การผลิต
การผลิตปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 3 ปี 2555 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 10.54 ล้านตันการผลิตซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 10.61 ล้านตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตปูนเม็ด เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.91 และ 8.37 ตามลำดับ ส่วนการผลิตปูนซีเมนต์(ไม่รวมปูนเม็ด) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.20 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.09 และเมื่อพิจารณาในภาพรวมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555ปริมาณการผลิตทั้งปูนซีเมนต์ และปูนเม็ด เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.65 และ 3.51 ตามลำดับ
การตลาดและการจำหน่าย
การจำหน่ายในประเทศ
การจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ไตรมาสที่ 3 ปี 2555 มีปริมาณการจำหน่ายรวม 8.89 ล้านตัน แบ่งเป็นการจำหน่ายปูนเม็ด 0.26 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 8.63 ล้านตัน โดยปริมาณการจำหน่ายรวมในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.21 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.50 และหากพิจารณาในภาพรวมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.90 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 3 ของปี2555 เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และหากพิจารณาในภาพรวมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 ทั้งการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้เนื่องจากความต้องการใช้ฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติ และการขยายตัวของภาคก่อสร้างตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
การค้าระหว่างประเทศ
การส่งออก
การส่งออกปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 3 ปี 2555 มีปริมาณการส่งออกรวม 3.35 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 169.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นการส่งออกปูนเม็ด จำนวน 1.43 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 30.32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ด ลดลงร้อยละ 1.41 และ 3.71 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ด ลดลงร้อยละ 20.04 และ 17.23 ตามลำดับ ในส่วนของปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) มีปริมาณการส่งออกจำนวน 1.92 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 108.92 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด)เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.49 และ 14.52 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.78 และ 42.94 ตามลำดับ และหากพิจารณาในภาพรวมการส่งออกปูนซีเมนต์ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 เมื่อเทียบกับปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออก เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.42 และ 17.44 ตามลำดับ
จะเห็นได้ว่าปริมาณส่งออกปูนเม็ดมีแนวโน้มลดลงจากปีก่อน ๆ ทั้งนี้เนื่องจากส่วนหนึ่งของผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทยได้ขยายฐานการผลิตไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียนที่เป็นตลาดหลัก เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำธุรกิจปูนซีเมนต์ในตลาดอาเซียน โดยในเบื้องต้นได้ขยายการลงทุนและเปิดตลาดในประเทศพม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ส่วนในมาเลเซีย และสิงคโปร์ ได้ลงทุนในรูปแบบศูนย์กระจายสินค้าไปแล้ว แต่หากพิจารณาในภาพรวมปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 ยังคงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากประเทศในภูมิภาคอาเซียนและประเทศในแถบเอเซียใต้ (บังคลาเทศ และศรีลังกา) รวมทั้งประเทศกำลังพัฒนาอื่นที่นำเข้าปูนซีเมนต์จากไทย เช่น โตโก ชิลี และเคนยา เป็นต้น ยังคงมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้น เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย 5 ลำดับแรก คือ เมียนมาร์ กัมพูชา บังคลาเทศลาว และอินโดนีเซีย ตามลำดับ
การนำเข้า
การนำเข้าปูนซีเมนต์ไตรมาสที่ 3 ปี 2555 มีปริมาณรวม 4,371.75 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการนำเข้ารวม ลดลงร้อยละ 3.67 และ 7.07 ตามลำดับ ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาล และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปริมาณและมูลค่านำเข้ารวม ลดลงร้อยละ 0.35 และ 16.04 ตามลำดับ โดยเป็นการนำเข้าปูนเม็ดจำนวน 101.30 ตัน คิดเป็นมูลค่า 0.04 ล้านเหรียญสหรัฐ ปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) จำนวน 4,270.45 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ การนำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นอะลูมินัสซีเมนต์ ซึ่งไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ และบางส่วนเป็นการนำเข้าซีเมนต์ปอร์ตแลนด์คุณภาพสูงเพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ระบุคุณสมบัติของวัสดุที่นำมาก่อสร้าง แหล่งนำเข้าที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทย คือ จีน รองลงมาคือ เนเธอร์แลนด์ อินเดีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ตามลำดับ
ราคาสินค้า
ราคาปูนซีเมนต์มีแนวโน้มทรงตัว เนื่องจากมีการแข่งขันสูง แต่ผลกระทบจากราคาเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญ รวมทั้งต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น จึงอาจจะส่งผลต่อราคาปูนซีเมนต์ในระยะต่อไป อย่างไรก็ตามปูนซีเมนต์จัดอยู่ในกลุ่มสินค้าควบคุม การขึ้นราคาต้องได้รับอนุมัติจากกระทรวงพาณิชย์ก่อน
นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
รัฐบาลมีมาตรการ/นโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ทางอ้อม โดยใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นกำลังซื้อ เช่น โครงการบ้านหลังแรก รวมทั้งการลงทุนในสาธารณูปโภค การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล ทำให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นในการขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น
สรุปและแนวโน้ม
สรุป
ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 3 ของปี2555 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนยังคงขยายตัวได้ และหากพิจารณาในภาพรวมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากความต้องการใช้เพื่อการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่เสียหายจากอุทกภัย และเตรียมรับมือกับภัยธรรมชาติต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นอีก อีกทั้งความต้องการใช้เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายเร่งรัดพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมออกสู่ชานเมือง และนโยบายบ้านหลังแรก ทำให้เกิดการลงทุนในธุรกิจบ้านจัดสรร และคอนโดมิเนียมตามเส้นทางรถไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก ซึ่งล้วนส่งผลให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 เนื่องจากประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย และตลาดส่งออกนอกทวีปเอเชีย ส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนายังมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย คือ เมียนมาร์กัมพูชา บังคลาเทศ ลาว และอินโดนีเซีย ตามลำดับ
แนวโน้ม
แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ไตรมาสที่ 4 ปี 2555คาดว่าจะยังคงขยายตัวได้ตามวัฏจักรของการก่อสร้าง โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลัก คือ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และการขยายการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชนรองรับเส้นทางรถไฟฟ้า และโครงข่ายคมนาคมสู่ชานเมือง
สำหรับการส่งออกปูนซีเมนต์ในไตรมาส 4 ปี 2555 คาดว่ายังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี เนื่องจากตลาดส่งออกหลักของไทยล้วนเป็นประเทศกำลังพัฒนายังมีความจำเป็นต้องใช้ปูนซีเมนต์ในการก่อสร้างเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจอีกเป็นจำนวนมาก
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--