สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาส 2 ปี 2555 (เมษายน — มิถุนายน 2555)(อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 29, 2012 14:57 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ความต้องการผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ในตลาดสหรัฐอเมริกา และตลาดสหภาพยุโรป ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง และปัญหาวิกฤตการเงินในที่เกิดขึ้นในสหภาพยุโรป

การผลิต

การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับตลาดการปรับเปลี่ยนเครื่องเรือนใหม่เพื่อทดแทนของเดิมที่เสียหายจากน้ำท่วม โดยไตรมาส 2 ปี 2555 การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ มีปริมาณ 2.17 ล้านชิ้น (ดังตารางที่ 1) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.40 และ 9.05 ตามลำดับ สำหรับการผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 มีปริมาณ 4.31 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.65

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ยังไม่สามารถเติบโตจากความต้องการปรับเปลี่ยนเครื่องเรือนใหม่ได้ เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศยังฟื้นตัวได้ไม่มากนัก ผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นและระมัดระวังการใช้จ่าย โดยไตรมาส 2 ปี 2555 การจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ มีปริมาณ 0.89 ล้านชิ้น (ดังตารางที่ 2) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 3.26 และ 6.32 ตามลำดับ สำหรับการจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 มีปริมาณ 1.81 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ4.74

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 2 ปี 2555 มีมูลค่ารวม 728.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ดังตารางที่ 3) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 2.22 และ 2.99 ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากความต้องการผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนในตลาดสหรัฐอเมริกา และตลาดสหภาพยุโรป ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง และปัญหาวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นในสหภาพยุโรป

การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 มีมูลค่ารวม 1,473.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.90 โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น คือ กลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น เพิ่มขึ้นในตลาดหลักทั้ง จีน และญี่ปุ่น

สำหรับรายละเอียดการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน แบ่งเป็น 3 กลุ่มประเภทสินค้า ดังนี้

1) กลุ่มเครื่องเรือนและชิ้นส่วน ประกอบด้วย เครื่องเรือนไม้ เครื่องเรือนอื่นๆ และชิ้นส่วนเครื่องเรือน ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มนี้ คือ ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย การส่งออกเครื่องเรือนและชิ้นส่วน มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 32 ของมูลค่าส่งออกรวมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ เครื่องเรือนไม้

การส่งออกเครื่องเรือนและชิ้นส่วน ไตรมาส 2 ปี 2555 มีมูลค่ารวม 232.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.17และ 4.05 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกเครื่องเรือนและชิ้นส่วน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 มีมูลค่ารวม 467.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 5.64

2) กลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้ ประกอบด้วย เครื่องใช้ทำด้วยไม้ อุปกรณ์ก่อสร้างไม้ กรอบรูปไม้ และรูปแกะสลักไม้ ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มนี้ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นสวิตเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7ของมูลค่าส่งออกรวมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ เครื่องใช้ทำด้วยไม้

การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ ไตรมาส 2 ปี 2555 มีมูลค่ารวม 52.62 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 3.93 และ11.52 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 มีมูลค่ารวม 107.39ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 8.17

3) กลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ประกอบด้วย ไม้แปรรูป แผ่นไม้วีเนียร์ ไม้อัดไฟเบอร์บอร์ด (Fiber Board) และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้อื่น ๆ ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มนี้ คือประเทศจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย และเวียดนาม การส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 61 ของมูลค่าส่งออกรวมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือไม้แปรรูป รองลงมาคือ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้อื่นๆ

การส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ไตรมาส 2 ปี 2555 มีมูลค่ารวม 443.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.55 และ 1.28 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ในช่วงครึ่งแรกของปี 2555มีมูลค่ารวม 898.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.51

การนำเข้า

การนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้า ไม้แปรรูป ไม้อัดและไม้วีเนียร์ และไม้ซุง เพื่อนำมาผลิตเป็นสินค้าต่อเนื่องในอุตสาหกรรมเครื่องเรือน โดยไม้แปรรูปส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศมาเลเซีย ลาว และนิวซีแลนด์ ไม้อัดและไม้วีเนียร์ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย และไม้ซุงส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศเมียนมาร์ มาเลเซียและนิวซีแลนด์

การนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 2 ปี 2555 มีมูลค่ารวม 175.92 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.38 และ 13.90 ตามลำดับ สำหรับการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 มีมูลค่ารวม 347.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.88

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 2 ปี 2555 มีการผลิตเพื่อรองรับตลาดการปรับเปลี่ยนเครื่องเรือนใหม่ทดแทนของเดิมที่เสียหายจากน้ำท่วม แต่การจำหน่ายยังไม่สามารถเติบโตได้ เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศยังฟื้นตัวได้ไม่มากนัก ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่น และระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น

การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 2 ปี 2555 ลดลงจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง รวมทั้งได้รับผลกระทบจากการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปสำหรับการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 2 ปี 2555 ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้า ไม้แปรรูป ไม้อัดและไม้วีเนียร์ และไม้ซุง เพื่อนำมาผลิตเป็นสินค้าต่อเนื่องในอุตสาหกรรมเครื่องเรือน

แนวโน้ม

การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 3 ปี 2555 มีแนวโน้มลดลงเนื่องจาก ปัญหาวัตถุดิบไม้ยางพาราที่ยังขาดแคลนและมีราคาสูงขึ้น รวมทั้งต้นทุนการผลิตอื่นที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การผลิตเพื่อการส่งออกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ไม่สามารถเติบโตได้

การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 3 ปี 2555 มีแนวโน้มลดลงเนื่องจาก ตลาดหลักของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป มีความต้องการไม้และเครื่องเรือนของไทย ลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การหาตลาดใหม่ในแถบเอเชียที่มีกำลังซื้อสูง เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อทดแทนตลาดเดิม อาจทำให้การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ สำหรับการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 3 ปี 2555 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าวัตถุดิบไม้ที่ใช้ในการผลิตเครื่องเรือนเป็นสำคัญ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ