สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม — กันยายน) พ.ศ. 2555(อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 21, 2012 15:08 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้?อยู่ในภาวะทรงตัว ในขณะที่การส่งออกไม้และเครื่องเรือนสามารถเติบโตได้จากกลุ่มเครื่องเรือนและชิ้นส่วน และกลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้

การผลิต

การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 3 ปี 2555 มีปริมาณ 2.18 ล้านชิ้น (ดังตารางที่ 1) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยร้อยละ 0.46 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 4.39 สำหรับการผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ในช่วง 9 เดือนของปี2555 มีปริมาณ 6.49 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.46

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 3 ปี 2555 มีปริมาณ 0.89 ล้านชิ้น(ดังตารางที่ 2) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ยังอยู่ในภาวะทรงตัว แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 12.75 สำหรับการจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ในช่วง 9 เดือนของปี 2555 มีปริมาณ 2.70 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 7.53

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 3 ปี 2555 มีมูลค่ารวม 747.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.66 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 11.49 (ดังตารางที่ 3)

การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ในช่วง 9 เดือนของปี 2555 มีมูลค่ารวม 2,221.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.85 ซึ่งเป็นผลจากความต้องการผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ในตลาดสหรัฐอเมริกา และตลาดสหภาพยุโรปลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง และปัญหาวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นในสหภาพยุโรป

สำหรับรายละเอียดการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน แบ่งเป็น 3 กลุ่มประเภทสินค้า ดังนี้

1) กลุ่มเครื่องเรือนและชิ้นส่วน ประกอบด้วย เครื่องเรือนไม้ เครื่องเรือนอื่นๆ และชิ้นส่วนเครื่องเรือน ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มนี้ คือ ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย การส่งออกเครื่องเรือนและชิ้นส่วน มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 33ของมูลค่าส่งออกรวมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ เครื่องเรือนไม้

การส่งออกเครื่องเรือนและชิ้นส่วน ไตรมาส 3 ปี 2555 มีมูลค่ารวม 248.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.08 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 8.01 สำหรับการส่งออกเครื่องเรือนและชิ้นส่วน ในช่วง 9 เดือนของปี 2555มีมูลค่ารวม 716.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 6.48

2) กลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้ ประกอบด้วย เครื่องใช้ทำด้วยไม้ อุปกรณ์ก่อสร้างไม้ กรอบรูปไม้ และรูปแกะสลักไม้ ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มนี้ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นสวิตเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8 ของมูลค่าส่งออกรวมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ เครื่องใช้ทำด้วยไม้

การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ ไตรมาส 3 ปี 2555 มีมูลค่ารวม 57.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.41 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 17.37 สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ ในช่วง 9 เดือนของปี 2555 มีมูลค่ารวม 164.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 11.60

3) กลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ประกอบด้วย ไม้แปรรูป แผ่นไม้วีเนียร์ ไม้อัด ไฟเบอร์บอร์ด (Fiber Board) และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้อื่น ๆ ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มนี้ คือ ประเทศจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย และเวียดนาม การส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 59 ของมูลค่าส่งออกรวมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือไม้แปรรูป รองลงมาคือ ไฟเบอร์บอร์ด และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้อื่นๆ

การส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ไตรมาส 3 ปี 2555 มีมูลค่ารวม 441.52 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.46และ 12.55 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ในช่วง 9 เดือนปี 2555 มีมูลค่ารวม 1,340.29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.25

การนำเข้า

การนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าวัตถุดิบไม้ ได้แก่ ไม้แปรรูปไม้อัดและไม้วีเนียร์ และไม้ซุง มาผลิตเป็นสินค้าต่อเนื่องในอุตสาหกรรมเครื่องเรือน โดยไม้แปรรูปส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศมาเลเซีย ลาว สหรัฐอเมริกา และนิวซีแลนด์ ไม้อัดและไม้วีเนียร์ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย และไม้ซุงส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศเมียนมาร์ มาเลเซีย และนิวซีแลนด์

การนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 3 ปี 2555 มีมูลค่ารวม 170.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 3.24 และ 2.81 ตามลำดับ สำหรับการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ในช่วง 9 เดือนของปี 2555 มีมูลค่ารวม 517.97 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.76

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 3 ปี 2555 อยู่ในภาวะทรงตัวในขณะที่การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 3 ปี 2555 สามารถขยายตัวได้ในกลุ่มเครื่องเรือนและชิ้นส่วน และกลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้ สำหรับการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 3 ปี 2555 ลดลง

แนวโน้ม

การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 4 ปี 2555 มีแนวโน้มลดลงจากความต้องการของตลาดในประเทศที่อยู่ในภาวะทรงตัว และการผลิตเพื่อการส่งออกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ไม่สามารถเติบโตได้

การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 4 ปี 2555 มีแนวโน้มลดลงเนื่องจาก ตลาดหลักของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป มีความต้องการไม้และเครื่องเรือนของไทย ลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การหาตลาดใหม่ในแถบเอเชียที่มีกำลังซื้อสูง เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อทดแทนตลาดเดิม อาจทำให้การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ สำหรับการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 4 ปี 2555 มีแนวโน้มลดลง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการผลิตและการส่งออกไม้และเครื่องเรือน

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ