สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม — กันยายน) พ.ศ. 2555(อุตสาหกรรมพลาสติก)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 21, 2012 14:32 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ไตรมาส 3 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมพลาสติกขยายตัวร้อยละ 8.89 จากไตรมาสก่อนเป็นการผลิตเพื่อกักตุนสินค้าไว้สำหรับการจำหน่ายในช่วงปลายปี ที่คาดว่าจะมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น การผลิตและบริโภคในประเทศที่เพิ่มขึ้นทำให้การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 9 ในขณะที่ปริมาณการส่งออกขยายตัวต่ำ (ร้อยละ 0.97) จากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจถดถอยในยุโรป

การผลิต

ไตรมาสที่ 3 ปี 2555 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมพลาสติกเท่ากับ 156.02 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 8.89 เนื่องจากผลิตตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมเข้าสู่เทศกาลในช่วงปลายปีเช่น เทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ที่จะมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ประกอบกับความพยายามของภาครัฐเกี่ยวกับแผนบริหารจัดการน้ำ ที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ดัชนีผลผลิตปรับลดลงร้อยละ 8.89เนื่องจากเปรียบเทียบกับฐานที่ค่อนข้างสูงในปี 2554 ซึ่งมีการผลิตกระสอบพลาสติกออกมาเป็นจำนวนมากเพื่อใช้เตรียมรับมือกับอุทกภัยในช่วงเดือนสิงหาคม

การตลาดและการจำหน่าย

ดัชนีการส่งสินค้า

ไตรมาสที่ 3 ปี 2555 ดัชนีการส่งสินค้าผลิตภัณฑ์พลาสติกเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 6.20 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.48 จากปีก่อน เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวทำให้การจำหน่ายสินค้าพลาสติกทุกกลุ่มอยู่ในช่วงขาขึ้น ยกเว้นกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในบ้านที่ดัชนีการส่งสินค้าปรับลดลงจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 7.86 ตามการชะลอตัวของอุปสงค์จากเหตุการณ์น้ำท่วม

ดัชนีสินค้าคงคลัง

ไตรมาสที่ 3 ปี 2555 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ร้อยละ 11.7 เนื่องจากมีการเพิ่มการผลิตเพื่อกักตุนสินค้าไว้สำหรับเทศกาลและวันหยุดในช่วงปลายปี รวมถึงได้ผลิตกระสอบพลาสติกเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมรับมือกับน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นได้ ทำให้ปริมาณกระสอบพลาสติกมีดัชนีสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ร้อยละ 45

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติก (3916-3926) ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2555 ขยายตัวต่ำเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในยุโรป ที่ส่งผลไปยังหลายภูมิภาคในโลก รวมทั้งประเทศคู่ค้าของไทยเช่น ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐอเมริกา ปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกรวม 737,088 ตัน เพิ่มสูงขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2554 ร้อยละ 0.97 คิดเป็นมูลค่ารวม 76,535.12 ล้านบาท และปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 1.32 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีที่แล้ว กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ปริมาณการส่งออกตลอด 3 ไตรมาสลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ได้แก่ ใยยาวเดี่ยว (-42.40%) พลาสติกปูพื้น (-12.91%) และเครื่องประกอบอาคาร (-13.99%) โดยประเทศที่ไทยส่งสินค้ากลุ่มดังกล่าวออกไปมากที่สุด คือ ประเทศจีนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ

การนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติก ไตรมาส 3 ปี 2555 มีปริมาณรวม 136,750 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ร้อยละ 14.78 คิดเป็นมูลค่ารวม 31,293 ล้านบาท โดยมีอัตราการขยายตัวค่อนข้างสูง คือ ร้อยละ 9.15 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2554 ทำให้ขาดดุลอยู่ 4,145 ล้านบาทผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีอัตราของปริมาณการนำเข้าตลอด 3 ไตรมาส เพิ่มขึ้นสูงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าคือ เครื่องสุขภัณฑ์ (31.74%) และเครื่องประกอบของอาคาร (44.43%) โดยประเทศที่ไทยนำเข้าสินค้าดังกล่าวมากที่สุด คือ ประเทศซาอุดิอาราเบีย และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

นโยบายลดภาษีให้กับรถยนต์คันแรกของรัฐบาล ที่จะส่งผลให้รถยนต์โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ขนาดเล็กหรือ eco-car ที่มีการใช้ชิ้นส่วนพลาสติกเป็นส่วนใหญ่มียอดขายที่พุ่งสูงขึ้นมาตรการลดภาษีนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์จากประเทศญี่ปุ่นตามข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่น-ไทย (JTEPA) จากร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 0 มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 ที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์พลาสติกในประเทศ เช่น ผู้ผลิตถังเชื้อเพลิงเข็มขัดนิรภัย ถุงลมนิรภัย

สรุปและแนวโน้ม

อุตสาหกรรมพลาสติกปี 2555 มีแนวโน้มขยายตัว ตามสภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับในปี 2554 มีฐานค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ตามการขยายตัวอาจต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ช่วงต้นปี เนื่องจากภาวะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และส่งผลให้การส่งออกหดตัวลง ทั้งนี้ 9เดือนที่ผ่านมา การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2554 เพียงร้อยละ 2.93 และธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับลดประมาณการ GDP จากร้อยละ 6 เป็นร้อยละ 5.7

ผลกระทบเชิงบวก

  • การขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจรวมทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น
  • การขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยการส่งออกยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบไตรมาส 3 มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 12.6
  • ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่ปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3

ผลกระทบเชิงลบ

  • ภาวะเศรษฐกิจโลก ที่เริ่มชะลอตัวเนื่องจากผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรป
  • อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่หดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการหดตัวของสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบในตลาดอาเซียน และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ส่งไปยุโรป
  • ความสามารถในการแข่งขันของประเทศคู่แข่ง เช่น ประเทศมาเลเซีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีต้นทุนการผลิตที่ได้เปรียบมากกว่าประเทศไทย

ประเด็นสำคัญในอุตสาหกรรมที่ต้องติดตาม

  • ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปต่อสินค้ากลุ่มยานยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องของอุตสาหกรรมพลาสติก
  • แนวโน้มราคาน้ำมันที่คาดว่าจะสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้ผู้ประกอบการต้องเริ่มกักตุนวัตถุดิบเพื่อที่จะไม่ต้องแบกรับภาระต้นทุนวัตถุดิบที่คาดว่าจะสูงขึ้นในช่วงปลายปี
  • วัฏจักรของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่คาดว่าจะเปลี่ยนแปลงลดลง

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ