สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม — กันยายน) พ.ศ. 2555(อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 21, 2012 14:43 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2555 ส่วนใหญ่มีการผลิตที่เพิ่มขึ้นทั้งเยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง และกระดาษคราฟท์ ยกเว้นเพียงกระดาษลูกฟูกที่การผลิตยังชะลอตัว จะเห็นได้ว่าปัจจุบันภาคการผลิตเองหรือแม้แต่สื่อสารมวลชนต่างมีการขยับขยายเพื่อรองรับเทคโนโลยีสมัยใหมที่เรียกว่า "ดิจิตอล" กันถ้วนทั่วโดยเฉพาะผู้ผลิตหนังสือพิมพ์ รวมถึงแมกกาซีน นิตยสารรายเดือนและรายปักษ์ พยายามปรับตัวเพื่อให้เข้ากระแสของโลก โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนสภาพจาก "กระดาษ" ที่จับต้องได้ไปสู่รูปแบบออนไลน์ หรือแอพพลิเคชั่นในมือถือ หรือแท็บแล็ต กันอย่างต่อเนื่อง

การผลิต

ในไตรมาส 3 ปี 2555 การผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม การผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน ได้แก่ เยื่อกระดาษกระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง และกระดาษคราฟท์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.50 , 0.77, 8.37 และ 12.55 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิต และส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของตลาดภายในประเทศ สำหรับกระดาษลูกฟูกปรับตัวลดลงเล็กน้อย แต่ยังมีความต้องการใช้ตามภาคการผลิตที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าโภคภัณฑ์ เครื่องสำอางค์ และยา ที่ยังต้องใช้กล่องกระดาษบรรจุ และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนของเยื่อกระดาษ กระดาษแข็ง กระดาษคราฟท์ และกระดาษลูกฟูก เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.93, 5.02, 5.41 และ 2.54 ตามลำดับ ส่วนกระดาษพิมพ์เขียน โดยเฉพาะกระดาษที่นำไปผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ โบรชัวร์ แคตตาล็อก วารสาร ชะลอตัวลงร้อยละ 6.81 (รายละเอียดตามตารางที่ 1 และ 2)

สำหรับ 9 เดือนของปี 2555 ของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ตลาดในประเทศยังขยายตัวต่อเนื่องตามความต้องการบริโภค โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ที่กลุ่มผู้บริโภคยังเข้าไม่ถึงโซเชียลเน็ตเวิร์ก หรือกลุ่มบริโภคข่าวผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ก และวารสาร นอกจากนี้กลุ่มผู้ผลิตสิ่งพิมพ์ ยังสามารถแข่งขันและมีศักยภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล อีกทั้งปัจจุบันไทยเป็นฐานการผลิตกระดาษเพื่อการส่งออกมากขึ้น

การตลาดและการจำหน่าย

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

1. เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ไตรมาส 3 ปี 2555 ลดลงทั้งปริมาณการส่งออกและมูลค่าการส่งออก โดยมีปริมาณการส่งออก 19.81พันตัน ลดลงร้อยละ 43.45 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและลดลงร้อยละ 61.35 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน(รายละเอียดตามตารางที่ 3) และมีมูลค่าการส่งออก 10.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 45.05 และ 67.01 (รายละเอียดตามตารางที่ 4) เนื่องจากการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ลดลงตามคำสั่งซื้อ โดยเฉพาะตลาดส่งออกหลักอย่างประเทศจีน อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ ลดลงร้อยละ 40.51, 45.29 และ 84.99 ตามลำดับ แต่อย่างไรก็ตามความต้องการใช้เยื่อกระดาษในประเทศเวียดนามและอินเดีย ยังขยายตัวเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดส่งออกหลักของเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม สัดส่วนร้อยละ 62.50, 8.42, 7.42 และ 4.61 ตามลำดับ

2. กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ไตรมาส 3 ปี 2555 หากพิจารณาปริมาณการส่งออกกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษในไตรมาสนี้ พบว่า ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.50 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.80 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีมูลค่าการส่งออก 320.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 1.93 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนและลดลงร้อยละ 8.69 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยเฉพาะกระดาษคราฟท์สำหรับใช้ทำกล่องกระดาษลูกฟูก ส่งออกลดลงในประเทศมาเลเซีย ร้อยละ 6.65 ตลาดส่งออกหลักกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ ประเทศเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ ออสเตรเลีย สัดส่วนร้อยละ 11.37, 8.79, 8.37 และ 7.66 ตามลำดับ(รายละเอียดตามตารางที่ 3 และ 4)

3. หนังสือและสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 3 ปี 2555 มีปริมาณการส่งออกหนังสือและสิ่งพิมพ์ 4.95 พันตัน ขยายตัวร้อยละ 58.51 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ปรับลดลงร้อยละ 20.85 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และหากพิจารณาจากมูลค่าการส่งออก ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.62 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ปรับลดลงร้อยละ 9.71 (รายละเอียดตามตาราง ที่ 3 และ 4) ซึ่งสาเหตุหลักที่การส่งออกลดลงเนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐอเมริกา ลดลงร้อยละ 24.00 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและความต้องการบริโภคยังชะลอตัวตลาดส่งออกหลักของหนังสือและสิ่งพิมพ์ของไทย ได้แก่ ประเทศ สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซียสิงคโปร์ และ เวียดนาม สัดส่วนร้อยละ 12.71, 9.99, 8.87 และ 8.00 ตามลำดับ

การนำเข้า

1. เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ไตรมาส 3 ปี 2555 มีปริมาณการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ 480.14 พันตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 72.94 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.60 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเมื่อคิดเป็นมูลค่านำเข้า 194.06ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.30 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ลดลงร้อยละ 9.30เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการผลิตในประเทศสามารถผลิตได้เป็นปกติแล้วหลังจากที่ประสบภัยจากน้ำท่วมเมื่อปีก่อน สำหรับเยื่อกระดาษที่นำเข้าส่วนใหญ่แล้วจะไม่สามารถผลิตได้เองในประเทศ (รายละเอียดตามตารางที่ 5 และ 6) ตลาดนำเข้าหลักในผลิตภัณฑ์นี้ได้แก่ ประเทศแคนาดา แอฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา และ ญี่ปุ่น สัดส่วนร้อยละ 16.00, 13.17, 13.15และ 11.33 ตามลำดับ (รายละเอียดตามตารางที่ 5 และ 6)

2. กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ไตรมาส 3 ปี 2555 มีปริมาณการนำเข้ากระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ 268.55 พันตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.79 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.73 หรือปริมาณ 246.98 พันตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ในขณะเดียวกันเมื่อคิดเป็นมูลค่านำเข้า 411.28 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.63 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากความต้องการบริโภคมีปริมาณมากขึ้น และมีการขยายตัวของการนำเข้ากระดาษพิมพ์เขียนจากจีน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.49 กระดาษคร๊าฟจากประเทศสวีเดนญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และจีน เพื่อนำมาใช้สำหรับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ แหล่งนำเข้าที่สำคัญของกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ จีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และ อินโดนีเซีย สัดส่วนร้อยละ 15.89, 15.73, 13.69 และ 8.83 ตามลำดับ (รายละเอียดตามตารางที่ 5 และ 6)

3. หนังสือและสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 3 ปี 2555 มีปริมาณนำเข้าหนังสือและสิ่งพิมพ์เพิ่มขึ้น 3.88 พันตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.37 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.83 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.83 แต่เมื่อเทียบเป็นมูลค่านำเข้ามีมูลค่า52.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 7.74 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 8.14 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าสิ่งพิมพ์ที่เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย อาทิ ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย หนังสือ และวารสาร (รายละเอียดตามตารางที่ 5 และ 6)สาเหตุที่ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นสวนทางกับมูลค่าการนำเข้าเป็นผลมาจากน้ำหนักและมูลค่าของสิ่งพิมพ์แต่ละประเภทที่นำเข้าแตกต่างกัน ในลักษณะสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือที่เป็นรูปเล่มหรือแผ่น อาทิ ตำราแบบเรียน นิตยสาร วารสารต่างๆ โดยตลาดนำเข้าหลักของหนังสือและสิ่งพิมพ์ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และ สหราชอาณาจักร สัดส่วนร้อยละ 27.05, 11.32, 10.38และ 10.32 ตามลำดับ

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นฮับด้านการพิมพ์ โดยการสนับสนุนขยายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว กัมพูชา พม่า และเวียดนาม เพื่อรองรับการการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตในอุตสาหกรรม

สรุปและแนวโน้ม

สรุปภาวะการผลิต และการนำเข้า อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์โดยรวมในไตรมาส 3 ปี 2555 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยกระดาษพิมพ์เขียนในประเทศมีแนวโน้มการเติบโตชะลอตัว เนื่องจากสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์ก เข้ามาแทนที่ โดยเฉพาะกระดาษที่นำไปผลิตเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ วารสารต่างๆ มีความต้องการใช้ลดลง แต่ในขณะเดียวกันกระดาษลูกฟูกสำหรับผลิตกล่องบรรจุสินค้า มีแนวโน้มขยายตัวตามภาคการผลิตที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าโภคภัณฑ์เครื่องสำอางค์ และยา เป็นต้น สำหรับภาคการส่งออกในไตรมาสนี้ส่วนใหญ่ยังติดลบ เนื่องจากการผลิตยังไม่เพียงพอต่อการใช้ในประเทศ ประกอบกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในประเทศของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้นำเข้าหนังสือและสิ่งพิมพ์รายใหญ่จากไทย ชะลอการนำเข้า

แนวโน้มของภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในไตรมาส 4 ปี 2555 คาดว่าการผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษโดยรวมจะเพิ่มขึ้น ทั้งเยื่อกระดาษ และกระดาษ สำหรับการส่งออกคาดว่าจะมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น ทั้งมีกระแสการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 ซึ่งประเทศไทยจะก้าวขึ้นเป็นฮับด้านการพิมพ์ ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มวางแผนขยายธุรกิจ เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากการเข้ามาลงทุนของบริษัทต่างชาติรวมถึง ผู้ประกอบการไทยยังมีความพยายามที่จะรุกเข้าไปทำตลาดในประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ซึ่งตลาดสิ่งพิมพ์ยังไม่ใหญ่เท่าเมืองไทย สำหรับการนำเข้าเยื่อกระดาษ และสิ่งพิมพ์ ประเภทภาพพิมพ์ ภาพถ่าย และอื่นๆ คาดว่าจะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ