วิกฤตเศรษฐกิจ EU เริ่มส่งผลต่ออุตสาหกรรมไทยฉุดดัชนีอุตสาหกรรมไตรมาส 3 ติดลบ 10.2 %

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 12, 2012 14:29 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สศอ. แจงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไตรมาส 3/55 ติดลบ ร้อยละ 10.2 และอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ ร้อยละ 65.5 สะท้อนวิกฤตเศรษฐกิจ EU เริ่มส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทย คาดการณ์ GDP ภาคอุตสาหกรรม ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 4.0-5.0 และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 3.5 — 4.5

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม) (Manufacturing Production Index - MPI) ไตรมาสที่ 3 (2555) ติดลบร้อยละ 10.2 และอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 65.5 สาเหตุหลักมาจากการลดลงของกลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออก ที่ถูกกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจของตลาดคู่ค้าไทยที่ชะลอตัว ส่วนการผลิตที่ยังคงมีระดับเพิ่มสูงขึ้นเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตอบสนองความต้องการในประเทศ เช่นรถยนต์ วัสดุก่อสร้าง เป็นต้น ด้วยแรงกระตุ้นจากการใช้จ่ายบริโภคและลงทุนของภาคเอกชน รวมถึงผลของนโยบายของรัฐ เช่น โครงการรถคันแรก โครงการจำนำสินค้าเกษตร โครงการป้องกันน้ำท่วม

สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปตลาด EU ในเดือนกันยายน 2555 ลดลงร้อยละ 9.7 น้อยกว่าเดือนสิงหาคม 2555 ที่ลดลงร้อยละ 22.9 โดยภาพรวมของการส่งออกสินค้าไป EU ในไตรมาส 3 ของปี 2555 หดตัวร้อยละ 17.8 ซึ่งสินค้าหลักที่ส่งออก คือ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและ เครื่องประดับ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยาง

ดร.ณัฐพล ณัฎฐสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวถึง ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรายสาขาที่สำคัญ ในไตรมาสที่ 3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีดังนี้

อุตสาหกรรมรถยนต์ ในไตรมาสที่ 3/2555 ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุน เช่น การขยายนโยบายรถยนต์คันแรก การแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดมากขึ้น และโรงงานผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ สามารถกลับมาดำเนินการผลิตได้เป็นปกติ จึงมีการเร่งการผลิตรถยนต์ เพื่อให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า โดยมีการผลิตรถยนต์ จำนวน 648,751 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 36.68 โดยแนวโน้มอุตสาหกรรม ในไตรมาสที่ 4/2555 คาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ 2,350,000 คัน เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 61.20 มีการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ 1,250,000 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวก่อนของปีก่อน ร้อยละ 57.41 และการส่งออก 1,100,000 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกับของปีก่อน ร้อยละ 49.53

          อุตสาหกรรมปูซีเมนต์ ในไตรมาสที่ 3/2555 การผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) คาดว่า  ขยายร้อยละ 14.60 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ      ทั้งภาคธุรกิจและภาคอุตสหากรรม การขยายกำลังการผลิตของวัสดุก่อสร้าง และวัสดุทดแทนไม้       ที่ใช้ปูนซีเมนต์เป็นวัตถุดิบหลักได้รับความนิยมมากขึ้น  การใช้ปูนซีเมนต์ในการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่เสียหายจากอุทกภัย รวมทั้งนโยบายเร่งรัดพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมขนส่งสู่ชานเมือง ทำให้ความต้องการปูนซีเมนต์ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ส่วนแนวโน้มของภาวะอุตสหากรรมปูนซีเมนต์ ในไตรมาสที่ 4/2555  ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 18.11 และเมื่อเฉลี่ยทั้งปีคาดว่ายอดการผลิตจะขยายตัวร้อยละ 11.82

ส่วนการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ปี 2555 ผลิตภัณฑ์มวลรวม ( Gross domestic product : GDP) ภาคอุตสาหกรรม จะขยายตัวร้อยละ 5.5 — 6.5 และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index - MPI) จะขยายตัวร้อยละ 5.0 — 6.0 ส่วนในปี 2556 GDP ภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัวร้อยละ4.0 — 5.0 และ MPI จะขยายตัวร้อยละ 3.5 — 4.5 โดยมีปัจจัยบวกคือการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวจากการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐ แรงกดดันด้านราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนปัจจัยเสี่ยงคือการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า การฟื้นตัวของบางอุตสาหกรรมที่อาจจะล่าช้าไปจนถึงสิ้นปี 2555 ต่อเนื่องถึงปี 2556 และการแข็งค่าของเงินบาท หลังธนาคารกลางสหรัฐประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่ม (QE3)

          ตารางแสดงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต
        INDEX            2554     ----------------------------- 2555-----------------------------------
                         ธ.ค.     ม.ค.   ก.พ.    มี.ค.    เม.ย.   พ.ค.    มิ.ย.     ก.ค.    ส.ค.      ก.ย.
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม       140.9     159   172.4   193.2   165.4    189    182.4     179    174.1     173.5
อัตราการเปลี่ยนแปลง (MOM)%  40.1    12.9     8.4    12.1   -14.4   14.3     -3.5      -2     -2.6       0.5
อัตราการเปลี่ยนแปลง (YOY)% -25.3     -15    -3.1    -2.6       0      6     -9.6    -5.5    -11.3    -13.68
อัตราการใช้กำลังการผลิต%     52.73    58.3   62.34   67.18   58.82   68.2    65.81    66.5    65.36     64.53

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ