สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 (ตุลาคม — ธันวาคม) 2554 (อุตสาหกรรมยา)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 1, 2012 15:43 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1.การผลิต

ยาเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต จึงยังมีความต้องการไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์ใด แต่ผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 ทำให้หลายโรงงานไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันต่อความต้องการ เพราะประสบภัยน้ำท่วมจนต้องหยุดผลิต หรือแม้โรงงานที่ไม่ได้รับความเสียหาย แต่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ได้หยุดการผลิตชั่วคราวเช่นกัน เพื่อเตรียมการป้องกันสายการผลิต นอกจากนี้สถานการณ์ดังกล่าว ยังทำให้โรงงานไม่สามารถจัดซื้อวัตถุดิบเพื่อทำการผลิตได้ เพราะเส้นทางคมนาคมถูกน้ำท่วม รวมทั้งเกิดการขาดแคลนกำลังคน เนื่องจากที่อยู่อาศัยของพนักงานประสบปัญหาน้ำท่วม การผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมจึงหดตัวลง โดยมีปริมาณการผลิต 5,816.4 ตัน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน ร้อยละ 24 และ 27.3 ตามลำดับ สำหรับตลอดทั้งปี 2554 มีปริมาณการผลิต 28,692.8 ตัน ลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 6.1 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงปลายปี ประกอบกับยาบางชนิดที่เคยมีความต้องการสูง ถูกควบคุมการจำหน่าย ทำให้ผู้ผลิตลดปริมาณการผลิตลง ตลอดจนผู้ผลิตยังเลิกผลิตยาบางชนิดที่ไม่ทำกำไรด้วย

2.การตลาด

2.1 การจำหน่าย

สถานการณ์น้ำท่วมในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 ทำให้เส้นทางคมนาคมหลายเส้นทางมีปัญหา โรงงานบางส่วนไม่สามารถจัดส่งและกระจายสินค้าได้ รวมทั้งช่องทางการจำหน่ายของผู้ผลิต คือ โรงพยาบาลและร้านขายยาหลายแห่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ตามปรกติ นอกจากนี้โรงงานยังต้องเตรียมสินค้าเพื่อรองรับการรับคืนยาที่เสียหายด้วย ส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายยาลดลง โดยมีปริมาณ 6,575 ตัน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน ร้อยละ 8.3 และ 13.4 ตามลำดับ สำหรับภาพรวมในปี 2554 การจำหน่ายมีปริมาณ 28,673.2 ตัน ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 5 ซึ่งนอกจากผลกระทบของน้ำท่วมแล้ว การที่ยาบางรายการ ซึ่งเคยจำหน่ายได้ปริมาณมากในปีก่อน ถูกเปลี่ยนเป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ เพื่อจำกัดปริมาณการกระจายยา และลดช่องทางการจำหน่าย ไม่ให้มีการนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติด ทำให้ไม่สามารถจำหน่ายยาชนิดนั้นได้ใน วงกว้างเช่นที่ผ่านมา และแม้จะมีการผลิตยาสามัญใหม่ ขึ้นมาทดแทนยาที่ไม่ทำกำไรและเลิกผลิต แต่ก็ไม่สามารถจำหน่ายได้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นยารักษาโรคเฉพาะทาง ส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายลดลง นอกจากนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้นในตลาดโรงพยาบาล ผู้ผลิตบางรายที่มีศักยภาพสูงจึงหันไปให้ความสำคัญกับช่องทางร้านขายยา และทำการผลิตผลิตภัณฑ์สินค้าด้านอื่นทดแทน เช่น เวชภัณฑ์เพื่อการบริโภค ซึ่งตลาดมีแนวโน้มความต้องการสูงขึ้น เพื่อเป็นการทดแทนรายได้ที่ขาดหายไป

2.2 การนำเข้า

การนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรค ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 มีมูลค่า 10,504.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 9.9 โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร ซึ่งการนำเข้าจากประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 4,499.7 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 42.8 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด สำหรับภาพรวมในปี 2554 มีมูลค่าการนำเข้า 39,678.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 4.1 โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร ซึ่งการนำเข้าจากประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 16,839.6 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 42.4 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด มูลค่าการนำเข้ายายังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่เป็นยาสิทธิบัตร ที่ใช้สำหรับโรคที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นการนำเข้ายาที่มีนวัตกรรมในกลุ่มโรคที่โรงงานในประเทศไม่สามารถผลิตได้ เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการตลาดภายใต้ธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง นอกจากนี้ยาสามัญ มีแนวโน้มการนำเข้ามากขึ้นเช่นกัน ซึ่งเป็นผลจากความต้องการใช้ยาสามัญที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายควบคุมการเบิกจ่ายยาในระบบสวัสดิการของรัฐ และจากสถานการณ์น้ำท่วมที่ทำให้กำลังการผลิตในประเทศหายไปบางส่วน ในขณะที่มีความต้องการสูงขึ้นจนทำให้ต้องมีการนำเข้า เพื่อทดแทนยาที่ไม่สามารถผลิตได้ในช่วงดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนมูลค่าการนำเข้าลดลง ร้อยละ 0.7 เนื่องจากโรงพยาบาลซึ่งเป็นตลาดหลักได้ทำการสั่งซื้อยาและเวชภัณฑ์ปริมาณมากในช่วงปลายปีงบประมาณ หรือในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีไปแล้ว

2.3 การส่งออก

การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรค ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 มีมูลค่า 1,581.2 ล้านบาท ขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.9 โดยตลาดส่งออกที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ เมียนมาร์ เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และญี่ปุ่น ซึ่งการส่งออกไปประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 1,028. ล้านบาท หรือ ร้อยละ 65 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด สำหรับภาพรวมในปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 6,506.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.9 โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เมียนมาร์ เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และญี่ปุ่น ซึ่งการส่งออกไปยังประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 4,335.5 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 66.6 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าประเทศญี่ปุ่นเปลี่ยนสถานะเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย นอกเหนือจากตลาดหลักในอาเซียน ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ญี่ปุ่นประสบภัยสึนามิ เมื่อต้นปี ทำให้บริษัทแม่ในประเทศญี่ปุ่นต้องนำเข้าสินค้า เช่น ยาปฏิชีวนะ จากบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาร่วมทุนกับประเทศไทยมากขึ้น สำหรับการขยายตัวของการส่งออก มีสาเหตุจากการที่ผู้ผลิตได้พัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพเป็นที่เชื่อมั่นของประเทศคู่ค้า และสามารถหาตลาดส่งออกใหม่ๆ รวมทั้งมีการรับจ้างผู้ผลิตเวชภัณฑ์ชั้นนำของโลกในการผลิตสินค้า เพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและอาเซียน อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากความต้องการภายในประเทศมีจำนวนมาก ประกอบกับผู้ผลิตต้องเตรียมยาไว้เพื่อรับเปลี่ยนกับสินค้าที่ได้รับความเสียหายจากโรงพยาบาลและร้านขายยาที่ประสบภัยน้ำท่วมด้วย

3. นโยบายที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงสาธารณสุข มีมาตรการจัดหายาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นให้เพียงพอ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนยา ใน 3 ประเด็น คือ

1) ว่าจ้างผู้ผลิตยารายอื่นผลิตทดแทนชั่วคราว จนกว่าโรงงานจะกลับมาผลิตได้อีกครั้ง โดยตำรับยาที่จะผลิตนั้นต้องมีสูตร ฉลาก เอกสารกำกับยา ขนาดบรรจุ เอกสารการควบคุมคุณภาพและรายละเอียดอื่นๆ เหมือนกับทะเบียนกำกับยาที่ผลิตเดิม แต่ให้ผ่อนผันการส่งข้อมูลการตรวจสอบความถูกต้องของกระบวนการผลิตและการศึกษาความคงสภาพยา

2) การนำเข้ายาบางรายการ โดยเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่ได้ว่าจ้างโรงงานผลิตยาให้ แต่โรงงานดังกล่าวถูกน้ำท่วมเสียหาย โดยประสงค์ที่จะนำเข้ายาจากต่างประเทศมาทดแทนยาที่ผลิต ให้ขอความร่วมมือจาก องค์การเภสัชกรรมให้เป็นผู้นำสั่งยาเพื่อทดแทนในรายการที่ผลิตไม่ได้

3) การจัดส่งยา ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ขอความร่วมมือจากบริษัท ไปรษณีย์ไทย เข้ามาร่วมในการจัดส่งและกระจายยาไปยังพื้นที่เป้าหมายทั่วทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

4. สรุปและแนวโน้ม

ปริมาณการผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ ทำให้มีโรงงานหลายแห่งต้องหยุดการผลิต สำหรับปริมาณการจำหน่ายยาปรับลดลงเช่นกัน เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมทำให้โรงงานบางส่วนไม่สามารถจัดส่งและกระจายสินค้าได้ รวมทั้งโรงพยาบาลและร้านขายยา หลายแห่งยังได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ตามปรกติ นอกจากนี้โรงงานยังต้องเตรียมสินค้าเพื่อรองรับการรับคืนยาที่เสียหายด้วย

ส่วนมูลค่าการนำเข้ายา มีทั้งยาสิทธิบัตร และยาสามัญ ซึ่งจากสถานการณ์น้ำท่วม ทำให้กำลังการผลิตในประเทศหายไปบางส่วน ในขณะที่มีความต้องการสูง ส่งผลให้ต้องมีการนำเข้า เพื่อทดแทนยาที่ไม่สามารถผลิตได้ในช่วงน้ำท่วม สำหรับมูลค่าการส่งออกยา มีการขยายตัว โดยผู้ผลิตได้พัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพเป็นที่เชื่อมั่นของประเทศคู่ค้า รวมทั้งสามารถหาตลาดส่งออกใหม่ๆ ตลอดจนมีการรับจ้างผู้ผลิตเวชภัณฑ์ชั้นนำของโลกในการผลิตสินค้า เพื่อจำหน่ายทั้งภายในและต่างประเทศ

สำหรับแนวโน้มในไตรมาสแรก ของปี 2555 คาดว่า ปริมาณการผลิตยา และการจำหน่ายยา จะปรับตัวดีขึ้นกว่าไตรมาสก่อน จากสถานการณ์น้ำท่วมกลับเข้าสู่ภาวะปรกติ แต่จะเป็นการขยายตัวที่ไม่สูงมากนัก เนื่องจากโรงงานที่ประสบภัย ต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูโรงงานให้สามารถผลิตได้ตามมาตรฐานที่ภาครัฐกำหนด สำหรับมูลค่าการนำเข้าและส่งออก คาดว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากมีการส่งออก ตลอดจนการนำเข้า เป็นจำนวนมากในช่วงไตรมาสที่ 3 แล้ว ซึ่งผู้ซื้ออาจจะยังมีสินค้าเก่าคงเหลืออยู่ โดยสถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป ตามวัฏจักรธุรกิจ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ