สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม — กันยายน) พ.ศ. 2555(อุตสาหกรรมอาหาร)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 21, 2012 15:34 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมด้านการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ไตรมาสที่ 3 ปี 2555 มีปริมาณการผลิตลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 18.63 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปริมาณวัตถุดิบลดลง ประกอบกับต้นทุนสินค้าอาหารโดยรวม ได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบนำเข้าจากตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน แม้ว่าค่าเงินบาทได้ปรับตัวอ่อนลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออก แต่จากสถานการณ์หนี้สาธารณะของหลายประเทศในสหภาพยุโรป เริ่มส่งผลต่อเนื่องทำให้ภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซาลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ภาคการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารไทยโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อการส่งออกกลับชะลอตัวลง

การผลิต

ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2555 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ลดลงร้อยละ 18.63 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากการผลิตในกลุ่มสินค้าสำคัญ เช่น น้ำตาล และผักผลไม้ ปรับตัวลดลง (ตารางที่ 1) เป็นผลจากปริมาณวัตถุดิบ ได้แก่ อ้อย ลดลงตามฤดูกาล แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารลดลงเพียงร้อยละ 1.13 เป็นผลจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ที่เป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัว สำหรับภาวะการผลิตในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสำคัญสรุปได้ ดังนี้

กลุ่มแปรรูปธัญพืชและแป้ง ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.23 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากมีนโยบายรับจำนำของภาครัฐ เป็นตัวกระตุ้นให้เกษตรกรผลิตเพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.62 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปีก่อนปริมาณผลผลิตลดลงจากการเกิดโรคระบาดในมันสำปะหลัง และสถานการณ์อุทกภัย นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบปริมาณการผลิตช่วง 9 เดือน ปี 2555 กับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตขยายตัวร้อยละ 22.92

กลุ่มแปรรูปประมง ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.37 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.28 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากวัตถุดิบมีปริมาณเพิ่มขึ้น หลังจากได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในแหล่งเพาะเลี้ยงในช่วงปลายปีที่แล้วและต่อเนื่องถึงช่วงต้นปี และเมื่อเปรียบเทียบปริมาณการผลิตช่วง 9 เดือน ปี 2555 กับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตขยายตัวร้อยละ 3.69

กลุ่มแปรรูปปศุสัตว์ ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.99 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.11 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการยกเลิกประกาศห้ามนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทยจากปัญหาไข้หวัดนก และเมื่อเปรียบเทียบปริมาณการผลิตช่วง 9 เดือน ปี 2555 กับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตขยายตัวร้อยละ 7.13 จากการ

นำเข้าเพิ่มขึ้นของญี่ปุ่น

กลุ่มแปรรูปผักผลไม้ ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 30.28 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 7.84 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสต็อกสินค้ายังทรงตัวในระดับสูง เป็นผลสืบเนื่องจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศผู้นำเข้าได้แก่ กลุ่มสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกาซึ่งถดถอยจากวิกฤตหนี้ของสหภาพยุโรป และเมื่อเปรียบเทียบปริมาณการผลิตช่วง 9 เดือน ปี 2555 กับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตปรับตัวลดลงร้อยละ 7.21

กลุ่มแปรรูปเพื่อใช้บริโภคในประเทศ ได้แก่ น้ำมันพืช ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 14.35 เนื่องจากวัตถุดิบออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 12.52 สำหรับผลิตภัณฑ์นมการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.93 และร้อยละ 46.73 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากโรงงานผลิตนมพร้อมดื่มสามารถกลับมาผลิตได้หลังจากต้องหยุดการผลิตจากสถานการณ์อุทกภัยในปีที่ผ่านมานอกจากนี้ในส่วนของอาหารสัตว์ มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.64 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลจากความต้องการเนื้อไก่และการเลี้ยงไก่เพิ่มขึ้น และหากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.40 เนื่องจากต้องเพิ่มปริมาณการผลิตอาหารสัตว์ให้สามารถรองรับการเลี้ยงไก่ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามการยกเลิกประกาศห้ามนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทยของสหภาพยุโรป

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2555 ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารภายในประเทศลดลงร้อยละ 0.27 จากไตรมาสก่อน แต่ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.74 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 2) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากระดับราคาน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อระดับราคาสินค้าหลายรายการได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภคลดการจับจ่ายใช้สอยลง ประกอบกับเป็นช่วงเทศกาลสารทจีนที่มีความต้องการสินค้ากลุ่มปศุสัตว์เพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้ภาพรวมปริมาณการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมอาหารช่วงไตรมาสที่ 3 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนเพียงเล็กน้อย ในขณะที่การจำหน่ายน้ำตาลทรายในประเทศปรับตัวลดลงร้อยละ 10.80 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหากเปรียบเทียบการจำหน่ายในประเทศช่วง 9 เดือน ปี 2555 กับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการจำหน่ายในภาพรวมปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 4.31 เนื่องจากได้มีการปรับเพิ่มขึ้นของค่าจ้างขั้นต่ำและเงินเดือนของข้าราชการ ทำให้มีการปรับระดับราคาสินค้าประเภทอาหารเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2555 การส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร มีมูลค่ารวม 229,289.90 ล้านบาท โดยลดลงร้อยละ 1.43 จากไตรมาสก่อน (ตารางที่ 3) เป็นผลจากระดับราคาสินค้าในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นตามระดับราคาน้ำมัน และมูลค่าการส่งออกมีการชะลอตัวในหลายกลุ่มผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำตาลทราย และข้าว แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกชะลอตัวลงร้อยละ 3.93 เป็นผลจากเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าชะลอตัว เนื่องจากปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศในสหภาพยุโรปที่เริ่มขยายตัวไปยังตลาดอื่น ๆ สำหรับภาพรวมการส่งออกช่วง 9 เดือน ปี 2555 มูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.35 โดยการส่งออกในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ มีดังนี้

กลุ่มประมง มีมูลค่าการส่งออก 67,003.75 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.67 จากไตรมาสก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของระดับราคาในทุกกลุ่มทั้งอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เนื่องจากราคาวัตถุดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การส่งออกลดลงร้อยละ 1.42 จากคำสั่งซื้อของสหภาพยุโรปที่ชะลอตัวลง สำหรับการส่งออกช่วง 9 เดือน ปี 2555 มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.21ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกสินค้าสำคัญในกลุ่ม คือ ปลาทูน่ากระป๋อง ทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นเนื่องจากสหภาพยุโรปหันไปบริโภคปลาทูน่าแทนกุ้ง จากภาวะวิกฤตหนี้สาธารณะในหลายประเทศที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่การบริโภคสินค้าที่มีราคาต่ำกว่าทดแทน ประกอบกับราคากุ้งไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม มาก

กลุ่มผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ มีมูลค่าการส่งออก 32,818.30 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.81 และ 22.79 จากไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การส่งออกช่วง 9 เดือน ปี 2555 มูลค่าการส่งออกปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.41 โดยสินค้าสำคัญในกลุ่ม ได้แก่ สับปะรดกระป๋อง ส่งออกลดลงร้อยละ 26.76 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ส่งผลให้คำสั่งซื้อลดลงตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ต่อเนื่องถึงไตรมาสแรก อย่างไรก็ดีการส่งออกในรูปผลไม้แช่เย็นแช่แข็งสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นในหลายสินค้า เช่น เงาะ มังคุด และลำไย ประกอบกับผลิตภัณฑ์ผักผลไม้แปรรูปและอบแห้งส่งออกขยายตัวในหลายสินค้า

กลุ่มผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ มีมูลค่าการส่งออก 19,928.71 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.65 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 8.97 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากไก่ขยายตัวกว่าร้อยละ 20 จากการนำเข้าเพิ่มขึ้นของญี่ปุ่น สำหรับการส่งออกช่วง 9 เดือน ปี 2555 มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเช่นกันร้อยละ 16.55 จากการยกเลิกประกาศห้ามนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของสหภาพยุโรป

กลุ่มผลิตภัณฑ์จากข้าว แป้ง และธัญพืช มีมูลค่าการส่งออก 65,726.13 ล้าน บาท ลดลงร้อยละ 0.85 จากไตรมาสก่อน เป็นผลจากการส่งออกข้าวปรับตัวลดลงกว่าร้อยละ 30และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ปรับตัวลดลงร้อยละ 18.01 เนื่องจากผลผลิตข้าวในตลาดโลกมีปริมาณเพิ่มขึ้น และประเทศผู้ส่งออกข้าวแข่งขันกันลดราคา ส่วนข้าวไทยราคาสูงกว่าจึงทำตลาดได้ยากกว่า สำหรับมูลค่าการส่งออก 9เดือนปี 2555 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงเช่นกัน ร้อยละ 19.82

กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย มีมูลค่าการส่งออก 29,420.26 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 36.13 จากไตรมาสก่อน เป็นผลจากปัจจัยด้านราคาที่ทรงตัวในระดับสูง จากการที่ประเทศผู้ผลิต เช่น อินเดีย และบราซิล ประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ส่งผลให้ปริมาณการผลิตและส่งออกลดลง และมีผลต่อสต็อกน้ำตาลในตลาดโลกลดลง แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.88 สำหรับมูลค่าการส่งออกช่วง 9 เดือนปี 2555 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.53

กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ มีมูลค่าการส่งออก 14,392.75 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 9.50 จากไตรมาสก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 28.53 โดยเป็นผลจากการส่งออกเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าประเภทสิ่งปรุงรสอาหาร หมากฝรั่งและขนมที่ไม่มีโกโก้ผสม และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ สำหรับมูลค่าการส่งออกช่วง 9 เดือน ปี 2555 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.02

การนำเข้า

ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2555 การนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารของไทยมีมูลค่ารวม 147,272.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 64.61 จากไตรมาสก่อน (ตารางที่ 4) โดยเป็นการนำเข้าปลาทูน่าแช่เย็นแช่แข็ง และกากพืชน้ำมัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.18 และ 35.20 ตามลำดับ เป็นผลจากระดับราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงด้วย แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า มูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 95.49จากการนำเข้าปลาทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็ง กากพืชน้ำมัน รวมถึงนมและผลิตภัณฑ์นมเพิ่มขึ้น ตามราคาโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีก่อน สำหรับการนำเข้าช่วง 9 เดือน ปี 2555 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 19.66 เป็นผลจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ประกอบกับราคาสินค้าในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2555 รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหาร โดยเน้นการให้ความช่วยเหลือกับเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบ ในลักษณะการรับจำนำผลผลิต และการนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากประสบปัญหาต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นและระดับราคาลดลง รวมทั้งช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาด้านปัจจัยการผลิต ได้แก่

1. คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2555 เห็นชอบกรอบระยะเวลาการพิจารณาให้ความช่วยเหลือเกษตรกรของคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ตามที่ ประธานกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรเสนอ ได้แก่ 1. การประเมินสถานการณ์สินค้า ให้ประเมินสถานการณ์แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรที่รับผิดชอบและสภาพปัญหา รวมทั้งเสนอแนวทางป้องกันและมาตรการดำเนินการแก้ไขปัญหาก่อนผลผลิตออกสู่ตลาดไม่น้อยกว่า 2 เดือน แล้วนำเสนอ คชก. 2. ให้ฝ่ายเลขานุการ คชก. พิจารณาตรวจสอบรายละเอียดข้อมูลโครงการที่จำเป็นให้ครบถ้วนก่อนเสนอประธาน คชก. พิจารณากำหนดวัน เวลา ประชุม คชก. ทั้งนี้ ให้ฝ่ายเลขานุการ ฯ สรุปมติคณะกรรมการ และแจ้งมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบภายใน 3 วันทำการ และ 3. การดำเนินการตามมติ คชก. ให้หน่วยงานที่ได้รับอนุมัติโครงการจาก คชก. เตรียมความพร้อมให้สามารถดำเนินการตามมติ คชก.ได้ทันที ภายใน 7 วันทำการ นับตั้งแต่ได้รับแจ้งมติ คชก. จากฝ่ายเลขานุการ คือ เปิดบัญชีธนาคาร พร้อมทั้งประสานกรมบัญชีกลางในการรับโอนเงิน เตรียมแผนการดำเนินการตามโครงการเพื่อให้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้โดยเร็ว จัดสรรและโอนเงินให้หน่วยงานดำเนินการในระดับพื้นที่ เพื่อให้หน่วยงานในท้องถิ่นและเกษตรกรดำเนินการได้โดยเร็ว และสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ทันเหตุการณ์

2. คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2555 อนุมัติในหลักการให้ใช้จ่ายงบประมาณ พ.ศ. 2555 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในวงเงิน 22.20 ล้านบาท เพื่อชดเชยผลการขาดทุนขององค์การคลังสินค้าจากส่วนต่างของต้นทุนการนำเข้าน้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์กับราคาจำหน่ายให้แก่โรงกลั่นน้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับการแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2555(เรื่อง การแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม) และวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 (เรื่อง ขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรี การแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม) ในปริมาณไม่เกิน 30,000ตัน ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณานำเข้าน้ำมันปาล์มในปริมาณและระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรและราคาผลปาล์มในประเทศและให้ตรวจสอบยืนยันข้อมูลผลการขาดทุนจากการนำเข้าน้ำมันปาล์มที่เกิดขึ้นจริง ก่อนขอทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันปาล์มตลาดโลก การผลิตและภาวะเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด เพื่อมิให้การนำเข้าน้ำมันปาล์มส่งผลกระทบต่อราคาผลปาล์มน้ำมันที่เกษตรกรขายได้ภายในประเทศ เพื่อให้การนำเข้าน้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์สามารถดำเนินการได้สอดคล้องและเหมาะสมกับช่วงเวลาที่ผลผลิตปาล์มออกสู่ตลาด โดยไม่ส่งผลกระทบต่อราคาผลปาล์มดิบและราคาน้ำมันพืชปาล์ม และพิจารณาปริมาณนำเข้าน้ำมันปาล์มตามความจำเป็นที่แท้จริง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนปาล์ม

3. คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2555 เห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี2553/2554 ในอัตรา 1,039.14 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. และกำหนดอัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อยเท่ากับ 62.35 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส. ต่อเมตริกตัน และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย เฉลี่ยทั่วประเทศที่ 445.35 บาทต่อตันอ้อย ตามมติคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ในการประชุมครั้งที่ 2/2555 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2555ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้กระทรวงอุตสาหกรรมทบทวนหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย โดยกำหนดปัจจัยที่ใช้ในการกำหนดราคาที่ชัดเจน สอดคล้องกับข้อเท็จจริงด้านสถานการณ์อ้อยและน้ำตาลทราย และต้นทุนการผลิตอ้อยที่แท้จริงของชาวไร่อ้อยในปัจจุบัน รวมทั้งเร่งรัดการศึกษาแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบให้แล้วเสร็จ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายได้ในระยะยาว

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2555 ภาวะอุตสาหกรรมอาหารโดยรวม อยู่ในช่วงชะลอตัวจากไตรมาสที่ 2 และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามปริมาณคำสั่งซื้อที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับระดับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มจะอ่อนค่าลง ซึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศสหภาพยุโรปที่เป็นตลาดหลักของสินค้าอาหารของไทย เริ่มมีปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวจากภาวะหนี้สาธารณะในหลายประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้สต็อกสินค้าในตลาดโลกที่สำคัญ คือ น้ำตาลทราย แม้ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่จากการที่ประเทศอินเดีย และบราซิล ประสบปัญหาผลผลิตน้ำตาลลดลงจากภาวะฝนตกหนัก และคาดว่าจะส่งออกน้ำตาลได้ลดลง ส่งผลต่อระดับราคาน้ำตาลที่ชะลอตัวในช่วงต้นไตรมาส กลับมาทรงตัวในระดับสูง ในส่วนสินค้ากลุ่มปศุสัตว์โดยเฉพาะไก่แปรรูป ปริมาณความต้องการจากต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น ยังเพิ่มขึ้นจากสภาพปัญหาความไม่เชื่อมั่นของผู้บริโภคจากการปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีในอาหารที่เกิดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดเมื่อปีก่อน ประกอบกับข่าวการพิจารณายกเลิกการห้ามนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากกรณีไข้หวัดนกของสหภาพยุโรป ส่งผลต่อการส่งออกไก่ของไทยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามยังมีสินค้าที่ปริมาณการผลิตปรับตัวลดลง คือ กลุ่มพืชน้ำมัน และมันสำปะหลัง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติทำให้ผลผลิตลดลง ส่งผลโดยตรงกับระดับราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นตามความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นในตลาดโลก

แนวโน้ม

การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 คาดว่า ทิศทางการผลิต และการส่งออกจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกได้ปรับเพิ่มขึ้นภายหลังเกิดภัยแล้งในสหรัฐอเมริกา ที่ผลักดันราคาสินค้าเกษตรให้เพิ่มขึ้นประกอบกับการประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 3 และการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งอาจส่งผลให้การส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างไรก็ตาม การลดลงของวัตถุดิบในพื้นที่เพาะปลูกที่ประสบปัญหาภัยธรรมชาติ และจากปัจจัยลบ เช่น ภัยธรรมชาติที่ไม่อาจคาดการณ์ รวมถึงการเคลื่อนไหวของระดับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าที่ชะลอตัว จากวิกฤตหนี้สาธารณะในสหภาพยุโรปที่เริ่มส่งผลกระทบไปยังตลาดอื่น ๆ ตลอดจนมาตรการกีดกันทางการค้าต่าง ๆ เช่น มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เริ่มมีผลบังคับใช้ โดยเฉพาะการทำฉลากระบุร่องรอยคาร์บอนที่จำหน่ายในสหภาพยุโรป อาจทำให้การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารของไทยในภาพรวมปรับตัวได้ไม่มากนัก

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ