สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาส 2 ปี 2555 (เมษายน — มิถุนายน 2555)(อุตสาหกรรมพลาสติก)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 27, 2012 15:25 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกในช่วงไตรมาส 2 ปี 2555 ผลผลิตเพิ่มขึ้นไม่มากนักเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 เนื่องจากมีโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกบางแห่งเริ่มฟื้นตัวจากปัญหาอุทกภัย แต่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น

-การผลิต

การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นไม่มากนักเพียงร้อยละ 1.04 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 เนื่องจากมีโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกบางแห่งเริ่มฟื้นตัวจากปัญหาอุทกภัย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกลดลง 0.53

-การตลาดและการจำหน่าย

ดัชนีการส่งสินค้า

ไตรมาสที่ 2 ปี 2555 ดัชนีการส่งสินค้าผลิตภัณฑ์พลาสติกลดลงร้อยละ 0.84 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.28 เนื่องจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องยังฟื้นตัวจากปัญหาอุทกภัยไม่เต็มที่ รวมทั้งมีตัวเลขฐานในปี 2554 ค่อนข้างสูง นอกจากนี้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวโดยเฉพาะคู่ค้าหลักของไทย คือ จีน และญี่ปุ่นยังส่งผลให้การส่งออกในไตรมาสที่ 2 มีการขยายตัวต่ำอีกด้วย

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติก (พิกัด 3916-3926) ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2555 มีมูลค่าการส่งออกรวม 25,770 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.73 โดยเพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์สำคัญคือ พลาสติกปูพื้น (3918) เครื่องประกอบของอาคาร (3925) แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.81 ซึ่งเป็นการเพิ่มในเครื่องสุขภัณฑ์ (3922)หลอดหรือทอ (3917) ของที่ใช้ลำเลียงและบรรจุสินค้า (3923) ประเทศส่งออกที่สำคัญ คือ ญี่ปุ่นมาเลเซีย ออสเตรเลีย และอินโดนีเชีย

การนำเข้า

การนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติก ไตรมาส 2 ปี 2555 มูลค่าการนำเข้ารวม 30,020 ล้านบาท เทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.09 โดยเพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์สำคัญคือ ใยยาวเดี่ยว (3916) หลอดหรือท่อ (3917) แผ่นบางฟิล์ม (3919) เครื่องสุขภัณฑ์(3922) เครื่องประกอบอาคาร เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.18

การนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการที่บริษัทผู้ผลิตอุตสาหกรรมต่อเนื่องจำเป็นต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกมาทดแทนวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนพลาสติกที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ประกอบกับการที่รัฐได้มีมาตรการยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าบางประการเพื่อช่วยผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัย ยิ่งช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการนำเข้าสินค้ามาทดแทนมากขึ้น โดยประเทศไทยนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ จีน และมาเลเซียมากเป็นลำดับต้นๆ

  • นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกจังหวัดร้อยละ 40 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่ 1 เมษายน 2555 ส่งผลให้ 7 จังหวัด มีค่าจ้างสูงเป็น 300 บาทต่อวัน มีการประเมินว่านโยบายดังกล่าวทำให้ต้นทุนค่าแรงของอุตสาหกรรมผู้ผลิต (manufacturing) ที่รวมถึงอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2.13 อย่างไรตามยังมีปัจจัยเชิงบวกด้านนโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรกของรัฐบาล มีผลด้านตลาดในประเทศโดยจะทำให้ปริมาณความต้องการผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เป็นชิ้นส่วนรถยนต์เพิ่มขึ้น

สรุปและแนวโน้ม

การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกในช่วงไตรมาส 2 ปี 2555 ผลผลิตเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 เนื่องจากมีโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกบางแห่งเริ่มฟื้นตัวจากปัญหาอุทกภัย แต่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับประมาณการ GDPในปี 2555 จากร้อยละ 4.9 เป็นร้อยละ 6 ความเชื่อมั่นทางธุรกิจและดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวสูงขึ้น ทำให้คาดการณ์ว่าการบริโภคในประเทศจะมีมากขึ้น และส่งผลให้อุตสาหกรรมพลาสติกมีแนวโน้มขยายตัวตามสภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น

ประเด็นสำคัญในอุตสาหกรรมที่ต้องติดตาม

  • ความสามารถในการแข่งขันของประเทศคู่แข่ง เช่น ประเทศมาเลเซีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีต้นทุนการผลิตที่ได้เปรียบมากกว่าประเทศไทย
  • ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป
  • แนวโน้มราคาน้ำมันที่คาดว่าจะสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้ผู้ประกอบการต้องเริ่มกักตุนวัตถุดิบ(เม็ดพลาสติก)เพื่อที่จะไม่ต้องแบกรับภาระต้นทุนวัตถุดิบที่คาดว่าจะสูงขึ้นในช่วงปลายปี

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ