สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1/2555 (มกราคม — มีนาคม) พ.ศ. 2555(อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 23, 2012 14:55 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. สถานการณ์ปัจจุบัน

การผลิต

ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 มีประมาณ 1,882,994 เมตริกตัน ( ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) ลดลง ร้อยละ 5.11 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุดในช่วงนี้ คือผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 16.08 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลง ร้อยละ12.88 และเหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง ร้อยละ 10.01 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า การผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 38.36 โดยผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ เหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 56.59 เนื่องจากมีคำสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้นเพื่อซ่อมแซมบ้านเรือนและสิ่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเช่น ถนน สะพาน หลังจากเกิดอุทกภัยในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2554 และนอกจากนี้เป็นผลมาจากความกังวลต่อเหตุการณ์น้ำท่วมในอนาคตของประชาชน จึงมีการเตรียมการปรับปรุงต่อเติมบ้านเรือนเพื่อป้องกันน้ำท่วมในปีนี้ สำหรับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน คือ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุกและเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 54.80 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิตอาหารกระป๋อง รายละเอียดตามตารางที่ 1

ความต้องการใช้ในประเทศ

ความต้องการใช้เหล็กในประเทศช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2555 มีจำนวนประมาณ 4,071,113 เมตริกตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากภาคการผลิตในกลุ่มยานยนต์ซึ่งยอดการผลิตกลับมาเข้าสู่ระดับปกติหลังจากเกิดอุทกภัยในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี2554 และมีแนวโน้มที่จะกลับมาผลิตได้ตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ในช่วงทั้งปี 2555 ที่ระดับ2.1 — 2.2 ล้านคัน จึงมีผลทำให้ผู้ผลิตในกลุ่มนี้เร่งการผลิต ส่งผลให้ความต้องการใช้ในผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.7 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน สำหรับผลิตภัณฑ์เหล็กในกลุ่มทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.0 โดยเป็นผลมาจากความต้องการใช้ในการซ่อมแซมบ้านเรือนและสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ถนน สะพาน ซึ่งชำรุดหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วม

การนำเข้า- การส่งออก

การนำเข้า

มูลค่าการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 มีจำนวนประมาณ 96,294 ล้านบาท โดยมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 44.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กในกลุ่มทรงยาว คือ เหล็กลวด (Wire rod) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 214.88 รองลงมาคือ เหล็กเส้น (Bar)เพิ่มขึ้น ร้อยละ 211.51 โดยเหล็กที่นำเข้ามีมูลค่ามากในช่วงนี้จะเป็นเหล็กชนิดคุณภาพพิเศษซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์ แต่เหล็กทรงยาวซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างจะใช้เหล็กเกรดธรรมดาซึ่งผลิตได้เองในประเทศ สำหรับเหล็กทรงแบน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากในช่วงนี้ ได้แก่ เหล็กแผ่นบาง (HR Sheet) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 177.67 โดยนำเข้ามาเพื่อใช้ในส่วนของตัวถังรถในอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งมีการผลิตเพิ่มขึ้นมากในช่วงนี้ ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2554 พบว่า มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 24.69 โดยผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ เหล็กเส้น(Bar) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 247.93 รองลงมา คือ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูปชนิดอื่น (All Other Semi) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 186.46

การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 มีจำนวนประมาณ10,996 ล้านบาท โดยมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.68 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 180 รองลงมาคือ ท่อเหล็กไร้ตะเข็บ (Pipe- Seamless)เพิ่มขึ้น ร้อยละ 121.46 และท่อเหล็กมีตะเข็บ (Pipe- Welded) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 69.07 และเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2554 พบว่า มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.73 โดยผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ เหล็กเส้น (Bar) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 130.03 รองลงมา คือเหล็กแผ่นหนารีดร้อน (HR plate ) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 87.58 และเหล็กแผ่นบางรีดร้อนชนิดผ่านการกัดล้างและชุบน้ำมัน (HR sheet P&O) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 86.36

2. สรุป

สถานการณ์เหล็กโดยรวมในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนพบว่าการผลิตโดยรวมลดลง ร้อยละ ร้อยละ 5.11 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุดในช่วงนี้ คือ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ16.08 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 12.88 และเหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง ร้อยละ10.01 ตามลำดับ ความต้องการใช้เหล็กในประเทศเพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.7 โดยเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของเหล็กทรงแบนและเหล็กทรงยาว ซึ่งสาเหตุที่เพิ่มขึ้นในส่วนของเหล็กทรงแบนเนื่องจากอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์ เริ่มกลับมาผลิตและมีการเริ่มการผลิตเพื่อชดเชยหลังจากที่เกิดเหตุการณ์อุทกภัยทำให้โรงงานบางโรงงานต้องหยุดการผลิตลง สำหรับสาเหตุที่ความต้องการใช้เหล็กในประเทศในส่วนของเหล็กทรงยาวเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการซ่อมแซมบ้านเรือนและสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ชำรุดหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วม สำหรับมูลค่าการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 มีจำนวนประมาณ 96,294 ล้านบาท โดยมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 44.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กในกลุ่มทรงยาว คือ เหล็กลวด(Wire rod) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 214.88 รองลงมาคือ เหล็กเส้น (Bar) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 211.51 โดยเหล็กที่นำเข้ามีมูลค่ามากในช่วงนี้จะเป็นเหล็กชนิดคุณภาพพิเศษซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเช่น ยานยนต์ สำหรับเหล็กทรงแบน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากในช่วงนี้ ได้แก่เหล็กแผ่นบาง (HR Sheet) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 177.67 โดยนำเข้ามาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งมีการผลิตเพิ่มขึ้นมากในช่วงนี้ สำหรับมูลค่าการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญ มีจำนวนประมาณ 10,996 ล้านบาท โดยมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.68 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 180 รองลงมาคือ ท่อเหล็กไร้ตะเข็บ (Pipe-Seamless) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 121.46 และท่อเหล็กมีตะเข็บ (Pipe- Welded) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 69.07

3.แนวโน้ม

สถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ในส่วนของเหล็กทรงแบนคาดการณ์ว่าการผลิตและความต้องการใช้ในประเทศจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องหลายอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ มีการเร่งการผลิตเพื่อให้เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าซึ่งผู้ผลิตบางโรงงานได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมคาดการณ์ว่าในไตรมาสที่ 2 นี้ ผู้ผลิตจะสามารถซ่อมโรงงานและเครื่องจักรได้ทันและสามารถกลับมาผลิตได้ตามเดิมซึ่งจะมีผลทำให้ความต้องการในกลุ่มเหล็กทรงแบนเพิ่มขึ้น สำหรับกลุ่มเหล็กทรงยาวคาดการณ์ว่าทั้งการผลิตและความต้องการใช้ในประเทศจะทรงตัวเนื่องจากภาพรวมของภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงชะลอตัวอยู่ เนื่องจากการเปิดตัวของโครงการใหม่ของภาคเอกชนได้ลดลงอย่างมากนอกจากนี้โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่และโครงการลงทุนของภาครัฐยังคงมีน้อยอยู่

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ