สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาส 2 ปี 2555 (เมษายน — มิถุนายน 2555)(อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 29, 2012 14:10 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 การผลิตและการจำหน่ายของผ้าที่ได้จากการถักนิตติ้งและโครเชท์และเครื่องแต่งกายที่ผลิตจากขนสัตว์ยังคงชะลอตัว เนื่องจากโรงงานผลิตบางส่วนยังผลิตได้ไม่เต็มกำลังการผลิตและวิกฤตหนี้สาธาณะยุโรปมีส่วนส่งผลต่อคำสั่งซื้อที่ลดลง สำหรับการส่งออกในไตรมาสนี้ ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 3.29 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 15.96เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

การผลิตและการจำหน่าย

  • การผลิตเส้นใยสิ่งทอรวมทั้งการทอสิ่งทอ (ISIC 1711) ในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 ขยายตัวจากไตรมาสก่อน โดยดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.23 ดันชีส่งสินค้าหรือดัชนีการจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.84 ส่วนดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลงร้อยละ 11.25 อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 20.85 ดัชนีส่งสินค้าลดลงร้อยละ 16.23 และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.44
  • การผลิตผ้าที่ได้จากการถักนิตติ้งหรือโครเชท์ (ISIC 1730) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 7.22 เนื่องจากโรงงานผลิตบางส่วนยังผลิตได้ไม่เต็มกำลังการผลิตประกอบกับวิกฤตหนี้สาธารณะยุโรป ซึ่งมีส่วนส่งผลต่อคำสั่งซื้อที่ลดลง ดัชนีส่งสินค้าลดลงร้อยละ4.88 และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลงร้อยละ 3.71 หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 29.53 ดัชนีส่งสินค้าลดลงร้อยละ 12.15 และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.09
  • การผลิตเครื่องแต่งกายยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ผลิตจากขนสัตว์ (ISIC 1810) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 2.64 ดัชนีส่งสินค้าหรือดัชนีการจำหน่ายลดลงร้อยละ 3.64 สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตที่ลดลง ส่วนดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.30 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากวิกฤตหนี้สาธารณะยุโรป หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 9.99 ดัชนีส่งสินค้าลดลงร้อยละ 4.21 และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.43

การตลาด

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไตรมาสที่ 2 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก1,761.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 3.29 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ที่มีมูลค่าการส่งออก 1,821.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และลดลงร้อยละ 15.96 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 2,096.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยจำแนกผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ ๆ ดังนี้

1. เครื่องนุ่งห่ม ไตรมาสที่ 2 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 733.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 2.12 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 749.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และลดลงร้อยละ 13.57 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 849.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดร้อยละ 85.76 ของการส่งออกเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด

2. ผ้าผืนและด้าย ไตรมาสที่ 2 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 558.68 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 1.14 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 565.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และลดลงร้อยละ 20.16 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 699.73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยผ้าผืนมีมูลค่าการส่งออก 357.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 64.03 และด้ายและเส้นใยประดิษฐ์มีมูลค่าการส่งออก 200.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35.97

3. เคหะสิ่งทอ ไตรมาสที่ 2 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 67.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.02 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 63.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯและลดลงร้อยละ 15.11 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 79.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

4. เส้นใยประดิษฐ์ ไตรมาสที่ 2 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 187.29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 12.74 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 214.64ล้านเหรียญสหรัฐฯ และลดลงร้อยละ 14.48 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 218.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ตลาดส่งออก

ตลาดส่งออกที่สำคัญของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย มีดังนี้อาเซียน ไตรมาสที่ 2 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 364.17 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลงร้อยละ 7.01 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 3.03 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.67 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นผ้าผืน เส้นใยประดิษฐ์ สิ่งทออื่นๆ และเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น

สหภาพยุโรป ไตรมาสที่ 2 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 285.63 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.56 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 27.50 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.22 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นเครื่องนุ่งห่ม ผ้าผืน และด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ เป็นต้น

สหรัฐอเมริกา ไตรมาสที่ 2 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 290.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 3.45 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 21.19 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.47 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด สินค้าที่ส่งออกส่วนใหญ่เป็นเครื่องนุ่งห่ม เคหะสิ่งทอ สิ่งทออื่นๆ และเส้นใยประดิษฐ์ ตามลำดับ

ญี่ปุ่น ไตรมาสที่ 2 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 156.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 9.11 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 12.97 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.88 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด โดยสินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มของเครื่องนุ่งห่ม สิ่งทออื่นๆ ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ และผ้าผืน เป็นต้น

การนำเข้า

การนำเข้าสิ่งทอในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 ผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่นำเข้าส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เช่น เส้นใยใช้ในการทอ ด้ายทอผ้า ผ้าผืน และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆผลิตภัณฑ์สำคัญที่นำเข้า แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสิ่งทอ และ กลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยมี

รายละเอียดดังนี้

1. กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอ (เส้นใยฯ เส้นด้ายฯ ผ้าผืน และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ) รวมทั้งสิ้น 1,265.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.59 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.88 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าถึงร้อยละ 91.31 ของมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโดยรวม ผลิตภัณฑ์สำคัญที่นำเข้ามีดังนี้

1.1 เส้นใยที่ใช้ในการทอ มีมูลค่านำเข้า 385.83 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.01 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 279.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และลดลงร้อยละ 13.25 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกาออสเตรเลีย และบราซิล สัดส่วนนำเข้าร้อยละ 18.25, 11.60 และ 10.69 ตามลำดับ

1.2 ด้ายทอผ้าฯ มีมูลค่านำเข้า 208.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.97 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 204.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ9.15 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และไต้หวันสัดส่วนนำเข้าร้อยละ 28.17, 18.80 และ 12.48 ตามลำดับ

1.3 ผ้าผืน มีมูลค่านำเข้า 496.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.76 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 460.42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.66เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น สัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 46.48, 12.26 และ 8.24 ตามลำดับ

1.4 ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ มีมูลค่านำเข้า 86.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนร้อยละ 17.76 ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 105.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.59 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน สัดส่วนนำเข้าร้อยละ 44.71, 13.46 และ 5.52 ตามลำดับ

2. กลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่านำเข้าทั้งสิ้น 120.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 9.87 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 133.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯแต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.39 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.69ของการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด ตลาดนำเข้าหลักคือ จีน ญี่ปุ่น และฮ่องกง สัดส่วนร้อยละ 57.47, 3.73 และ 3.70 ตามลำดับ

3. เครื่องจักรสิ่งทอ มีมูลค่านำเข้า 131.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ42.22 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 92.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ45.34 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และเยอรมนีสัดส่วนนำเข้าร้อยละ 30.15, 20.33 และ 13.49 ตามลำดับ

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 การผลิตและการจำหน่ายของผ้าที่ได้จากการถักนิตติ้งและโครเชท์และเครื่องแต่งกายที่ผลิตจากขนสัตว์ยังคงชะลอตัว เนื่องจากโรงงานผลิตบางส่วนยังผลิตได้ไม่เต็มกำลังการผลิต ประกอบกับวิกฤตหนี้สาธาณะยุโรปมีส่วนส่งผลต่อคำสั่งซื้อที่ลดลง

ด้านการส่งออกในไตรมาสนี้ ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 3.29 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและลดลงร้อยละ 15.96 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการส่งออกเครื่องนุ่งห่มลดลงร้อยละ 2.12 และผ้าผืนและด้ายลดลงร้อยละ 1.14

แนวโน้ม

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการส่งออกในไตรมาส 3 ปี 2555 คาดว่าจะหดตัวจากไตรมาสที่ 2 ปี 2555 จากราคาฝ้ายปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ประกอบกับปัจจัยเสี่ยงของการส่งออกของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจากภาวะเศรษฐกิจในตลาดส่งออกหลักอย่างสหภาพยุโรปที่ยังมีปัญหาอยู่ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจในตลาดส่งออกหลักอย่างสหรัฐอเมริกาที่ยังชะลอตัว ซึ่งผู้ประกอบการไทยคงต้องหาแนวทางขยายการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ