การผลิตในภาคอุตสาหกรรมซึ่งวัดจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(1) หรือ MPI เดือนกันยายน 2555 อยู่ที่ระดับ 173.53 หดตัวหรือลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.7 สาเหตุหลักมาจากการลดลงของกลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออก ที่ถูกกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจของตลาดคู่ค้าไทยที่ชะลอตัว นอกจากนี้เป็นผลของฐานสูงในปีก่อนในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟที่เติบโตได้ดี แต่ในปี2555 ระดับการผลิตสินค้าในกลุ่มฮาร์ดดิสก์และอิเล็กทรอนิกส์ชะลอตัวตั้งแต่ต้นปี เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมและการฟื้นตัวกลับมาผลิตในบางโรงงานยังทำได้ไม่เต็มที่ ส่วนการผลิตที่ยังคงมีระดับเพิ่มสูงขึ้นเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตอบสนองความต้องการในประเทศเช่น รถยนต์ วัสดุก่อสร้าง เป็นต้น ด้วยแรงกระตุ้นจากการใช้จ่ายบริโภคและลงทุนของภาคเอกชน รวมถึงผลของนโยบายของรัฐสำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิต(2) เดือนกันยายน2555 อยู่ที่ร้อยละ 65.36 จากร้อยละ 66.49 ในเดือนกรกฎาคม2555 และร้อยละ 65.61 ในเดือนสิงหาคม 2554
เมื่อพิจารณาในด้านของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 7.22 แต่เมื่อไม่รวมการส่งออกทองคำแท่งยังคงหดตัวร้อยละ 3.2
หมายเหตุ
(1) ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เป็นดัชนีที่แสดงทิศทางการผลิตภาคอุตสาหกรรม ทั้งในภาพรวม รายสาขาอุตสาหกรรม และรายผลิตภัณฑ์
(2) อัตราการใช้กำลังการผลิต หมายถึง ค่าร้อยละของการผลิตที่เกิดขึ้นจริงเมื่อเทียบกับความสามารถในการผลิตสูงสุดเต็มศักยภาพ หรือเต็มกำลังการผลิต (capacity)
อุตสาหกรรมรายสาขาสำคัญ(กันยายน 2555)
อุตสาหกรรมอาหาร การผลิต (ไม่รวมน้ำ ตาล) เดือนกันยายน 2555 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.6 ในรายการสินค้าสำคัญ อาทิ สับปะรดกระป๋อง กุ้งแช่เย็นแช่แข็ง และแป้งมันสำปะหลัง มีปริมาณการผลิตลดลงจากปีก่อนร้อยละ 54.6 36.8 และ 6.8 ตามลำ ดับเนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดEU ชะลอตัวลง แต่ผลิตภัณฑ์ไก่ มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8 เป็นผลจากการที่สหภาพยุโรปยกเลิกประกาศห้ามนำเข้าไก่สดแช่แข็ง
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตส่วนใหญ่ลดลงในผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เส้นใย ผ้ายางยืดเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถัก เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าทอ และเครื่องนอนและผ้าขนหนู โดยลดลงร้อยละ 2.27, 4.32, 8.86 10.24 และ 15.64 ตามลำดับ
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า การผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.59 โดยเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 0.39 แต่เหล็กทรงยาว มีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.07 ในส่วนของดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก(FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงเดือนกันยายน 2555 เทียบกับเดือนก่อนพบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กทุกตัวมีดัชนีราคาเหล็กที่ลดลง เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ในขณะที่ประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตที่สำคัญของโลกมีการผลิตส่วนเกินเพิ่มมากขึ้นแต่ความต้องการใช้ในประเทศกลับลดลง
อุตสาหกรรมรถยนต์ มีการผลิตจำนวน228,500 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2554 ซึ่งมีการผลิต 174,212 คัน ร้อยละ 31.16 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และมีปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2555 ร้อยละ8.64 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่งรถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์
สำหรับการส่งออก มีจำนวน 98,268 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2554 ซึ่งมีการส่งออก 90,654 คัน ร้อยละ 8.40 ซึ่งเพิ่มขึ้นในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย แอฟริกา ยุโรป อเมริกากลาง และอเมริกาใต้
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การผลิต เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 35.78 เนื่องจากปัญหาอุทกภัยที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปีก่อน ทำให้สายการผลิตเสียหาย และไม่สามารถผลิตสินค้าได้เต็มกำ ลังการผลิต อย่างไรก็ตามในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและผู้ผลิตชิ้นส่วนในโซ่อุปทานเริ่มกลับมาผลิตได้แล้ว เมื่อพิจารณาในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 38.96 สำหรับอุตสาหกรรมครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวลดลงร้อยละ9.34
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--