รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนมิถุนายน 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 13, 2012 14:41 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สรุปประเด็นสำคัญ

ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนพฤษภาคม 2555
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม 2555 เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2555 ร้อยละ 13.8 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน การผลิตเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นในหลายอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ ยานยนต์ เบียร์ เครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
  • อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในเดือนพฤษภาคม 2555 อยู่ที่ระดับร้อยละ 75.87 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 62.85 ในเดือนเมษายน 2555
ประเด็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสำคัญในเดือนมิถุนายน 2555

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

? แนวโน้มการผลิตในภาพรวมและการส่งออกของอุตสาหกรรมนี้ คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามปริมาณคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น และราคาวัตถุดิบฝ้ายเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเพียงเล็กน้อย

? ปัจจัยเสี่ยงของการส่งออกของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่คงต้องระมัดระวังต่อ คือผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในตลาดส่งออกหลักอย่างสหภาพยุโรป ซึ่งปัญหาวิกฤตยังอยู่ระหว่างการแก้ไข

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

? ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เดือนมิถุนายน 2555 จากแบบจำลองดัชนีชี้นำภาวะอุตสาหกรรมสาขาเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 0.17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

? ส่วนการประมาณการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

เม.ย. 55 = 165.2

พ.ค. 55 = 188.0

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • ยานยนต์
  • Hard Disk Drive
  • อาหารทะเลแช่แข็ง
  • อัตราการใช้กำลังการผลิต

เม.ย. 55 = 62.85

พ.ค. 55 = 75.87

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • โทรทัศน์สี
  • ยานยนต์
  • อาหารทะเลแช่แข็ง
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนพฤษภาคม 2555 มีค่า 188.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2555 (165.2) ร้อยละ 13.8 และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนพฤษภาคม 2554 (178.1) ร้อยละ 5.5
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2555 ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive อาหารทะเลแช่แข็ง เครื่องปรับอากาศ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนได้แก่ ยานยนต์ เบียร์ เครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เป็นต้นอัตราการใช้กำลังการผลิต ในเดือนพฤษภาคม 2555 อยู่ที่ระดับร้อยละ 75.87 เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2555 (ร้อยละ 62.85) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนพฤษภาคม 2554 (ร้อยละ 59.94)
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2555 ได้แก่ โทรทัศน์สี ยานยนต์ อาหารทะเลแช่แข็ง Hard Disk Drive ผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนได้แก่ ยานยนต์ โทรทัศน์สี เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เป็นต้น

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม 2555

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2555 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2555 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 344 ราย เพิ่มขึ้นในจำนวนที่มากกว่าเดือนเมษายน 2555 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 298 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 15.4 มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 6,009.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2555 ซึ่งมีการลงทุน5,384.80 ล้านบาท ร้อยละ 11.6 และมีการจ้างงานจำนวน 9,063 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2555 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 5,011 คน ร้อยละ 80.9

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2555 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่มากกว่าเดือนพฤษภาคม 2554 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 293 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 17.4 มีการจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2554 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 8,547 คน ร้อยละ 6.0 แต่มียอดเงินลงทุนรวมลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2554 ซึ่งมีการลงทุน 23,939.13 ล้านบาท ร้อยละ 74.9

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2555 คืออุตสาหกรรมทำเครื่องเรือนหรือเครื่องตบแต่งภายในอาคารจากไม้ จำนวน 37 โรงงานรองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิต และจำหน่ายคอนกรีตผสมเสร็จ จำนวน 34 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2555 คืออุตสาหกรรมซ่อมรถยนต์ เคาะพ่นสีรถยนต์ ประกอบและซ่อมตัวถังรถยนต์ จำนวน 599.87ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมแปรรูปไม้ยางพาราและไม้อื่นๆ จำนวน 597.62 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2555 คืออุตสาหกรรมผลิตอาหารสำเร็จรูป จำนวนคนงาน 1,620 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมแปรรูปไม้ยางพาราและไม้อื่นๆ จำนวนคนงาน 657 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2555 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2555 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 86 ราย มากกว่าเดือนเมษายน 2555ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 80 ราย คิดเป็นร้อยละ 7.5 มีเงินทุนของการเลิกกิจการรวม 1,542.86ล้านบาท มากกว่าเดือนเมษายน 2555 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,518.79 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงาน จำนวน 2,432 คน มากกว่าเดือนเมษายน 2555 ซึ่งมีการเลิกจ้างงานจำนวน 2,388 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2555 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมากกว่าเดือนพฤษภาคม 2554 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 41 ราย คิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 109.7 มีเงินทุนของการเลิกกิจการมากกว่าเดือนพฤษภาคม 2554 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 155.17 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงานมากกว่าเดือนพฤษภาคม 2554 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 474 คน

  • อุตสาหกรรมที่มีจำ นวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2555 คืออุตสาหกรรมซ่อมรถยนต์ เคาะพ่นสีรถยนต์ ประกอบและซ่อมตัวถังรถยนต์ จำนวน 11โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมขุดหรือลอก กรวด ทรายหรือดิน และอุตสาหกรรมผลิตและจำหน่ายคอนกรีตผสมเสร็จ ทั้งสองอุตสาหกรรม จำนวน 7 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2555 คืออุตสาหกรรมผลิต ซ่อมเครื่องรับวิทยุ เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องเรดาร์ คาปาซิเตอร์ เงินทุน959.83 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมซ่อมรถยนต์ เคาะพ่นสีรถยนต์ ประกอบและซ่อมตัวถังรถยนต์ เงินทุน 79.49 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2555คือ อุตสาหกรรมผลิต ซ่อมเครื่องรับวิทยุ เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องเรดาร์ คาปาซิเตอร์ จำนวนคนงาน 1,092 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป จำนวนคนงาน 343 คน

ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2555 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท. ทั้งสิ้น 837 โครงการ มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 652 โครงการร้อยละ 28.37 และมีเงินลงทุน 298,200 ล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเงินลงทุน 184,100 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 61.98

  • การกระจายหุ้นของโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมในเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2555
             การร่วมทุน                     จำนวน(โครงการ)       มูลค่าเงินลงทุน(ล้านบาท)
          1.โครงการคนไทย 100%                 385                     81,100
          2.โครงการต่างชาติ 100%                283                     78,800
          3.โครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ          169                    138,300
  • ประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในเดือนมกราคม — พฤษภาคม 2555 คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 140,800 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 38,800 ล้านบาท
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่า จะปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ชะลอตัวลง ส่วนการจำหน่ายภายในประเทศ อาจปรับตัวลดลงเช่นกัน จากสถานการณ์ราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ประชาชนชะลอการจับจ่ายใช้สอย

1. การผลิต

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนพฤษภาคม 2555 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 14.8 และ 15.3 แบ่งเป็น กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออกเป็นหลัก เช่นแป้งมันสำปะหลัง มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 97.0 เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบเพิ่มขึ้น นอกจากนี้หากพิจารณากลุ่มสินค้าสำคัญโดยเปรียบเทียบกับเดือนก่อน เช่น ไก่แปรรูป ทูน่ากระป๋องและสับปะรดกระป๋อง มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดภายในประเทศ เช่น อาหารไก่ มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามการขยายตัวของการผลิตและเลี้ยงไก่ ส่วนการผลิตน้ำมันพืช มีการผลิตชะลอตัวลง จากการที่ผู้ผลิตชะลอการผลิตเพื่อรอการพิจารณาเรื่องการขอปรับขึ้นราคาจำหน่าย

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ เดือนพฤษภาคม 2555 ปริมาณการส่งสินค้าอาหารและเกษตรในประเทศ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 9.6 และ 13.0 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับเพิ่มขึ้นของรายได้ของประชาชน และการส่งสินค้าชดเชยจากที่ส่งได้ลดลงในเดือนก่อน

2) ตลาดต่างประเทศ ภาพรวมมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนร้อยละ 16.7 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง และหากเปรียบเทียบกับเดือนก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.2 เนื่องจากระดับราคาสินค้าในตลาดโลกได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามระดับราคาน้ำมัน อย่างไรก็ดีวิกฤตการณ์เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปเริ่มส่งผลต่อสินค้าอาหารที่มีราคาต่อหน่วยสูง เช่น กุ้ง ซึ่งมีแนวโน้มส่งออกชะลอตัวลง

3. แนวโน้ม

การผลิตและส่งออก คาดว่า ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน จากคำสั่งซื้อที่ชะลอตัวลง ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในกลุ่มสหภาพยุโรปและสถานการณ์เศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่ชะลอตัวลงเช่นกัน สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่า จะปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน จากสถานการณ์ราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ประชาชนชะลอการจับจ่ายใช้สอยลง

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

1. การผลิต

เดือนพฤษภาคม 2555 ภาวะการผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอเมื่อเทียบกับเดือนก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เส้นใยสิ่งทอฯ ผ้าผืน เครื่องนอนและผ้าขนหนู ผ้าลูกไม้ ผ้ายางยืด เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถัก และเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าทอ โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.20, 13.71, 10.73,13.27, 23.27, 18.14 และ 14.17 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตส่วนใหญ่ลดลงในผลิตภัณฑ์เดียวกัน โดยลดลงร้อยละ 35.63,11.88, 3.21, 10.60, และ 0.71 ตามลำดับ โดยมีเพียงผ้าลูกไม้ และผ้ายางยืด ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.70 และ 1.07 ตามลำดับ

2. การจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ เดือนพฤษภาคม 2555 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน การจำหน่ายส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เส้นใยสิ่งทอฯผ้าผืน เครื่องนอนและผ้าขนหนู ผ้าลูกไม้ ผ้ายางยืด เสื้อผ้าที่ผลิตจากผ้าถัก และเสื้อผ้าที่ผลิตจากผ้าทอ โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.23, 5.19, 11.62, 24.18, 29.76,16.38 และ 2.20 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การจำหน่ายในประเทศส่วนใหญ่ลดลงเกือบทุกผลิตภัณฑ์ มีเพียงเสื้อผ้าที่ผลิตจากผ้าถักและผ้าทอที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.37 และ 7.09การส่งออก โดยรวมเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการผลิตที่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 19.03 ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูปเครื่องยกทรงฯ ผ้าผืน ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ และเคหะสิ่งทอ โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ29.97, 21.27, 23.05, 10.47 และ 21.97 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการส่งออกลดลงโดยรวมร้อยละ 10.02 สำหรับตลาดส่งออกการส่งออกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนในตลาด อาเซียน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.91, 33.50, และ 27.82 ตามลำดับ มีเพียงตลาดญี่ปุ่นที่การส่งออกลดลงร้อยละ 7.68 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการส่งออกลดลงในตลาด ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป โดยลดลงร้อยละ 7.25, 13.59, และ 22.83 ตามลำดับ มีเพียงตลาดอาเซียนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.77

3. แนวโน้ม

แนวโน้มการผลิตในภาพรวมและการส่งออกของอุตสาหกรรมนี้ คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามปริมาณคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น และราคาวัตถุดิบฝ้ายเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงของการส่งออกของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่คงต้องระมัดระวังต่อคือ ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในตลาดส่งออกหลักอย่างสหภาพยุโรป ซึ่งปัญหาวิกฤตยังอยู่ระหว่างการแก้ไข ด้านปัจจัยสนับสนุน คือ ค่าเงินบาทที่ทรงตัวเมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ และราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

สถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กของประเทศจีนในปี 2555 นี้ต้องเผชิญหน้ากับกำลังการผลิตเกินและสินค้าคงคลังที่มีปริมาณมากและกำไรที่หดตัวลง โดยความต้องการภายในประเทศลดลงเป็นผลมาจากตลาดยานยนต์และอสังหาริมทรัพย์ซบเซา

1.การผลิต

สถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนพฤษภาคม 2555 ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 122.65 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.91 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เมื่อพิจารณาในกลุ่มเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.57 เนื่องจากเป็นการผลิตที่เพิ่มขึ้นหลังจากชะลอการผลิตในเดือนก่อนเนื่องจากมีวันหยุดหลายวัน โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบโครเมี่ยม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 30.58รองลงมาคือ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.67 เนื่องจากมีคำสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้นหลังจากเมื่อเดือนก่อนงดส่งสินค้าเนื่องจากตรงกับวันหยุดยาว สำหรับกลุ่มเหล็กทรงยาวพบว่ามีการผลิตที่หดตัวลง ร้อยละ 3.01 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุด ได้แก่ เหล็กเส้นกลม ลดลง ร้อยละ 31.35 รองลงมาคือเหล็กเส้นข้ออ้อย ลดลง ร้อยละ 18.74 ในขณะที่ลวดเหล็กมีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ17.39 เนื่องจากลูกค้ามีสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้นหลังจากชะลอตัวไปในช่วงเดือนก่อน

ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตลดลงร้อยละ 8.77 โดยเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 4.72 และเหล็กทรงยาวมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 21.61

2.ราคาเหล็ก

จากข้อมูลดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงเดือนมิถุนายน 2555 เทียบกับเดือนก่อนพบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีดัชนีราคาเหล็กลดลง ได้แก่ เหล็กแท่งแบนลดลงจาก 132.55 เป็น 120.93 ลดลง ร้อยละ 8.77 เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลงจาก134.57 เป็น 124.29 ลดลง ร้อยละ 7.64 เหล็กแท่งเล็ก Billet ลดลงจาก 140.52เป็น 130.38 ลดลง ร้อยละ 7.22 เหล็กเส้น ลดลงจาก 139.36 เป็น 129.46 ลดลงร้อยละ 7.10 และเหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลงจาก 125.12 เป็น 117.53 ลดลง ร้อยละ6.07 เนื่องจากความต้องการใช้เหล็กจากประเทศที่สำคัญของโลก เช่น ญี่ปุ่น จีนสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปที่ยังคงซบเซาอยู่อันเป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ในขณะที่ปริมาณการผลิตส่วนเกินยังคงมีอยู่จึงส่งผลให้ราคาเหล็กในตลาดโลกลดลง

3. แนวโน้ม

สถานการณ์การผลิตเหล็กในเดือนมิถุนายน 2555 ในส่วนของเหล็กทรงแบนคาดการณ์ว่าจะมีการผลิตที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากความต้องการใช้เหล็กของอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นมาก จากการขยายตัวในการผลิตของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง 2 อุตสาหกรรมดังกล่าว ในขณะที่เหล็กทรงยาวคาดการณ์ว่าจะมีการผลิตที่ทรงตัวเนื่องจากสถานการณ์อุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศที่ยังคงทรงตัวอยู่

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนพฤษภาคม 2555 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 เนื่องจากความต้องการของลูกค้าภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากความนิยมในรถยนต์รุ่นใหม่นโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ อีกทั้งการผลิตของผู้ประกอบการเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้ส่งมอบรถยนต์ให้ลูกค้าได้มากขึ้น ประกอบกับฐานที่ค่อนข้างต่ำในปี 2554 อันเป็นผลจากการเกิดภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่นโดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนพฤษภาคม ดังนี้

  • การผลิตรถยนต์ จำนวน 202,834 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม2554 ซึ่งมีการผลิต 98,804 คัน ร้อยละ 105.29 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และมีปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน2555 ร้อยละ 42.54 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่ง และรถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์
  • การจำ หน่ายรถยนต์ จำ นวน 115,943 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2554 ซึ่งมีการจำหน่าย 55,851 คัน ร้อยละ 107.59 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตันรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และรถยนต์ PPV รวมกับ SUV และมีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2555 ร้อยละ 32.07 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตันรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และรถยนต์ PPV รวมกับ SUV
  • การส่งออกรถยนต์ จำนวน 85,988 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม2554 ซึ่งมีการส่งออก 38,656 คัน ร้อยละ 122.44 ซึ่งเพิ่มขึ้นในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป อเมริกากลางและอเมริกาใต้ และมีปริมาณการส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2555 ร้อยละ 55.12 ซึ่งเพิ่มขึ้นในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป อเมริกากลาง และอเมริกาใต้
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมิถุนายน 2555 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2555 สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนมิถุนายน 2555 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 55 และส่งออกร้อยละ 45

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนพฤษภาคม 2555 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 เนื่องจากช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นฤดูการขาย ซึ่งเป็นช่วงเปิดภาคเรียนการศึกษาใหม่ ทำให้มีปริมาณความต้องการรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นประกอบกับผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์มีการแนะนำรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาดมากขึ้น โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์เดือนพฤษภาคม ดังนี้

  • การผลิตรถจักรยานยนต์ จำนวน 238,574 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2554 ซึ่งมีการผลิต 207,262 คัน ร้อยละ 15.11 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัวและแบบสปอร์ต และมีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2555 ร้อยละ 25.91 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสปอร์ต
  • การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ จำนวน 214,809 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2554 ซึ่งมีการจำหน่าย 187,778 คัน ร้อยละ14.40 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของรถจักรยานยนต์แบบครอบครัวแบบสกูตเตอร์ และแบบสปอร์ต และมีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2555 ร้อยละ 36.38โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของรถจักรยานยนต์แบบครอบครัวแบบสกูตเตอร์ และแบบสปอร์ต
  • การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU) จำนวน 30,615คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2554 ซึ่งมีการส่งออก 21,642คัน ร้อยละ 41.46 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น และมีปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2555 ร้อยละ 28.98
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนมิถุนายน2555 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2555 สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนมิถุนายน 2555 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ร้อยละ 87 และส่งออกร้อยละ 13
5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

“อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังคงขยายตัวได้ดีตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับการส่งออกยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากตลาดส่งออกหลักของไทย ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนายังมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

1.การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ในเดือนพฤษภาคม 2555 ปริมาณการผลิต และปริมาณการจำหน่ายในประเทศ เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.33 และ10.80 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายในประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.38 และ 4.53ตามลำดับ เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังคงขยายตัวได้ดี เนื่องจากธุรกิจการก่อสร้างยังขยายตัวได้ตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับปัจจัยที่สนับสนุนการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศ คือ การลงทุนโครงการพื้นฐานต่าง ๆ และนโยบายกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ

2.การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ เดือนพฤษภาคม 2555 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.58 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.90 ตามลำดับ สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย คือ กัมพูชา เมียนมาร์ บังคลาเทศ ลาว และโตโก ตามลำดับ

3.แนวโน้ม

แนวโน้มการผลิต และการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ คาดว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อย เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝน ทำให้เป็นอุปสรรคในการก่อสร้าง ทั้งนี้ การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ จะกลับมาขยายตัวอีกครั้งในช่วงของไตรมาสที่ 4 เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้นของฤดูกาลก่อสร้าง สำหรับการส่งออกคาดว่าจะยังขยายตัวได้ เนื่องจากเศรษฐกิจ โลกยังคงมีแนวโน้มที่จะเติบโต ตลาดส่งออกหลักของไทย คือประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศกำลังพัฒนา ยังมีความจำเป็นต้องใช้ปูนซีเมนต์ในกิจกรรมการก่อสร้าง เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนพฤษภาคม 2555 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 312.66 เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.87 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 13.58 เนื่องจากโรงงานบางส่วนอยู่ระหว่างฟื้นฟูให้กลับมาผลิตได้เต็มกำลังการผลิต

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนพฤษภาคม 2555 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 312.66 เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.87 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ซึ่งมีสาเหตุมาจากจำนวนวันทำงานที่มากกว่าเดือนก่อน แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 13.58 เนื่องจากปัญหาอุทกภัยที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปีก่อน ทำให้สายการผลิตเสียหาย และไม่สามารถผลิตสินค้าได้เต็มกำลังการผลิต อย่างไรก็ตามในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและผู้ผลิตชิ้นส่วนในห่วงโซ่อุปทานเริ่มกลับมาผลิตได้แล้ว เมื่อพิจารณาในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.18เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ12.52 สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.37 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนแต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 17.68

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนพฤษภาคม 2555 มี 5,185.32 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ร้อยละ 19.6 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.1 โดยสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า มูลค่าการส่งออกรวมของเครื่องใช้ไฟฟ้าคือ 2,207.27 ล้านเหรียญสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 22.1 และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.0 ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สูงที่สุด ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ มีมูลค่าส่งออก 401.06 ล้านเหรียญสหรัฐ และ กล้องถ่ายTV,VDO มีมูลค่าส่งออก 257.36 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเทียบกับเดือนก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ 2,978.05 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่สูงที่สุดได้แก่ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าส่งออก 1,942.24 ล้านเหรียญสหรัฐ มีการปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากได้มีการผลิตเพื่อส่งออกตามคำสั่งซื้อได้แล้ว ส่วนวงจรรวมและไมโครแอสแซมบลีมีมูลค่า 589.1 ล้านเหรียญสหรัฐ มีการปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากอยู่ระหว่างฟื้นฟูโรงงาน

3. แนวโน้ม

ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เดือนมิถุนายน2555 จากแบบจำลองดัชนีชี้นำภาวะอุตสาหกรรมสาขาเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า จะปรับตัวลดลงร้อยละ 0.17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วน การประมาณการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 5.5เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ตารางที่ 1 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่มีมูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือน พ.ค. 2555

          เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์              มูลค่า (ล้านเหรียญฯ)          %MoM           %YoY
          อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์           1,942.24              +17.8           +30.1
          วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี                    589.1             +12.2           -17.4
          เครื่องปรับอากาศ                             401.06             +28.7           +10.1
          กล้องถ่าย TV , VDO                          257.36             +16.9           +54.3
          รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์             5,185.32             +19.6           +11.1

ที่มา กรมศุลกากร

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ