สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1/2555 (มกราคม — มีนาคม) พ.ศ. 2555(อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 24, 2012 15:19 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

การขาดแคลนไม้ยางพารา และราคาไม้ยางพาราที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อการผลิตและการส่งออกสินค้าไม้และเครื่องเรือน

การผลิต

การผลิตไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 1 ปี 2555 มีปริมาณ 2.14 ล้านชิ้น (ดังตารางที่ 1) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.83 และ 4.89ตามลำดับ เนื่องจาก ปัญหาวัตถุดิบไม้ยางพาราขาดแคลน และราคาไม้ยางพาราปรับเพิ่มสูงขึ้นนอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตอื่น ทั้งค่าวัสดุอุปกรณ์ และค่าแรงงานได้ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน จึงส่งผลกระทบต่อการผลิต

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 1 ปี 2555 มีปริมาณ 0.92 ล้านชิ้น (ดังตารางที่ 2) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 3.16 เนื่องจาก ไตรมาสนี้เป็นช่วงที่ผู้บริโภคที่ประสบภัยจากน้ำท่วมต้องซ่อมแซมบ้านและที่อยู่อาศัยเป็นลำดับแรก ซึ่งมีภาระค่าใช้จ่ายสูง ทำให้ต้องชะลอการซื้อสินค้าไม้และเครื่องเรือนเพื่อทดแทนของเดิมที่เสียหายออกไป

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 1 ปี 2555 มีมูลค่ารวม 745.00ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ดังตารางที่ 3) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 2.79 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.65 สาเหตุหลักที่ทำให้การส่งออกลดลง เนื่องจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง ประกอบกับวัตถุดิบไม้ยางพารามีราคาค่อนข้างสูง ในขณะที่การส่งออกสินค้าไม้และเครื่องเรือนถูกต่อรองราคาจากลูกค้า ทำให้มีกำไรต่ำ รวมทั้งภาวะน้ำท่วมที่บางโรงงานต้องหยุดผลิตจึงทำให้การส่งออกลดลง

สำหรับรายละเอียดการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน แบ่งเป็น 3 กลุ่มประเภทสินค้า ดังนี้

1) กลุ่มเครื่องเรือนและชิ้นส่วน ประกอบด้วย เครื่องเรือนไม้ เครื่องเรือนอื่นๆ และชิ้นส่วนเครื่องเรือน ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มนี้ คือ ประเทศญี่ปุ่น สหราชอาณาจักรสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ในไตรมาส 1 ปี 2555 มีมูลค่ารวม 235.04ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมูลค่าส่งออกคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31.55 ของมูลค่าส่งออกรวมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด การส่งออกเครื่องเรือนและชิ้นส่วน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 3.38 และ 7.16 ตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ เครื่องเรือนไม้

2) กลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้ ประกอบด้วย เครื่องใช้ทำด้วยไม้ อุปกรณ์ก่อสร้างไม้ กรอบรูปไม้ และรูปแกะสลักไม้ ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มนี้ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสวิตเซอร์แลนด์ การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ในไตรมาส 1 ปี 2555 มีมูลค่ารวม 54.77ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมูลค่าส่งออกคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.35 ของมูลค่าส่งออกรวมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 5.63 และ 4.70 ตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ รูปแกะสลักไม้

3) กลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ประกอบด้วย ไม้แปรรูป แผ่นไม้วีเนียร์ ไม้อัดไฟเบอร์บอร์ด (Fiber Board) และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้อื่น ๆ ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มนี้ คือประเทศจีน มาเลเซีย และเวียดนาม การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ในไตรมาส 1 ปี 2555 มีมูลค่ารวม455.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมูลค่าส่งออกคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 61.10 ของมูลค่าส่งออกรวมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด การส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 2.13 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.64 สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือไม้แปรรูป รองลงมาคือ ไฟเบอร์บอร์ด

การนำเข้า

การนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 1 ปี 2555 มีมูลค่ารวม 171.83 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.49 และ24.46 ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าวัตถุดิบไม้ ได้แก่ ไม้แปรรูป ไม้อัดและไม้วีเนียร์ และไม้ซุง มาผลิตเป็นสินค้าต่อเนื่องในอุตสาหกรรมเครื่องเรือน โดยไม้แปรรูปส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศมาเลเซีย ลาว และนิวซีแลนด์ ไม้อัดและไม้วีเนียร์ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศจีน มาเลเซียและอินโดนีเซีย และไม้ซุงส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศเมียนมาร์ มาเลเซีย และนิวซีแลนด์

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น นโยบายการปรับค่าแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 ในพื้นที่ 7 จังหวัด จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนเพิ่มขึ้น และทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมลดลง

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

การผลิตและจำหน่ายไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 1 ปี 2555 ลดลงจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบไม้ยางพารา และราคาไม้ยางพาราที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งต้นทุนอื่น ทั้งค่าวัสดุอุปกรณ์ และค่าแรงงานที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อการผลิต ประกอบกับไตรมาสนี้เป็นช่วงที่ผู้บริโภคที่ประสบภัยจากน้ำท่วมต้องซ่อมแซมบ้านและที่อยู่อาศัยเป็นลำดับแรก ซึ่งมีภาระค่าใช้จ่ายสูง ทำให้ต้องชะลอการซื้อสินค้าไม้และเครื่องเรือนเพื่อทดแทนของเดิมที่เสียหายออกไปการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 1 ปี 2555 ลดลงจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง ประกอบกับวัตถุดิบไม้ยางพารามีราคาค่อนข้างสูง ในขณะที่ราคาส่งออกสินค้าไม้และเครื่องเรือนถูกต่อรองจากลูกค้า ทำให้มีกำไรต่ำ รวมทั้งภาวะน้ำท่วมที่บางโรงงานต้องหยุดผลิต จึงส่งผลกระทบต่อการส่งออก สำหรับการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส1 ปี 2555 ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าวัตถุดิบไม้ ได้แก่ ไม้แปรรูป ไม้อัดและไม้วีเนียร์ และไม้ซุงมาผลิตเป็นสินค้าต่อเนื่องในอุตสาหกรรมเครื่องเรือน

แนวโน้ม

การผลิตและจำหน่ายไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 2 ปี 2555 มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นจากความต้องการเครื่องเรือนใหม่เพื่อทดแทนของเดิมที่เสียหายจากน้ำท่วม ประกอบกับโครงการอสังหาริมทรัพย์จะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 2 ปี 2555 หลังจากที่ปลายปี 2554 เกิดภาวะน้ำท่วมหนัก ทำให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อบ้านใหม่ สำหรับสินค้าไม้และเครื่องเรือนที่จะได้รับความนิยมมีแนวโน้มเป็นสินค้าที่ถอดประกอบ และเคลื่อนย้ายได้ง่าย หรือสินค้าน็อคดาวน์อย่างไรก็ตาม จากปัญหาวัตถุดิบไม้ยางพาราที่ขาดแคลนและมีราคาสูงขึ้น รวมทั้งค่าแรงงานที่จะปรับเพิ่มขึ้น ในวันที่ 1 เมษายน 2555 อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนได้

การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 2 ปี 2555 มีแนวโน้มลดลงเนื่องจาก ตลาดหลักของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร มีความต้องการไม้และเครื่องเรือนของไทยลดลง อย่างไรก็ตาม ความต้องการสินค้าในตลาดใหม่แถบเอเชียที่มีกำลังซื้อสูง เช่น ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ จีน รัสเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อาจทำให้การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ สำหรับการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 2 ปี 2555มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเครื่องเรือนเป็นสำคัญ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ