สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาส 2 ปี 2555 (เมษายน — มิถุนายน 2555)(อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 29, 2012 14:03 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศชะลอตัวลง เนื่องจากเข้าฤดูฝน สำหรับการส่งออกอยู่ในช่วงชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ และตามฤดูกาล

  • การผลิต

การผลิตปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 9.08 ล้านตันการผลิตซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 9.87 ล้านตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตปูนเม็ด ลดลงร้อยละ 10.81 และ 5.45 ตามลำดับ ส่วนการผลิตปูนซีเมนต์(ไม่รวมปูนเม็ด) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 4.65 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.21 อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาในภาพรวมในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2555ปริมาณการผลิตทั้งปูนซีเมนต์ และปูนเม็ด เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ7.19 และ 0.83 ตามลำดับ

  • การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ไตรมาสที่ 2 ปี 2555 มีปริมาณการจำหน่ายรวม 8.18 ล้านตัน แบ่งออกเป็นการจำหน่ายปูนเม็ด 0.23 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 7.95 ล้านตัน โดยปริมาณการจำหน่ายรวมในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลง ร้อยละ 3.69 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.96 และหากพิจารณาในภาพรวมในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2555 ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่สองของปี2555 ลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ทั้งนี้ เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝนมีอุปสรรคในการก่อสร้างอีกทั้งเป็นช่วงซ่อมบำรุงของโรงงานปูนซีเมนต์ แต่หากพิจารณาในภาพรวมในครึ่งปีแรก ทั้งการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้เนื่องจากความต้องการใช้เพิ่มขึ้นเพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น และการขยายตัวของภาคก่อสร้างตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 2 ปี 2555 มีปริมาณการส่งออกรวม 3.13 ล้านตันคิดเป็นมูลค่า 157.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นการส่งออกปูนเม็ด จำนวน 1.45 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 62.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ด ลดลงร้อยละ 31.43 และ 29.96 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ด ลดลงร้อยละ 26.76 และ 19.08 ตามลำดับ ในส่วนของปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) มีปริมาณการส่งออกจำนวน 1.67 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 95.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด)ลดลงร้อยละ 10.93 และ 9.61 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.24 และ 20.20 ตามลำดับ

ปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ที่ลดลงในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 เนื่องจากในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยย่างเข้าฤดูฝนเช่นเดียวกัน จึงเป็นอุปสรรคในการก่อสร้าง ประกอบกับตลาดปูนซีเมนต์มีการแข่งขันสูงขึ้น ทำให้ยอดการส่งออกไปยังบังคลาเทศลดลงมาก ทั้งนี้เนื่องจากมีคู่แข่งรายใหม่ในภูมิภาคนี้คือ เวียดนาม แต่หากพิจารณาในภาพรวมในครึ่งปีแรกของปี 2555 เมื่อเทียบกับปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออก เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.17และ 19.41 ตามลำดับ ทั้งนี้เนื่องจากประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์เพิ่มสูงขึ้น เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย คือ เมียนมาร์ กัมพูชา บังคลาเทศ ลาว และอินโดนีเซีย ตามลำดับ

การนำเข้า

การนำเข้าปูนซีเมนต์ไตรมาสที่ 2 ปี 2555 มีปริมาณรวม 4,538.17 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการนำเข้ารวม ลดลงร้อยละ 1.46 และ 3.24 ตามลำดับ ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาล แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปริมาณและมูลค่านำเข้ารวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.17 และ 13.64 ตามลำดับ โดยเป็นการนำเข้าปูนเม็ดจำนวน 106.23 ตัน คิดเป็นมูลค่า 0.05 ล้านเหรียญสหรัฐ ปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) จำนวน4,431.94 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ การนำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นอะลูมินัสซีเมนต์ ซึ่งไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ และบางส่วนเป็นการนำเข้าซีเมนต์ปอร์ตแลนด์คุณภาพสูงเพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ระบุคุณสมบัติของวัสดุที่นำมาก่อสร้าง แหล่งนำเข้าที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทย คือ จีน รองลงมาคือ เนเธอร์แลนด์ อินเดีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ตามลำดับ

-ราคาสินค้า

ราคาปูนซีเมนต์มีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากผลกระทบจากราคาเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญ รวมทั้งต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อราคาปูนซีเมนต์ในระยะต่อไปอย่างไรก็ตาม ปูนซีเมนต์จัดอยู่ในกลุ่มสินค้าควบคุม การขึ้นราคาต้องได้รับอนุมัติจากกระทรวงพาณิชย์ก่อน

  • นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลมีมาตรการ/นโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ทางอ้อม โดยใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นกำลังซื้อ เช่น โครงการบ้านหลังแรก รวมทั้งการลงทุนในสาธารณูปโภคและโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล ทำให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นในการขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น

  • สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 2 ของปี2555 ชะลอตัวลง เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ทั้งนี้ เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝนเป็นอุปสรรคในการก่อสร้าง และเป็นช่วงซ่อมบำรุงของโรงงานปูนซีเมนต์ แต่หากพิจารณาในภาพรวมในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2555 เมื่อเทียบกับปีก่อน การผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้เพื่อการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่เสียหายจากอุทกภัย และเตรียมรับมือกับภัยธรรมชาติต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นอีก อีกทั้งความต้องการใช้เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายเร่งรัดพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมออกสู่ชานเมือง และนโยบายบ้านหลังแรก ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน

ปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ที่ลดลงในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 เนื่องจากในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ย่างเข้าฤดูฝนเป็นอุปสรรคในการก่อสร้าง สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย คือ เมียนมาร์ กัมพูชา บังคลาเทศ ลาว และอินโดนีเซีย ตามลำดับ

แนวโน้ม

แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2555 คาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จะยังคงชะลอตัว เนื่องจากเป็นไปตามฤดูกาล ทั้งนี้ การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศจะขยายตัวอีกครั้งในช่วงไตรมาสที่ 4 ตามวัฏจักรของการก่อสร้าง โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลัก คือ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ

สำหรับการส่งออกปูนซีเมนต์ในไตรมาส 3 ปี 2555 คาดว่ายังคงชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก ประกอบกับตลาดส่งออกหลักของไทย ซึ่งอยู่ในแถบอาเซียนอยู่ในช่วงฤดูฝนเป็นอุปสรรคในการก่อสร้าง

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ