สศอ. ปรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมปีนี้เพิ่ม 5.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 4, 2012 14:38 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ปรับตัวเลขการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ปี 55 โดยGDP ขยายตัวร้อยละ 4.5 - 5.5 และ MPI ร้อยละ 6-7 ผลจากนโยบายการเพิ่มรายได้ของรัฐ และภาคการผลิตเริ่มฟื้นตัวหลังประสบภาวะน้ำท่วม

นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านการชี้นำและเตือนภัยภาคอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า นับตั้งแต่รัฐบาลมีนโยบายเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน เมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา อาทิ โครงการรับจำนำสินค้าเกษตร การปรับเงินเดือนข้าราชการ การยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำในภาคเอกชน ซึ่งเป็นปัจจัย ที่ช่วยหนุนกำลังซื้อของประชาชน รวมทั้งงบประมาณจากพรก.กู้เงิน เพื่อใช้จ่ายในการบริหารจัดการน้ำจำนวนเงิน 3.5 แสนล้านบาท ส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

แต่อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยด้านลบที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ที่จะต้องเฝ้าระวัง คือปัญหาวิกฤตหนี้ยูโรโซน ระดับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น หรือแม้กระทั่งความตึงเครียดระหว่างอิหร่านกับชาติตะวันตก ที่อาจส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและการส่งออกของไทย

สำหรับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index - MPI) ไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ มีการขยายตัวติดลบร้อยละ 7.1 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปี 2554 ที่ติดลบร้อยละ 2.1 และอัตราการใช้กำลังการผลิต มีการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 62.99 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่ขยายตัวร้อยละ 62.6 จึงถือเป็นสัญญาณที่ดีที่สื่อให้เห็นว่าภาคการผลิตของอุตสาหกรรมกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง อาทิ อุตสาหกรรมรถยนต์ ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่ง เริ่มดำเนินการผลิตได้แล้ว 60% ทั้งยังมีการขยายไลน์การผลิตใหม่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ จากผู้ผลิตรายใหม่ เช่น รถอีโคคาร์ และเมื่อรวมกำลังการผลิตของผู้ผลิตรายใหญ่ทำให้เป้าหมายการผลิตรถยนต์ ปีนี้เพิ่มเป็น 2.1 ล้านคัน

นอกจากนี้มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) ในไตรมาสแรกของปีนี้ มีอัตราลดลงร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสินค้าที่การส่งออกน้อยลงคือ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอิเลคทรอนิกส์ ยานยนต์ และสิ่งทอ ในขณะที่เดือนมีนาคมของปีนี้ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) มีอัตราลดลง ร้อยละ 5.0

นายวีรศักดิ์กล่าวต่อภาพรวมของการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ ในไตรมาส 1 ของปีนี้ การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ ลดลงร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และในเดือนมีนาคมปีนี้ มีการนำเข้าวัตถุดิบ ขยายตัวร้อยละ17.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวร้อยละ 17.8 ขณะที่การนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวร้อยละ 12.6 นอกจากนี้ในช่วงเดียวกัน มีการนำเข้าวัตถุดิบ (ไม่รวมการนำเข้าทองคำ) ลดลงร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับสถานการณ์ของอุตสาหกรรมสาขาสำคัญ ในไตรมาสแรกของปีนี้ ส่วนใหญ่มีอัตราการขยายตัวลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เช่น อุตสาหกรรมอาหาร มีการขยายตัวร้อยละ 4.9 แต่ปี54 ขยายตัว ร้อยละ 21 อุตสาหกรรมเส้นใยสิ่งทอ มีการขยายตัวติดลบร้อยละ 38.22 แต่ช่วงเดียวกันของปี54 มีการขยายตัวร้อยละ 1.98 อุตสาหกรรมผ้าผืน มีการขยายตัวติดลบร้อยละ 24.96 ในช่วงเดียวกันของปี 54 ขยายตัวติดลบร้อยละ 0.30 อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป ขยายตัวติดลบร้อยละ 15.13 ในขณะที่ช่วงเดียวกันของปี 54 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.66 อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ไตรมาสแรกของปี 54 มีการขยายติดลบร้อยละ 1.43 แต่ในช่วงเดียวกันของปีนี้ มีการขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 5.61 อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีอัตราการขยายตัวติดลบร้อยละ 27 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกับชองปีที่ผ่านมา มีการขยายตัวติดลบ 6.94 ส่วนอุตสาหกรรมรถยนต์นั้น มีการผลิตรถยนต์จำนวน 499,560 คัน มีการขยายตัวร้อยละ 6.52 แต่ในไตรมาสแรกของปี 54 มีการผลิต 468,978 คัน มีการขยายตัวร้อยละ 22.50 และคาดว่าทั้งปีสามารถผลิตได้ถึง 2.1 ล้านคัน ซึ่งถือเป็นปีแรกที่ประเทศไทยสามารถผลิตได้เกินกว่า 2 ล้านคัน

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ