4.1.3 ผ้าผืน มีมูลค่านำเข้า 459.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 443.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น สัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 48.9, 13.2 และ 8.0 ตามลำดับ

4.1.4 ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ มีมูลค่านำเข้า 88.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนร้อยละ 1.1 ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 87.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และ ไต้หวัน สัดส่วนนำเข้าร้อยละ 42.6, 14.6 และ 6.0 ตามลำดับ

4.2 กลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่านำเข้าทั้งสิ้น 119.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 11.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 134.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.2 ของการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด ตลาดนำเข้าหลักคือ จีน ฮ่องกง และญี่ปุ่น สัดส่วนร้อยละ 55.4, 5.3 และ 4.2 ตามลำดับ

4.3 เครื่องจักรสิ่งทอ มีมูลค่านำเข้า 70.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 8.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 77.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และลดลงร้อยละ 10.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และ ไต้หวัน สัดส่วนนำเข้าร้อยละ 28.6, 15.6 และ 14.0 ตามลำดับ

5. สรุปและแนวโน้ม

ในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 การผลิต การจำหน่ายในประเทศชะลอตัวลง เนื่องจากได้รับผลกระทบ จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับปัญหาน้ำท่วมในประเทศที่กระทบต่อการผลิต ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อลดลง และกระทบต่อการส่งออกในไตรมาสนี้ ลดลงร้อยละ 16.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 12.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่อย่างไรก็ตามการส่งออกรวมทั้งปี 2554 เมื่อเทียบกับปีก่อนการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการส่งออกในไตรมาส 1 ปี 2555 จะยังชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4 ปี 2554 ซึ่งจากปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นโรงงานที่ได้รับผลกระทบยังไม่สามารถผลิตได้ทั้งหมด แต่คาดว่าในไตรมาสที่ 2 จะสามารถกลับมาผลิตได้เต็มที่เหมือนเดิม แต่อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงของอุตสาหกรรมการส่งออกสิ่งทอยังมีผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในตลาดส่งออกหลักอย่างสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปที่ยังชะลอตัว สำหรับการจำหน่ายในประเทศคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนโดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูป ที่นอนและเครื่องนอน ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เนื่องจากความต้องการภาคประชาชนยังมีอยู่ ส่งผลให้การจำหน่ายสินค้าในภาพรวมเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการนอกจากจะต้องเร่งขยายการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ ที่ยังคงมีศักยภาพ เพื่อทดแทนตลาดหลักที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติดังกล่าวแล้ว ยังคงต้องรักษาส่วนแบ่งตลาดกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้เต็มกำลังด้วย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ