สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาส 2 ปี 2555 (เมษายน — มิถุนายน 2555)(อุตสาหกรรมยา)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 29, 2012 15:03 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมยาในภาพรวม ไตรมาสนี้มีการปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน เนื่องจากเข้าสู่ช่วงกลางปีซึ่งจะมีคำสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมากต่อเนื่องถึงไตรมาสหน้าตามวัฏจักรของธุรกิจนี้ประกอบกับผู้ผลิตที่ประสบปัญหาอุทกภัยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เริ่มกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ

การผลิต

ไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 การผลิตยาในประเทศมีปริมาณ 8,119.86 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ร้อยละ 2.52 และร้อยละ 7.60 ตามลำดับ สำหรับช่วงครึ่งปีแรกของปี 2555 มีปริมาณการผลิต 15,666.02 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.28 โดยปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากช่วงปลายปีก่อน ต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกของปีนี้ มีผู้ผลิตยาและ Supplier ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากปัญหาอุทกภัย ทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าหรือต้องลดปริมาณการผลิตลง และเมื่อเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ จึงเร่งดำเนินการผลิตมากขึ้น นอกจากนี้ปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ยังเป็นผลจากคำสั่งซื้อที่จะเริ่มเข้ามาจำนวนมากในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายยาในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 มีปริมาณ 6,491.57 ตัน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 10.18 สำหรับปริมาณการจำหน่ายช่วงครึ่งปีแรกของปี 2555 มีปริมาณ 12,767.37 ตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 12 เนื่องจากในปีนี้ภาครัฐมีมาตรการควบคุมการจำหน่ายยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนทุกสูตรอย่างเข้มงวด โดยกำหนดให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ตาม พ.ร.บ. วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 เพราะสามารถนำไปผลิตเป็นยาเสพติดได้ ทำให้ยาเม็ดและยาน้ำที่มีสูตรผสมของสารดังกล่าว ถูกจำกัดการจำหน่าย โดยยานี้มีได้เฉพาะในโรงพยาบาลของรัฐ และโรงพยาบาลเอกชนที่มีใบอนุญาตเท่านั้น พร้อมทั้งให้ร้านขายยาคืนยากับผู้ผลิต ตลอดจนจำกัดการนำเข้ายาประเภทนี้จากต่างประเทศ

อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.44 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นกว่าไตรมาสแรก ตามวัฐจักรธุรกิจที่จะจำหน่ายสินค้าได้ดีช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3ของปี เนื่องจากเข้าสู่ปลายปีงบประมาณ ทำให้โรงพยาบาลของรัฐเร่งการใช้จ่ายงบประมาณ

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 มีมูลค่า 1,728.80 ล้านบาทขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ร้อยละ 2.31 และ 14.76 ตามลำดับโดยตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เมียนมาร์ เวียดนาม กัมพูชา ญี่ปุ่น และมาเลเซีย มีมูลค่าการส่งออกรวม 1,102.31 ล้านบาท หรือร้อยละ 63.76 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

สำหรับช่วงครึ่งปีแรกของปี 2555 การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคมีมูลค่า 3,235.29ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.66 โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่เมียนมาร์ เวียดนาม กัมพูชา ญี่ปุ่น และมาเลเซีย มีมูลค่าการส่งออกรวม 2,092.89 ล้านบาท หรือร้อยละ 64.69 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

ตลาดส่งออกยาที่สำคัญของไทย คือ อาเซียน แต่มีข้อสังเกตว่าการส่งออกไปญี่ปุ่นมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปีก่อน ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีบริษัทจากญี่ปุ่นมาลงทุนผลิตในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เพื่อใช้โรงงานที่ร่วมทุนกับผู้ผลิตในประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยา และส่งออกไปยังประเทศดังกล่าว นอกจากนี้การขยายตัวของการส่งออก ยังมีผลมาจากการที่ผู้ผลิตได้พัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพเป็นที่เชื่อมั่นของประเทศคู่ค้า และสามารถหาตลาดส่งออกใหม่ ๆรวมทั้งผู้ผลิตรายใหญ่ของไทยมีความพร้อมและได้รับความไว้วางใจจากผู้ผลิตเวชภัณฑ์ชั้นนำของโลกว่าจ้างผลิตสินค้า เพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ

การนำเข้า

การนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 มีมูลค่า 11,708.57 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ร้อยละ 21.49 และ 7.11 ตามลำดับโดยตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี มีมูลค่าการนำเข้ารวม 5,341.37 ล้านบาท หรือร้อยละ 45.62 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด สำหรับการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคช่วงครึ่งปีแรกของปี 2555 มีมูลค่า 22,639.98 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 21.77 หรือร้อยละ 44.37 โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส และสหราช-อาณาจักร

การนำเข้ายามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา การนำเข้าเริ่มเติบโตในอัตราที่ลดลง จากนโยบายควบคุมการเบิกจ่ายยาในระบบสวัสดิการของรัฐ อย่างไรก็ตามเมื่อประเทศไทยประสบกับเหตุการณ์อุทกภัยช่วงปลายปีก่อน ทำให้ผู้ผลิตยาได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่งผลให้ยาหลายประเภทผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ แม้ผู้ผลิตบางรายได้ฟื้นตัวและกลับมาเร่งการผลิตแล้ว แต่มีผู้ผลิตบางรายยังฟื้นฟูไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากต้องใช้เวลาในการตรวจสอบระบบมาตรฐานการผลิตให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่ภาครัฐกำหนดไว้ ทำให้การนำเข้ายาจากต่างประเทศในปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก โดยเป็นการนำเข้ายาต้นตำรับจากตลาดสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป และการนำเข้ายาสามัญราคาถูกจากจีน และอินเดีย

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

1. คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2555 อนุมัติงบประมาณสำหรับงานหลักประกันคุณภาพถ้วนหน้าประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 วงเงินทั้งสิ้น 109,718,581,300 บาท ประกอบด้วย งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วงเงิน 108,507,461,000 บาท โดยจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว ในอัตรา 2,755.60 บาทต่อหัวประชากร ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับที่ตั้งในปีงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2555 และงบบริหารจัดการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วงเงิน 1,211,120,300 บาท

2. คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2555 เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วและให้ดำเนินการต่อไปได้

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ปริมาณการผลิตยาไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากผู้ผลิตยาเร่งทำการผลิต หลังจากที่ผู้ผลิตและ Supplier ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากปัญหาอุทกภัยในช่วงปลายปี ทำให้ไม่สามารถผลิตได้ หรือผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ อย่างไรก็ตามปริมาณการจำหน่ายกลับลดลง เนื่องจากในปีนี้ยาที่เคยจำหน่ายได้ดีถูกควบคุมการจำหน่ายอย่างเข้มงวด สำหรับการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับความเชื่อมั่นในการผลิตสินค้าจากประเทศคู่ค้าและผู้จ้างผลิต ส่วนการนำเข้ายังคงขยายตัวต่อเนื่องเช่นที่ผ่านมา จากสาเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้น เป็นปัจจัยสนับสนุนให้มูลค่าการนำเข้าขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเพราะมีกำลังการผลิตบางส่วนขาดหายไป

แนวโน้ม

ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงปลายปีงบประมาณซึ่งโรงพยาบาลของรัฐจะเร่งการใช้จ่ายงบประมาณ ประกอบกับผู้ผลิตรายใหญ่ที่ประสบอุทกภัยจะสามารถฟื้นตัวและกลับมาผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกได้ตามปกติ นอกจากนี้ยังมีการขึ้นทะเบียนยาสามัญรายการใหม่หลายรายการ ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาที่มีคุณภาพและราคาถูกลงได้มากขึ้น สำหรับมูลค่าการนำเข้า คาดว่า จะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากการนำเข้ายาสิทธิบัตร ตลอดจนยาสามัญที่เริ่มเข้ามาแข่งขันกับผู้ผลิตในประเทศมากขึ้นส่วนมูลค่าการส่งออก คาดว่า จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตยาชั้นนำ ต้องการหาพันธมิตรทางธุรกิจกับผู้ผลิตในประเทศ โดยการว่าจ้างให้ทำการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในตลาดอาเซียนมากขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ