สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาส 2 ปี 2555 (เมษายน — มิถุนายน 2555)(อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 29, 2012 13:32 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสที่ 2 ส่วนใหญ่ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนทั้งเยื่อกระดาษ กระดาษแข็งและกระดาษคราฟท์ แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนการผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษแข็ง และกระดาษลูกฟูกสำหรับผลิตกล่องกระดาษบรรจุสินค้า ยังเพิ่มขึ้นตามภาคการผลิตของกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า เกษตร และบริการ ที่ยังต้องใช้กล่องบรรจุ สำหรับเยื่อกระดาษส่วนใหญ่ที่ผลิตได้ในเมืองไทยเป็นชนิดเยื่อใยสั้นจากไม้ยูคาลิปตัสที่ปลูกขึ้นเองและมีการปลูกหมุนเวียนและต่อเนื่อง

  • การผลิต

ในไตรมาส 2 ปี 2555 การผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม การผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน ได้แก่กระดาษพิมพ์เขียน และกระดาษลูกฟูก เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.22 และ 2.22 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิตในสัดส่วนที่เท่ากัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของตลาดภายในประเทศ สำหรับกระดาษลูกฟูกยังขยายตัวตามภาคการผลิตที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าโภคภัณฑ์ เครื่องสำอางค์ และยา ที่ยังต้องใช้กล่องกระดาษบรรจุในขณะที่การผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษแข็ง และกระดาษคราฟท์ ลดลงร้อยละ 5.51, 1.68 และ2.51 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษแข็ง และกระดาษลูกฟูก ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.73 , 0.44 และ 4.45 ตามลำดับ ส่วนกระดาษ พิมพ์เขียนโดยเฉพาะกระดาษที่นำไปผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ โบรชัวร์ แคตตาล็อก วารสาร ชะลอตัวลงร้อยละ 2.62(รายละเอียดตามตารางที่ 1 และ 2)

สำหรับครึ่งปีแรกปี 2555 ของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ตลาดในประเทศยังขยายตัวต่อเนื่องตามความต้องการบริโภค โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ที่กลุ่มผู้บริโภคยังเข้าไม่ถึงโซเชียลเน็ตเวิร์ก หรือกลุ่มบริโภคข่าวผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ก และวารสาร นอกจากนี้กลุ่มผู้ผลิตสิ่งพิมพ์ ยังสามารถแข่งขันและมีศักยภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล อีกทั้งปัจจุบันไทยเป็นฐานการผลิตกระดาษเพื่อการส่งออกมากขึ้น แต่การผลิตกระดาษยังไม่หลากหลายเหมือนตลาดต่างประเทศ ซึ่งกระดาษต่างประเทศจะมีความทึบแสง เบาและบาง เป็นต้น

  • การตลาดและการจำหน่าย

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

1. เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ไตรมาส 2 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 18.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 30.55 และ 36.60 (รายละเอียดตามตารางที่ 3 และ 4) เนื่องจากการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ลดลงตามคำสั่ง ซื้อ โดยเฉพาะตลาดส่งออกหลักอย่างประเทศจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และไต้หวัน ลดลงร้อยละ 6.52, 24.52, 44.97 และ 20.05 ตามลำดับ แต่อย่างไรก็ตามความต้องการใช้เยื่อกระดาษในประเทศเวียดนาม และอินเดีย ยังขยายตัวเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดส่งออกหลักของเยื่อกระดาษและเศษกระดาษในไตรมาสนี้ อาทิ ประเทศจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม สัดส่วนร้อยละ 61.22, 9.75, 6.75 และ 5.26 ตามลำดับ

2. กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ไตรมาส 2 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 326.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.00 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน โดยเพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษคราฟท์สำหรับใช้ทำกล่องกระดาษลูกฟูก ส่งออกเพิ่มขึ้นในประเทศเวียดนาม และเกาหลีใต้ ร้อยละ 4.56 และ 3.60 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การส่งออกกระดาษและผลิตภัณท์กระดาษลดลงร้อยละ14.05 (รายละเอียดตามตารางที่ 3 และ 4) และหากพิจารณาปริมาณการส่งออกกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษในไตรมาสนี้ พบว่า มีทิศทางลดลงเช่นเดียวกันกับมูลค่าการส่งออก โดยมีมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าหลักลดลง อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ ออสเตรเลีย ลดลงร้อยละ 49.92, 18.72 และ 50.20 ตามลำดับ อีกทั้งปัจจัยด้านราคาในไตรมาสนี้ได้ปรับตัวสูงขึ้นกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยประเทศส่งออกหลักกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษในไตรมาสนี้ อาทิประเทศเวียดนาม เกาหลีใต้ มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย สัดส่วนร้อยละ 12.98, 8.75,7.88 และ 7.44 ตามลำดับ

3. หนังสือและสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 2 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 18.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 98.41 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนและลดลงร้อยละ13.92 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และหากพิจารณาปริมาณการส่งออกหนังสือและสิ่งพิมพ์ของไตรมาสนี้กับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงในทิศทางเดียวกันกับมูลค่าการส่งออก ร้อยละ 17.04 และ 28.46 ตามลำดับ (รายละเอียดตามตารางที่ 3 และ 4) ซึ่งสาเหตุหลักที่การส่งออกลดลงทั้งมูลค่าและปริมาณ เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐอเมริกา ลดลงกว่าร้อยละ 50.00 เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศและความต้องการบริโภคลดลง โดยตลาดส่งออกหนังสือและสิ่งพิมพ์ของไทยในไตรมาสนี้ อาทิ ประเทศอินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา เวียดนาม พม่า และสิงคโปร์ สัดส่วนร้อยละ 11.56, 10.23, 9.06, 8.42 และ 7.09 ตามลำดับ

การนำเข้า

1. เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ไตรมาส 2 ปี 2555 มีมูลค่านำเข้า 128.26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 33.17 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 40.70 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และหากพิจารณาปริมาณการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ปริมาณนำเข้าลดลงเช่นเดียวกันร้อยละ 38.54 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 28.66 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการใช้เยื่อกระดาษและเศษกระดาษในประเทศลดลง ประกอบกับไตรมาสก่อนได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ส่งผลให้ผู้ประกอบการยังไม่สามารถกลับมาผลิตได้เหมือนเดิม (รายละเอียดตามตารางที่ 5 และ 6) ตลาดนำเข้าหลักในไตรมาสนี้ อาทิ ประเทศแคนาดา สหรัฐอเมริกาแอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น และชิลี สัดส่วนร้อยละ 17.64, 13.71, 13.49, 10.20 และ 7.21 ตามลำดับ

2. กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ไตรมาส 2 ปี 2555 มีมูลค่า 404.70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.75 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ลดลงร้อยละ 2.90เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สำหรับปริมาณการนำเข้ากระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.38 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.82 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยสาเหตุที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นทั้งด้านปริมาณและมูลค่าในไตรมาสนี้เนื่องจากในไตรมาสก่อนเกิดอุทกภัยในประเทศที่ส่งผลต่อการผลิตกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษในประเทศ ประกอบกับในไตรมาสนี้ความต้องการบริโภคมีปริมาณมากขึ้น และมีการขยายตัวของการนำเข้ากระดาษคราฟท์จากประเทศสวีเดน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และจีน เพื่อนำมาใช้สำหรับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ แหล่งนำเข้าที่สำคัญในไตรมาสนี้ อาทิ จีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่นและ อินโดนีเซีย สัดส่วนร้อยละ 16.54, 14.11, 12.89 และ 9.07 ตามลำดับ

3. หนังสือและสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 2 ปี 2555 มีมูลค่า 57.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 7.20 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.15 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าสิ่งพิมพ์ที่เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย อาทิ ภาพพิมพ์ภาพถ่าย หนังสือ และวารสาร ซึ่งสิ่งพิมพ์ดังกล่าวจะมีมูลค่าสูงกว่าสิ่งพิมพ์ประเภทอื่นๆ และหากพิจารณาปริมาณการนำเข้าสิ่งพิมพ์ของไตรมาสนี้เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.74แต่ลดลงร้อยละ 8.53 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (รายละเอียดตามตารางที่ 5 และ 6)สาเหตุที่ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นสวนทางกับมูลค่าการนำเข้าเป็นผลมาจากน้ำหนักและมูลค่าของสิ่งพิมพ์แต่ละประเภทที่นำเข้าแตกต่างกัน ในลักษณะสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือที่เป็นรูปเล่มหรือแผ่น อาทิ ตำราแบบเรียน นิตยสาร วารสารต่างๆ โดยแหล่งนำเข้าหลักในไตรมาสนี้ อาทิประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และ สหราชอาณาจักร สัดส่วนร้อยละ 30.14, 10.93 และ 10.74 ตามลำดับ

  • สรุปและแนวโน้ม

สรุปภาวะการผลิต และการนำเข้า อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์โดยรวมในไตรมาส 2 ปี 2555 ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยกระดาษพิมพ์เขียนในประเทศมีแนวโน้มการเติบโตชะลอตัว เนื่องจากสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์ก เข้ามาแทนที่ โดยเฉพาะกระดาษที่นำไปผลิตเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ วารสารต่างๆ มีความต้องการใช้ลดลง แต่ในขณะเดียวกันกระดาษลูกฟูกสำหรับผลิตกล่องบรรจุสินค้า มีแนวโน้มขยายตัวตามภาคการผลิตที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าโภคภัณฑ์เครื่องสำอางค์ และยา เป็นต้น สำหรับภาคการส่งออกในไตรมาสนี้ส่วนใหญ่ยังติดลบ เนื่องจากการผลิตยังไม่เพียงพอต่อการใช้ในประเทศ ประกอบกับปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจกลุ่มสหภาพยุโรปที่ยังไม่แน่นอน และสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้นำเข้าหนังสือและสิ่งพิมพ์รายใหญ่จากไทย ชะลอการนำเข้า

แนวโน้มของภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในไตรมาส 3 ปี 2555 คาดว่า จะเพิ่มขึ้นทั้งภาคการผลิต การส่งออก และการนำเข้า ทั้งนี้มีปัจจัยบวกในประเทศโดยเฉพาะกระดาษพิมพ์เขียน ซึ่งยังมีกลุ่มผู้บริโภคข่าวสารผ่านสื่อสิ่งพิมพ์อยู่จำนวนมากอุตสาหกรรมหลักที่ต้องใช้กระดาษสำหรับผลิตกล่องกระดาษและบรรจุภัณฑ์รวมทั้งสิ่งพิมพ์ ได้แก่อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์อาหาร เป็นต้น สำหรับปัจจัยบวกจากภายนอก ได้แก่ แนวโน้มตลาดคู่ค้าที่สำคัญของไทยในภูมิภาคเอเชีย อาทิ ฮ่องกง จีนยังคงมีการขยายตัวในการส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไปยังประเทศเหล่านี้สูงกว่ากลุ่มประเทศอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง สำหรับปัจจัยลบอาจส่งผลกระทบการผลิตจากวิกฤตเศรษฐกิจของกลุ่มสหภาพยุโรป อาจทำให้ทั้งการผลิต การบริโภค การส่งออก และการนำเข้าเกิดการชะลอตัว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ