รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนสิงหาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 2, 2012 15:25 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สรุปประเด็นสำคัญ ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนกรกฎาคม 2555

  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม 2555 ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2555 ร้อยละ 2.4 และลดลงร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตลดลงในบางอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ Hard Disk Drive ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม โทรทัศน์สี
  • อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในเดือนกรกฎาคม 2555 อยู่ที่ระดับร้อยละ 66.8 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 66.3 ในเดือนมิถุนายน 2555
ประเด็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสำคัญในเดือนสิงหาคม 2555

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

  • แนวโน้มการผลิตในภาพรวมและการส่งออกของอุตสาหกรรมนี้ คาดว่าจะชะลอตัวต่อไปเนื่องจากความยืดเยื้อของปัญหาวิกฤตสหภาพยุโรป ด้านการส่งออกคาดว่าจะชะลอตัวลงสอดคล้องกับการผลิต
  • ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวัง คือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ ประกอบกับราคาฝ้ายในตลาดล่วงหน้าที่เป็นแนวโน้มขาขึ้น

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

  • แนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศ คาดว่าจะขยายตัวได้ แม้จะอยู่ในช่วงฤดูฝน โดยปัจจัยสำคัญที่จะมีส่วนสนับสนุน คือ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และการใช้ปูนซีเมนต์เป็นวัตถุดิบในการผลิตวัสดุก่อสร้าง และวัสดุทดแทนไม้ซึ่งได้รับความนิยมมากจากตลาดทั้งในและต่างประเทศ
  • สำหรับการส่งออกคาดว่ายังขยายตัวได้ เนื่องจากประเทศที่เป็นตลาดหลักของไทย(กัมพูชาเมียนมาร์ ลาว เวียดนาม บังคลาเทศ และศรีลังกา) ยังมีแนวโน้มในการขยายตัวทางเศรษฐกิจในทิศทางที่ดี จึงมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ และวัสดุทดแทนไม้ เพื่อการก่อสร้างเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงปลายปี ซึ่งเริ่มเข้าสู่ฤดูก่อสร้าง
สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

มิ.ย. 55 = 182.4

ก.ค. 55 = 178.1

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลง ได้แก่

  • Hard Disk Drive
  • เครื่องปรับอากาศ
  • โทรทัศน์สี
  • อัตราการใช้กำลังการผลิต

มิ.ย. 55 = 66.3

ก.ค. 55 = 66.8

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • เคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน
  • ผลิตภัณฑ์ยาง
  • ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนกรกฎาคม 2555 มีค่า 178.1 ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2555(182.4) ร้อยละ 2.4 และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนกรกฎาคม 2554 (189.1) ร้อยละ 5.8

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน2555 ได้แก่ Hard Disk Drive เครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์สี ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนได้แก่ Hard Disk Drive ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม โทรทัศน์สี เส้นใยสิ่งทอเป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต ในเดือนกรกฎาคม 2555 อยู่ที่ระดับร้อยละ 66.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2555 (ร้อยละ 66.3) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนกรกฎาคม 2554 (ร้อยละ63.6)

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2555ได้แก่ เคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน ผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เส้นใยสิ่งทอ เม็ดพลาสติกเป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนได้แก่ ยานยนต์ โทรทัศน์สี เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์เลนส์ชนิดต่างๆ เม็ดพลาสติก เป็นต้น

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม 2555

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2555 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน 2555 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 382 ราย เพิ่มขึ้นในจำนวนที่มากกว่าเดือนมิถุนายน 2555 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 261 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 46.4 แต่มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 11,789.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2555 ซึ่งมีการลงทุน 8,499.14 ล้านบาท ร้อยละ 38.7 แต่มีการจ้างงานจำนวน 8,357 คน ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2555 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 13,109 คน ร้อยละ 36.25

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2555 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่มากกว่าเดือนกรกฎาคม 2554 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 326 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 17.2 มีการจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2554 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 7,798 คน ร้อยละ 7.2 แต่มียอดเงินลงทุนรวมลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2554 ซึ่งมีการลงทุน 13,006.93 ล้านบาท ร้อยละ 9.4

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนกรกฎาคม 2555 คืออุตสาหกรรมขุดดิน ทรายและร่อนล้างหรือคัดกรวดทราย จำนวน 37 โรงงาน รองลงมาคืออุตสาหกรรมทำเครื่องเรือนหรือเครื่องตบแต่งภายในอาคารจากไม้ จำนวน 35 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2555 คืออุตสาหกรรมผลิตประกอบเครื่องยนต์ดีเซล ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องจักร เครื่องกล จำนวนเงินทุน 2,010.15 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตเปปไทด์จากจมูกข้าวหอมมะลิและสีข้าว จำนวนเงินทุน 1,511.00 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2555 คืออุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนพิเศษ หรืออุปกรณ์สำหรับรถยนต์ จำนวนคนงาน 1,074 คนรองลงมาคือ อุตสาหกรรมกลึง เจาะ คว้าน กัดไส เจียร และเชื่อมโลหะ จำนวนคนงาน 683คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2555 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน 2555 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 73 ราย น้อยกว่าเดือนมิถุนายน2555 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 102 ราย คิดเป็นร้อยละ 28.4 มีเงินทุนของการเลิกกิจการรวม 1,891.80 ล้านบาท น้อยกว่าเดือนมิถุนายน 2555 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 16,067.41 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงาน จำนวน 2,236 คน น้อยกว่าเดือนมิถุนายน 2555 ซึ่งมีการเลิกจ้างงานจำนวน 3,767 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2555 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมากกว่าเดือนกรกฎาคม 2554 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 50 ราย คิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 46.0 มีเงินทุนของการเลิกกิจการมากกว่าเดือนกรกฎาคม 2554 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 248.31 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงานมากกว่าเดือนกรกฎาคม 2554 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 509 คน

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนกรกฎาคม 2555 คือ อุตสาหกรรมซ่อมรถยนต์ เคาะพ่นสีรถยนต์ ประกอบและซ่อมตัวถังรถยนต์ จำนวน 9 โรงงาน รองลงมาคืออุตสาหกรรมทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต คอนกรีตผสม ผลิตภัณฑ์ยิปซั่ม ปูนปลาสเตอร์ จำนวน 8โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2555 คืออุตสาหกรรมทำพลาสติกเป็นเม็ด แท่ง ท่อ หลอด แผ่น ชิ้น ผง หรือรูปทรงต่าง ๆ เงินทุน 968.17 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิต ซ่อมเครื่องรับวิทยุ เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องเรดาร์ คาปาซิเตอร์ เงินทุน 256.87 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2555 คือ อุตสาหกรรมทำพลาสติกเป็นเม็ด แท่ง ท่อ หลอด แผ่น ชิ้น ผง หรือรูปทรงต่าง ๆ จำนวนคนงาน 381 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมถักผ้า ผ้าลูกไม้ เครื่องนุ่งห่มทำด้วยด้ายหรือเส้นใย จำนวนคนงาน 375 คน

ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในเดือนมกราคม -กรกฎาคม 2555 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท. ทั้งสิ้น 1,280 โครงการ มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 872โครงการ ร้อยละ 46.79 และมีเงินลงทุน 408,800 ล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเงินลงทุน265,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 54.26

  • การกระจายหุ้นของโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมในเดือนมกราคม - กรกฎาคม 2555
          การร่วมทุน                     จำนวน(โครงการ)          มูลค่าเงินลงทุน(ล้านบาท)
          1.โครงการคนไทย 100%               536                     107,000
          2.โครงการต่างชาติ 100%              454                     132,100
          3.โครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ        290                     169,700
  • ประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในเดือนมกราคม —กรกฎาคม 2555 คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 168,900 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 69,000 ล้านบาท
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่า จะปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศชะลอตัวลง ส่วนการจำหน่ายภายในประเทศจะปรับตัวลดลงเช่นกัน จากการปรับเพิ่มขึ้นของระดับราคาน้ำมันและราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ส่งผลให้ประชาชนชะลอการจับจ่ายใช้สอยลง

1. การผลิต

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนกรกฎาคม 2555 ลดลงจากปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 6.3 และ 7.1 ตามลำดับ แบ่งเป็น กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออก เช่น สับปะรดกระป๋อง ผลิตภัณฑ์ไก่ และแป้งมันสำปะหลัง มีปริมาณการผลิตลดลงจากปีก่อนร้อยละ 45.8 24.2 และ 12.9 ตามลำดับ เนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ชะลอตัวลง แต่หากพิจารณากลุ่มสินค้าสำคัญโดยเปรียบเทียบกับปีก่อนและเดือนก่อน เช่น ทูน่ากระป๋อง มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น จากปริมาณวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ เช่น น้ำมันพืช ทั้งน้ำมันปาล์มและน้ำมันถั่วเหลือง มีปริมาณการผลิตลดลงโดยเปรียบเทียบกับเดือนก่อน ร้อยละ 17.2 และ 7.1 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการอนุมัติให้นำเข้าน้ำมันปาล์มจากต่างประเทศเพื่อผลิตเพิ่มขึ้นในเดือนก่อน

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ เดือนกรกฎาคม 2555 ปริมาณการส่งสินค้าอาหารและเกษตรในประเทศ ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 5.9 และ 9.2 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการชะลอการจับจ่ายใช้สอยหลังการเพิ่มราคาน้ำมันและราคาสินค้า

2) ตลาดต่างประเทศ ภาพรวมมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร(ไม่รวมน้ำตาล) เดือนกรกฎาคม เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนร้อยละ 7.9 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง และหากเปรียบเทียบกับเดือนก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่นกัน ร้อยละ 3.3 เนื่องจากระดับราคาสินค้าในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นตามระดับราคาน้ำมัน ประกอบกับปัญหาภัยแล้งในสหรัฐอเมริกาเริ่มส่งผลต่อระดับราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกครั้ง

3. แนวโน้ม

การผลิตและส่งออก คาดว่า จะปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน จากคำสั่งซื้อที่ชะลอตัวลง ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตการณ์การเงินในกลุ่มสหภาพยุโรปและสถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่เดิมเริ่มฟื้นตัวกลับมาชะลอตัว สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่า จะปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน จากสถานการณ์ราคาน้ำมันและราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ประชาชนชะลอการจับจ่ายใช้สอยลง

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

“แนวโน้มการผลิตในภาพรวมและการส่งออกของอุตสาหกรรมนี้ คาดว่าจะชะลอตัวต่อไป เนื่องจากความยืดเยื้อของปัญหาวิกฤตสหภาพยุโรป”

1. การผลิต

เดือนกรกฎาคม 2555 ภาวะการผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอเมื่อเทียบกับเดือนก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เส้นใย เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถัก และเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าทอ โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.30, 2.85 และ 3.53 ตามลำดับ ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ลดลง ได้แก่ ผ้าผืน เครื่องนอนและผ้าขนหนูผ้าลูกไม้ และผ้ายางยืด โดยลดลงร้อยละ 1.93, 18.57, 5.27, และ 0.63 ตามลำดับ ทั้งนี้เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตส่วนใหญ่ลดลงในผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เส้นใยสิ่งทอฯ ผ้าผืน เครื่องนอนและผ้าขนหนู และเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถัก โดยลดลงร้อยละ 25.03, 6.82, 17.58, และ 11.61 ตามลำดับ โดยมีผ้าลูกไม้ ผ้ายางยืด และเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าทอที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.66, 5.30 และ 5.53

2. การจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนการจำหน่ายส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เส้นใย ผ้าผืน ผ้ายางยืด และเสื้อผ้าที่ผลิตจากผ้าถัก โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.31, 2.35, 6.63, และ 2.88 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การจำหน่ายในประเทศส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์ ผ้าผืน ผ้าลูกไม้ ผ้ายางยืด เสื้อผ้าที่ผลิตจากผ้าถัก และเสื้อผ้าที่ผลิตจากผ้าทอ ร้อยละ 4.36, 23.80, 9.21, 13.89 และ 16.42 ตามลำดับ

การส่งออก โดยรวมเมื่อเทียบกับเดือนก่อนเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.43 ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป ด้ายฝ้าย ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ และเส้นใยประดิษฐ์ โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.27, 15.74, 6.13 และ 12.72 ตามลำดับ ส่วนผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายลดลง เช่น เครื่องยกทรงฯ ผ้าผืน และเคหะสิ่งทอ โดยลดลงร้อยละ 12.56, 6.95 และ 9.42 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการส่งออกโดยรวมลดลงร้อยละ 15.53 สำหรับตลาดส่งออก การส่งออกเมื่อเทียบกับเดือนก่อนเพิ่มขึ้นในตลาด คือ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.31, และ 2.93 ตามลำดับ ด้านตลาดอาเซียน และสหภาพยุโรปการส่งออกลดลงร้อยละ 2.90 และ 8.70 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการส่งออกลดลงในทุกตลาด คือ อาเซียน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปโดยลดลงร้อยละ 0.93, 15.08, 15.53, และ 31.79 ตามลำดับ

3. แนวโน้ม

แนวโน้มการผลิตในภาพรวมและการส่งออกของอุตสาหกรรมนี้ คาดว่าจะชะลอตัวต่อไป เนื่องจากความยืดเยื้อของปัญหาวิกฤตสหภาพยุโรป ด้านการส่งออกคาดว่าจะชะลอตัวลงสอดคล้องกับการผลิต ทั้งนี้ ช่วงที่เกิดวิกฤตสหภาพยุโรปนี้ เป็นช่วงที่เหมาะต่อการปรับปรุงการบริหารจัดการของผู้ประกอบการ การปรับปรุงและพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับตลาดเดิมและใหม่ อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวัง คือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ ประกอบกับราคาฝ้ายในตลาดล่วงหน้าที่เป็นแนวโน้มขาขึ้น

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

บริษัท BlueScope ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของประเทศออสเตรเลียได้รายงานว่าบริษัทฯ ได้ร่วมทุนกับ Nippon Steel Corporation ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของญี่ปุ่น โดยมีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 1,360 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายตลาดใหม่และลดความกังวลในเรื่องงบการเงินของบริษัทฯโดยบริษัทร่วมทุนระหว่าง BlueScope และ Nippon Steel Corporation มีชื่อว่า NS BlueScope Coated Products ซึ่งทั้งสองบริษัทถือหุ้น 50:50 โดยในการนี้ Nippon Steel Corporation จะรับผิดชอบในส่วนของธุรกิจวัสดุก่อสร้างของ BlueScope บริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอเมริกาเหนือครึ่งหนึ่ง

1.การผลิต

สถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนกรกฎาคม 2555 ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 133.03 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.99 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เมื่อพิจารณาในกลุ่มเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 2.46 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุด ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง ร้อยละ 31.59 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ลดลง ร้อยละ 15.66 สำหรับกลุ่มเหล็กทรงยาว พบว่ามีการผลิตที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.79 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ เหล็กเส้นข้ออ้อยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 21.33 และเหล็กเส้นกลมเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.18 ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.07 โดยเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 0.29 ในขณะที่เหล็กทรงยาวกลับมีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.22

2.ราคาเหล็ก

จากข้อมูลดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2555 เทียบกับเดือนก่อนพบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กทุกตัวมีดัชนีราคาเหล็กที่ลดลง ดังนี้ เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลงจาก 124.29 เป็น 122.42 ลดลง ร้อยละ 1.50 เหล็กแท่งแบน ลดลงจาก120.93 เป็น 119.76 ลดลง ร้อยละ 0.97 เหล็กเส้น ลดลงจาก 129.46 เป็น 128.72ลดลง ร้อยละ 0.57 เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลงจาก 117.53 เป็น 117.02 ลดลง ร้อยละ 0.43 และเหล็กแท่งเล็ก Billet ลดลงจาก 130.38 เป็น 130.09 ลดลง ร้อยละ 0.22เนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศของประเทศจีนซึ่งเป็นผู้บริโภคเหล็กรายใหญ่ของโลกซบเซาส่งผลให้ราคาเหล็กในตลาดโลกลดลงด้วย

3. แนวโน้ม

สถานการณ์การผลิตเหล็กในเดือนสิงหาคม 2555 ในส่วนของเหล็กทรงแบนคาดการณ์ว่าจะมีการผลิตที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากความต้องการใช้เหล็กของอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นมาก จากการขยายตัวในการผลิตของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง 2 อุตสาหกรรมดังกล่าว ในขณะที่เหล็กทรงยาวคาดการณ์ว่าจะมีการผลิตที่ทรงตัวเนื่องจากสถานการณ์อุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศที่ยังคงทรงตัวอยู่

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกรกฎาคม 2555 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 เนื่องจากผู้ประกอบการเร่งการผลิตรถยนต์เพื่อให้สามารถส่งมอบรถยนต์ให้กับลูกค้าได้มากขึ้น ประกอบกับความนิยมในรถยนต์รุ่นใหม่ที่ออกสู่ตลาด และนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกรกฎาคม ดังนี้

  • การผลิตรถยนต์ จำนวน 209,917 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม2554 ซึ่งมีการผลิต 147,236 คัน ร้อยละ 42.57 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และมีปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน2555 ร้อยละ 2.10 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่ง
  • การจำ หน่ายรถยนต์ จำ นวน 131,646 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2554 ซึ่งมีการจำหน่าย 72,902 คัน ร้อยละ 80.58 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตันรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และรถยนต์ PPV รวมกับ SUV และมีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2555 ร้อยละ 6.62 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตันรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และรถยนต์ PPV รวมกับ SUV
  • การส่งออกรถยนต์ จำนวน 94,838 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม2554 ซึ่งมีการส่งออก 75,803 คัน ร้อยละ 25.11 ซึ่งเพิ่มขึ้นในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป อเมริกากลางและอเมริกาใต้ และมีปริมาณการส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2555 ร้อยละ 0.12 ซึ่งเพิ่มขึ้นในประเทศแถบเอเชีย แอฟริกาและยุโรป
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนสิงหาคม 2555 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2555 สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนสิงหาคม 2555 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 56 และส่งออกร้อยละ 44

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนกรกฎาคม 2555 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์เดือนกรกฎาคม ดังนี้

  • การผลิตรถจักรยานยนต์ จำนวน 239,886 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2554 ซึ่งมีการผลิต 208,694 คัน ร้อยละ 14.95 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัวและแบบสปอร์ต และมีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2555 ร้อยละ 3.52 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสปอร์ต
  • การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ จำนวน 187,771 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2554 ซึ่งมีการจำหน่าย 178,069 คัน ร้อยละ 5.45 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของรถจักรยานยนต์แบบสกูตเตอร์และแบบสปอร์ต และมีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2555 ร้อยละ 12.30 โดยเป็นการปรับลดลงของรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสกูตเตอร์
  • การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU) จำนวน 25,953 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2554 ซึ่งมีการส่งออก 21,428 คันร้อยละ 21.12 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาสหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น แต่มีปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2555 ร้อยละ 7.54
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนสิงหาคม 2555 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2555สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนสิงหาคม 2555 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ร้อยละ 87 และส่งออกร้อยละ 13
5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

“อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังคงขยายตัวได้ ซึ่งปัจจัยที่สนับสนุน คือ การลงทุนโครงการพื้นฐานต่าง ๆ ของภาครัฐสำหรับการส่งออกมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากประเทศในแถบเอเชียได้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดี”

1.การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ในเดือนกรกฎาคม 2555 ปริมาณการผลิต เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.83 แต่ปริมาณการจำหน่ายในประเทศ ลดลงร้อยละ 0.36 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายในประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.22 และ 12.70 ตามลำดับ เมื่อพิจารณาในภาพรวมจะเห็นได้ว่าการผลิตปูนซีเมนต์ยังคงขยายตัวได้ แต่การจำหน่ายในประเทศยังทรงตัวสำหรับปัจจัยที่สนับสนุนการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศ คือ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของภาครัฐ และความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จำนวนมาก จากทุกภาคการผลิต รวมทั้งการขยายกำลังการผลิตและตลาดของวัสดุก่อสร้างและวัสดุทดแทนไม้ที่ใช้ปูนซีเมนต์เป็นวัตถุดิบหลัก ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นตามลำดับ เนื่องจากสามารถอยู่กับน้ำและทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดีกว่าไม้

2.การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ เดือนกรกฎาคม 2555 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนและเดือนเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.77 และ29.85 ตามลำดับ สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย ยังคงเป็นกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศในแถบเอเชียใต้ ได้แก่ กัมพูชา เมียนมาร์ลาว เวียดนาม บังคลาเทศ และศรีลังกา เป็นต้น

3.แนวโน้ม

แนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศ คาดว่าจะขยายตัวได้ แม้จะอยู่ในช่วงฤดูฝน โดยปัจจัยสำคัญที่จะมีส่วนสนับสนุนคือ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และการใช้ปูนซีเมนต์เป็นวัตถุดิบในการผลิตวัสดุก่อสร้าง และวัสดุทดแทนไม้ซึ่งได้รับความนิยมมากจากตลาดทั้งในและต่างประเทศ สำหรับการส่งออกคาดว่ายังขยายตัวได้ เนื่องจากประเทศที่เป็นตลาดหลักของไทยข้างต้น ยังมีแนวโน้มในการขยายตัวทางเศรษฐกิจในทิศทางที่ดี จึงมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ และวัสดุทดแทนไม้ เพื่อการก่อสร้างเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงปลายปี ซึ่งเริ่มเข้าสู่ฤดูก่อสร้าง

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนกรกฎาคม 2555 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 271.78 ลดลงร้อยละ 10.61 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 26.67 ซึ่งอยู่ระหว่างการฟื้นฟูให้ได้กลับมาผลิตได้เต็มกำลังการผลิต

          ตารางที่1 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่มีมูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือน ก.ค. 2555
          เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์             มูลค่า (ล้านเหรียญฯ)       %MoM           %YoY
          อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์           1,566.2           -17.5             0
          วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี                  540.9           -12.3           -35.7
          เครื่องปรับอากาศ                            294.6           -20.1           -6.4
          กล้องถ่าย TV , VDO                         249.9            11.4            1.5
          รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์            4,543.2           -10.2          -12.2
          ที่มา กรมศุลกากร

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนกรกฎาคม 2555 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 271.78 ลดลงร้อยละ 10.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 26.67 เนื่องจากปัญหาอุทกภัยที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปีก่อน ทำให้สายการผลิตเสียหาย และไม่สามารถผลิตสินค้าได้เต็มกำลังการผลิต อย่างไรก็ตามในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและผู้ผลิตชิ้นส่วนในโซ่อุปทานเริ่มกลับมาผลิตได้แล้ว เมื่อพิจารณาในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลงร้อยละ 4.16 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.07 สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ลดลงร้อยละ 11.81 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 31.70

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนกรกฎาคม 2555 มีมูลค่า 4,543.16 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 10.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 12.2 โดยสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า มูลค่าการส่งออกรวมคือ 2,008.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด ได้แก่เครื่องปรับอากาศ มีมูลค่าส่งออก 294.6 ล้านเหรียญสหรัฐลดลงร้อยละ 20.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และลดลงร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการปรับตัวลดลงในสหภาพยุโรปมากถึงร้อยละ 54.4รองลงมาคือ กล้องถ่าย TV,VDO มีมูลค่าส่งออก 249.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในทุกตลาด

สำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 2,534.4 ล้านเหรียญสหรัฐปรับตัวลดลงร้อยละ14.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการปรับตัวลดลงร้อยละ 18.2 สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าส่งออกสูงที่สุดได้แก่อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าส่งออก 1,566.2 ล้านเหรียญสหรัฐ มีการปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนเนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักลดลง ส่วนวงจรรวมและไมโครแอสแซมบลีมีมูลค่า 540.9 ล้านเหรียญสหรัฐ มีการปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากอยู่ระหว่างการฟื้นฟูโรงงานและการย้ายฐานการผลิต

3. แนวโน้ม

ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เดือนสิงหาคม 2555จากแบบจำลองดัชนีชี้นำภาวะอุตสาหกรรมสาขาเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า จะปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ17.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนส่วนการประมาณการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีการปรับตัวลดลงร้อยละ25.94 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ