สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 (ตุลาคม — ธันวาคม) 2554 (อุตสาหกรรมอาหาร)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 2, 2012 13:45 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2554 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาลทราย) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากการผลิตในกลุ่มผักผลไม้ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และธัญพืชและแป้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.0 2.2 และ 2.0 ตามลำดับ (ตารางที่ 1) เป็นผลจากปริมาณวัตถุดิบ เช่น มันสำปะหลัง สับปะรด ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ประกอบกับเกิดอุทกภัยในหลายจังหวัดเป็นเวลานาน ทำให้ความต้องการอาหารกึ่งสำเร็จรูปเพิ่มสูงขึ้น และหากพิจารณารวมการผลิตน้ำตาลทรายจะทำให้ภาพรวมของภาวะการผลิตอุตสาหกรรมอาหาร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 27.6 เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูหีบอ้อย

ภาวะการผลิตในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสำคัญในช่วงไตรมาสที่ 4 สรุปได้ ดังนี้

-กลุ่มแปรรูปธัญพืชและแป้ง ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสก่อน เนื่องจากเป็นช่วงที่ปริมาณวัตถุดิบออกตามฤดูกาล แต่ลดลงร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากพื้นที่และผลผลิตได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ประกอบกับประเทศผู้ผลิตธัญพืชสำคัญ เช่น จีน เวียดนาม อินเดีย ประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ทำให้ผลผลิตในตลาดโลกลดลง ส่งผลให้ความต้องการเพิ่มสูงขึ้นและราคาในตลาดโลกเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม

-กลุ่มแปรรูปประมง ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาวัตถุดิบ เช่น ทูน่าแช่แข็ง ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก ประกอบกับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ทำให้การผลิตและส่งออก ทูน่ากระป๋องชะลอตัวลง ส่วนกุ้งแปรรูปและกุ้งแช่เย็นแช่แข็ง ราคาในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง จากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นหลังจากประเทศผู้ผลิตกุ้งคู่แข่งของไทยสามารถแก้ไขปัญหาโรคกุ้งกลับมาผลิตและส่งออกได้

-กลุ่มแปรรูปปศุสัตว์ ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการส่งออกไก่ต้มสุกแปรรูปไปยัง ตลาด EU ได้เต็มโควตา ส่วนตลาดญี่ปุ่น มีการสั่งซื้อจากไทยและจีนเพิ่มขึ้น เนื่องจากวิกฤตความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่ออาหารที่ผลิตภายในประเทศหลังเหตุการณ์สึนามิและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 2

-กลุ่มแปรรูปผักผลไม้ ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 52.0 เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบ เช่น สับปะรด ข้าวโพดฝักอ่อน และข้าวโพดหวาน ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น และหากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7 เป็นผลจากการผลิตเพื่อการส่งออกที่ดีขึ้นตามการอ่อนค่าของเงินบาท

-กลุ่มแปรรูปเพื่อใช้บริโภคในประเทศ มีสินค้าในกลุ่มที่ผลิตลดลงจากไตรมาสก่อน และ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์นม เป็นผลจากโรงงานขนาดใหญ่ประสบอุทกภัย ทั้งโดยตรงที่ต้องปิดโรงงาน และโดยอ้อมจากการส่งสินค้าได้ลำบาก อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าที่ผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ น้ำตาลทราย จากปริมาณอ้อยที่เข้าโรงงานเพิ่มขึ้นตามราคาตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น จูงใจให้เกษตรกรปลูกเพิ่มขึ้น น้ำมันพืช จากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ

เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติในปีก่อน และอาหารสัตว์ เป็นผลจากความต้องการในการเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยการสูญเสียปศุสัตว์ในช่วงอุทกภัยช่วงที่ผ่านมา

สรุปภาพรวมด้านการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารในปี 2554 มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มปรับตัวดีขึ้น ทำให้ภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมรวมถึงอาหารขยายตัวดีขึ้น ส่งผลต่อระดับราคาสินค้าอาหารโดยรวมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับภาครัฐของประเทศต่างๆ ยังใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายระดับ เช่น การช่วยเหลือประชาชนโดยเพิ่มสวัสดิการค่าครองชีพด้านสาธารณูปโภค ทำให้สินค้าอาหารที่เป็นสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในระดับต่ำเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ สำหรับภาวะการผลิตน้ำตาลทรายของปี 2554 เมื่อเทียบกับปี 2553 พบว่า ปริมาณการผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 69.6 ตามการเพิ่มขึ้นของปริมาณอ้อยที่เข้าโรงงานและราคาตลาดโลกที่จูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น

2. การตลาด

2.1 ตลาดในประเทศ

ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2554 ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารภายในประเทศ (ไม่รวมน้ำตาลทราย) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 2) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอุทกภัยที่ทำให้การคมนาคมขนส่งทำได้ลำบาก ประชาชนมีความต้องการบริโภคอาหาร และเป็นการซื้อเพื่อกักตุนสินค้าประเภทกึ่งสำเร็จรูป/สำเร็จรูปเพิ่มขึ้น เนื่องจาก เกรงว่าอาหารจะขาดแคลน ส่งผลต่อระดับราคาสินค้าบางรายการได้ปรับตัวสูงขึ้น แต่หากรวมน้ำตาล ปริมาณการจำหน่ายในประเทศกลับลดลงร้อยละ 7.8 เนื่องจากในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 มีความต้องการใช้น้ำตาลมากกว่าปริมาณโควตา ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนในช่วงไตรมาสที่ 4 ดังจะเห็นได้จากการต้องซื้อคืนน้ำตาลทรายโควตา ค เพื่อส่งออกกลับมาใช้ภายในประเทศ ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2554 แม้ความต้องการใช้จะเพิ่มขึ้นแต่ปริมาณการผลิตที่จัดสรรเป็นโควตา ก. ก็เพิ่มขึ้นตาม จึงไม่ทำให้เกิดการขาดแคลนในลักษณะเดียวกับปี 2553

หากเปรียบเทียบภาพรวมปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศปี 2554 พบว่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับปี 2553 เป็นผลจากการขยายตัวของการจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ประมง อาหารสัตว์ และปศุสัตว์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 8.3 7.6 และ 3.4 ตามลำดับ แต่หากพิจารณากลุ่มอื่นๆ พบว่า มีปริมาณการจำหน่ายลดลง คือ ธัญพืชและแป้ง ผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 8.7 7.2 และ 2.8 ตามลำดับ

2.2 ตลาดต่างประเทศ

1) การส่งออก

ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2554 การส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร มีมูลค่ารวม 6,468.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 200,655.1 ล้านบาท โดยปรับตัวลดลงร้อยละ 18.4 ในรูปของดอลลาร์ฯ และร้อยละ 15.9 ในรูปของเงินบาท จากไตรมาสก่อน เป็นผลจากข่าวการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจประเทศผู้นำเข้า เช่นสหภาพยุโรป จากความไม่ชัดเจนในการแก้ไขหนี้สาธารณะในประเทศกรีซ อิตาลี ไอร์แลนด์ โปรตุเกส และสเปน และอาจจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังสหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 3-4) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 7.2 ในรูปของเงินบาท โดยพบว่า มูลค่าการส่งออกทั้งในรูปของเงินบาทและดอลลาร์ฯ มีการขยายตัวในกลุ่มผักผลไม้ ปศุสัตว์ และน้ำตาลทราย เนื่องจากระดับราคาสินค้าอาหารได้ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้การส่งออกอาหารในภาพรวมยังสามารถปรับเพิ่มขึ้นตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั่วโลกที่ปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้หากเปรียบเทียบตลอดปี 2553 และ 2554 จะเห็นว่า อุตสาหกรรมอาหารโดยรวมมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.7 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 20.8 ในรูปของเงินบาท สำหรับการส่งออกในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ มีดังนี้

กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารทะเล มีมูลค่าการส่งออก 1,778.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 55,186.2 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 21.1 ในรูปของดอลลาร์ฯ และร้อยละ 18.8 ในรูปของเงินบาท จากไตรมาสก่อน โดยเป็นการลดลงในกลุ่มอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็ง และหากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การส่งออกลดลงร้อยละ 11.6 ในรูปของดอลลาร์ฯ และร้อยละ 8.6 ในรูปของเงินบาท สำหรับมูลค่าการส่งออกโดยเปรียบเทียบตลอดปี 2553 และปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 8,038.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 245,115.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ร้อยละ 15.1 ในรูปของดอลลาร์ฯ และร้อยละ 10.6 ในรูปของเงินบาท ซึ่งหากพิจารณาการส่งออกสินค้าสำคัญในกลุ่ม คือ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ปริมาณและมูลค่าส่งออกใน ไตรมาสที่ 4 ลดลงจากไตรมาสก่อนและปีไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการแข่งขันจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาตลาดโลกปรับตัวลดลง ประกอบกับเกิดอุทกภัยในไทย ทำให้สหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ เข้มงวดในการนำเข้ากุ้งจากไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกรงการปนเปื้อนและสารตกค้าง

-กลุ่มผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ มีมูลค่าการส่งออก 786.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ24,408.0 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11.3 ในรูปของดอลลาร์ฯ และลดลงร้อยละ 8.7 ในรูปของเงินบาท จาก ไตรมาสก่อน แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.6 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือ ร้อยละ 27.8 ในรูปของเงินบาท เป็นผลจากระดับราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นและค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผักกระป๋องและแปรรูปที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋อง สามารถขยายตลาดส่งออกได้เพิ่มขึ้นจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้หากเปรียบเทียบตลอดปี 2553 และ 2554 พบว่า มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ในภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.9 ในรูปของดอลลาร์ฯ และร้อยละ 25.8 ในรูปของเงินบาท

กลุ่มผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ มีมูลค่าการส่งออก 539.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 16,727.4 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11.2 ในรูปของดอลลาร์ฯ และในรูปของเงินบาทร้อยละ 8.5 จากไตรมาสก่อน เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปเริ่มชะลอตัว ผู้บริโภคปรับลดการบริโภคลงจากรายได้ที่ไม่ปรับเพิ่มขึ้น แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 15.1 ในรูปของเงินบาท เป็นผลจากตลาดญี่ปุ่นมีการนำเข้ามากขึ้น จากเหตุความไม่เชื่อมั่นในสินค้าอาหารหลังเหตุการณ์สึนามิและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และหากพิจารณาเปรียบเทียบตลอดปี 2553 และ 2554 มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.0 และ 17.2 ในรูปของดอลลาร์ฯ และเงินบาท ตามลำดับ

-กลุ่มผลิตภัณฑ์จากข้าว แป้ง และธัญพืช มีมูลค่าการส่งออก 2,335.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 72,449.1 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 12.2 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 9.6 ในรูปของเงินบาทจากไตรมาสก่อน เป็นผลจากการแข่งขันในการค้าข้าวเพิ่มขึ้น และระดับราคาข้าวในตลาดโลกปรับชะลอตัวลง ซึ่งหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ปรับตัวลดลงร้อยละ 9.4 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 6.3 ในรูปของเงินบาท โดยเป็นการส่งออกข้าวลดลงกว่าร้อยละ 20 เนื่องจากระดับราคาข้าวได้ปรับชะลอตัวลงจากการที่เวียดนามประกาศลดค่าเงิน และส่งออกผลผลิตออกสู่ตลาดในราคาต่ำช่วงไตรมาส 3-4 เพิ่มขึ้น นอกจากนี้หากเปรียบเทียบตลอดปี 2553 และ 2554 มูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.1 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 17.3 ในรูปของเงินบาท เป็นผลจากราคามันสำปะหลังได้ปรับตัวสูงขึ้น

-กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย มีมูลค่าการส่งออก 521.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 16,174.4 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 38.1 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 36.3 ในรูปของเงินบาท จาก ไตรมาสก่อน เป็นผลจากปัจจัยด้านราคาที่สูงขึ้นมาก จากการที่ประเทศผู้ผลิตอย่างอินเดีย ประสบปัญหา ภัยธรรมชาติ ส่งผลให้ปริมาณการผลิตและส่งออกลดลง และมีผลต่อสต็อกน้ำตาลในตลาดโลกลดลง และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 277.2 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 290.2 ในรูปของเงินบาทเช่นกัน เนื่องจากในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 ได้มีการซื้อกลับโควตาน้ำตาลส่งออก จากการที่ภายในประเทศมีความต้องการใช้น้ำตาลเพิ่มขึ้นเกินกว่าโควตาที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบตลอดปี 2553 และ 2554 พบว่า มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 64.0 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 57.6 ในรูปของเงินบาท เนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นตามสต็อกน้ำตาลที่ลดลง

-กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ มีมูลค่าการส่งออก 506.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ15,709.8 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 24.2 ในรูปของดอลลาร์ฯ และลดลงร้อยละ 22.0 ในรูปของเงินบาทจาก ไตรมาสก่อน และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.9 ในรูปของดอลลาร์ฯ และร้อยละ 34.3 ในรูปของเงินบาท นอกจากนี้หากเปรียบเทียบตลอดปี 2553 และ 2554 มูลค่าการส่งออกในภาพรวมของกลุ่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.8 ในรูปของดอลลาร์ และร้อยละ 29.6 ในรูปของเงินบาท โดยเป็นผลจากการส่งออกเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าประเภทไขมันพืชและสัตว์ สิ่งปรุงรสอาหาร หมากฝรั่งและขนมที่ไม่มีโกโก้ผสม และนมและผลิตภัณฑ์นม

2) การนำเข้า

การนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารของไทย ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2554 มีมูลค่ารวม 2,630.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 81,607.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 ในรูปของดอลลาร์ฯ และร้อยละ 8.3 ในรูปของเงินบาท จากไตรมาสก่อน โดยเป็นการนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นมเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.7 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 44.9 ในรูปของเงินบาท (ตารางที่ 5) และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า มูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.2 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือ ร้อยละ 18.2 ในรูปของเงินบาท จากการนำเข้าเมล็ดและกากพืชน้ำมัน รวมถึงนมและผลิตภัณฑ์นมเพิ่มขึ้นทั้งในรูปของดอลลาร์ฯ และเงินบาท ตามราคาโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4

นอกจากนี้หากเปรียบเทียบตลอดปี 2553 และ 2554 พบว่า มูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.5 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 22.5 ในรูปของเงินบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเมล็ดพืชน้ำมัน ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด ร้อยละ 34.5 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 29.3 ในรูปของเงินบาท รองลงมา คือ นมและผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 24.5 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 19.7 ในรูปของเงินบาท และปลาทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็ง ร้อยละ 23.7 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 18.8 ในรูปของเงิน ซึ่งหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ปรับตัวลดลงร้อยละ 9.4 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 6.3 ในรูปของเงินบาท โดยเป็นการส่งออกข้าวลดลงกว่าร้อยละ 20 เนื่องจากระดับราคาข้าวได้ปรับชะลอตัวลงจากการที่เวียดนามประกาศลดค่าเงิน และส่งออกผลผลิตออกสู่ตลาดในราคาต่ำช่วงไตรมาส 3-4 เพิ่มขึ้น นอกจากนี้หากเปรียบเทียบตลอดปี 2553 และ 2554 มูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.1 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 17.3 ในรูปของเงินบาท เป็นผลจากราคามันสำปะหลังได้ปรับตัวสูงขึ้น

-กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย มีมูลค่าการส่งออก 521.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 16,174.4 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 38.1 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 36.3 ในรูปของเงินบาท จาก ไตรมาสก่อน เป็นผลจากปัจจัยด้านราคาที่สูงขึ้นมาก จากการที่ประเทศผู้ผลิตอย่างอินเดีย ประสบปัญหา ภัยธรรมชาติ ส่งผลให้ปริมาณการผลิตและส่งออกลดลง และมีผลต่อสต็อกน้ำตาลในตลาดโลกลดลง และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 277.2 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 290.2 ในรูปของเงินบาทเช่นกัน เนื่องจากในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 ได้มีการซื้อกลับโควตาน้ำตาลส่งออก จากการที่ภายในประเทศมีความต้องการใช้น้ำตาลเพิ่มขึ้นเกินกว่าโควตาที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบตลอดปี 2553 และ 2554 พบว่า มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 64.0 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 57.6 ในรูปของเงินบาท เนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นตามสต็อกน้ำตาลที่ลดลง

-กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ มีมูลค่าการส่งออก 506.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ15,709.8 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 24.2 ในรูปของดอลลาร์ฯ และลดลงร้อยละ 22.0 ในรูปของเงินบาทจาก ไตรมาสก่อน และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.9 ในรูปของดอลลาร์ฯ และร้อยละ 34.3 ในรูปของเงินบาท นอกจากนี้หากเปรียบเทียบตลอดปี 2553 และ 2554 มูลค่าการส่งออกในภาพรวมของกลุ่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.8 ในรูปของดอลลาร์ และร้อยละ 29.6 ในรูปของเงินบาท โดยเป็นผลจากการส่งออกเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าประเภทไขมันพืชและสัตว์ สิ่งปรุงรสอาหาร หมากฝรั่งและขนมที่ไม่มีโกโก้ผสม และนมและผลิตภัณฑ์นม

3. นโยบายที่เกี่ยวข้อง

ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2554 รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายและมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวกับ อุตสาหกรรมอาหาร โดยเน้นการให้ความช่วยเหลือกับเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบ และผู้ประกอบการเนื่องจากประสบปัญหาได้รับผลกระทบจากอุทกภัย รวมทั้งช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาด้านปัจจัยการผลิต นอกจากนี้ยังได้กำหนดมาตรการที่อาจเป็นทั้งการเพิ่มรายได้ให้กับแรงงาน แต่อาจเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบการ ได้แก่

3.1 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 8 และ 15 พฤศจิกายน 2554 เห็นชอบการกำหนด นโยบายนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ปี 2555-57 ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปลาป่น และกากถั่วเหลือง ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการนำเข้าสามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่อง และเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในบางช่วงเวลาที่ผลผลิตออกสู่ตลาด โดยการกำหนดช่วงเวลานำเข้า ประกอบกับเพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีที่ได้ตกลงไว้กับนานาประเทศ

3.2 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 เห็นชอบในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำให้กับแรงงานในเขตจังหวัดกรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้งจังหวัดภูเก็ต เป็นวันละ 300 บาท ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยจะมีผลในช่วงปี 2555 และปรับเพิ่มให้กับจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศเป็นวันละ 300 บาท ในปี 2556 - 2557 เพื่อเป็นการช่วยเหลือแรงงานที่มีภาระค่าครองชีพสูงขึ้น

3.3 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2554 เห็นชอบร่างประกาศกระทรวง พาณิชย์ เรื่อง การนำข้าวโพดที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ในราชอาณาจักร ตามความตกลงภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับเกษตรกรและพ่อค้าชายแดนภายในประเทศที่เคยเกิดขึ้น และเป็นการกำหนดช่วงเวลาที่จะนำเข้าให้ชัดเจน ซึ่งเป็นการกำหนดมาตรการที่ชัดเจน เพื่ออำนวยความสะดวกและส่งเสริมการค้าชายแดนให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง

4. สรุปและแนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมอาหารโดยรวมในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2554 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 และช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณคำสั่งซื้อที่ปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการบริโภคอาหารกึ่ง/สำเร็จรูปเพิ่มขึ้นจากปัญหาอุทกภัยในประเทศ นอกจากนี้สต็อกสินค้าในตลาดโลกที่สำคัญ คือ น้ำตาลทราย ได้ปรับตัวลดลงจากการที่ประเทศอินเดีย ประสบปัญหาภัยแล้ง และบราซิลประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ทำให้ส่งออกน้ำตาลได้ลดลง ส่งผลต่อระดับราคาน้ำตาลที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในส่วนสินค้ากลุ่มปศุสัตว์โดยเฉพาะไก่แปรรูป ปริมาณความต้องการจากต่างประเทศยังขยายตัวจากสหภาพยุโรปนำเข้าในปริมาณที่เต็มโควตาโดยตลอด และมีข่าวที่จะพิจารณาการนำเข้าไก่สดแช่เย็น แช่แข็งจากไทยอีกครั้ง ภายหลังที่ไทยสามารถควบคุมการระบาดของไข้หวัดนกจากการเปลี่ยนระบบการเลี้ยงเป็นระบบปิดที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ประกอบกับญี่ปุ่น ยังนำเข้าไก่แปรรูปจากไทยอย่างต่อเนื่องหลังประสบเหตุการณ์สึนามิและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ทำให้ผู้บริโภคไม่มั่นใจอาหารที่ผลิตภายในประเทศปนเปื้อนกัมมันตรังสี อย่างไรก็ตามยังมีกลุ่มสินค้าที่ปริมาณการผลิตปรับตัวลดลง คือ ผลิตภัณฑ์นม และประมง เนื่องจากโรงงานบางส่วนได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ทำให้ต้องปิดโรงงานและบางแห่งไม่สามารถขนส่งสินค้าได้ และหากพิจารณาตลอดปี 2554 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารยังสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2553 แม้ว่าปริมาณการผลิตจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยในบางสินค้าก็ตาม

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 คาดว่า ทิศทางการผลิต และการส่งออก จะปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก ค่าเงินบาทที่เริ่มทรงตัวและมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ระดับราคาสินค้าอาหารในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น และหากความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศของผู้บริโภคดีขึ้น จะส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้น เหล่านี้จะเป็นตัวกระตุ้นการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหาร อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยลบ คือ ความรุนแรงของการระบาดของโรคใหม่ๆ ภัยธรรมชาติที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ รวมถึงการเคลื่อนไหวของระดับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น จากวิกฤตการณ์อิหร่าน และความชัดเจนในการแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเงินของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปที่ยังไม่แน่นอน เริ่มส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกบ้างในเรื่องการลดระดับความน่าเชื่อถือของทรัพย์สินทางการเงินของประเทศ เช่น กรีซ อิตาลี ไอร์แลนด์ สเปน และลุกลามต่อไปยังฝรั่งเศส แต่อาจยังไม่กระทบต่อการส่งออกอาหารของไทยในระดับรุนแรง หากปัญหาไม่ขยายตัวต่อไปยังทุกประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป หรือต่อเนื่องไปยังสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ