สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 (ตุลาคม — ธันวาคม) 2554 (อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 1, 2012 15:08 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

ปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2554 มีปริมาณการผลิต 2.18 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 4.39 และ 2.68 ตามลำดับ ทั้งนี้ปริมาณการผลิตที่ลดลง เนื่องจากผลกระทบของวิกฤติอุทกภัยในวงกว้าง ซึ่งส่งผลกระทบ ตลอดห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน ทั้งภาคการผลิต การขนส่ง และการจัดจำหน่ายของผู้ประกอบการ

2. การตลาด

2.1 การจำหน่ายในประเทศ

ปริมาณการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2554 มีปริมาณการจำหน่าย 0.92 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 9.80 และ 14.81 ตามลำดับ ทั้งนี้ปริมาณการจำหน่ายในประเทศที่ลดลง เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤติ อุทกภัย ซึ่งรวมถึงการชะลอความต้องการที่อยู่อาศัย ตลอดจนค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคชะลอการจับจ่ายใช้สอยออกไป

2.2 การส่งออก

การส่งออกของสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2554 มีมูลค่าการส่งออกรวมทั้งสิ้น 766.40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 9.30 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.28 ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกที่ลดลง เนื่องจากวิกฤติอุทกภัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งมอบสินค้า รวมถึงความเปราะบางของภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจของตลาดหลักของไทย เช่น สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร รวมถึงญี่ปุ่น และจีน ที่ได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ชะลอตัวจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

สำหรับรายละเอียดการส่งออกในแต่ละประเภทผลิตภัณฑ์ของสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน แบ่งเป็น 3 กลุ่มประเภทสินค้า ดังนี้

1) กลุ่มเครื่องเรือนและชิ้นส่วนเครื่องเรือน ประกอบด้วย เครื่องเรือนไม้ เครื่องเรือนอื่นๆ และชิ้นส่วนเครื่องเรือน ในไตรมาสนี้ มีมูลค่าการส่งออก 243.26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 32 ของมูลค่าการส่งออกในสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออก ลดลงร้อยละ 10.04 และ 12.24 ตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์ ที่มีสัดส่วนในการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ สินค้าประเภทเครื่องเรือนไม้ โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มสินค้าประเภทเครื่องเรือนและชิ้นส่วนเครื่องเรือน คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย

2)กลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้ ประกอบด้วยเครื่องใช้ทำด้วยไม้ อุปกรณ์ก่อสร้างไม้ กรอบรูปไม้ และรูปแกะสลักไม้ ในไตรมาสนี้มีมูลค่าการส่งออก 58.04 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกร้อยละ 8 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าประเภทไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออก ลดลงร้อยละ 16.69 และ 7.90 ตามลำดับ โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ เครื่องใช้ทำด้วยไม้ ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มสินค้าผลิตภัณฑ์ไม้ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสวิตเซอร์แลนด์

3)กลุ่มไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูป แผ่นไม้ วีเนียร์ ไม้อัด ไฟเบอร์บอร์ด (Fiber Board) และผลิตภัณฑ์ไม้อื่น ๆ โดยไตรมาสนี้มีมูลค่าการส่งออก 465.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 60 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าประเภทไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด มูลค่าการส่งออกเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 7.88 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.54 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนในการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือไม้แปรรูป รองลงมาคือ ไฟเบอร์บอร์ดและไม้อัด สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ได้แก่ ประเทศจีน มาเลเซีย และเวียดนาม

2.3 การนำเข้า

มูลค่าการนำเข้าในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2554 มีจำนวน 159.86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 8.72 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.35 การนำเข้าสินค้าประเภทไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าวัตถุดิบไม้ท่อนประเภทไม้เนื้อแข็ง ได้แก่ ไม้ แปรรูป และไม้ซุง ซึ่งนำเข้ามาผลิตสินค้าต่อเนื่อง เช่น เครื่องเรือนประเภทต่าง ๆ โดยไม้แปรรูปส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศมาเลเซีย ลาว และสหรัฐอเมริกา สำหรับไม้ซุงส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศเมียนมาร์ และนิวซีแลนด์ และในส่วนของผลิตภัณฑ์ไม้อัดและไม้วีเนียร์นำเข้าจากประเทศจีน มาเลเซีย และเมียนมาร์

3.สรุปและแนวโน้ม

การผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2554 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลง เนื่องจาก วิกฤติอุทกภัยที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิต การขนส่ง และการจัดจำหน่ายของผู้ประกอบการ

การจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2554 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลง เนื่องจากวิกฤติอุทกภัยและค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายออกไป

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากความต้องการสินค้าไม้และเครื่องเรือนที่เพิ่มขึ้นหลังสถานการณ์น้ำท่วม บวกกับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล กล่าวคือ โครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแห่งแรกจะส่งผลให้ความต้องการไม้และเครื่องเรือนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยง คือ ต้นทุนการผลิต เช่น วัตถุดิบ ค่าแรง ที่ปรับตัวสูงขึ้น และภาระที่ผู้บริโภคต้อง แบกรับหลังน้ำท่วม

การส่งออกของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2554 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลง เนื่องจากวิกฤติอุทกภัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งมอบสินค้า และการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก

สำหรับแนวโน้มการส่งออกของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวในระดับทรงตัว จากการที่สถานการณ์หลังน้ำท่วมคลี่คลาย และผู้ประกอบการสามารถกลับมาผลิตและส่งออกได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการผลิตและส่งออก คือความเปราะบางของสภาวะเศรษฐกิจโลก

ดังนั้น หลังวิกฤติอุทกภัย ผู้ประกอบการควรศึกษาพฤติกรรม และความต้องการของผู้บริโภคที่อาจเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ และความจำเป็น ทั้งในแง่ของการเลือกประเภทที่อยู่อาศัย เช่น ที่อยู่อาศัยในแนวดิ่ง และประเภทของเครื่องเรือนในอนาคต ซึ่งเป็นเครื่องเรือนที่เคลื่อนย้ายสะดวก และใช้วัสดุทนน้ำ อีกทั้งควรพิจารณาส่งออกไปยังตลาดรองที่มีศักยภาพ เช่น ประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งศึกษา และแสวงหาตลาดส่งออกใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงของการส่งออกไปยังประเทศแถบละตินอเมริกา แทนตลาดหลักของไทยซึ่งภาวะเศรษฐกิจยังมีความเปราะบาง

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ