สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1/2555 (มกราคม — มีนาคม) พ.ศ. 2555(อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 24, 2012 15:08 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศขยายตัวได้ดี เนื่องจากความต้องการใช้ฟื้นฟูหลังน้ำลด และสร้างแนวป้องกันน้ำท่วม รวมทั้งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติ สำหรับการส่งออกขยายตัวได้ดี และจะเติบโตได้อีก เนื่องจากตลาดส่งออกในแถบอาเซียนยังมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ

  • การผลิต

การผลิตปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 10.18 ล้านตัน การผลิตซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 10.35 ล้านตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตปูนเม็ดเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.69 และ 7.18 ตามลำดับ และการผลิตปูนซีเมนต์(ไม่รวมปูนเม็ด) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.29และ 6.23 ตามลำดับ

  • การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ไตรมาสที่ 1 ปี 2555 มีปริมาณการจำหน่ายรวม 8.49 ล้านตัน แบ่งออกเป็นการจำหน่ายปูนเม็ด 0.29 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด)8.20 ล้านตัน โดยปริมาณการจำหน่ายรวมในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ19.24 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.44

ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสแรกของปี 2555 ขยายตัวได้ดี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ทั้งนี้ เนื่องจากในช่วงมหาอุทกภัยมีอุปสรรคในการขนส่งและการก่อสร้างต้องหยุดชะงัก แต่หลังจากน้ำลดความต้องการใช้เพื่อสะสางงานเก่าที่คั่งค้าง และความต้องการใช้เพื่อการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย เส้นทางคมนาคมขนส่ง และปรับปรุงพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมที่เสียหายจากอุทกภัย รวมทั้งแนวป้องกันน้ำท่วม อีกทั้งความต้องการใช้เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการก่อสร้างที่อยู่อาศัยประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายเร่งรัดพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมออกสู่ชานเมือง ซึ่งมีส่วนให้นักลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีความเชื่อมั่นลงทุนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะโครงการบ้านจัดสรรตามเส้นทางโครงข่ายคมนาคมที่ขยายออกไปสู่ชานเมือง ซึ่งส่งผลให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 1 ปี 2555 มีปริมาณการส่งออกรวม 4.00 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 194.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นการส่งออกปูนเม็ด จำนวน 2.12 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 84.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ด เพิ่มขึ้นร้อยละ 65.64 และ 79.77 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ด เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.36 และ 56.00 ตามลำดับ ในส่วนของปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) มีปริมาณการส่งออกจำนวน 1.88 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 103.86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด)เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.79 และ 43.18 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.00 และ 222.57 ตามลำดับปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ที่สูงขึ้นมากในไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 เนื่องจากในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์เพิ่มสูงมากในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย คือ กัมพูชา บังคลาเทศ เมียนมาร์ อินโดนีเซีย ลาว เวียดนามและโตโก เป็นต้น

การนำเข้า

การนำเข้าปูนซีเมนต์ไตรมาสที่ 1 ปี 2555 มีปริมาณรวม 4,605.25 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการนำเข้ารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.01 และ 7.64 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปริมาณและมูลค่านำเข้ารวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.30 และ 31.13 ตามลำดับ โดยเป็นการนำเข้าปูนเม็ดจำนวน 117.74 ตัน คิดเป็นมูลค่า 0.06 ล้านเหรียญสหรัฐ ปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) จำนวน4,487.56 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ การนำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นอะลูมินัสซีเมนต์ ซึ่งไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ และบางส่วนเป็นการนำเข้าซีเมนต์ปอร์ตแลนด์คุณภาพสูงเพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ระบุคุณสมบัติของวัสดุที่นำมาก่อสร้าง แหล่งนำเข้าที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทย คือ จีน รองลงมา คือ สหรัฐอเมริกา เยอรมัน สหราชอาณาจักร สเปนและญี่ปุ่น ตามลำดับ

ราคาสินค้า

ราคาปูนซีเมนต์มีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากผลกระทบจากการขึ้นราคาเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญ รวมทั้งต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อราคาปูนซีเมนต์ในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม ปูนซีเมนต์จัดอยู่ในกลุ่มสินค้าควบคุมราคา การขึ้นราคาต้องได้รับอนุมัติจากกระทรวงพาณิชย์ก่อน

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลไม่มีมาตรการ/นโยบาย รองรับสำหรับอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์โดยตรง แต่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นกำลังซื้อ เช่น โครงการบ้านหลังแรก รวมทั้งการลงทุนในสาธารณูปโภคและโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล ทำให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นในการขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสแรกของปี2555 ขยายตัวได้ดี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ทั้งนี้ เนื่องจากในช่วงมหาอุทกภัยมีอุปสรรคในการขนส่งและการก่อสร้างต้องหยุดชะงัก แต่หลังจากน้ำลดความต้องการใช้เพื่อสะสางงานเก่าที่คั่งค้าง และความต้องการใช้เพื่อการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย เส้นทางคมนาคมขนส่ง และปรับปรุงพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมที่เสียหายจากอุทกภัย รวมทั้งแนวป้องกันน้ำท่วม อีกทั้งความต้องการใช้เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการก่อสร้างที่อยู่อาศัยประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายเร่งรัดพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมออกสู่ชานเมือง ซึ่งมีส่วนให้นักลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีความเชื่อมั่นลงทุนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะโครงการบ้านจัดสรรตามเส้นทางโครงข่ายคมนาคมที่ขยายออกไปสู่ชานเมือง ซึ่งส่งผลให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น

ปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ที่สูงขึ้นมากในไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 เนื่องจากในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์เพิ่มสูงมากในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศสำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย คือ กัมพูชา บังคลาเทศ เมียนมาร์ อินโดนีเซีย ลาว เวียดนามและโตโก เป็นต้น

แนวโน้ม

แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 คาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐาน สร้างแนวป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ประกอบการอุตสาหกรรม เพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติ ระบบการส่งและโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลที่ยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง รวมทั้งความต้องการใช้รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ทั้งนี้ ผู้ประกอบการมีความพร้อมด้านกำลังการผลิต และได้เตรียมการผลิตเพื่อรองรับความต้องการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว

สำหรับการส่งออกปูนซีเมนต์ในไตรมาส 2 ปี 2555 คาดว่ายังคงขยายตัวได้ดีเนื่องจากตลาดส่งออกหลักในแถบอาเซียน ยังมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์อย่างต่อเนื่องในการก่อสร้าง ทั้งในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม รวมทั้งที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน และประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ