สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม — กันยายน) พ.ศ. 2555(อุตสาหกรรมปิโตรเคมี)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 21, 2012 14:36 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ไตรมาส 3 ปี 2555 ราคาแนฟธาของตลาดเอเชียปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนทั้งนี้ เป็นการปรับตัวตามราคาน้ำมันดิบ รวมถึงการลดลงของอุปทาน เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นมีแผนปิดถาวรสายการผลิตโพลิโอเลฟินส์ ซึ่งประกอบด้วยสายการผลิตโพลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง (HDPE) ขนาดกำลังการผลิต 52,000 ตัน/ปี และโรงงานผลิตโพลีโพรพิลีน (PP)ขนาดกำลังการผลิต 89,000 ตัน/ปี ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2557

การผลิต

ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยมีแผนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยใช้กลยุทธ์ปรับลดหรือถอนการลงทุนในกิจการที่ผลประกอบการไม่ดี และเพิ่มการควบรวมและเข้าซื้อกิจการในทวีปยุโรปมากขึ้น ในช่วงปี 2555-2559 มีแผนลงทุนรวม 28,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 900,000 ล้านบาท) โดยร้อยละ 41 ลงทุนในอุตสาหกรรมต้นทาง ร้อยละ 16 ลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น ร้อยละ 16 ลงทุนในธุรกิจก๊าซ ร้อยละ 6 ลงทุนในธุรกิจน้ำมันและการค้าน้ำมัน ร้อยละ 19 สำหรับโอกาสในธุรกิจอื่นๆ และอีกร้อยละ 2 ลงทุนสำหรับการวิจัยและพัฒนา

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไตรมาสที่ 3 ปี 2555 ทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำมีมูลค่ารวม 72,831.51 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวโดยรวมลดลงร้อยละ 24.85 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.18 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ปี 2555 โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลายส่งออกลดลงร้อยละ 33.44 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปี 2554 ทั้งนี้เนื่องจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทยโดยเฉพาะจีนและสหรัฐอเมริกาที่มีอัตราการขยายตัวในระดับต่ำ ซึ่งมีสาเหตุหนึ่งจากปัญหาวิกฤตหนี้ที่ยืดเยื้อในสหภาพยุโรป ประกอบกับการที่ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกของไทย เช่น ประเทศจีนและเวียดนามมีแผนการขยายกำลังการผลิตเป็นจำนวนมากในช่วงปี 2556-2560 และบางแห่งเริ่มทยอยเดินเครื่องการผลิตส่งผลให้ตลาดมีความตึงตัวและลดการพึ่งพิงการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจากไทย

สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีใน 3 ไตรมาสของปี 2555 ทั้งระดับต้นน้ำกลางน้ำ และปลายน้ำมีมูลค่ารวม 213,761.49 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวโดยรวมลดลงร้อยละ24.80 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การนำเข้า

การนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไตรมาสที่ 3 ปี 2555 ทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีมูลค่ารวม 32,154.01 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวโดยรวมลดลงร้อยละ 17.40 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ปี 2555 ร้อยละ 6.89 ซึ่งเป็นผลมาจากอุตสาหกรรมปลายทางในประเทศเกิดการชะลอตัวลง ทำให้การนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมียังขยายตัวลดลง

สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีใน 3 ไตรมาสของปี 2555 ทั้งระดับต้นน้ำกลางน้ำ และปลายน้ำมีมูลค่ารวม 89,781.62 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวโดยรวมลดลงร้อยละ26.20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ราคาสินค้า

ราคาเอธิลีนในตลาดเอเชียในไตรมาสที่ 3 ปี 2555 ราคาเฉลี่ยตลอดไตรมาสอยู่ที่33.46 บาทต่อกิโลกรัม และราคาโพรพิลีนเฉลี่ยตลอดไตรมาสอยู่ที่ 38.75 บาทต่อกิโลกรัม โดยราคาของผลิตภัณฑ์เอธิลีนมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ราคาของผลิตภัณฑ์โพรพิลีนมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2555 ราคาเม็ดพลาติก PE และ PP (ราคาเฉลี่ย SE Asia CFR) ในเดือนกันยายน 2555 ของ LDPE, HDPE, และ PP อยู่ที่ระดับ 43.80, 43.92 และ 47.31บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ ทั้งนี้ LDPE และ HDPE มีระดับราคาเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น ส่วน PP มีระดับราคาเฉลี่ยลดลงเมื่อเทียบกับไตมาสที่ผ่านมา

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

โครงการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่ง สศอ.ดำเนินการศึกษาในปี2554 ผลที่ได้รับประกอบด้วย ยุทธศาสตร์/แนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของประเทศที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีมุ่งสู่การเป็นอุตสาหกรรมที่มีการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้น และพัฒนาไปเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี และสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาสที่ 3 ปี 2555 มีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกที่ลดลง โดยมีปัจจัยมาจากการที่ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกของไทยมีการอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาวิกฤตหนี้ที่ยืดเยื้อในสหภาพยุโรป รวมถึงมีแผนการขยายกำลังการผลิตส่งผลให้ลดการพึ่งพิงการนำเข้าจากไทย

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาสที่ 3 ปี 2555 มีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าที่ลดลง ซึ่งคาดว่าเกิดจากการที่อุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศชะลอตัวลง

แนวโน้ม

แนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยทั้งปี 2555 คาดว่าอัตราการขยายตัวจะลดลงเมื่อเทียบกับปี 2554 ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญน่าจะมาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศและประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ ประเทศจีน และประเทศญี่ปุ่นมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอตัวลง รวมถึงปัญหาหนี้ในสหภาพยุโรปที่ยังคงยืดเยื้อ จึงส่งผลให้การส่งออกและนำเข้าของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไทยมีอัตราการขยายตัวที่ต่ำตามไปด้วย ดังนั้น ในระยะสั้น ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจึงปรับแผนการผลิตให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศและภาวะเศรษฐกิจโลก ส่วนในระยะยาว เพื่อลดความเสี่ยงควรบุกเบิกตลาดในประเทศกำลังพัฒนาใหม่ๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาฟริกา

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ