สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม — กันยายน) พ.ศ. 2555(อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 21, 2012 15:28 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในไตรมาสที่ 3 ปี 2555 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ด้านการผลิต และการจำหน่ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ด้านการส่งออกมีการขยายตัวสอดคล้องตามการผลิตที่เพิ่มขึ้น เนื่องด้วยการส่งออกอัญมณี เครื่องประดับแท้ รวมถึงการส่งออกทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูปที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาทองคำโดยเฉลี่ยในไตรมาสนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า อันเป็นผลจากการเริ่มใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE3) ของสหรัฐอเมริกา

การผลิตและการจำหน่าย

การผลิตเครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณและของที่เกี่ยวข้องกัน ในไตรมาสที่ 3ปี 2555 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ดูตารางที่ 1 ประกอบ) ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.25 ดัชนีส่งสินค้าหรือดัชนีการจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.29 เนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.53 หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 5.58 ดัชนีส่งสินค้าหรือดัชนีการจำหน่ายลดลงร้อยละ 14.29 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกในปีนี้ที่ซบเซากว่าปีก่อน และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.95

การตลาด

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 (ดูตารางที่ 2 ประกอบ) ไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 5,097.73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 105.38 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 53.08 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกอัญมณีที่มีมูลค่า 541.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.27 เครื่องประดับแท้ที่มีมูลค่า 1,001.42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.64 เนื่องจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นผลจากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปซึ่งมีมูลค่า 3,400.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 242.87 เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน อันเป็นผลจากการใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE3) ของสหรัฐอเมริกา ผลิตภัณฑ์สำคัญๆ ได้แก่

1. อัญมณี ในไตรมาสที่ 3 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 541.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 10.27 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 16.73 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ฮ่องกง เบลเยี่ยม และอิสราเอล คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50.27, 15.98 และ 7.35 ตามลำดับ ซึ่งผลิตภัณฑ์อัญมณีที่สำคัญมีดังนี้

1.1 เพชร ในไตรมาสที่ 3 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 365.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.62 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 21.04 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ฮ่องกง เบลเยี่ยม และอิสราเอล คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 44.04, 23.37 และ 10.60 ตามลำดับ

1.2 พลอย ในไตรมาสที่ 3 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 172.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.71 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 5.78 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และอินเดีย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 62.78, 9.62 และ 6.20 ตามลำดับ

2. เครื่องประดับแท้ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 1,001.42ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.64 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 3.07เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งผลิตภัณฑ์เครื่องประดับแท้ที่สำคัญมีดังนี้

2.1 ทำด้วยเงิน ในไตรมาสที่ 3 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 396.92 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.77 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 6.31 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และออสเตรเลีย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 47.13, 20.00 และ 4.48 ตามลำดับ

2.2 ทำด้วยทอง ในไตรมาสที่ 3 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 565.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.74 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 1.03 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และอินเดีย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32.79, 15.16 และ 13.78 ตามลำดับ

3. เครื่องประดับอัญมณีเทียม ในไตรมาสที่ 3 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 94.05 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.65 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 7.49เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ลิกเตนสไตน์ สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43.18, 22.35 และ 6.94 ตามลำดับ

4. อัญมณีสังเคราะห์ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 27.82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 15.10 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 5.21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ฮ่องกง ออสเตรีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 44.87, 14.07 และ 9.75 ตามลำดับ

5. ทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป ในไตรมาสที่ 3 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 3,400.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 242.87 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 130.70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกงและออสเตรเลีย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 65.93, 18.86 และ 12.73 ตามลำดับ

การนำเข้า

1. เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2555(ดูตารางที่ 3 ประกอบ) มีมูลค่าการนำเข้า 1,833.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 41.53 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและลดลงร้อยละ 72.04 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยการนำเข้าเพชร พลอย ทองคำ เงิน โลหะมีค่าและโลหะอื่นๆ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 97.61 ของการนำเข้าวัตถุดิบทั้งหมด

1.1 เพชร ในไตรมาสที่ 3 ปี 2555 มีมูลค่าการนำเข้า 240.17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.30 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 59.46 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แหล่งนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ อินเดีย ฮ่องกง และอิสราเอล คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45.47, 18.02 และ 8.77 ตามลำดับ

1.2 พลอย ในไตรมาสที่ 3 ปี 2555 มีมูลค่าการนำเข้า 91.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 56.71 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 19.83 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แหล่งนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ฮ่องกง อินเดีย และสหรัฐอเมริกา คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24.07, 16.63 และ 11.09 ตามลำดับ

1.3 ทองคำ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2555 มีมูลค่าการนำเข้า 1,276.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 52.62 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 76.53 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แหล่งนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ แอฟริกาใต้ และญี่ปุ่นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 39.91, 20.95 และ 13.85 ตามลำดับ

1.4 เงิน ในไตรมาสที่ 3 ปี 2555 มีมูลค่าการนำเข้า 150.53 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.38 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 52.98 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แหล่งนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ จีน สวิตเซอร์แลนด์ และเยอรมนี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32.30, 17.40 และ 16.75 ตามลำดับ

1.5 โลหะมีค่าและโลหะอื่นๆ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2555 มีมูลค่าการนำเข้า 31.23ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 68.98 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 31.02 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แหล่งนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและเยอรมนี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52.36, 22.56 และ 14.32 ตามลำดับ

2. เครื่องประดับอัญมณี ในไตรมาสที่ 3 ปี 2555 มีมูลค่าทั้งสิ้น 249.39 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 62.07 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 1.30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์สำคัญๆ ได้แก่

2.1 เครื่องประดับอัญมณีแท้ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2555 มีมูลค่าการนำเข้า 236.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 64.56 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 1.52 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แหล่งนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกงและมาเลเซีย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.01, 8.79 และ 4.61 ตามลำดับ

2.2 เครื่องประดับอัญมณีเทียม ในไตรมาสที่ 3 ปี 2555 มีมูลค่าการนำเข้า 13.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.80 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.81 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แหล่งนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส และเกาหลีใต้ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35.33, 13.67 และ 11.55 ตามลำดับ

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

  • ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการกรณีที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป ได้แก่ 1) พิจารณาผ่อนปรนดอกเบี้ยผิดนัด กรณีผู้ส่งออกชำระหนี้ไม่ทันตามกำหนดอันเนื่องมาจากผู้ซื้อชำระเงินค่าสินค้าล่าช้า 2) ผ่อนปรนอัตราดอกเบี้ยรับซื้อลดเอกสารการส่งออก เนื่องจากผู้ซื้อชำระหนี้ล่าช้า 3) บริการประกันการส่งออก เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้า และ 4) บริการประเมินความเสี่ยงผู้ซื้อในต่างประเทศ เพื่อจะได้ทราบสถานะความน่าเชื่อถือของผู้ซื้อในต่างประเทศ ตลอดจนสามารถเสนอเงื่อนไขการชำระเงินที่เหมาะสมให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศได้

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในไตรมาสที่ 3 ปี 2555 ด้านการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.25 และการจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.29 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ด้านการส่งออกมีการขยายตัวสอดคล้องตามการผลิตที่เพิ่มขึ้น คือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 105.38 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลจากการส่งออกอัญมณี เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.27 เครื่องประดับแท้เพิ่มขึ้น 18.64รวมถึงการส่งออกทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูปที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 242.87 ซึ่งเป็นสาเหตุหลักต่อการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกในไตรมาสนี้ โดยในภาพรวมการส่งออกทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูปในไตรมาสนี้มีมูลค่ามากกว่าการนำเข้า เนื่องจากราคาทองคำโดยเฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับประมาณ 1,700เหรียญสหรัฐฯ ต่อออนซ์ ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 1,600 เหรียญสหรัฐฯ ต่อออนซ์ อันเป็นผลจากการใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE3) ของสหรัฐอเมริกา(ที่ประกาศใช้เมื่อ 13 กันยายน 2555) ด้านการนำเข้าในไตรมาสนี้ลดลงร้อยละ 41.53 เนื่องจากการนำเข้าทองคำยังไม่ขึ้นรูป ลดลงอย่างมากร้อยละ 52.62 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

แนวโน้ม

แนวโน้มภาพรวมการส่งออกในไตรมาสที่ 4 ปี 2555 ปัจจัยด้านลบ คือ วิกฤตเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างชัดเจน ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปัจจัยบวก แนวโน้มราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนจะส่งผลต่อการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปเพิ่มขึ้น จากปัจจัยบวกและปัจจัยลบดังที่กล่าวมานั้น ปัจจัยบวกและปัจจัยลบจะส่งผลใกล้เคียงกัน ดังนั้นจึงคาดการณ์ว่าแนวโน้มการส่งออกภาพรวมในไตรมาสที่ 4 ปี 2555 จะทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ