สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1/2555 (มกราคม — มีนาคม) พ.ศ. 2555(อุตสาหกรรมยา)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 24, 2012 15:23 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ปัญหาอุทกภัยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ยังคงส่งผลต่อเนื่องในไตรมาสแรกของปีนี้ โดยผู้ผลิตที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยโดยตรง ยังอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูสถานที่ผลิตให้ได้ตามมาตรฐานที่ภาครัฐกำหนด จึงไม่สามารถดำเนินการผลิตได้ในช่วงต้นปี ส่งผลให้ต้องมีการนำเข้ายาชนิดเดียวกันจากประเทศอื่น เข้ามาจำหน่ายทดแทน สำหรับผู้ผลิตที่ฟื้นฟูโรงงานได้แล้ว กำลังเร่งผลิตตามความต้องการของลูกค้า ทั้งนี้ คาดว่าเหตุการณ์จะกลับมาเป็นปกติในช่วงกลางปี

การผลิต

ไตรมาสแรกของปี 2555 การผลิตยาในประเทศมีปริมาณ 7,546.05 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ร้อยละ 8.41 และ 29.74 ตามลำดับ เนื่องจากในช่วงปลายปีก่อน ประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ และส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตยาทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้ในช่วงปลายปีผู้ผลิตไม่สามารถผลิตได้ หรือผลิตได้แต่ไม่เพียงพอกับคำสั่งซื้อ เมื่อปัญหาอุทกภัยคลี่คลายลง ผู้ผลิตจึงได้เร่งทำการผลิตในไตรมาสแรกของปี ส่งผลให้ปริมาณการผลิตยาขยายตัวเพิ่มขึ้น

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายยาในไตรมาสแรกของปี 2555 มีปริมาณ 6,276.40 ตัน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ร้อยละ 13.79 และ 4.54 ตามลำดับ โดยประเภทของยาที่มีปริมาณการจำหน่ายลดลงมาก ได้แก่ ยาน้ำ เนื่องจากยาที่เคยจำหน่ายได้ดี มีส่วนผสมของซูโดอีเฟดรีน ซึ่งปัจจุบันถูกกำหนดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 เพราะสามารถนำไปผลิตเป็นยาเสพติดได้ เมื่อยาที่มีส่วนผสมดังกล่าวถูกควบคุมการจำหน่ายอย่างเข้มงวด สง่ ผลให้ปริมาณการจำหน่ายลดลงมาก สำหรับช่องทางการจำหน่ายยา ยังคงเป็นโรงพยาบาล ซึ่งเป็นช่องทางหลัก แต่ผู้ผลิตได้ให้ความสำคัญกับร้านขายยามากขึ้นเนื่องจากที่ผ่านมาสัดส่วนการเติบโตในโรงพยาบาลมีแนวโน้มลดลง เพราะมีการแข่งขันสูงขึ้น

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรค ในไตรมาสแรกของปี 2555 มีมูลค่า 1,506.49ล้านบาท ขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 0.93 โดยตลาดส่งออกที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ เมียนมาร์ เวียดนาม กัมพูชา ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ซึ่งไปประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 990.58 ล้านบาท หรือร้อยละ 65.75 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมดโดยญี่ปุ่นยังเป็นตลาดส่งออกที่มีการเติบโตสูง หลังจากที่ญี่ปุ่นประสบภัยสึนามิ ทำให้บริษัทแม่ในญี่ปุ่นต้องนำเข้าสินค้า จากบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาร่วมทุนกับประเทศไทยมากขึ้น

สำหรับสาเหตุของการขยายตัวของการส่งออก เนื่องมาจากผู้ผลิตได้พัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพเป็นที่เชื่อมั่นของประเทศคู่ค้า และสามารถหาตลาดส่งออกใหม่ๆ รวมทั้งผู้ผลิตรายใหญ่ของไทยมีความพร้อมและได้รับความไว้วางใจจากผู้ผลิตเวชภัณฑ์ชั้นนำของโลกว่าจ้างผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนมูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 4.73 เนื่องจากเหตุการณ์อุทกภัยในช่วงปลายปีก่อน แม้จะมีผู้ผลิตที่ได้รับผลกระทบบางรายได้ฟื้นฟูและกลับมาเร่งผลิตและส่งออกได้แล้วในช่วงต้นปี แต่มีผู้ผลิตบางรายซึ่งเป็นผู้รับจ้างผลิต (เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออก) รายใหญ่ ยังฟื้นฟูโรงงานไม่แล้วเสร็จ ทำให้ผลิตสินค้าไม่ได้ ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

การนำเข้า

การนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรค ในไตรมาสแรกของปี 2555 มีมูลค่า 10,931.41ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ร้อยละ 22.07 และ 4.06ตามลำดับ โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศสสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ซึ่งการนำเข้าจากประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 4,736.54ล้านบาท หรือ ร้อยละ 43.33 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

สำหรับมูลค่าการนำเข้ายายังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ายาสิทธิบัตร ที่ใช้กับโรคที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นการนำเข้ายาที่มีนวัตกรรมในกลุ่มโรคที่โรงงานในประเทศไม่สามารถผลิตได้ เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการตลาดภายใต้ธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง นอกจากนี้ยาสามัญ มีแนวโน้มการนำเข้ามากขึ้นเช่นกัน ซึ่งเป็นผลจากความต้องการใช้ยาสามัญที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายควบคุมการเบิกจ่ายยาในระบบสวัสดิการของรัฐและจากสถานการณ์น้ำท่วมที่ทำให้กำลังการผลิตในประเทศหายไปบางส่วน ทำให้ต้องมีการนำเข้า เพื่อทดแทนยาที่ไม่สามารถผลิตได้ในช่วงที่ผู้ผลิตบางรายประสบอุทกภัยยังฟื้นฟูโรงงานไม่แล้วเสร็จ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีส่วนส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้น

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

1. คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2555 เห็นชอบการกำหนดสินค้าและบริการควบคุมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ตามมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยยารักษาโรค เป็น 1 ใน 42รายการสินค้าและบริการที่ถูกควบคุม

2. คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2555 เห็นชอบ (ร่าง) แผนจัดการเพื่อคุ้มครองสมุนไพรในพื้นที่เขตอนุรักษ์ พ.ศ. 2555-2557 (แผนระยะสั้น) ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 เพิ่มเติม ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอสำหรับกรอบวงเงินเพื่อดำเนินการให้ สธ. ดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณ และให้รับความเห็นและข้อมูลเพิ่มเติมของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปพิจารณาดำเนินการต่อไป รวมทั้งให้ สธ. รายงานผลการดำเนินงานตามแผนฯ ดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีทราบเป็นระยะๆ ต่อไปด้วย

3. คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555 เห็นชอบโครงการความร่วมมือในการผลิตวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบ บี ตามที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เสนอ ดังนี้

3.1 เห็นชอบในหลักการโครงการความร่วมมือในการผลิตวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบ บี ในประเทศไทย ระหว่าง สธ. กับบริษัท องค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด

3.2 เห็นชอบในหลักการให้หน่วยงานราชการที่จำเป็นต้องใช้วัคซีนในคนจัดซื้อวัคซีนซึ่งผลิตโดยบริษัท องค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด โดยวิธีกรณีพิเศษตามข้อตกลงของ สธ. เป็นเวลา 10 ปี โดยในปีที่ 8 หลังจากการได้รับสิทธิพิเศษจะมีการประเมินระยะเวลาคืนทุน โดยคณะกรรมการที่ตั้งขึ้น ถ้าได้คืนทุนแล้วบริษัทจะยินดีลดระยะเวลาในการรับสิทธิพิเศษลง

3.3 เห็นชอบในหลักการต่อเงื่อนไขพิเศษของโครงการร่วมมือในการผลิตวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบ บี ในประเทศไทย กล่าวคือ ในการผลิตวัคซีนใดๆ ในประเทศไทย โดยบริษัท องค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด บริษัทฯ ต้องนำวัคซีนส่วนประกอบหรือวัคซีนเดี่ยวตัวอื่นที่หน่วยงานภายในประเทศผลิตขึ้นได้ในอนาคต ไปผสมสูตรวัคซีนรวม หรือเพื่อเป็นการผลิตวัคซีนชนิดอื่นที่บริษัททำการผลิต แทนการนำเข้าวัคซีนชนิดเข้มข้นจากต่างประเทศ เช่น วัคซีนป้องกันโรคไอกรน (aP) บาดทะยัก (T) พิษสุนัขบ้า และไข้หวัดใหญ่เป็นต้น โดยให้มีการพิจารณาความเป็นไปได้ทางเทคนิค และการลงทุน

3.4 เห็นชอบในหลักการมอบหมายให้ สธ. ทำสัญญาความร่วมมือในโครงการความร่วมมือในการผลิตวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบ บี ในประเทศไทย กับบริษัท องค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด

3.5 เห็นชอบให้ สธ. จัดตั้งคณะกรรมการจากทั้งสองฝ่ายเพื่อพิจารณาราคาที่เหมาะสมในแต่ละปีของการจัดซื้อ และจัดตั้งคณะกรรมการประเมินความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการ

3.6 เห็นชอบให้บริษัท องค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด จัดทำแผนพัฒนาการผลิตวัคซีนตั้งแต่ต้นน้ำในประเทศไทยเพิ่มชนิดขึ้นมากกว่าที่เสนอในโครงการนี้ในเวลาที่เหมาะสมและมีความเป็นไปได้

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ปริมาณการผลิตยาในไตรมาสแรกของปี 2555 ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้ผลิตยาเร่งทำการผลิต หลังจากที่หลายพื้นที่ในประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยในช่วงปลายปี ทำให้ไม่สามารถผลิตได้ หรือผลิตได้ไม่ทันต่อความต้องการ อย่างไรก็ตามปริมาณการจำหน่ายลดลง เนื่องจากยาที่เคยจำหน่ายได้ดี ถูกควบคุมการจำหน่ายอย่างเข้มงวด แม้ผู้ผลิตจะมีการผลิตยาสามัญประเภทอื่น เพื่อทดแทนรายได้ แต่เนื่องจากเป็นยาเฉพาะทาง ทำให้ไม่สามารถจำหน่ายได้ในวงกว้าง สำหรับการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น จากการได้รับความเชื่อมั่นในสินค้าจากประเทศคู่ค้าและผู้จ้างผลิต ส่วนการนำเข้ายังคงขยายตัวต่อเนื่องเช่นที่ผ่านมา จากสาเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้น เป็นปัจจัยสนับสนุนให้มูลค่าการนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก เพราะมีกำลังการผลิตบางส่วนขาดหายไป

แนวโน้ม

แนวโน้มในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 คาดว่า ผู้ผลิตที่ประสบปัญหาอุทกภัยจะสามารถฟื้นฟูและกลับเข้าสู่ภาวะปกติ สามารถดำเนินการผลิตได้ตามมาตรฐานที่ภาครัฐกำหนดในช่วงกลางปี ดังนั้น การผลิต และการจำหน่ายยาในประเทศ รวมทั้ง มูลค่าการส่งออก มีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก สำหรับการนำเข้าคาดว่าจะขยายตัวเช่นกัน เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ช่วงใกล้ปลายปีงบประมาณ โดยสถานพยาบาลภาครัฐ ซึ่งเป็นตลาดหลักจะมีการสั่งซื้อสินค้าจำนวนมากในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ของทุกปี

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ