ในไตรมาส 1 ปี 2555 เศรษฐกิจแต่ละประเทศยังคงขยายตัว ปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรปและความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศในยุโรปยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก อัตราการว่างงานของสหภาพยุโรปยังคงอยู่ในระดับสูง
ราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 1 ปี 2555 อยู่ที่ 116.00 USD/Barrel เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2554 อยู่ที่ 100.44 USD/Barrel สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกราคาน้ำมันยังคงผันผวน โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนมิถุนายน (ณ วันที่ 8 พฤษภาคม2555) อยู่ที่ 97.99 USD/Barrel สำนักงานข้อมูลสารสนเทศด้านพลังงานรายงานสถานการณ์น้ำมันดิบคงคลังของโลกว่าอยู่ในระดับสูงกว่าความต้องการบริโภคที่ 5 แสนบาร์เรลต่อวัน การที่ราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวนเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปัญหาหนี้ยุโรปและสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ
ส่วนของเศรษฐกิจไทยในปี 2554 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่4 ของปี 2554 หดตัวร้อยละ 9.0 หดตัวจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.7 และหดตัวจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.8 โดยปัจจัยที่ทำให้อัตราการขยายตัวหดตัวจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 คือ การลดลงของอุปทาน เนื่องจากมหาอุทกภัยในช่วงปลายปี 2554ส่งผลให้อุปสงค์ทั้งจากต่างประเทศและในประเทศหดตัวลง โดยการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือน การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาล และการลงทุนหดตัว
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่า เศรษฐกิจไทยปี2555 จะขยายตัวร้อยละ 5.5-6.5 จากการขับเคลื่อนของอุปสงค์ภายในประเทศและการฟื้นตัวของภาคการผลิต
ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 หดตัวร้อยละ 21.8 หดตัวจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 และหดตัวจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.8 โดยเป็นผลมาจากปัญหาอุทกภัยในเขตพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างทำให้เกิดผลกระทบวงกว้างต่อห่วงโซ่อุปทานของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับผลกระทบสูง
สถานการณ์การค้าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 การส่งออกมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ปี 2554 หลังจากภาคการผลิตฟื้นตัวจากเหตุการณ์อุทกภัย โดยในไตรมาสที่ 1 การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 114,470.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 54,641.8ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 59,828.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 นั้นมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.93 และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ10.35 ส่งผลให้ไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 ดุลการค้าขาดดุล 5,186.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 3.92 สำหรับมูลค่าการนำเข้านั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.45
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์มีมูลค่ารวม21,024.35 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนโดยตรงสุทธิในเดือนมกราคม 7,417.22 ล้านบาท สำหรับเดือนกุมภาพันธ์มีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 13,607.13 ล้านบาท เมื่อพิจารณาการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมตลอดทั้ง 2 เดือน ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 นั้นพบว่ามูลค่าการลงทุนในเดือนมกราคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 12,454.05 ล้านบาท และในเดือนกุมภาพันธ์มีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 13,788.31ล้านบาท โดยการลงทุนในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ของสาขาอุตสาหกรรมมีมูลค่าการลงทุนลดลงร้อยละ 4.93 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่าในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 514 โครงการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการ 407 โครงการ โดยในไตรมาสที่ 1 นี้การลงทุนในกิจการต่างๆ มีมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น182,900 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 66.27 โดยโครงการลงทุนนั้นประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 164 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 55,300 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 96 โครงการ เป็นเงินลงทุน 84,500 ล้านบาท และโครงการที่ลงทุนจากไทย 100% จำนวน 254 โครงการ เป็นเงินลงทุน43,100 ล้านบาท
เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 พบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน90,000 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้ามีเงินลงทุน 28,100 ล้านบาท และหมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่งมีเงินลงทุน 18,200 ล้านบาทสำหรับแหล่งทุนในไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 พบว่านักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นยังคงมีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 131 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 47,504 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีจำนวน 9 โครงการ มีเงินลงทุน6,175 ล้านบาท ประเทศเนเธอร์แลนด์ได้รับการอนุมัติลงทุนจำนวน 8 โครงการ เป็นเงินลงทุน5,420 ล้านบาท และประเทศฮ่องกง 6 โครงการ โดยคิดเป็นเงินลงทุน 2,803 ล้านบาท
ภาวะอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา
เหล็กและเหล็กกล้า ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 มีประมาณ 1,882,994 เมตริกตัน ( ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) ลดลง ร้อยละ 5.11 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุดในช่วงนี้ คือผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 16.08 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลง ร้อยละ12.88 และเหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง ร้อยละ 10.01 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า การผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 38.36 โดยผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ เหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 56.59 เนื่องจากมีคำสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้นเพื่อซ่อมแซมบ้านเรือนและสิ่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเช่น ถนน สะพาน หลังจากเกิดอุทกภัยในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2554 และนอกจากนี้เป็นผลมาจากความกังวลต่อเหตุการณ์น้ำท่วมในอนาคตของประชาชน จึงมีการเตรียมการปรับปรุงต่อเติมบ้านเรือนเพื่อป้องกันน้ำท่วมในปีนี้ สำหรับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน คือ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุกและเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 54.80 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิตอาหารกระป๋อง
สถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ในส่วนของเหล็กทรงแบนคาดการณ์ว่าการผลิตและความต้องการใช้ในประเทศจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องหลายอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ มีการเร่งการผลิตเพื่อให้เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าซึ่งผู้ผลิตบางโรงงานได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมคาดการณ์ว่าในไตรมาสที่ 2 นี้ ผู้ผลิตจะสามารถซ่อมโรงงานและเครื่องจักรได้ทันและสามารถกลับมาผลิตได้ตามเดิมซึ่งจะมีผลทำให้ความต้องการในกลุ่มเหล็กทรงแบนเพิ่มขึ้น สำหรับกลุ่มเหล็กทรงยาวคาดการณ์ว่าทั้งการผลิตและความต้องการใช้ในประเทศจะทรงตัวเนื่องจากภาพรวมของภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงชะลอตัวอยู่ เนื่องจากการเปิดตัวของโครงการใหม่ของภาคเอกชนได้ลดลงอย่างมากนอกจากนี้โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่และโครงการลงทุนของภาครัฐยังคงมีน้อยอยู่
ยานยนต์ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2555 (ม.ค.-มี.ค.) มีปริมาณการผลิตรถยนต์ 499,560 คันเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีปริมาณการผลิตรถยนต์ 468,978 คัน ร้อยละ 6.52 โดยเป็นการผลิตรถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน 348,085 คัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ 11,050 คันเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.14 และ 64.17 ตามลำดับ แต่มีการผลิตรถยนต์นั่ง 140,425 คัน ลดลงร้อยละ20.78 สาเหตุสำคัญเนื่องจากมีโรงงานประกอบรถยนต์นั่งรายใหญ่ที่ตั้งอยู่ในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม ทำให้ไม่สามารถดำเนินการผลิตได้
ข้อมูลจากแผนการผลิตของผู้ประกอบการรถยนต์ ประมาณการว่า ในไตรมาสที่สองปี2555 จะมีการผลิตรถยนต์กว่า 5 แสนคัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ประมาณร้อยละ 50-55 และการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 45-50 เนื่องจากมีการเร่งการผลิตรถยนต์เพื่อให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า ทั้งลูกค้าเก่าที่มียอดตกค้างจากเหตุการณ์น้ำท่วม และลูกค้าใหม่ที่มีความต้องการรถยนต์เพิ่มขึ้น รวมทั้งยังมีปัจจัยสนับสนุน ซึ่งได้แก่ นโยบายรถยนต์คันแรกการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดมากขึ้น และโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย สามารถกลับมาดำเนินการผลิตได้เป็นปกติอีกครั้ง นอกจากนี้ผู้ผลิตรถยนต์นั่งรายใหญ่ของประเทศไทยได้ฟื้นฟูสายการผลิตรถยนต์จนในขณะนี้สามารถกลับมาเดินสายการผลิตรถยนต์นั่งได้เป็นปกติแล้ว อย่างไรก็ตาม คงต้องมีการติดตามเรื่องของราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลต่อการเลือกซื้อรถของผู้บริโภค
เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 เท่ากับ 116.62 ปรับตัวลดลงร้อยละ 15.47 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีโรงงานที่ได้รับความเสียหายจากจากอุทกภัยในช่วงปลายปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปรับอากาศตู้เย็น เครื่องซักผ้า ฯลฯ ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 1 ปี 2555เท่ากับ 361.02 ปรับตัวลดลงร้อยละ 23.37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีการปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก แต่ก็มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่เดือนธันวาคม2554 จนถึงเดือนมีนาคม ปี 2555
จากการประมาณการดัชนีการส่งสินค้าในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 แบบจำลองดัชนีชี้นำภาวะอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยดูจากดัชนีการส่งสินค้าของสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า พบว่า ความต้องการในผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 2 ปี2555 มีการประมาณการว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 3.13 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องมาจากในเดือนตุลาคม 2554 เกิดมหาอุทกภัยใน 7 นิคมอุตสาหกรรมของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นสถานประกอบการเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนและส่วนประกอบโดยที่นอกจากสินค้าได้หยุดสายการผลิตแล้วยังส่งผลกระทบห่วงโช่อุปทานไม่สามารถผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปได้ ภาวะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 มีประมาณการว่าปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 11.95 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่นเดียวกัน
เคมีภัณฑ์ ในช่วงไตรมาสที่ 1 ภาวะอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์มีแนวโน้มดีขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในช่วงฟื้นฟูหลังประสบกับวิกฤตการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ ส่งผลให้มีความต้องการเคมีภัณฑ์ในการอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น แต่ปัจจัยสำคัญที่ควรจับตามอง ได้แก่ การแข็งค่าของเงินบาทที่ส่งผลให้การส่งออกได้น้อยลง ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังคงเป็นปัจจัยที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบกับอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ใช้เคมีภัณฑ์เป็นวัตถุดิบในการผลิต
อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในไตรมาสถัดไป คาดว่าจะมีการปรับตัวในทิศทางเพิ่มขึ้นเนื่องจากความต้องการสินค้าอุปโภค บริโภคที่ใช้ในการฟื้นฟูหลังจากผ่านพ้นวิกฤตปัญญาน้ำท่วมหนักที่ลุกลามไปหลายพื้นที่ของประเทศในปีที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้มีปัจจัยสำคัญที่ควรจับตามองได้แก่ การปรับเพิ่มค่าแรงงานขั้นต่ำของประเทศ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีความเปราะบางผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจของยุโรป และภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปัญหาราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย
พลาสติก การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติก (3916-3926) โดยในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2555 มีมูลค่ารวม 43.81 ล้านบาท ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 80.29 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีที่แล้วโดยมีปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 60.24 อันเป็นผลมาจากปัจจัยหลายประการ เช่น การมีคำสั่งซื้อที่เพิ่มมากขึ้นหลังจากเทศกาลหยุดยาวช่วงคริสต์มาสและปีใหม่ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน และการที่ผู้ประกอบการต้องพยายามส่งสินค้าออกไปต่างประเทศเนื่องจากขาดคำสั่งซื้อจากอุตสาหกรรมในประเทศที่ต้องหยุดการผลิตเนื่องจากได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม นอกจากนี้การส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้นมากในไตรมาสที่1นี้ยังอาจแสดงให้เห็นถึงสัญญานการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย อันได้แก่ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และจีน อีกด้วย โดยสินค้าที่ส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ พลาสติกในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ (ร้อยละ 27) เส้นใย (ร้อยละ 23) และอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเลกทรอนิกส์ (ร้อยละ 16) ตามลำดับ
การประมาณการคาดว่าการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกในปี 2555 จะมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับปี 2554 หรือเท่ากับปริมาณ 3,754 ตัน โดยการส่งออกและนำเข้าจะชะลอตัว กล่าวคือการส่งออกจะขยายตัวต่ำกว่าปีก่อนหน้า หรือขยายตัวเพียงร้อยละ 1 ในขณะที่การนำเข้าจะลดลงร้อยละ 1
ปิโตรเคมี การส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไตรมาสที่ 1 ปี 2555 ทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำมีมูลค่า 68,227.39 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวโดยรวมลดลงร้อยละ 22.85 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า และลดลงร้อยละ 23.02 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2554โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลายส่งออกลดลงร้อยละ 30.41 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปี 2554 ทั้งนี้เนื่องจากมีหลายบริษัทลดกำลังการผลิตและมีการปิดเพื่อซ่อมบำรุงประจำปีรวมถึงในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์มีบางบริษัทที่ต้องหยุดการผลิตเนื่องจากปัญหาขัดข้องเรื่องไฟฟ้านอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทยโดยเฉพาะจีนและสหรัฐอเมริกาที่มีอัตราการขยายตัวในระดับต่ำ ประกอบกับการที่ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกของไทย เช่น ประเทศจีนและเวียดนามมีแผนการขยายกำลังการผลิตเป็นจำนวนมากในช่วงปี 2556-2560 และบางแห่งเริ่มทยอยเดินเครื่องการผลิต ส่งผลให้ตลาดมีความตึงตัวและลดการพึ่งพิงการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจากไทยได้
แนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยทั้งปี 2555 คาดว่าอัตราการขยายตัวจะลดลงเมื่อเทียบกับปี 2554 ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญน่าจะมาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และต่างประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ ประเทศจีน และประเทศญี่ปุ่นมีอัตราการขยายตัวที่ทรงตัว จึงส่งผลให้การส่งออกและนำเข้าของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไทยมีอัตราการขยายตัวที่ต่ำตามไปด้วย อย่างไรก็ตามคาดว่าปัจจัยหนุนจากภายในประเทศ คือ การที่อุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์อุตสาหกรรมพลาสติก เริ่มกลับมาทำการผลิตได้อีกครั้งในช่วงกลางปี น่าจะทำให้ความต้องการวัตถุดิบเม็ดพลาสติกมีเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีดีขึ้น ดังนั้น ในระยะสั้น ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจึงควรวางแผนการผลิตให้กับอุตสาหกรรมในประเทศและอาจชะลอแผนการผลิตเพื่อส่งออกเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกรวมถึงปัญหาหนี้สินในยุโรปยังไม่คลี่คลาย ส่งผลให้คำสั่งซื้อจากกลุ่มประเทศดังกล่าวชอละตัว
เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนทั้งเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะการผลิตกระดาษสำหรับผลิตกล่องบรรจุสินค้าและขนส่ง กระดาษแข็งและกระดาษลูกฟูก ที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากความต้องการใช้กระดาษดังกล่าวมีอย่างต่อเนื่องในการบรรจุสินค้าในภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และบริการสำหรับเยื่อกระดาษส่วนใหญ่ที่ผลิตได้ในเมืองไทยเป็นชนิดเยื่อใยสั้น จำเป็นต้องมีการนำเข้าเยื่อใยยาวจากต่างประเทศ เพื่อเพิ่มความเหนียวให้กับกระดาษ
แนวโน้มของภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในไตรมาส 2 ปี 2555 คาดว่า จะเพิ่มขึ้นทั้งภาคการผลิต การส่งออก และการนำเข้า ทั้งนี้มีปัจจัยบวกในประเทศโดยเฉพาะกระดาษสำหรับผลิตหนังสือเรียน ในอุตสาหกรรมหลักที่ต้องใช้กระดาษสำหรับผลิตกล่องกระดาษและบรรจุภัณฑ์รวมทั้งสิ่งพิมพ์ ได้แก่ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และผลิตภัณฑ์อาหาร รวมทั้งการส่งเสริมการอ่านเพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ สำหรับปัจจัยบวกจากภายนอก ได้แก่ แนวโน้มตลาดคู่ค้าที่สำคัญของไทยในภูมิภาคเอเชียอาทิ ฮ่องกง จีน ยังคงมีการขยายตัวในการส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไปยังประเทศเหล่านี้สูงกว่ากลุ่มประเทศอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง สำหรับปัจจัยลบอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต เช่น การปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงปัญหาภาวะวิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและกลุ่มสหภาพยุโรป อาจทำให้ทั้งการผลิต การบริโภค/การจำหน่ายในประเทศ การส่งออก และการนำเข้าเกิดการชะลอตัวจากความต้องการใช้เยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์ ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม ภาคธุรกิจการค้าและบริการ และผู้บริโภคที่ยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวอยู่
เซรามิก การผลิตเซรามิก ไตรมาส 1 ปี 2555 กระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 44.30 ล้านตารางเมตร และเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณ 1.64 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.99และ 22.39 ตามลำดับ ซึ่งการผลิตเพิ่มขึ้นตามตลาดในช่วงฤดูกาลขาย และความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างเพื่อปรับปรุงซ่อมแซมบ้านหลังน้ำลด สำหรับการผลิตเซรามิก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กระเบื้องปูพื้น บุผนัง เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.26 ในขณะที่เครื่องสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 7.87เนื่องจากมีโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมต่อเนื่องมาจนเข้าสู่ไตรมาสนี้ จึงยังผลิตได้ไม่เต็มกำลังการผลิต
แนวโน้มการผลิตและจำหน่ายเซรามิก มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นจนถึงไตรมาส 2 ปี 2555แม้ว่าจะเป็นช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาว และเป็นช่วงที่เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน เนื่องจากความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์กระเบื้องปูพื้น บุผนัง และเครื่องสุขภัณฑ์ในการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านหลังน้ำลดยังมีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังมีกลุ่มลูกค้าที่ต้องการใช้กระเบื้องเซรามิกแทนวัสดุปูพื้นชนิดอื่นเพิ่มขึ้นประกอบกับโครงการอสังหาริมทรัพย์เริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวในไตรมาส 2 ปี 2555 หลังจากที่ประชาชนชะลอการตัดสินใจซื้อบ้านใหม่ในช่วงปลายปี 2554 อย่างไรก็ตาม ปัญหาราคาพลังงานอัตราเงินเฟ้อ ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จะส่งผลให้ราคาสินค้าและค่าครองชีพสูงขึ้นจนกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงได้
ปูนซีเมนต์ การผลิตปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 10.18 ล้านตันการผลิตซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 10.35 ล้านตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตปูนเม็ดเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.69 และ 7.18 ตามลำดับ และการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.29 และ6.23 ตามลำดับ
แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 คาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐาน สร้างแนวป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ประกอบการอุตสาหกรรม เพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติระบบการส่งและโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลที่ยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง รวมทั้งความต้องการใช้รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ทั้งนี้ ผู้ประกอบการมีความพร้อมด้านกำลังการผลิต และได้เตรียมการผลิตเพื่อรองรับความต้องการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว
สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 การผลิตและการจำหน่ายในประเทศของเส้นใยสิ่งทอรวมทั้งการทอสิ่งทอและเครื่องแต่งกายที่ผลิตจากขนสัตว์เพิ่มขึ้น เนื่องจากโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมบางส่วนได้รับการฟื้นฟู โดยสามารถรับคำสั่งซื้อและดำเนินการผลิตได้ อย่างไรก็ตามการส่งออกในไตรมาสนี้ ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.30 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 15.26 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
สำหรับแนวโน้มการผลิตและการส่งออกในไตรมาส 2 ปี 2555 จะขยายตัวได้จากไตรมาสที่ 1 ปี 2555 เนื่องจากโรงงานส่วนใหญ่สามารถกลับมาผลิตได้เต็มที่เหมือนเดิม แต่อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงของการส่งออกของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มยังมีผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในตลาดส่งออกหลักอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัว ในขณะที่เศรษฐกิจตลาดสหภาพยุโรปกำลังเผชิญการปรับตัวในช่วงขาลง อย่างไรก็ดี ตลาดอาเซียนและญี่ปุ่นจะทดแทนยอดส่งออกได้พอสมควร
ไม้และเครื่องเรือน การผลิตไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 1 ปี 2555 มีปริมาณ 2.14 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.83 และ 4.89ตามลำดับเนื่องจาก ปัญหาวัตถุดิบไม้ยางพาราขาดแคลน และราคาไม้ยางพาราปรับเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ต้นทุนการผลิตอื่น ทั้งค่าวัสดุอุปกรณ์ และค่าแรงงานได้ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน จึงส่งผลกระทบต่อการผลิต
การผลิตและจำหน่ายไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 2 ปี 2555 มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นจากความต้องการเครื่องเรือนใหม่เพื่อทดแทนของเดิมที่เสียหายจากน้ำท่วม ประกอบกับโครงการอสังหาริมทรัพย์จะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 2 ปี 2555 หลังจากที่ปลายปี 2554 เกิดภาวะ น้ำท่วมหนัก ทำให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อบ้านใหม่ สำหรับสินค้าไม้และเครื่องเรือนที่จะได้รับความนิยมมีแนวโน้มเป็นสินค้าที่ถอดประกอบ และเคลื่อนย้ายได้ง่าย หรือสินค้าน็อคดาวน์ อย่างไรก็ตาม จากปัญหาวัตถุดิบไม้ยางพาราที่ขาดแคลนและมีราคาสูงขึ้น รวมทั้งค่าแรงงานที่จะปรับเพิ่มขึ้น ในวันที่ 1 เมษายน 2555 อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนได้
ยา ปริมาณการผลิตยาในไตรมาสแรกของปี 2555 ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากผู้ผลิตยาเร่งทำการผลิต หลังจากที่หลายพื้นที่ในประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยในช่วงปลายปี ทำให้ไม่สามารถผลิตได้ หรือผลิตได้ไม่ทันต่อความต้องการ อย่างไรก็ตามปริมาณการจำหน่ายลดลง เนื่องจากยาที่เคยจำหน่ายได้ดี ถูกควบคุมการจำหน่ายอย่างเข้มงวด แม้ผู้ผลิตจะมีการผลิตยาสามัญประเภทอื่น เพื่อทดแทนรายได้ แต่เนื่องจากเป็นยาเฉพาะทาง ทำให้ไม่สามารถจำหน่ายได้ในวงกว้าง สำหรับการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น จากการได้รับความเชื่อมั่นในสินค้าจากประเทศคู่ค้าและผู้จ้างผลิต ส่วนการนำเข้ายังคงขยายตัวต่อเนื่องเช่นที่ผ่านมา จากสาเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้น เป็นปัจจัยสนับสนุนให้มูลค่าการนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก เพราะมีกำลังการผลิตบางส่วนขาดหายไป
แนวโน้มในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 คาดว่า ผู้ผลิตที่ประสบปัญหาอุทกภัยจะสามารถฟื้นฟูและกลับเข้าสู่ภาวะปกติ สามารถดำเนินการผลิตได้ตามมาตรฐานที่ภาครัฐกำหนดในช่วงกลางปี ดังนั้น การผลิต และการจำหน่ายยาในประเทศ รวมทั้ง มูลค่าการส่งออก มีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก สำหรับการนำเข้าคาดว่าจะขยายตัวเช่นกัน เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ช่วงใกล้ปลายปีงบประมาณ โดยสถานพยาบาลภาครัฐ ซึ่งเป็นตลาดหลักจะมีการสั่งซื้อสินค้าจำนวนมากในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ของทุกปี
ยางและผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.86 และ 5.99 ตามลำดับ ในส่วนของการผลิตผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนขยายตัวเพิ่มขึ้นในทุกผลิตภัณฑ์ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางขยายตัวดีขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางรถยนต์ซึ่งขยายตัวตามการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากโรงงานผลิตรถยนต์ที่ปิดตัวชั่วคราวเนื่องจากภาวะน้ำท่วมในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 เริ่มกลับมาดำเนินการผลิตได้ ส่งผลให้อุตสาหกรรมยางรถยนต์ขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ความต้องการใช้ยางแปรรูปขั้นต้นเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ในส่วนของการผลิตถุงมือยางขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากกระแสความกังวลเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพอนามัยและเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์และอุตสาหกรรม
แนวโน้มอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง ในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมยางรถยนต์ขยายตัวตามไปด้วย สำหรับในส่วนของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ และอุตสาหกรรมถุงมือยาง/ ถุงมือตรวจ คาดว่าจะยังขยายตัวได้ดี ยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่องในตลาดโลก ตามกระแสความวิตกกังวลการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค
รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ดัชนีผลผลิตการฟอกและตกแต่งหนังฟอก ไตรมาสที่ 1 ปี 2555 ลดลงร้อยละ 0.39 แต่สำหรับดัชนีผลผลิตการฟอกและตกแต่งหนังฟอก การผลิตกระเป๋าเดินทางกระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก และดัชนีผลผลิตการผลิตรองเท้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.50 และ 15.37 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2554 เนื่องจากส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 และเริ่มฟื้นตัวมาผลิตได้ในไตรมาสที่ 1
สำหรับแนวโน้มปี 2555 คาดว่าอุตสาหกรรมรองเท้าจะมีแนวโน้มขยายตัวลดลงถึงทรงตัวเนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญอย่างสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปชะลอตัว แต่สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องหนัง คาดว่าจะมีแนวโน้มเติบโตขึ้น โดยหากผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยช่วงปลายปี สามารถฟื้นตัวและกลับมาผลิตได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวกับรถยนต์คันแรก บ้านหลังแรก รวมทั้งการฟื้นฟูบ้านหลังจากประสบอุทกภัยน้ำท่วม ที่ต้องใช้สินค้าต่อเนื่องจากผลิตภัณฑ์หนัง เช่น เบาะรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น รวมทั้งการปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการที่จะมีผลให้เอกชนปรับฐานเงินเดือนด้วย จะเป็นผลดีต่อการเพิ่มกำลังซื้อในอุตสาหกรรมเครื่องหนังในประเทศ ซึ่งคาดว่าจะทำให้ในภาพรวมอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง ในปี 2555 จะสามารถเติบโตขึ้นได้
อัญมณีและเครื่องประดับ ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 ด้านการผลิตหดตัวลดลงร้อยละ 12.78 และการจำหน่ายหดตัวลดลงร้อยละ 8.58 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ด้านการส่งออกมีการขยายตัว คือ ขยายตัวร้อยละ 38.18 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลจากการส่งออกอัญมณี ขยายตัวร้อยละ 35.06 เครื่องประดับแท้ขยายตัว 19.18รวมถึงการส่งออกทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูปที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 58.32 ซึ่งเป็นสาเหตุหลักต่อการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกในไตรมาสนี้ โดยในภาพรวมการนำเข้าทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูปในไตรมาสนี้มีมูลค่ามากกว่าการส่งออก เนื่องจากราคาทองคำโดยเฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับประมาณ 1,700เหรียญสหรัฐฯ ต่อออนซ์ ซึ่งปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 1,750 เหรียญสหรัฐฯต่อออนซ์ อย่างไรก็ดี พบว่าการส่งออกเพชร พลอย และเครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญมีมูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 21.66 75.98 และ 31.29 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ด้านการนำเข้าสินค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบในไตรมาสนี้ลดลงร้อยละ 25.93เนื่องมาจากการนำเข้าทองคำยังไม่ขึ้นรูปลดลงร้อยละ 30.59 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา
แนวโน้มภาพรวมการส่งออกในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 ปัจจัยด้านลบ คือ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปัจจัยด้านบวก คือ ความสำเร็จจากการจัดงานบางกอกเจมส์แอนด์จิวเวลรี่แฟร์ ครั้งที่ 49 ที่เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555 ถึง วันที่ 13 กุมภาพันธ์2555 ที่ผ่านมา โดยจะมีคำสั่งซื้อเข้ามาซึ่งมีส่วนช่วยให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นได้ จากปัจจัยบวกและปัจจัยลบดังที่กล่าวมานั้น ปัจจัยบวกและปัจจัยลบจะส่งผลใกล้เคียงกัน ดังนั้นจึงคาดการณ์ว่าแนวโน้มการส่งออกในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 จะทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา
อาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2555 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 75.66 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากการผลิตในกลุ่มสำคัญ เช่น สินค้าธัญพืชและแป้ง และน้ำตาล ปรับตัวเพิ่มขึ้น (ตารางที่ 1) เป็นผลจากปริมาณวัตถุดิบ เช่น อ้อย และมันสำปะหลัง เพิ่มขึ้นตามฤดูกาลแต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารลดลงร้อยละ7.98 เป็นผลจากการชะลอตัวลงของคำสั่งซื้อจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่เป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัวลง ประกอบกับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยที่ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมอาหารต้องหยุดการผลิต และเริ่มกลับมาผลิตได้ในช่วงปลายไตรมาสนี้
สำหรับแนวโน้มการผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555คาดว่า ทิศทางการผลิต และการส่งออกจะปรับตัวลดลงตามฤดูกาล จากการลดลงของวัตถุดิบในพื้นที่เพาะปลูกประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ทั้งอุทกภัยในภาคใต้และภัยแล้งในภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีผลกระทบต่อสินค้าประมง สับปะรด มันสำปะหลัง และผักต่างๆ รวมทั้งค่าเงินบาทที่เริ่มทรงตัวและมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น แม้ว่าระดับราคาสินค้าอาหารในตลาดโลกจะปรับตัวสูงขึ้น แต่จากปัจจัยลบ เช่น ภัยธรรมชาติที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ รวมถึงการเคลื่อนไหวของระดับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าที่ชะลอตัว จากวิกฤตหนี้สาธารณะในสหภาพยุโรป และการขาดแคลนวัตถุดิบในห่วงโซ่การผลิตของประเทศญี่ปุ่นรวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าต่างๆ เช่น มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เริ่มมีผลบังคับใช้โดยเฉพาะการทำฉลากระบุร่องรอยคาร์บอนที่จำหน่ายในสหภาพยุโรป จะทำให้การส่งออกอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมชะลอตัวลงได้
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--