สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาส 2 ปี 2555 (เมษายน — มิถุนายน 2555)(อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 29, 2012 15:29 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ในภาพรวมด้านการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับลดลง ร้อยละ 25.94 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลจากการส่งออกอัญมณี ลดลงร้อยละ 17.94 เครื่องประดับแท้ลดลง14.08 รวมถึงการส่งออกทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูปที่ลดลงร้อยละ 38.17

การผลิตและการจำหน่าย

ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2555 ดัชนีการผลิตเครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณและของที่เกี่ยวข้องกัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ดูตารางที่ 1 ประกอบ) ลดลงร้อยละ 19.70 ดัชนีส่งสินค้าหรือดัชนีการจำหน่ายลดลงร้อยละ 9.76 และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลงร้อยละ 7.81 หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 2.89 ดัชนีส่งสินค้าหรือดัชนีการจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.78 และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.40

การตลาด

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 (ดูตารางที่ 2 ประกอบ) ไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 2,482.04 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 25.94 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 16.90 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกอัญมณีที่มีมูลค่า 491.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 17.94 เครื่องประดับแท้ที่มีมูลค่า 844.05 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 14.08 เนื่องจากคำสั่งซื้อที่ลดลงตามสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว นอกจากนี้ยังเป็นผลจากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปซึ่งมีมูลค่า 991.66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงสูงถึงร้อยละ 38.17เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อน ผลิตภัณฑ์สำคัญๆ ได้แก่

1. อัญมณี ในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 491.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 17.94 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.77 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง เบลเยี่ยม และอิสราเอล คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32.44, 20.02 และ 11.23 ตามลำดับ ซึ่งผลิตภัณฑ์อัญมณีที่สำคัญมีดังนี้

1.1 เพชร ในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 353.00 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 13.39 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง เบลเยี่ยม และอิสราเอล คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27.81, 27.69 และ 15.36 ตามลำดับ

1.2 พลอย ในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 135.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 27.61 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.79 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และอินเดีย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 44.57, 15.00 และ 6.76 ตามลำดับ

2. เครื่องประดับแท้ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 844.05 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 14.08 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 0.34 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และเยอรมนี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29.14, 12.14 และ 10.16 ตามลำดับ ซึ่งผลิตภัณฑ์เครื่องประดับแท้ที่สำคัญมีดังนี้

2.1 ทำด้วยเงิน ในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 348.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 3.88 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 5.63 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และเดนมาร์กคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 41.02, 17.57 และ 9.48 ตามลำดับ

2.2 ทำด้วยทอง ในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 449.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 20.32 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.26, 18.31 และ 9.95 ตามลำดับ

3. เครื่องประดับอัญมณีเทียม ในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 88.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 7.89 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.27เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ลิกเตนสไตน์ สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 42.57, 19.60 และ 7.36 ตามลำดับ

4. อัญมณีสังเคราะห์ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 32.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 4.40 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.41 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง ออสเตรีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 47.62, 14.26 และ 9.58 ตามลำดับ

5. ทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป ในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 991.66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 38.17 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 34.69เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง และออสเตรเลีย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 56.19, 21.17 และ 12.12 ตามลำดับ

การนำเข้า

1. เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2555(ดูตารางที่ 3 ประกอบ) มีมูลค่าการนำเข้า 3,136.46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 31.55 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.14 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน วัตถุดิบสำคัญ ได้แก่

1.1 เพชร ในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 มีมูลค่าการนำเข้า 174.92 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลงร้อยละ 60.71 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 60.80 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ อินเดีย เบลเยียม และฮ่องกง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 41.35, 16.34และ 14.06 ตามลำดับ

1.2 พลอย ในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 มีมูลค่าการนำเข้า 58.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลงร้อยละ 35.77 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 10.39 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง อินเดีย และศรีลังกา คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.27, 12.60 และ5.63 ตามลำดับ

1.3 ทองคำ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 มีมูลค่าการนำเข้า 2,694.87 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 28.94 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.91 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ แอฟริกาใต้ และสหรัฐอเมริกา คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52.63, 13.45 และ 12.54 ตามลำดับ

1.4 เงิน ในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 มีมูลค่าการนำเข้า 148.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 23.53 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 26.56 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน สวิตเซอร์แลนด์ และเยอรมนี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 41.06, 15.68และ 11.70 ตามลำดับ

1.5 โลหะมีค่าและโลหะอื่นๆ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 มีมูลค่าการนำเข้า 13.40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 48.89 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 43.79 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 54.48, 20.29 และ 16.70 ตามลำดับ

โดยการนำเข้าเพชร พลอย ทองคำ เงิน โลหะมีค่าและโลหะอื่นๆ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 98.68 ของการนำเข้าวัตถุดิบทั้งหมด

2. เครื่องประดับอัญมณี ในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 มีมูลค่าทั้งสิ้น 153.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 38.75 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 16.49 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์สำคัญๆ ได้แก่

2.1 เครื่องประดับอัญมณีแท้ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 มีมูลค่าการนำเข้า 143.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 40.60 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 17.18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อิตาลี และ ฮ่องกง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.40, 3.04 และ 2.54 ตามลำดับ

2.2 เครื่องประดับอัญมณีเทียม ในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 มีมูลค่าการนำเข้า 10.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.60 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 5.71เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส และเกาหลีใต้ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34.44, 13.19 และ 8.62 ตามลำดับ

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

  • กระทรวงพาณิชย์กำลังอยู่ระหว่างการเร่งรัดการผลักดันให้สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์ ออกใบรับรองซื้อด้วยความมั่นใจ (Buy With Confidence - BWC) ให้กับร้านค้าห้างร้าน บริษัท หรือสถาบันที่อยู่ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับโดยเร็ว หลังจากที่ใบรับรองเดิมได้หมดอายุตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2554 ที่ผ่านมา และจนถึงขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับใบรับรองใหม่ให้มีความเข้มงวดมากขึ้น เพราะใบรับรองนี้ หากใครได้รับไป ก็จะเป็นเครื่องช่วยรับประกันว่าเป็นร้านค้าที่มีคุณสมบัติที่ดี เชื่อถือได้ ทำการค้าขายด้วยได้เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับร้านค้าเอง ขณะที่ลูกค้าที่มาซื้อก็ไว้วางใจได้ว่าซื้อสินค้ามีคุณภาพและมาตรฐานถูกต้อง ที่สำคัญ ลูกค้าที่ซื้อสินค้าไปสามารถคืนหรือเปลี่ยนสินค้าที่อยู่ในสภาพเดิมได้ภายใน 7 วัน โดยผู้ขายจะหักค่าเสียโอกาสได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของมูลค่าสินค้า

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 ด้านการผลิตลดลงร้อยละ 19.70 และการจำหน่ายลดลงร้อยละ 9.76 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ด้านการส่งออกลดลงร้อยละ 25.94 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลจากการส่งออกในส่วนของอัญมณีลดลงร้อยละ 17.94 และเครื่องประดับแท้ลดลง 14.08 รวมถึงการส่งออกทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูปที่ลดลงร้อยละ 38.17 ด้านการนำเข้าสินค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบในไตรมาสนี้ลดลงร้อยละ 31.55เช่น เพชร พลอย ทองคำยังไม่ขึ้นรูป และเงิน ลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามในส่วนของการนำเข้าทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูปในไตรมาสนี้มีมูลค่ามากกว่าการส่งออก เนื่องจากราคาทองคำโดยเฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับประมาณ 1,600 เหรียญสหรัฐฯ ต่อออนซ์ ซึ่งปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 1,650 เหรียญสหรัฐฯ ต่อออนซ์

แนวโน้ม

แนวโน้มภาพรวมการผลิตและส่งออกในไตรมาสที่ 3 ปี 2555 จะเปลี่ยนแปลงไม่มากเนื่องจากผู้ผลิตและส่งออกได้ติดตามสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปอย่างใกล้ชิดและร่วมกันกับบริษัทคู่ค้าในการการคลี่คลายปัญหาและผลกระทบ นอกจากนี้ยังเตรียมการหาตลาดอื่นทดแทน เช่นตะวันออกกลาง อีกทั้งคาดว่าค่าเงินบาทยังเป็นปัจจัยบวกสำหรับการส่งออก วึ่งจะทำให้ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในไตรมาสที่ 3 ปี 2555 จะทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ