สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาส 2 ปี 2555 (เมษายน — มิถุนายน 2555)(เศรษฐกิจไทย)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 27, 2012 14:30 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 0.3ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 ซึ่งหดตัวที่ร้อยละ 8.9 แต่ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2554 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 โดยปัจจัยที่ทำให้อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 คือ อุปสงค์ในประเทศโดยรวมเริ่มดีขึ้น ในขณะที่อุปสงค์ต่างประเทศยังคงหดตัวแต่เริ่มปรับตัวดีขึ้น การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนขยายตัว เป็นผลมาจากการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนและสินค้ากึ่งคงทนที่ขยายตัว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกำลังซื้อภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากการชดเชยผลกระทบของอุทกภัยจากรัฐบาล ส่วนสินค้าคงทนยังคงหดตัว อัตราเงินเฟ้อ ชะลอตัวเล็กน้อย ขณะที่อัตราการว่างงานสูงขึ้นเล็กน้อยแต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ และราคาน้ำมันเชื้อแพลิงและไฟฟ้าเริ่มขยับตัวสูงขึ้น การลงทุนรวมขยายตัว โดยการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน ขณะที่ลงทุนภาครัฐยังคงหดตัว การส่งออกสินค้าและบริการยังคงหดตัวแต่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การนำเข้าสินค้าและบริการขยายตัว

ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 หดตัวร้อยละ 4.2 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 ที่หดตัวร้อยละ 21.6 แต่หดตัวจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2554ที่ขยายตัวร้อยละ 1.7 การที่ GDP สาขาอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2554เนื่องจากโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเริ่มฟื้นตัวกลับมาผลิตใหม่ รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนในบางอุตสาหกรรมการผลิตคลี่คลาย โดยอุตสาหกรรมสิ่งทอเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม หนังและผลิตภัณฑ์จากหนังหดตัว เนื่องจากปัญหาความผันผวนของราคาวัตถุดิบอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยังคงหดตัว เนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยอยู่ในระหว่างฟื้นฟูโรงงานทำให้ยังไม่สามารถดำเนินการผลิตได้เต็มประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมยานยนต์เริ่มมีการใช้กำลังการผลิตมากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อคำสั่งซื้อที่ตกค้างจากช่วงอุทกภัย

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2555 จะขยายตัวร้อยละ 5.5-6.5 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.1

สำหรับตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 พบว่า บางตัวมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาแต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2554 เช่น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมที่มีการผลิตลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2554 ได้แก่ Hard Disk Drive ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น ส่วนมูลค่าการส่งออกในภาพรวมขยายตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.34 (ม.ค.-มิ.ย.55) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น

ในส่วนของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2554 สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาแต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี2554

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม)

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) (ตารางที่ 1)ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 178.9 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (174.9) ร้อยละ 2.3 แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2554 (181.8) ร้อยละ 1.6

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive เครื่องปรับอากาศ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2554 ได้แก่ Hard Disk Drive ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เส้นใยสิ่งทอ เป็นต้น

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2555 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากช่วงเดียวกันของปี2554 ร้อยละ 4.3 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลง ได้แก่ Hard Disk Driveชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เส้นใยสิ่งทอ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เป็นต้น

ดัชนีการส่งสินค้า

ดัชนีการส่งสินค้า (Shipment Index) แสดงทิศทางของระดับการจำหน่ายสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ดัชนีการส่งสินค้าอยู่ที่ระดับ 197.7 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (182.5) ร้อยละ 8.3 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี2554 (180.7) ร้อยละ 9.4

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive เครื่องปรับอากาศ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2554 ได้แก่ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์จากคอนกรีต ซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ น้ำตาล เป็นต้น

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2555 ดัชนีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2554 ร้อยละ 2.1โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม น้ำตาล เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารสัตว์สำเร็จรูป เป็นต้น

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง (Finished Goods Inventory Index) แสดงทิศทางหรือระดับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการสำรองสินค้าเพื่อไม่ให้สินค้าขาดแคลน (ตารางที่ 1) ในไตรมาสที่ 2ของปี 2555 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังอยู่ที่ระดับ 188.3 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (183.7)ร้อยละ 2.5 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2554 (186.1) ร้อยละ 1.2

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ยานยนต์ อาหารทะลกระป๋องและแช่แข็ง Hard Disk Drive เม็ดพลาสติก ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2554 ได้แก่ Hard Disk Drive เบียร์ ลวดเชื่อมไฟฟ้า สกรู น็อตและตะปู ผลไม้และผักแปรรูป ผลิตภัณฑ์แก้ว เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต

อัตราการใช้กำลังการผลิต เป็นตัวบ่งชี้สภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบระดับการผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตเต็มที่ (ตารางที่ 1) ในไตรมาสที่ 2 ของปี2555 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 69.2 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (ร้อยละ62.6) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2554 (ร้อยละ 59.7)

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่โทรทัศน์สี ยานยนต์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เครื่องปรับอากาศ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2554 ได้แก่ โทรทัศน์สี ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์เลนส์ชนิดต่างๆ เป็นต้น

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2555 อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี2554 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยานยนต์ โทรทัศน์สีผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม อาหารสัตว์สำเร็จรูป เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เป็นต้น

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและธุรกิจ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จัดทำโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเฉลี่ยรวมมีค่า 77.8เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา(75.4) แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2554 (80.6) โดยแบ่งออกเป็น 3 ดัชนี ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ และดัชนีเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต (ตารางที่ 2) พบว่า ไตรมาสที่ 2 ของปี2555 ทั้ง 3 ดัชนีดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาแต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2554

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับร้อยละ 3 เนื่องจากเห็นว่าเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงชะลอตัวมากกว่าที่คาดไว้ จากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคตของกรีซในกลุ่มประเทศยูโรและปัญหาภาคสถาบันการเงินในสเปนและอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา รวมทั้งเศรษฐกิจเอเชียที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจีน นอกจากนี้หากพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเป็นรายเดือน จะเห็นว่าดัชนีรวมและดัชนีทุกรายการในเดือนมิถุนายน 2555 ปรับตัวดีขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มคลี่คลายลง ราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวลง อย่างไรก็ตามผู้บริโภคยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงทางการเมืองในอนาคตและปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรปที่อาจส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต

เมื่อแยกพิจารณาในแต่ละดัชนี พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 มีค่า 67.7 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (65.3) แต่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคขาดความมั่นใจในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย เนื่องจากยังคงมีปัจจัยหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคกังวล

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ ไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 มีค่า 68.7เพิ่มขึ้นจากไตรมาสผ่านมา (66.5) แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่าความเชื่อมั่นเกี่ยวกับภาวการณ์จ้างงานโดยรวมยังไม่ดีมากนัก ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจที่ยังปรับตัวอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ

ดัชนีความเชื่อมั่นในผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 มีค่า97.0 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (94.5) แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แม้ว่าผู้บริโภคจะกังวลเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตแต่ระดับความเชื่อมั่นยังคงสูงกว่าความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจและโอกาสหางานทำ

จากการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ซึ่งจัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 3) พบว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 มีค่าเท่ากับ 51.0 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (53.0) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2554 (50.4) โดยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ดัชนีโดยรวมยังมีค่าสูงกว่า 50 แสดงว่า ความเชื่อมั่นทางธุรกิจดี ผู้ประกอบการมองว่าภาวการณ์ด้านธุรกิจในอนาคตมีแนวโน้มที่ดี สำหรับดัชนีที่ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา คือ ผลประกอบการของบริษัท คำสั่งซื้อทั้งหมด การจ้างงานของบริษัทและการผลิตของบริษัท

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2555 ดัชนีโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปี 2554 โดยดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ การจ้างงานของบริษัทและการผลิตของบริษัท

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (Thai Industries Sentiment Index : TISI)

จัดทำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 4) พบว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปี2555 ดัชนีโดยเฉลี่ยมีค่า 104.2 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (100.9) แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2554 (107.4) การที่ค่าดัชนียังอยู่ระดับที่สูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นว่าภาวการณ์ด้านอุตสาหกรรมอยู่ในระดับที่ดี อย่างไรก็ตามเดือนมิถุนายน 2555 ดัชนีปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 102.7 จากระดับ 106.0 ในเดือนพฤษภาคม2555 แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่า 100 โดยค่าดัชนีที่ปรับลดลงเป็นผลมาจากการลดลงของดัชนีด้านยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2555 ลดลงคือ ต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น ความกังวลต่อสถานการณ์การเมือง ภัยธรรมชาติ ขณะเดียวกันวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทั้งทางตรงและทางอ้อมในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมที่ส่งออกไปยังยุโรป ตลอดจนคู่ค้าของไทยที่นำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปจากไทยเพื่อผลิตสินค้าสำเร็จรูปส่งออกไปยังยุโรปด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ได้แก่ ขอให้ภาครัฐผลักดันการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดใหม่ เช่นอินเดีย อาเซียน และตะวันออกกลาง เพื่อทดแทนตลาดยุโรปที่กำลังประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการ เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ,ขยายวงเงินกู้ กำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการกรณีขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วัน เช่น มาตรการด้านภาษี,การฝึกอบรมพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานและผู้เชี่ยวชาญให้ตรงกับความต้องการในแต่ละสาขา จัดหาแหล่งวัตถุดิบให้เพียงพอสำหรับอุตสาหกรรมที่ประสบปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ แก้ปัญหาราคาปริมาณและคุณภาพวัตถุดิบสินค้าเกษตรที่สำคัญ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำอย่างเป็นระบบ

ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ

ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (Leading Economic Index : LEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า ปรากฏว่าดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในเดือนมิถุนายน 2555 อยู่ที่ระดับ 137.0 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 จากเดือนพฤษภาคม 2555ซึ่งอยู่ที่ระดับ 134.7 ตามการเพิ่มขึ้นของเครื่องชี้วัด ได้แก่ ปริมาณเงินตามความหมายกว้างณ ราคาคงที่ จำนวนนักท่องเที่ยว ดัชนีซื้อขายหลักทรัพย์ ดัชนีส่วนกลับราคาน้ำมันดิบ

สำหรับดัชนีในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 มีค่าเฉลี่ย 134.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาที่มีค่า 132.1

ดัชนีพ้องเศรษฐกิจ

ค่าประมาณการเบื้องต้นของดัชนีพ้องเศรษฐกิจ (Coincident Economic Index : CEI)จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในเดือนมิถุนายน 2555 อยู่ที่ระดับ 125.0 ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2555 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 127.2 ตามการลดลงของเครื่องชี้วัด ได้แก่ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ มูลค่าการส่งออก ณ ราคาคงที่

สำหรับดัชนีในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 มีค่าเฉลี่ย 125.2 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาที่มีค่าเฉลี่ย 123.6

การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค

ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (Expenditure on Private Consumption) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 5) ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 มีค่า 146.6 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (144.5) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2554 (139.8) ซึ่งเครื่องชี้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2554 ได้แก่ ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2555 การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนโดยรวมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2554 โดยเครื่องชี้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้า ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ณ ราคาคงที่ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์

การลงทุนภาคเอกชน

การลงทุนภาคเอกชนโดยรวม (ตารางที่ 6) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาจากปัจจัยหลัก 4 ประการ ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศ การนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ และปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ พบว่า ไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนโดยรวมมีค่า 238.1 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (214.3) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี2554 (206.8)

หากแยกตามรายการสินค้า พบว่า ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2554

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2554

การนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2554

ปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ (ณ ขณะจัดทำรายงานฉบับนี้ข้อมูลล่าสุดมีถึงเดือนพฤษภาคม 2555 เท่านั้น) โดยเดือนพฤษภาคม 2555ปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศ ณ ราคาคงที่มีจำนวน 81,536.70ล้านบาท

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2555 การลงทุนภาคเอกชนโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2554 ตามการเพิ่มขึ้นของปัจจัยหลักทั้ง 4 ประการข้างต้น

ภาวะราคาสินค้า

จากการสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภค (ตารางที่ 7) และดัชนีราคาผู้ผลิต (ตารางที่ 8) โดยสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่าไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าเท่ากับ 115.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (113.7) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2554 (112.3) การที่ราคาผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มตามราคาเนื้อสัตว์ ไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักและผลไม้รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของราคาไฟฟ้า ค่าโดยสารสาธารณะ ยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิง

กลุ่มอาหารสดและพลังงาน

ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 มีค่าเท่ากับ 139.5 ทรงตัวจากไตรมาสที่ผ่านมา (139.5) แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2554 (138.8) โดยราคาในหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมทรงตัวจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2554ส่วนราคาในหมวดผลผลิตเกษตรกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2554 สำหรับราคาในหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2554

แรงงานในภาคอุตสาหกรรม

จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชาชนในไตรมาสที่สองของปี 2555 (ข้อมูลเดือนพฤษภาคม) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 39.006 ล้านคน เป็นผู้ที่มีงานทำ 38.268 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 98.11 ของกำลังแรงงานทั้งหมด และมีผู้ว่างงาน 0.359 ล้านคน(คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.92)

สำหรับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมไตรมาสที่สองของปี 2555 มีจำนวน 5.728 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 14.97 ของผู้มีงานทำทั้งหมด

การค้าต่างประเทศ

การค้าต่างประเทศในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า โดยมูลค่าการส่งออกยังคงเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนการส่งออกกลับมาขยายตัวหลังจากที่หดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส สำหรับการนำเข้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นเช่นกัน ดุลการค้าขาดดุล 5,153.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สถานการณ์การค้าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 การส่งออกมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ปี 2555 จากภาคการผลิตฟื้นตัวหลังเหตุการณ์อุทกภัย และเร่งส่งมอบสินค้าตามคำสั่งซื้อที่ค้างอยู่ โดยในไตรมาสที่ 2 การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 120,399.3ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 57,622.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 62,776.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 นั้นมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.46 และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.93 ส่งผลให้ไตรมาสที่ 2 ของปี2555 ดุลการค้าขาดดุล 5,153.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนพบว่ามูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.00 สำหรับมูลค่าการนำเข้านั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.49

การส่งออกในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 เมื่อพิจารณาเป็นรายเดือนพบว่าการส่งออกในเดือนเมษายนมีมูลค่าการส่งออก 16,919.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลงร้อยละ 1.95 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำ หรับการส่งออกในเดือนพฤษภาคม 2555 มีมูลค่า 20,932.5ล้านเหรียญสหรัฐฯ กลับมาขยายตัวร้อยละ10.18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและกลับมาหดตัวลงอีกครั้งในเดือนมิถุนายน โดยมีมูลค่าการส่งออก 19,770.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งลดลงร้อยละ 2.31 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

  • โครงสร้างการส่งออก

การส่งออกในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ประกอบด้วย สินค้าอุตสาหกรรม42,874.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ74.40) สินค้าเกษตรกรรม 5,734.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 9.95) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร 4,973.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 8.63 สินค้าแร่และเชื้อเพลิง 4,032.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 7.00) และสินค้าอื่นๆ 9.46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ0.02)

เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จะพบว่าการส่งออกของหมวดสินค้าหลักมีมูลค่าเพิ่มขึ้นยกเว้นสินค้าเกษตรกรรมที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 18.20 สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.36 สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรและสินค้าแร่และเชื้อเพลิงมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.85 และ 14.67 ตามลำดับ

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 2 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม 10 รายการหลัก ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่าการส่งออก 8,748.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 20.40) ยานพาหนะอุปกรณ์และส่วนประกอบ 6,847.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 15.97) เครื่องใช้ไฟฟ้า 6,173.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 14.40) อัญมณีและเครื่องประดับมีมูลค่าการส่งออก 2,482.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 5.79) เคมีภัณฑ์ 2,195.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 5.12) เม็ดพลาสติก 2,148.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 5.01) ผลิตภัณฑ์ยาง 2,038.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 4.75) สิ่งทอ 1,761.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 4.11) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่อง 1,622.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.78) และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 1,311.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.06) โดยมูลค่าการส่งออกทั้ง 10 รายการหลักรวมกันเท่ากับ 35,328.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 82.40 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทั้งหมด

  • ตลาดส่งออก

การส่งออกไปยังตลาดหลักในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ซึ่งได้แก่ อาเซียน(9 ประเทศ) จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป มีสัดส่วนการส่งออกรวมคิดเป็นร้อยละ68.32 ของการส่งออกทั้งหมด โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่าการส่งออกไปยังประเทศจีนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.65 กลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.23 และสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.59 สำหรับการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป และประเทศญี่ปุ่นมีมูลค่าลดลงร้อยละ 8.89 และ 1.23 ตามลำดับ

  • โครงสร้างการนำเข้า

การนำเข้าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 เป็นการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมากที่สุด ซึ่งมีมูลค่าการนำเข้า 23,759.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 37.85)รองลงมาเป็นการนำเข้าสินค้าทุน โดยมีมูลค่า 17,436.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 27.78) สินค้าเชื้อเพลิง 12,898.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 20.55) สินค้าอุปโภคบริโภค 5,699.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 9.08) สินค้าหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง 2,945.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 4.69) และสินค้าอาวุธ ยุทธปัจจัยและสินค้าอื่นๆ 38.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 0.06) ตามลำดับ

โดยมูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่าการนำเข้าสินค้าส่วนใหญ่มีมูลค่าการนำเข้าขยายตัว โดยสินค้ายานพาหนะ และอุปกรณ์ขนส่งมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 56.60 สินค้าทุนมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.55 สินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.61 และหมวดสินค้าเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.78 แต่การนำเข้าในหมวดสินค้าอาวุธ ยุทธปัจจัย และสินค้าอื่นๆ และหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป มีมูลค่าลดลงร้อยละ 61.49 และ 2.40 ตามลำดับ

  • แหล่งนำเข้า

ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 แหล่งนำ เข้าที่สำ คัญได้แก่ ญี่ปุ่น อาเซียน (9ประเทศ) สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกามีสัดส่วนนำเข้ารวมคิดเป็นร้อยละ 48.69 เมื่อพิจารณามูลค่าการนำ เข้าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่าการนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศอาเซียนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.57 และ 4.97 ตามลำดับ สำหรับการนำเข้าสินค้าจากสหภาพยุโรปมีมูลค่าลดลงร้อยละ 9.49 และสหรัฐอเมริกามีมูลค่าลดลงร้อยละ 1.10

การลงทุนจากต่างประเทศ

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนเมษายนและพฤษภาคมมีมูลค่ารวม 61,799.77 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนโดยตรงสุทธิในเดือนเมษายนมีมูลค่า 22,567.86 ล้านบาท สำหรับเดือนพฤษภาคมมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 39,231.91 ล้านบาท เมื่อพิจารณาการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมตลอดทั้ง 2 เดือน ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 นั้นพบว่ามูลค่าการลงทุนในเดือนเมษายนมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 10,466.18 ล้านบาท และในเดือนพฤษภาคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 20,371.78 ล้านบาท โดยการลงทุนในเดือนเมษายนและพฤษภาคมของสาขาอุตสาหกรรมมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.63 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 สาขาอุตสาหกรรมเป็นสาขาที่มีการลงทุนมากที่สุดเป็นเงินลงทุน 30,837.96 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ รถพ่วงและรถกึ่งพ่วงมากที่สุดซึ่งมีเงินลงทุนเป็นจำนวน 11,259.19 ล้านบาท รองลงมาคือการผลิตเคมีภัณฑ์มีการลงทุนสุทธิ 5,070.36 ล้านบาท และการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าซึ่งมีเงินลงทุน 3,402.85 ล้านบาท

ประเทศที่เข้ามาลงทุนสุทธิในประเทศไทยมากที่สุดในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2555 คือประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีเงินลงทุนสุทธิ 10,488.37 ล้านบาท รองลงมาคือประเทศสิงคโปร์ และประเทศสวิตเซอร์แลนด์โดยมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 8,636.09 ล้านบาท และ 8,383.60 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่าในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 502 โครงการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการ 446 โครงการ โดยในไตรมาสที่ 2 นี้การลงทุนในกิจการต่างๆ มีมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 155,400 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.37 โดยโครงการลงทุนนั้นประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 195 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 44,800 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 115 โครงการเป็นเงินลงทุน 64,600 ล้านบาท และโครงการที่ลงทุนจากไทย 100% จำนวน 192 โครงการ เป็นเงินลงทุน 45,900 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 พบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 59,900 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่งมีเงินลงทุน 29,000 ล้านบาท และหมวดเกษตรกรรม และผลิตผลจากการเกษตรมีเงินลงทุน 20,600 ล้านบาท

สำหรับแหล่งทุนในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 พบว่านักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นยังคงมีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 160 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 58,776 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศสิงคโปร์ได้รับการอนุมัติลงทุนจำนวน 22โครงการ มีเงินลงทุน 6,862 ล้านบาท ประเทศสหรัฐอเมริกามีจำนวน 13 โครงการที่ได้รับอนุมัติซึ่งมีเงินลงทุน 4,125 ล้านบาท และประเทศอินเดียมีจำนวนโครงการได้รับอนุมัติ 5 โครงการ โดยคิดเป็นเงินลงทุน 3,738 ล้านบาท

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ