สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1/2555 (มกราคม — มีนาคม) พ.ศ. 2555(อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 24, 2012 15:30 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางขยายตัว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางรถยนต์ซึ่งขยายตัวตามการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากโรงงานผลิตรถยนต์ที่ปิดตัวชั่วคราวเนื่องจากภาวะน้ำท่วมในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 เริ่มกลับมาดำเนินการผลิตได้ ส่งผลให้อุตสาหกรรมยางรถยนต์ขยายตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ในส่วนของการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นลดลง เนื่องจากความต้องการใช้ยางแปรรูปขั้นต้นเพื่อนำมาผลิตผลิตภัณฑ์ยางในประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และจีนชะลอตัวลง สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกรอบข้อตกลง FTA ก็มีส่วนช่วยผลักดันการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ให้ขยายตัวขึ้นด้วย

การผลิต

การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.86 และ 5.99 ตามลำดับ

ในส่วนของการผลิตผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนขยายตัวเพิ่มขึ้นในทุกผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ในกลุ่มยางนอกรถยนต์ ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 1 เท่าตัวและยางในรถบรรทุกและรถโดยสาร ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงกว่า 2 เท่าตัว รวมทั้งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์/จักรยาน ยางหล่อดอก และถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.84 13.75 30.29 และ 5.90 ตามลำดับ ทั้งนี้ เนื่องจากโรงงานผลิตรถยนต์ที่ปิดตัวชั่วคราว เนื่องจากภาวะน้ำท่วมในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 เริ่มกลับมาดำเนินการผลิตได้ ส่งผลให้อุตสาหกรรมยางรถยนต์ขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้ยางแปรรูปขั้นต้นเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตยางนอกรถจักรยานยนต์/จักรยาน ยางในรถบรรทุกและรถโดยสารยางและยางหล่อดอก เพิ่มขึ้นร้อยละ7.64 54.72 และ 16.20 ตามลำดับ สำหรับการผลิตยางนอกรถยนต์ และยางในรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน ลดลงร้อยละ 10.24 และ 7.92 ตามลำดับ

สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.90 และ 3.62 ตามลำดับ ซึ่งถือว่าขยายตัวได้ดี เนื่องจากยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่องในตลาดโลก ตามกระแสความวิตกกังวลการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 ปริมาณการจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.43 และ 28.07 ตามลำดับสำหรับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนขยายตัวเพิ่มขึ้นในทุกผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะยางนอกรถยนต์และยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร ขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า1 เท่าตัว รวมทั้งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์/จักรยาน ยางหล่อดอก และถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ขยายตัวเพิ่มร้อยละ 43.73 18.74 20.44 และ 13.36 ตามลำดับ ทั้งนี้เนื่องจากโรงงานผลิตรถยนต์ที่ปิดตัวชั่วคราวจากภาวะน้ำท่วมในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 เริ่มกลับมาดำเนินการผลิตได้ ส่งผลให้อุตสาหกรรมยางรถยนต์ขยายตัว ทำห้ความต้องการใช้ยางแปรรูปขั้นต้นเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การจำหน่ายยางนอกรถจักรยานยนต์/จักรยาน ยางในรถบรรทุกและรถโดยสารยางและยางหล่อดอก ในประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.26 6.26 และ 16.73 ตามลำดับ สำหรับการผลิตยางนอกรถยนต์ และยางในรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน ลดลงร้อยละ 0.36 และ 2.97 ตามลำดับ

สำหรับในส่วนของการจำหน่ายถุงมือยางในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.36 และ8.50 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์ และใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและบริการ

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นของไทย ประกอบด้วย ยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้นและยางพาราอื่นๆ โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 2,635.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 11.47 และ 26.29 ทั้งนี้ เนื่องจากความต้องการใช้ยางแปรรูปขั้นต้นเพื่อนำมาผลิตผลิตภัณฑ์ยางในประเทศเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางรถยนต์ ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ รวมทั้งเศรษฐกิจของจีนชะลอตัวลง และรัฐบาลจีนได้ยกเลิกมาตรการลดภาษีเพื่อกระตุ้นให้คนซื้อรถซึ่งจีนเป็นผู้บริโภคยางเป็นอันดับหนึ่งของโลกและเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย จึงส่งผลให้ความต้องการใช้ยางพาราของจีนลดลง นอกจากนี้การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปก็ส่งผลให้ความต้องการใช้ยางพาราเพื่อนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ยางลดลงด้วย สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ ประเทศจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้

สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งประกอบด้วย ยางยานพาหนะ ถุงมือยางยางรัดของ หลอดและท่อ สายพานลำเลียงและส่งกำลัง ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในทางเภสัชกรรมยางวัลคาไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 2,162.53ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.39และ 8.95 ตามลำดับ ซึ่งยังขยายตัวได้ดี โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่นเยอรมนี และมาเลเซีย

สำหรับความต้องการถุงมือยางในตลาดโลก ชะลอตัวลงเล็กน้อย มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์ และใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและบริการ โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่นเนเธอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร สำหรับประเทศคู่แข่งที่สำคัญ คือ มาเลเซีย จีนและอินโดนีเซีย

การนำเข้า

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 การนำเข้ายางและเศษยาง มีมูลค่า 288.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 3.71 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.19 สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญ ประกอบด้วย ท่อหรือข้อต่อและสายพานลำเลียง ยางรถยนต์ กระเบื้องปูพื้น/ปิดผนัง ยางวัลแคไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ มีมูลค่า276.98 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.41 และ 12.72 ตามลำดับ

การนำเข้าที่เพิ่มขึ้นนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจภายในประเทศขยายตัว ทำให้ความต้องการใช้ยางของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น อีกทั้งกรอบข้อตกลง FTA ก็มีส่วนให้การนำเข้ายางพาราและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นด้วย สำหรับตลาดนำเข้าที่สำคัญได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา ไต้หวันและเยอรมนี

ราคาสินค้า

ราคายางไตรมาสที่ 1 ปี 2555 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน เนื่องจากมีการหยุดพักการกรีดยางในช่วงฤดูยางผลัดใบ ปริมาณยางที่เข้าสู่ตลาดลดลง อย่างไรก็ตาม ราคายางพารายังมีความผันผวน เนื่องจากผู้ประการอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางยังมียางพาราเก็บเป็นสินค้าคงคลังจำนวนมาก อีกทั้งปริมาณยางที่กำลังออกสู่ตลาดก็มีอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการที่เกษตรกรเริ่มกรีดยางหลังจากสิ้นสุดฤดูกาลยางผลัดใบ รวมทั้งทยอยนำยางที่เก็บไว้ออกมาขาย

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

1. นโยบายการรักษาเสถียรภาพทางด้านราคายาง เพื่อแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ โดยรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ 15,000 ล้านบาท ให้องค์การสวนยางและองค์กรเกษตรกรเพื่อรับซื้อยางพาราจากเกษตรกร เป็นการดึงปริมาณผลผลิตยางออกจากตลาด เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพด้านราคาของยางและผลักให้ราคายางเพิ่มขึ้น

2. นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางของกระทรวงอุตสาหกรรมโดยดำเนินการต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมยางในขั้นกลางน้ำและปลายน้ำ ซึ่งเชื่อมโยงกับการพัฒนายางต้นน้ำตามยุทธศาสตร์พัฒนายางพารา พ.ศ. 2552 — 2556 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามกลยุทธ์ที่ 3 การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมแปรรูปยาง ผลิตภัณฑ์ยาง โดยจัดตั้งสถาบันพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพาราของประเทศไทย โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการจัดตั้งสถาบันฯ

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางขยายตัวดีขึ้นโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางรถยนต์ ซึ่งขยายตัวตามการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์เนื่องจากโรงงานผลิตรถยนต์ที่ปิดตัวชั่วคราว เนื่องจากภาวะน้ำท่วมในไตรมาสที่ 4 ปี 2554เริ่มกลับมาดำเนินการผลิตได้ ส่งผลให้อุตสาหกรรมยางรถยนต์ขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ความต้องการใช้ยางแปรรูปขั้นต้นเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ในส่วนของการผลิตถุงมือยางขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากกระแสความกังวลเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพอนามัยและเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์และอุตสาหกรรม

สำหรับการส่งออก ในส่วนของยางแปรรูปขั้นต้นลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้เนื่องจากความต้องการใช้ยางแปรรูปขั้นต้นเพื่อนำมาผลิตผลิตภัณฑ์ยางในประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางรถยนต์ ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ รวมทั้งเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปชะลอตัวลงซึ่งไทยส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นไปยังสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 15 ของมูลค่าการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นทั้งหมด นอกจากนี้เศรษฐกิจของจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยก็ชะลอตัวลง ส่งผลให้ความต้องการใช้ยางพาราเพื่อนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ยางลดลงด้วยในส่วนของการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกรอบข้อตกลง FTA ก็มีส่วนช่วยผลักดันการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ให้ขยายตัวขึ้นด้วย

สำหรับความต้องการถุงมือยางในตลาดโลก ชะลอตัวลงเล็กน้อย อย่างไรก็ตามยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์ และใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและบริการ

แนวโน้ม

แนวโน้มอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง ในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมยางรถยนต์ขยายตัวตามไปด้วย สำหรับในส่วนของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ และอุตสาหกรรมถุงมือยาง/ ถุงมือตรวจ คาดว่าจะยังขยายตัวได้ดี ยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่องในตลาดโลกตามกระแสความวิตกกังวลการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค

สำหรับการส่งออก มีแนวโน้มผันผวน เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและผลกระทบของวิกฤติหนี้สินของกลุ่มสหภาพยุโรปที่อาจลุกลามส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในภาพรวม ทำให้ตลาดเกิดความไม่เชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งอาจทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์มีแนวโน้มชะลอตัวลง และจะทำให้ความต้องการใช้ยางในตลาดโลกชะลอตัวตามไปด้วย นอกจากนี้ จีนซึ่งเป็นผู้บริโภคยางเป็นอันดับหนึ่งของโลก และเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยได้ชะลอการสั่งซื้อยางพารา ตามการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งรัฐบาลจีนยกเลิกการใช้นโยบายกระตุ้นตลาดรถยนต์ในประเทศ อย่างไรก็ตาม ประเทศที่อุตสาหกรรมรถยนต์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อินเดีย เวียดนาม และบราซิล ซึ่งความต้องการใช้ยางยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ คาดว่ายังขยายตัวได้ดี เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์ และใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและบริการนอกจากนี้ กรอบข้อตกลง FTA ก็มีส่วนช่วยผลักดันการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องระวังคือ ผลของกรอบ FTA นอกจากจะช่วยผลักดันการส่งออกแล้ว ยังส่งผลให้การนำเข้ายางและผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกันสำหรับด้านราคายางพาราในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 ยังมีความผันผวนมาก

ถึงแม้ว่าความต้องการใช้ยางพาราจะเพิ่มขึ้น ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางรถยนต์ซึ่งมีแนวโน้มจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากปริมาณยางพาราที่เข้ามาสู่ตลาดก็มีปริมาณมากเช่นเดียวกัน ทั้งจากในไตรมาสที่ 2 เป็นช่วงสิ้นสุดฤดูยางผลัดใบเกษตรกรเริ่มกลับมากรีดยางได้ รวมทั้งการทยอยนำยางที่เก็บไว้ออกมาขาย นอกจากนี้วิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ อาจมีส่วนกดดันให้ราคายางพาราปรับลดลงในระยะต่อไป

หมายเหตุ : จำนวนโรงงานที่เก็บข้อมูล

  • ผลิตภัณฑ์ยางนอกรถยนต์นั่ง ยางนอกรถแทรกเตอร์ มีจำนวน 5 โรงงาน
  • ยางนอกรถกระบะ มีจำนวน 4 โรงงาน
  • ยางนอก ยางใน รถบรรทุกและรถโดยสาร มีจำนวน 8 โรงงาน
  • ยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์ มีจำนวน 10 โรงงาน
  • ยางนอกและยางในรถจักรยาน และยางนอกอื่นๆ มีจำนวน 6 โรงงาน
  • ยางรอง ยางหล่อดอก ถุงมือยางถุงมือตรวจ มีจำนวน 7 โรงงาน
  • ยางรัดของ มีจำนวน 4 โรงงาน
  • ยางแผ่น มีจำนวน 16 โรงงาน
  • ยางแท่งมีจำนวน 14 โรงงาน

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ