สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาส 2 ปี 2555 (เมษายน — มิถุนายน 2555)(อุตสาหกรรมอาหาร)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 29, 2012 15:37 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมด้านการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาลทราย) ไตรมาสที่ 2 ปี 2555 มีปริมาณการผลิตลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 53.17 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากวัตถุดิบลดลงประกอบกับต้นทุนสินค้าอาหารโดยรวม ได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบนำเข้าจากตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน แม้ว่าค่าเงินบาทได้ปรับตัวอ่อนลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออก แต่จากสถานการณ์หนี้สาธารณะของหลายประเทศในสหภาพยุโรปเริ่มส่งผลต่อเนื่องทำให้ภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซาลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศจีน ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ภาคการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารไทยโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อการส่งออกขยายตัวได้ไม่มาก

การผลิต

ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2555 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ลดลงร้อยละ 53.17 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากการผลิตในกลุ่มสำคัญ เช่น สินค้าธัญพืชและแป้ง และน้ำตาลปรับตัวลดลง (ตารางที่ 1) เป็นผลจากปริมาณวัตถุดิบ เช่น อ้อย และมันสำปะหลัง ลดลงตามฤดูกาล แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารลดลงร้อยละ 21.34 เป็นผลจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่เป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัว ประกอบกับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยทำให้โรงงานอุตสาหกรรมอาหารต้องหยุดการผลิต และเริ่มกลับมาผลิตได้ช่วงต้นไตรมาส

ภาวะการผลิตในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสำคัญสรุปได้ ดังนี้

กลุ่มแปรรูปธัญพืชและแป้ง ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 22.62 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูกาล แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.16 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการเกิดโรคระบาดในมันสำปะหลัง และสถานการณ์อุทกภัยทำให้ปริมาณผลผลิตในปีก่อนลดลง และเมื่อเทียบการผลิตครึ่งปี 2555 กับช่วงเดียวกันของปีก่อนการผลิตขยายตัวร้อยละ 21.76

กลุ่มแปรรูปประมง ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.70 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.31 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากวัตถุดิบมีปริมาณเพิ่มขึ้น หลังจากได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในแหล่งเพาะเลี้ยงในช่วงปลายปีและต่อเนื่องถึงช่วงต้นปี และเมื่อเทียบการผลิตครึ่งปี 2555 กับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตขยายตัวร้อยละ0.76

กลุ่มแปรรูปปศุสัตว์ ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 13.24 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 4.05 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากต้นทุนอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นตามราคาวัตถุดิบนำเข้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้การเลี้ยงไก่เกิดการชะลอตัวเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ดีเมื่อเทียบการผลิตครึ่งปี 2555 กับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตขยายตัวร้อยละ 2.67

กลุ่มแปรรูปผักผลไม้ ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 7.85 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 11.07 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสต็อกสินค้ายังทรงตัวในระดับสูง เป็นผลสืบเนื่องจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศผู้นำเข้าได้แก่ กลุ่มสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกาที่ซบเซาจากวิกฤตหนี้ของสหภาพยุโรป และเมื่อเทียบการผลิตครึ่งปี 2555 กับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตปรับตัวลดลงร้อยละ 6.99

กลุ่มแปรรูปเพื่อใช้บริโภคในประเทศ ได้แก่ น้ำมันพืช ลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 14.59 เนื่องจากวัตถุดิบออกสู่ตลาดลดลง และราคาวัตถุดิบนำเข้าสูงขึ้น และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 26.17 สำหรับผลิตภัณฑ์นมการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.29และร้อยละ 12.91 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากโรงงานผลิตนมพร้อมดื่มสามารถกลับมาผลิตได้หลังจากต้องหยุดการผลิตจากสถานการณ์อุทกภัย นอกจากนี้ในส่วนของอาหารสัตว์ มีการผลิตลดลงร้อยละ 1.74 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลจากวัตถุดิบอาหารสัตว์นำเข้ามีราคาสูงขึ้น แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.62เนื่องจากต้องเพิ่มปริมาณการผลิตอาหารสัตว์ให้สามารถรองรับการเลี้ยงไก่ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการยกเลิกประกาศห้ามนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทยของสหภาพยุโรป ประกอบกับเกิดโรคระบาดในสุกรเมื่อปีก่อน

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2555 ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารภายในประเทศลดลงร้อยละ 10.29 จากไตรมาสก่อน แต่ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 2) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากระดับราคาน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อระดับราคาสินค้าหลายรายการได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภคลดการจับจ่ายใช้สอยลง และส่งผลให้ภาพรวมการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมอาหารช่วงไตรมาสที่ 2 ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าน้ำมันพืช ปศุสัตว์ และอาหารสัตว์ ในขณะที่การจำหน่ายน้ำตาลทรายในประเทศปรับตัวลดลงร้อยละ 18.96 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 1.91 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหากเทียบการจำหน่ายในประเทศครึ่งปี2555 กับช่วงเดียวกันของปีก่อน การจำหน่ายปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 4.87 ภายหลังเกิดวิกฤตน้ำมันพืชในปีก่อน ประกอบกับปี 2555 ได้มีการปรับเพิ่มขึ้นของค่าจ้างขั้นต่ำและเงินเดือนของข้าราชการ ทำให้มีการปรับระดับราคาสินค้าประเภทอาหารเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2555 การส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร มีมูลค่ารวม 232,621.77 ล้านบาท โดยขยายตัวร้อยละ 9.63 จากไตรมาสก่อน (ตารางที่ 3) เป็นผลจากระดับราคาสินค้าในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นตามระดับราคาน้ำมัน และมูลค่าการส่งออกมีการขยายตัวในหลายกลุ่มผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำตาลทราย และประมง แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกชะลอตัวลงร้อยละ 7.88 เป็นผลจากเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าชะลอตัว เนื่องจากปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศในสหภาพยุโรปที่เริ่มขยายตัวไปยังตลาดอื่น ๆสำหรับภาพรวมการส่งออกครึ่งปี 2555 มูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.27 โดยการส่งออกในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ มีดังนี้

กลุ่มประมง มีมูลค่าการส่งออก 60,002.62 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.11 จากไตรมาสก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของระดับราคาในทุกกลุ่มทั้งอาหารทะเลแช่แข็งกระป๋องและแปรรูปเนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบแปรรูปจากปัญหาอุทกภัย และเกิดเหตุอัคคีภัยกับโรงงานขนาดใหญ่ที่ต้องหยุดการผลิตในไตรมาสก่อน แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนการส่งออกลดลงร้อยละ 14.24 จากคำสั่งซื้อของสหภาพยุโรปที่ชะลอตัวลง สำหรับการส่งออกช่วงครึ่งปี 2555 มูลค่าส่งออกลดลงเช่นกันจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.87 ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกสินค้าสำคัญในกลุ่ม คือ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ทั้งปริมาณและมูลค่าลดลง เนื่องจากสหภาพยุโรปชะลอการนำเข้ากุ้ง จากภาวะวิกฤตหนี้สาธารณะในหลายประเทศที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

กลุ่มผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ มีมูลค่าการส่งออก 25,678.20 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.59 จากไตรมาสก่อน แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 4.79 สำหรับการส่งออกช่วงครึ่งปี 2555 มูลค่าส่งออกลดลงเช่นกันจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.58 โดยสินค้าสำคัญในกลุ่ม ได้แก่ สับปะรดกระป๋อง ส่งออกลดลงร้อยละ 18.27 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปส่งผลให้คำสั่งซื้อลดลงตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ต่อเนื่องถึงไตรมาสแรก อย่างไรก็ดีการส่งออกในรูปผลไม้แช่เย็นแช่แข็งสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นในหลายสินค้า เช่น เงาะ ทุเรียน และลำไย

กลุ่มผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ มีมูลค่าการส่งออก 18,686.53 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.96 จากไตรมาสก่อน แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.60 โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากไก่ขยายตัวกว่าร้อยละ 20 จากการนำเข้าเพิ่มขึ้นของญี่ปุ่น สำหรับการส่งออกช่วงครึ่งปี 2555 มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 20.51

กลุ่มผลิตภัณฑ์จากข้าว แป้ง และธัญพืช มีมูลค่าการส่งออก 66,288.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.71 จากไตรมาสก่อน เป็นผลจากความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในตลาดโลกปรับตัวดีขึ้น และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ปรับตัวลดลงร้อยละ 19.46 โดยเป็นการส่งออกสินค้าข้าวลดลงกว่าร้อยละ 30 เนื่องจากผลผลิตข้าวในตลาดโลกมีปริมาณเพิ่มขึ้น และประเทศผู้ส่งออกข้าวแข่งขันกันลดราคา ส่วนข้าวไทยราคาสูงกว่าจึงทำตลาดได้ยากกว่า สำหรับมูลค่าการส่งออกครึ่งปี 2555 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงเช่นกัน ร้อยละ 21.82

กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย มีมูลค่าการส่งออก 46,062.96 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.48 จากไตรมาสก่อน เป็นผลจากปัจจัยด้านราคาที่ทรงตัวในระดับสูง จากการที่ประเทศผู้ผลิตอย่างอินเดียและบราซิล ประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ส่งผลให้ปริมาณการผลิตและส่งออกลดลง และมีผลต่อสต็อกน้ำตาลในตลาดโลกลดลง และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.12 สำหรับมูลค่าการส่งออกครึ่งปี2555 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นเช่นกัน ร้อยละ 20.86

กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ มีมูลค่าการส่งออก 15,903.41 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.12 จากไตรมาสก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.66 โดยเป็นผลจากการส่งออกเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าประเภทสิ่งปรุงรสอาหาร หมากฝรั่งและขนมที่ไม่มีโกโก้ผสม และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ สำหรับมูลค่าการส่งออกครึ่งปี 2555เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นเช่นกัน ร้อยละ 26.01

การนำเข้า

ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2555 การนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารของไทยมีมูลค่ารวม 89,469.60 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.56 จากไตรมาสก่อน (ตารางที่ 4) โดยเป็นการนำเข้ากากพืชน้ำมันและผลิตภัณฑ์นมลดลงร้อยละ 13.72 และ 13.02 ตามลำดับ แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า มูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.71จากการนำเข้าปลาทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็ง กากพืชน้ำมัน รวมถึงนมและผลิตภัณฑ์นมเพิ่มขึ้น ตามราคาโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีก่อน สำหรับการนำเข้าครึ่งปี 2555 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 22.06 เป็นผลจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ประกอบกับราคาสินค้าในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2555 รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหาร โดยเน้นการให้ความช่วยเหลือกับเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบ ในลักษณะการรับจำนำผลผลิต และการนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากประสบปัญหาต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นและระดับราคาลดลง รวมทั้งช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาด้านปัจจัยการผลิต ได้แก่

1. คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555 อนุมัติการขอนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โดยองค์การคลังสินค้า (อคส.) ของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นการนำเข้าข้าวโพดเมล็ดชนิดดีจาก สปป. ลาว จำนวน 30,000 ตัน ในช่วงเดือนพฤษภาคม—มิถุนายน 2555 เพื่อจำหน่ายให้เกษตรกรเลี้ยงสัตว์รายย่อยในราคาต่ำกว่าราคาหน้าฟาร์มที่ซื้ออยู่ และให้ อคส. กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร วงเงิน 300 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการซื้อข้าวโพดจาก สปป.ลาว

2. คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2555 รับทราบสรุปผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ครั้งที่ 1/2555 เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2555ได้แก่ การรายงานผลการดำเนินโครงการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มเพื่อพลังงานอย่างยั่งยืนและการกำหนดโครงสร้างราคาน้ำมันพืชปาล์ม การกำหนดเกณฑ์การพิจารณาสต็อกน้ำมันปาล์มดิบภายในประเทศ 2 ระดับ คือ ระดับปกติ 1.5 เท่าของปริมาณความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบต่อเดือน (202,500 ตัน) ระดับเตือนภัย 1.25 เท่าฯ (168,750 ตัน) และระดับวิกฤต ต่ำกว่า 1 เท่าฯ (135,000 ตัน) ซึ่งให้โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มและโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม รายงานสต็อกให้กระทรวงพาณิชย์ทุก 15 วัน เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณานำเข้า (ถ้าจำเป็น) ประกอบกับการรายงานการเปิดตลาดน้ำมันปาล์มในพันธกรณีต่าง ๆ ของไทย

3. คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2555 อนุมัติการกู้เงินเพื่อเป็นค่ารับซื้อสับปะรดโครงการแก้ไขปัญหาสับปะรด ปี 2555 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยให้องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)ในวงเงิน 500 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการรับซื้อสับปะรดสดจากเกษตรกร ซึ่งรัฐบาลจะรับภาระชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย รวมทั้งผลขาดทุนที่เกิดขึ้นจากโครงการ และให้พิจารณารายละเอียดของโครงการในด้านการจัดทำบัญชี การตรวจสอบสินค้าที่ได้จากการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กระป๋อง การบริหารจัดการสินค้าและการระบายสินค้า การนำเงินส่งคืนคลัง และการรายงานผลความคืบหน้า รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคให้ ค.ร.ม. ทราบทุกไตรมาสจนกว่าจะระบายจำหน่ายสินค้าจนหมด

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2555 ภาวะอุตสาหกรรมอาหารโดยรวม อยู่ในช่วงชะลอตัวจากไตรมาสที่ 1 และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามปริมาณคำสั่งซื้อที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับระดับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มจะอ่อนค่าลง ซึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศสหภาพยุโรปที่เป็นตลาดหลักของสินค้าอาหารของไทย เริ่มมีปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวจากภาวะหนี้สาธารณะในหลายประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้สต็อกสินค้าในตลาดโลกที่สำคัญ คือ น้ำตาลทราย แม้ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่จากการที่ประเทศอินเดียและบราซิล ประสบปัญหาผลผลิตน้ำตาลลดลงจากภาวะฝนตกหนัก และคาดว่าจะส่งออกน้ำตาลได้ลดลง ส่งผลต่อระดับราคาน้ำตาลที่ชะลอตัวในช่วงต้นไตรมาส กลับมายังทรงตัวในระดับสูง ในส่วนสินค้ากลุ่มปศุสัตว์โดยเฉพาะไก่แปรรูป ปริมาณความต้องการจากต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น ยังเพิ่มขึ้นจากสภาพปัญหาความไม่เชื่อมั่นของผู้บริโภคจากการปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีในอาหารที่เกิดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดเมื่อปีก่อน ประกอบกับข่าวการพิจารณายกเลิกการห้ามนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากกรณีไข้หวัดนกของสหภาพยุโรป ส่งผลต่อการส่งออกไก่ของไทยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามยังมีสินค้าที่ปริมาณการผลิตปรับตัวลดลง คือ กลุ่มพืชน้ำมัน และมันสำปะหลัง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติทำให้ผลผลิตลดลง ส่งผลโดยตรงกับระดับราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นตามความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นในตลาดโลก

แนวโน้ม

การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 คาดว่า ทิศทางการผลิต และการส่งออกจะปรับตัวลดลงตามฤดูกาล จากการลดลงของวัตถุดิบในพื้นที่เพาะปลูกประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ทั้งอุทกภัยในภาคใต้และภัยแล้งในภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จะส่งผลกระทบต่อสินค้าประมง สับปะรด มันสำปะหลัง และพืชผักต่างๆและจากปัจจัยลบ เช่น ภัยธรรมชาติที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ รวมถึงการเคลื่อนไหวของระดับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าที่ชะลอตัว จากวิกฤตหนี้สาธารณะในสหภาพยุโรปที่เริ่มส่งผลกระทบไปยังตลาดอื่น ๆ ตลอดจนมาตรการกีดกันทางการค้าต่าง ๆ เช่น มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เริ่มมีผลบังคับใช้ โดยเฉพาะการทำฉลากระบุร่องรอยคาร์บอนที่จำหน่ายในสหภาพยุโรป อาจทำให้การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารของไทยในภาพรวมชะลอตัวลงได้

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ