สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาส 2 ปี 2555 (เมษายน — มิถุนายน 2555)(อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 27, 2012 14:38 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. สถานการณ์ปัจจุบัน

การผลิต

ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 มีประมาณ 1,559,500 เมตริกตัน ( ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) ลดลง ร้อยละ 9.74 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุดในช่วงนี้ คือผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 30.80 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 15.79 และเหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 6.01 และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า การผลิตโดยรวมลดลง ร้อยละ 17.18 โดยผลิตภัณฑ์ที่ลดลงมากที่สุด ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 28.94 ซึ่งสาเหตุที่เหล็กแผ่นรีดร้อนมีการผลิตที่ลดลงเป็นผลมาจากการที่ผู้ผลิตภายในประเทศต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงกับสินค้าที่นำเข้าจากประเทศจีนและเกาหลีใต้ โดยมียอดการนำเข้าขยายตัวสูงมากสำหรับกลุ่มที่เป็นเหล็กกล้าเจือ (Alloyed product) ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเหล็กกล้าเจือที่นำเข้านั้นเป็นผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีลักษณะของการนำไปใช้งานที่เหมือนกับกลุ่มเหล็กกล้าคาร์บอน แต่ผู้นำเข้าระบุว่าเป็นกลุ่มเหล็กกล้าเจือจึงไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า จากที่ต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตรา 5% ถ้าระบุว่าเป็นเหล็กกล้าคาร์บอน ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตรองลงมาคือผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 10.88 และเหล็กทรงยาวลดลง ร้อยละ 6.60

ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในครึ่งแรกของปี 2555 มีประมาณ 3,442,494 เมตริกตัน ( ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) ลดลง ร้อยละ 7.27 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุดในช่วงนี้ คือผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 23.72 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลง ร้อยละ13.64 และเมื่อเทียบกับครึ่งหลังของปี 2554 พบว่า การผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.78 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุกและเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 30.62 และเหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 24.63 รายละเอียดตามตารางที่ 1

ความต้องการใช้ในประเทศ

ความต้องการใช้เหล็กในประเทศช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2555 มีจำนวนประมาณ 3,855,669 เมตริกตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.91 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากภาคการผลิตใน

กลุ่มยานยนต์ซึ่งยอดการผลิตกลับมาเข้าสู่ระดับปกติหลังจากเกิดอุทกภัยในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี2554 และมีแนวโน้มที่จะกลับมาผลิตได้ตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ในช่วงทั้งปี 2555 ที่ระดับ2.1 — 2.2 ล้านคัน จึงมีผลทำให้ผู้ผลิตในกลุ่มนี้เร่งการผลิต ส่งผลให้ความต้องการใช้ในผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.68 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน สำหรับผลิตภัณฑ์เหล็กในกลุ่มทรงยาว กลับลดลง ร้อยละ 0.70 เนื่องจากโครงการก่อสร้างของภาครัฐที่มีสถานการณ์ที่ทรงตัว ขณะเดียวกันการก่อสร้างของภาคเอกชนก็ยังคงทรงตัวเช่นเดียวกัน จึงเป็นผลทำให้ความต้องการใช้ในประเทศในเหล็กกลุ่มนี้ลดลงเล็กน้อย

ความต้องการใช้เหล็กในประเทศช่วงครึ่งแรกของปี 2555 มีจำนวนประมาณ 7,926,782 เมตริกตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.77 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยเหล็กในกลุ่มเหล็กทรงแบนเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.22 และเหล็กในกลุ่มทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.83 เนื่องจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์ ไฟฟ้า บรรจุภัณฑ์ และเครื่องจักรกลที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

การนำเข้า- การส่งออก

การนำเข้า

มูลค่าการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 มีจำนวนประมาณ 102,465 ล้านบาท โดยมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 32.27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่เหล็กในกลุ่มทรงยาว คือ เหล็กเส้น (Bar) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 202.89 รองลงมาคือ เหล็กโครงสร้าง(HR section) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 194.86 และเหล็กลวด (Wire rod) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 151.16 โดยเหล็กที่นำเข้ามีมูลค่ามากในช่วงนี้จะเป็นเหล็กชนิดคุณภาพพิเศษซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเช่น ยานยนต์ แต่เหล็กทรงยาวซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างจะใช้เหล็กเกรดธรรมดาซึ่งผลิตได้เองในประเทศ สำหรับเหล็กทรงแบน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากในช่วงนี้ ได้แก่ เหล็กแผ่นบาง (HR Sheet) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 134.38 โดยนำเข้ามาเพื่อใช้ในส่วนของตัวถังรถในอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งมีการผลิตเพิ่มขึ้นมากในช่วงนี้ ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนพบว่า มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.41 โดยผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ เหล็กโครงสร้าง (HR section) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 52.73 รองลงมา คือ เหล็กแผ่นรีดเย็น (CR carbon steel) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 33.01

มูลค่าการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในครึ่งแรกของปี 2555 มีจำนวนประมาณ 198,760 ล้านบาท โดยมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 37.76 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กในกลุ่มทรงยาว คือ เหล็กเส้น (Bar) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 207.36 รองลงมาคือ เหล็กลวด (Wire rod) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 179.20 และเหล็กโครงสร้าง (HR section) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 100.74 สำหรับเหล็กทรงแบน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากในช่วงนี้ ได้แก่ เหล็กแผ่นบาง (HR Sheet) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 154.33 ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับครึ่งหลังของปี 2554 พบว่า มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 27.82 โดยผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ เหล็กเส้น (Bar) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 239.58 รองลงมา คือ เหล็กลวด (Wire rod) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 195.43 รายละเอียดตามตารางที่2

การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 มีจำนวนประมาณ 11,611 ล้านบาท โดยมูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 3.01 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูปชนิดอื่นๆ ลดลง ร้อยละ 98.53 รองลงมา คือ เหล็กแผ่นหนารีดร้อน (HR plate) ลดลง ร้อยละ 75.75 และเหล็กลวด (Wire rod) ลดลง ร้อยละ 40.13 และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.60 โดยผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก (Tin plate) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 182.14 รองลงมา คือเหล็กแผ่นบางรีดร้อน (HR sheet ) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 123.16

มูลค่าการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในครึ่งแรกของปี 2555 มีจำนวนประมาณ 22,607 ล้านบาท โดยมูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 1.25 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูปชนิดอื่นๆ ลดลง ร้อยละ 97.45 รองลงมา คือ เหล็กแท่งแบน (Slab)ลดลง ร้อยละ 82.50 และเหล็กลวด (Wire rod) ลดลง ร้อยละ 50.82 และเมื่อเทียบกับครึ่งหลังของปี 2554 พบว่า มูลค่าการส่งออกกลับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 25.17 เนื่องจากช่วงครึ่งหลังของปี 2554 เป็นช่วงน้ำท่วมซึ่งถึงแม้โรงงานเหล็กจะไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมแต่ก็มีผลกระทบทำให้การขนส่งลำบาก ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในช่วงหลังของปี 2554 ต่ำ โดยผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ เหล็กเส้น (Bar) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 135.38 รองลงมา คือ เหล็กแผ่นบางรีดร้อนชนิดกัดกรดและเคลือบน้ำมัน (HR sheet P&O) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 90.32 และ เหล็กแผ่นหนารีดร้อน (HR plate) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 73.49 รายละเอียดตามตารางที่ 3

2. สรุป

สถานการณ์เหล็กโดยรวมในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนพบว่าการผลิตโดยรวมลดลง ร้อยละ 9.74 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุดในช่วงนี้ คือผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 30.80 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลง ร้อยละ15.79 และเหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 6.01 ซึ่งสาเหตุที่เหล็กแผ่นรีดร้อนมีการผลิตที่ลดลงเป็นผลมาจากการที่ผู้ผลิตภายในประเทศต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงกับสินค้าที่นำเข้าจากประเทศจีนและเกาหลีใต้ โดยมียอดการนำเข้าขยายตัวสูงมากสำหรับกลุ่มที่เป็นเหล็กกล้าเจือ (Alloyed product) ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเหล็กกล้าเจือที่นำเข้านั้นเป็นผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีลักษณะของการนำไปใช้งานที่เหมือนกับกลุ่มเหล็กกล้าคาร์บอน แต่ผู้นำเข้าระบุว่าเป็นกลุ่มเหล็กกล้าเจือจึงไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า จากที่ต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตรา 5% ถ้าระบุว่าเป็นเหล็กกล้าคาร์บอน สำหรับความต้องการใช้ในประเทศ2555 มีจำนวนประมาณ 3,855,669 เมตริกตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.91เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.68 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่เหล็กทรงยาว กลับลดลงร้อยละ 0.70 เนื่องจากโครงการก่อสร้างของภาครัฐที่มีสถานการณ์ที่ทรงตัว ขณะเดียวกันการก่อสร้างของภาคเอกชนก็ยังคงทรงตัวเช่นเดียวกัน จึงเป็นผลทำให้ความต้องการใช้ในประเทศในเหล็กกลุ่มนี้ลดลงเล็กน้อย สำหรับมูลค่าการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 2 ปี2555 มีจำนวนประมาณ 102,465 ล้านบาท โดยมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 32.27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กในกลุ่มทรงยาว คือ เหล็กเส้น (Bar) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 202.89รองลงมาคือ เหล็กโครงสร้าง (HR section) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 194.86 และเหล็กลวด (Wire rod)เพิ่มขึ้น ร้อยละ 151.16 ในขณะที่มูลค่าการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 2 ปี2555 มีจำนวนประมาณ 11,611 ล้านบาท โดยมูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 3.01 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูปชนิดอื่นๆ ลดลง ร้อยละ 98.53 รองลงมา คือ เหล็กแผ่นหนารีดร้อน (HR plate) ลดลง ร้อยละ 75.75 และเหล็กลวด (Wire rod) ลดลง ร้อยละ 40.13

สถานการณ์เหล็กโดยรวมในครึ่งแรกของปี 2555 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน พบว่า การผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในครึ่งแรกของปี 2555 มีประมาณ 3,442,494เมตริกตัน ( ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) ลดลง ร้อยละ 7.27 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุดในช่วงนี้ คือ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 23.72 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 13.64 สำหรับความต้องการใช้ในประเทศในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 มีจำนวนประมาณ 7,926,782เมตริกตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.77 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยเหล็กในกลุ่มเหล็กทรงแบนเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.22 และเหล็กในกลุ่มทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.83 มูลค่าการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในครึ่งแรกของปี 2555 มีจำนวนประมาณ 198,760 ล้านบาท โดยมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 37.76 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กในกลุ่มทรงยาว คือเหล็กเส้น (Bar) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 207.36 รองลงมาคือ เหล็กลวด (Wire rod) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 179.20 และเหล็กโครงสร้าง (HR section) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 100.74 สำหรับเหล็กทรงแบนผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากในช่วงนี้ ได้แก่ เหล็กแผ่นบาง (HR Sheet) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 154.33 สำหรับมูลค่าการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในครึ่งแรกของปี 2555 มีจำนวนประมาณ 22,607 ล้านบาท โดยมูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 1.25 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูปชนิดอื่นๆ ลดลง ร้อยละ 97.45 รองลงมา คือ เหล็กแท่งแบน (Slab) ลดลง ร้อยละ 82.50 และเหล็กลวด (Wire rod) ลดลง ร้อยละ 50.82

3.แนวโน้ม

สถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 ในส่วนของเหล็กทรงแบนคาดการณ์ว่าการผลิตและความต้องการใช้ในประเทศจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องหลายอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ มีการเร่งการผลิตเพื่อให้เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ สำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ที่เป็นผู้ใช้เหล็กที่สำคัญ ได้แก่ ไฟฟ้า เครื่องจักรกล บรรจุภัณฑ์ ยังคงมีแนวโน้มการขยายตัวจึงส่งผลให้แนวโน้มของความต้องการใช้ในประเทศจะขยายตัวขึ้น แต่ในขณะเดียวกันยังมีปัจจัยที่ต้องระวังจากการขยายตัวของการนำเข้าเหล็กประเภทกลุ่มที่เป็นเหล็กกล้าเจือ (Alloyed product) ที่มีลักษณะของการนำไปใช้งานที่เหมือนกับกลุ่มเหล็กกล้าคาร์บอน แต่ผู้นำเข้าระบุว่าเป็นกลุ่มเหล็กกล้าเจือจึงไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า จากที่ต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตรา 5% ซึ่งช่วงนี้มีแนวโน้มการนำเข้าเหล็กประเภทนี้มากขึ้นทั้งในกลุ่มเหล็กแผ่นรีดร้อนและเหล็กลวดซึ่งส่งผลให้อุตสาหกรรมในประเทศไม่สามารถแข่งขันกับเหล็กที่นำเข้าได้และส่งผลให้การผลิตในประเทศลดลงด้วย ขณะเดียวกันในภาคอสังหาริมทรัพย์พบว่าโครงการต่างๆของภาครัฐและเอกชนยังคงทรงตัวอยู่จึงมีผลทำให้แนวโน้มสถานการณ์การผลิตและความต้องการใช้ในประเทศของเหล็กในกลุ่มทรงยาวทรงตัวด้วย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ