อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางชะลอตัวลง ทั้งในส่วนของการจำหน่ายในประเทศและการส่งออก เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาเริ่มขยายตัวเป็นวงกว้างกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ยาง และความต้องการใช้ยางพาราเพื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ลดลงตามไปด้วย
การผลิต
การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 31.77 และ 9.48 ตามลำดับ
ในส่วนของการผลิตผลิตภัณฑ์ยางล้อ ประกอบด้วย ยางนอกและยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ ยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์/จักรยาน และยางหล่อดอก เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปรับตัวลดลงในทุกผลิตภัณฑ์ ยกเว้นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มยางนอกรถยนต์นั่งที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.33 อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตผลิตภัณฑ์ยางล้อปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกผลิตภัณฑ์ ยกเว้นยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 7.56 สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีการผลิตลดลงร้อยละ 0.63 และ 5.77 ตามลำดับ
เมื่อมองภาพรวมในช่วงครึ่งปีแรก การผลิตยางแปรรูปขั้นต้น ลดลงเล็กน้อยคิดเป็นร้อยละ 1.06 สำหรับผลิตภัณฑ์ยางปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกผลิตภัณฑ์ ยกเว้นยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ ยางในรถจักรยานยนต์/จักรยาน และถุงมือยาง/ถุงมือตรวจปรับตัวลดลง คิดเป็นร้อยละ 6.24 1.19 และ1.32 ตามลำดับ
การตลาดและการจำหน่าย
การจำหน่ายในประเทศ
ในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 ปริมาณการจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 11.90 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.61 สำหรับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางล้อในประเทศ ประกอบด้วยยางนอกรถยนต์นั่ง ยางนอกและยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ ยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์/จักรยาน และยางหล่อดอก เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปรับตัวลดลงในเกือบทุกผลิตภัณฑ์ ยกเว้นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มยางนอกรถยนต์นั่ง ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.12 อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางล้อในประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกผลิตภัณฑ์ สำหรับในส่วนของการจำหน่ายถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ในประเทศเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 23.44 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.21
การค้าระหว่างประเทศ
การส่งออก
การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นของไทย ประกอบด้วย ยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้นและยางพาราอื่นๆ โดยในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 2,075.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และในภาพรวมช่วงครึ่งปีแรก ลดลงร้อยละ 22.22 27.88 และ 36.98 ตามลำดับ เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาเริ่มส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจโลกในภาพรวม ส่งผลให้ความต้องการใช้ยางพาราเพื่อนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ยางลดลง สำหรับตลาดส่งออกยางพาราที่สำคัญ คือ ประเทศจีน มาเลเซียญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้
สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งประกอบด้วย ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ยางรัดของ หลอดและท่อ สายพานลำเลียงและส่งกำลัง ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในทางเภสัชกรรม ยางวัลคาไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ โดยในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 2,038.39 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 5.74แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและในภาพรวมช่วงครึ่งปีแรก เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.14 และ 4.78 ตามลำดับ โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี และมาเลเซีย
การนำเข้า
ในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 การนำเข้ายางและเศษยาง มีมูลค่า 368.26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และในภาพรวมช่วงครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.55 24.62 และ 16.31 ตามลำดับ สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญประกอบด้วย ท่อหรือข้อต่อและสายพานลำเลียง ยางรถยนต์ กระเบื้องปูพื้น/ปิดผนัง ยางวัลแคไนซ์และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ มีมูลค่า 322.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และในภาพรวมช่วงครึ่งปีแรก การนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.35 12.89 และ14.70 ตามลำดับ
การนำเข้าที่เพิ่มขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งมาจากกรอบข้อตกลง FTA ส่งผลให้การนำเข้ายางพาราและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นด้วย สำหรับตลาดนำเข้าที่สำคัญได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น จีนสหรัฐอเมริกา ไต้หวัน และเยอรมนี
ราคาสินค้า
ราคายางไตรมาสที่ 2 ปี 2555 ปรับตัวลดลง เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาเริ่มส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทำให้การบริโภคยางพาราอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ราคายางพาราลดลงอย่างต่อเนื่อง
นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
1. นโยบายการรักษาเสถียรภาพทางด้านราคายาง เพื่อแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ โดยรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ 15,000 ล้านบาท เพื่อรับซื้อยางพาราจากเกษตรกร เป็นการดึงปริมาณผลผลิตยางออกจากตลาด เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพด้านราคาของยางและผลักให้ราคายางเพิ่มขึ้น
2. กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการพัฒนาอุตสาหกรรมยางในขั้นกลางน้ำและปลายน้ำ ซึ่งเชื่อมโยงกับการพัฒนายางต้นน้ำตามยุทธศาสตร์พัฒนายางพารา พ.ศ. 2552 — 2556ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยจัดตั้งสถาบันพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพาราของประเทศไทย ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 ขณะนี้อยู่ในระหว่างการแปรญัตติของบประมาณเพิ่มเติมในปีงบประมาณ 2556 อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2556 กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จะดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราภายใต้เครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการและหน่วยงานวิจัยโครงการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราสู่มาตรฐานสากล และโครงการพัฒนาระบบข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา ซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินโครงการดังกล่าว คือสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้วัตถุดิบยาง ผลิตผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและได้มาตรฐานสากล ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก ส่งผลให้อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราของไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน
สรุปและแนวโน้ม
สรุป
ในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนชะลอตัวลง เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาเริ่มส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจโลกในภาพรวม ส่งผลให้ความต้องการใช้ยางพาราเพื่อนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ยางลดลง
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและในภาพรวมช่วงครึ่งปีแรกแล้ว อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางยังขยายตัวได้เนื่องจากยังมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ประเทศที่อุตสาหกรรมรถยนต์ขยายตัวอย่างตอ่ เนื่อง ได้แก่อินเดีย เวียดนาม และบราซิล ยังมีความต้องการใช้ยางพาราอยู่มาก จึงทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางในภาพรวมมากนัก
แนวโน้ม
อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง ในไตรมาสที่ 3 ปี 2555 มีแนวโน้มชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและผลกระทบของวิกฤติหนี้สินของกลุ่มสหภาพยุโรปเริ่มส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจโลกในภาพรวม
อย่างไรก็ตาม ประเทศที่อุตสาหกรรมรถยนต์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อินเดีย เวียดนาม และบราซิล ยังมีความต้องการใช้ยางพาราอยู่มาก ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนสำคัญที่จะไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมมากเกินไป นอกจากนี้ กรอบข้อตกลง FTA ก็มีส่วนช่วยผลักดันการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย แต่ประเด็นที่ต้องระวังคือผลของกรอบ FTA นอกจากจะช่วยผลักดันการส่งออกแล้ว ยังส่งผลให้การนำเข้ายางและผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
สำหรับแนวโน้มด้านราคายางพาราในไตรมาสที่ 3 ปี 2555 ยังมีความผันผวนปัจจัยสำคัญที่ส่งผลในด้านลบต่อราคายาง คือ ราคาซื้อขายในตลาดล่วงหน้าและราคาน้ำมันที่ลดลงรวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่เริ่มส่งผลกระทบไปทั่วโลก
หมายเหตุ : จำนวนโรงงานที่เก็บข้อมูล
- ผลิตภัณฑ์ยางนอกรถยนต์นั่ง ยางนอกรถแทรกเตอร์ มีจำนวน 5 โรงงาน
- ยางนอกรถกระบะ มีจำนวน 4 โรงงาน
- ยางนอก ยางใน รถบรรทุกและรถโดยสาร มีจำนวน 8 โรงงาน
- ยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์ มีจำนวน 10 โรงงาน
- ยางนอกและยางในรถจักรยาน และยางนอกอื่นๆ มีจำนวน 6 โรงงาน
- ยางรอง ยางหล่อดอก ถุงมือยางถุงมือตรวจ มีจำนวน 7 โรงงาน
- ยางรัดของ มีจำนวน 4 โรงงาน
- ยางแผ่น มีจำนวน 16 โรงงาน
- ยางแท่งมีจำนวน 14 โรงงาน
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--