สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม — กันยายน) พ.ศ. 2555(อุตสาหกรรมยา)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 21, 2012 15:12 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมยาในภาพรวมของไตรมาสนี้ การผลิตและการจำหน่ายมีปริมาณหดตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากยาน้ำบางชนิดซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดและจำหน่ายได้ดีถูกควบคุมอย่างเข้มงวดตั้งแต่ไตรมาสที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามปริมาณการผลิตและจำหน่ายยาในรูปแบบอื่นมีการขยายตัวดีเช่นกัน เนื่องจากเป็นช่วงปลายปีงบประมาณ ซึ่งโรงพยาบาลของรัฐจะเร่งการใช้จ่าย ประกอบกับผู้บริโภคมีพฤติกรรมการซื้อยาบริโภคเองจากจำนวนร้านขายยาที่เพิ่มขึ้น อันเป็นผลจากนโยบายการควบคุมการเบิกจ่ายของภาครัฐ

การผลิต

ไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 การผลิตยาในประเทศมีปริมาณ 7,124.15 ตัน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ร้อยละ 10.90 และ 12.26 ตามลำดับ สำหรับช่วง 9 เดือนของปี 2555 มีปริมาณการผลิต 22,790.17 ตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.38 โดยสาเหตุหลักเนื่องมาจากยาน้ำแก้หวัดที่ผู้ผลิตเคยได้รับคำสั่งซื้อสูง และทำการผลิตปริมาณมาก มีสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน ซึ่งภาครัฐได้ควบคุมการจำหน่ายยาสูตรผสมดังกล่าวอย่างเข้มงวดในปีนี้ ทำให้ปริมาณการผลิตลดลงมาก ส่งผลต่อผู้ผลิตที่ได้รับผลกระทบต้องใช้เวลาในปรับสูตรยาโดยใช้ยาตัวอื่นตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำหนด นอกจากนี้ผู้ผลิตยังทำการผลิตยาสามัญอื่น เพื่อทดแทนยาที่ถูกจำกัดการจำหน่าย แต่ความต้องการยังไม่สูงมาก เนื่องจากเป็นยารักษาเฉพาะทางที่สั่งจ่ายโดยแพทย์

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายยาในไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 มีปริมาณ 6,975.54 ตัน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 8.10 สำหรับปริมาณการจำหน่ายช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 มีปริมาณ 19,742.91 ตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 10.66 โดยรูปแบบของยาที่มีปริมาณการจำหน่ายลดลงมาก คือ ยาน้ำ เนื่องจากยาน้ำที่มีสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน ถูกภาครัฐควบคุมการจำหน่ายอย่างเข้มงวด เพราะเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข จึงกำหนดให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ตาม พ.ร.บ. วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 โดยยานี้มีได้เฉพาะในสถานพยาบาลภาครัฐ และสถานพยาบาลภาคเอกชนที่มีใบอนุญาตเท่านั้น พร้อมทั้งให้ร้านขายยาคืนยากับผู้ผลิต ตลอดจนจำกัดการนำเข้ายาประเภทนี้จากต่างประเทศด้วย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2555 เป็นต้นมา นอกจากนี้ยังมีปัญหาน้ำท่วมในบางพื้นที่ช่วงปลายไตรมาส ส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถใช้บริการในโรงพยาบาลได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณการจำหน่ายยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.46 เนื่องจากเข้าสู่ช่วงปลายปีงบประมาณ ทำให้โรงพยาบาลของรัฐเร่งการใช้จ่ายงบประมาณ นอกจากนี้ผู้ผลิตได้เพิ่มสัดส่วนการจำหน่ายให้กับร้านขายยาสูงขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้บริโภคมีพฤติกรรมการซื้อยาบริโภคเองจากร้านขายยามากขึ้น จากนโยบายควบคุมการเบิกจ่ายของภาครัฐ

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 มีมูลค่า 2,454.63 ล้านบาทขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ร้อยละ 40.87 และ 41.98 ตามลำดับโดยตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เวียดนาม เมียนมาร์ กัมพูชา มาเลเซีย และญี่ปุ่น มีมูลค่าการส่งออกรวม 1,821.91 ล้านบาท หรือร้อยละ 74.22 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

สำหรับช่วง 9 เดือนของปี 2555 การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคมีมูลค่า 5,689.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 15.54 โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่เวียดนาม เมียนมาร์ กัมพูชา ญี่ปุ่น และมาเลเซีย มีมูลค่าการส่งออกรวม 3,914.80 ล้านบาท หรือร้อยละ 68.80 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

ตลาดส่งออกยาที่สำคัญของไทย คือ อาเซียน โดยการส่งออกไปประเทศเวียดนามและเมียนมาร์ มีการขยายตัวสูง ซึ่งเกิดจากการที่ผู้ผลิตไทยได้แสวงหาพันธมิตรทำหน้าที่เป็นตัวแทนการจำหน่ายในประเทศดังกล่าวเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตว่าการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปีก่อน เพราะมีบริษัทจากญี่ปุ่นให้ความสนใจร่วมเป็นพันธมิตรกับผู้ผลิตในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เพื่อใช้โรงงานที่ร่วมทุนกับผู้ผลิตไทยเป็นฐานการผลิตยา เพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออก นอกจากนี้การขยายตัวของการส่งออก ยังมีผลมาจากการที่ผู้ผลิตได้พัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพเป็นที่เชื่อมั่นของประเทศคู่ค้าและสามารถหาตลาดส่งออกใหม่ ๆ รวมทั้งผู้ผลิตรายใหญ่ของไทยมีความพร้อมและได้รับความไว้วางใจจากผู้ผลิตเวชภัณฑ์ชั้นนำของโลกว่าจ้างผลิตสินค้า เพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ

การนำเข้า

การนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 มีมูลค่า 11,294.79 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 6.74 โดยตลาดนำ เข้าที่สำ คัญ ได้แก่สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร มีมูลค่าการนำเข้ารวม 5,039.17 ล้านบาท หรือร้อยละ 44.61 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

สำหรับการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคช่วง 9 เดือนของปี 2555 มีมูลค่า 33,934.77 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 16.32 โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร มีมูลค่าการนำเข้ารวม 15,085.38 ล้านบาท หรือร้อยละ 44.45 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

มูลค่าการนำเข้ายามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะยาต้นแบบ แต่เติบโตในอัตราที่ไม่สูงนัก (ยกเว้นช่วงเกิดมหาอุทกภัยเมื่อปลายปีก่อน) จากนโยบายควบคุมการเบิกจ่ายยาในระบบสวัสดิการของรัฐ นอกจากนี้ยาสามัญนำเข้า มีแนวโน้มจะเข้ามาแข่งขันในประเทศมากขึ้นจากความต้องการยาสามัญที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยประสบกับเหตุการณ์อุทกภัยช่วงปลายปีก่อน ส่งผลให้ผู้ผลิตยาได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้ยาบางประเภทไม่เพียงพอกับความต้องการ แม้ปัจจุบันจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ผู้ผลิตที่ได้รับผลกระทบทางตรงบางรายยังไม่สามารถผลิตได้เต็มกำลังการผลิต จึงทำให้การนำเข้ายาจากต่างประเทศในปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก

ในส่วนมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคลดลงจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 3.53 จากความเข้มงวดในการเบิกจ่ายของภาครัฐ โดยส่งเสริมการใช้ยาสามัญในระบบบัญชียาหลักและโครงการประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้ายาต้นแบบ

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินโครงการยาแลกไข่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการใช้ยาภาคครัวเรือน ให้ประชาชนบริโภคยาตามความจำเป็น และแก้ไขปัญหาการดื้อยา ทั้งนี้ การดำเนินงานจะให้ประชาชนนำยาเก่าที่ไม่ได้ใช้ออกมาให้รัฐ เพื่อทำการคัดแยกยาที่ดีนำกลับมาใช้ใหม่ ทำลายยาที่เสื่อมสภาพ และใช้เป็นข้อมูลกำหนดแนวทางบริหารจัดการยาในอนาคต ซึ่งเป้าหมายเมื่อเสร็จสิ้นโครงการคาดว่าจะได้รับยาจากประชาชนประมาณ 20 ล้านเม็ด และสามารถประหยัดงบประมาณด้านยาประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายยาไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 หดตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยสาเหตุหลักเนื่องจากผู้ผลิตยาน้ำที่มีสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน ซึ่งเคยได้รับคำสั่งซื้อสูง และทำการผลิตปริมาณมาก ถูกควบคุมการจำหน่ายอย่างเข้มงวด สำหรับมูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในแถบอินโดจีน ซึ่งเกิดจากการที่ผู้ผลิตไทยได้แสวงหาพันธมิตรทำหน้าที่เป็นตัวแทนการจำหน่ายเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ส่วนมูลค่าการนำเข้ายังคงขยายตัวต่อเนื่องเช่นที่ผ่านมา ทั้งยาต้นตำรับ และยาสามัญ

แนวโน้ม

ไตรมาสสุดท้าย ของปี 2555 คาดว่า ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายในประเทศ รวมถึงมูลค่าการนำเข้าและส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรค จะชะลอตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากผู้ผลิต รวมถึงผู้สั่งซื้อ จะบริหารสินค้าคงคลังไม่ให้เหลือในปริมาณที่สูงมากในช่วงปลายปี ตลอดจนสถานพยาบาลภาครัฐ ซึ่งเป็นตลาดหลัก ได้เร่งการใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมากในช่วงปลายปีงบประมาณ ประกอบกับผู้ซื้อยังมีสินค้าเก่าคงเหลืออยู่ โดยคาดว่าสถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้นประมาณช่วงไตรมาสที่ 2 ตามวัฏจักรธุรกิจ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ